ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

แผนที่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา

เริ่มโดย Big MaHad, 15:50 น. 28 มี.ค 53

Big MaHad

ไปเจอมาจากหนังสือสารคดี ฉบับที่ 76 เดือนมิถุนายน 2534 ครับที่เตรียมจะโยนลงถังขยะไป เปิดไปเปิดมามีข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆ ในยุคนั้น พร้อมแผนที่ภาพวาดสีน้ำ สีสีนสดใสนี้ เลยแสกนมาให้ชมกันเล่นๆครับ ผู้วาดภาพแผนที่นี้คือคุณเจียมจิตร ความสุข ครับผม

ตัวแผนที่นี้เมีขนาดยาวประมาณ 2เท่าของกระดาษA4 เห็นจะได้ครับ พับแทรกมาในตัวเล่ม ผมเลยต้องสแกนแยกส่วนแล้วเอามาต่อประกอบเองกันทีหลัง ตามความสามารถทางคอมพิวเตอร์แบบงูๆปลาๆ อาจจะต่อไม่เนี๊ยบเท่าที่ควรนะครับ

รูปแรกด้านหน้าครับ
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

Big MaHad

ส่วนอันนี้เป็นแผนที่ด้านหลังครับ ขยายที่ท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองและเกาะยอครับ
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

Big MaHad

ผมอยากสอบถามเพิ่มเติมครับ ในตัวบทความมีการพูดถึง "ขนมกระบอก" ส่วนตัวแล้วเกิดมายังไม่เคยทานเลย ยิ่งพออ่านวิธีการทำก็ยิ่งงครับ จิตนาการไม่ออกจริงๆ ไม่ทราบว่าท่านใดเคยทานมั่งครับ หรือมีรูปเอามาดูหน่อยนะครับ งานสงขลาแต่แรกที่กำลังจะจัดไม่รู้ว่าจะมีมาขายไหม อยากลองชิมครับ อิอิอิ

เขาอธิบายไว้ดังนี้ครับ

" .... และนอกจากนี้บริเวณหัวถนนนางงาม ก็มีร้านขายขนมกินเล่นซึ่งเรียกว่า"ขนมกระบอก" เป็นขนมที่มีการทำที่แปลก คือแม่ค้าจะใส่ข้าวเหนียวลงไปในกระบอกเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้วแล้ววางเรียงบนหม้อนึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 นาที ก็กระเทาะออกมาคลุกกับมะพร้าว และน้ำตาลเป็นอันว่ารับประทานได้ ว่ากันว่าสมัยก่อนมีขายกันหลายเจ้าแต่ปัจจุบันเหลือเพียงเจ้าเดียวคือที่นี่เท่านั้น....."
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

Big MaHad

ไปหาข้อมูลของขนมบอกมาเพิ่มเติมได้แล้วครับ ตามนี้เลย

ชื่อ หนมบอก (ขนมบอก)

อุปกรณ์
ประกอบด้วยหม้อนึ่ง อาจเป็นหม้อดินหรือหม้อทองเหลืองก็ได้ มีฝาปิด ที่ฝาหม้อจะมีรูสำหรับให้พอดีกับกระบอก (ไม้ไผ่หรือทองเหลือง)ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 5 นิ้ว ฝาปิดกระบอก (ใช้ฝารางขนมครกแทนได้) และไม้ดัน

ส่วนผสม
ข้าวเหนียวหรือแป้งข้าวเหนียว น้ำผึ้งโหนด (น้ำตาลโตนดเหลว) น้ำตาลทราย มะพร้าวขูด และเกลือป่น

วิธีการทำ
นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาดมาบดหรือตำให้เป็นแป้งข้าวเหนียว (ปัจจุบันมีแป้งข้าวเหนียวจำหน่าย) นำแป้งข้าวเหนียวมาคลุกกับน้ำตาลเหลวให้แป้งเกาะตัวกันเป็นเม็ดเล็ก ๆ เท่าเม็ดสาคูสุกขนาดเล็ก แล้วโรยใส่กระบอกนึ่ง (ก่อนโรยแป้งลงกระบอกให้ฉีกใบตองเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 0.5 เซนติเมตรรองก่อน เพื่อกันแป้งร่วง) นำกระบอกไปนึ่งโดยใส่ไว้ในรูฝาหม้อนึ่ง ให้ไอน้ำผ่านรูกระบอกทางเดียว (ถ้าฝาหม้อปิดไม่สนิทมีช่องไอน้ำให้ใช้แป้งขนมบอกปิดช่องว่างนั้น) ใช้เวลานึ่งประมาณ 12 - 15 นาที แล้วแต่การโหมไฟ ถ้าต้องการให้สุกเร็ว ให้กลับกระบอกเอาด้านบนลงล่าง เมื่อขนมสุก ใช้ไม้ดันก้นกระบอกเอาขนมออกแล้วนำมาคลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือและโรยด้วย น้ำตายทรายให้ได้รสหวานมันตามชอบ (ขนมที่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่จะจะให้กลิ่นหอมกว่า แต่สุกช้ากว่ากระบอกทองเหลือง)
บางแห่งใช้ข้าวเหนียวแทนแป้ง จึงข้ามขั้นตอนการคลุกกับน้ำตาลเหลว

ประโยชน์
ขนมบอกใช้รับประทานเป็นอาหารหวานหรืออาหารว่าง

แหล่งที่มา
ยี่ แสงงาม 32 หมู่ 4 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ "บอก, ขนม" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ 8 (2542) : 3953
(http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=9382)
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

Big MaHad

เรื่องราวของ หนมบอก ยังไม่หมดแต่เพียงแค่นี้ครับ ผมลองไปค้นคว้าต่อในเนต ไปเจอBlog อันนึงน่าสนใจมากๆ เป็นของคุณป้าเจี๊ยบ (http://gotoknow.org/blog/pageeup/160255)

คือว่าป้าเจี๊ยบไปเที่ยวไทเปมาครับ แล้วไปเจอขนมชนิดนึงเรียกว่าขนมจอหงวน ซึ่งผมดูแล้วหน้าตาละม้ายคล้ายกับ ขนมบอกมากๆ  อ่านๆไปป้าเจี๊ยบก็เล่าประวัติขนมจอหงวน มาดังนี้ครับขอตัดตอนมานะครับ

"......จับความได้ว่า สมัยราชวงศ์แมนจู ในยุคของฮ่องเต้ชื่อคังซี มีชายหนุ่มคนหนึ่งยากจนมาก อาศัยอยู่ที่เมืองฝูเจี้ยน มณฑลฮกเกี้ยน ชายหนุ่มคนนี้ตั้งใจจะเดินทางไปปักกิ่งเพื่อสอบเป็นจอหงวน ((状元;จว้างหยวน) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางฝ่ายบุ๋นหรือฝ่ายวิชาการ

        ด้วยความที่ยากจนมากๆ ชายหนุ่ม ก็ไม่มีเงินทองสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้นผู้เป็นแม่ก็เลยนำข้าวสารมาบด แล้วบรรจุลงในท่อไม้ไผ่ นำไปนี่งจนสุก ได้อาหารให้ลูกชายติดตัวไปเป็นเสบียงระหว่างการเดินทาง

        ชายหนุ่มคนนี้เกิดสอบได้ขึ้นมา เข้ารับราชการเป็นจอหงวนอยู่ในวัง วันหนึ่งขณะที่นั่งถวายงานแก่ฮ่องเต้ก็คิดถึงแม่ขึ้นมา น้ำตาไหลหยดแหมะๆ ฮ่องเต้จึงถามว่าเป็นอะไรไป ขุนนางหนุ่มจึงเล่าให้เรื่องแม่ให้ฟัง บรรยายถึงขนมถ้วยไม้ไผ่ที่แม่ทำให้

        เรื่องจบลงโดยฮ่องเต้เห็นว่าชื่อขนมไม่เพราะ  บัญชาให้เปลี่ยนชื่อใหม่  ทายถูกใช่ไหมคะว่าชื่อใหม่ก็คือ ขนมจอหงวน

        ป้าเจี๊ยบไม่รับรองว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใดนะคะ  เพราะจนแล้วจนรอด ก็ไม่ปรากฏชื่อชายหนุ่มสักที ถามคุณแจคกี้แล้วก็หาคำตอบในแผ่นกระดาษไม่เจอ.. คนขายก็หน้างอเกินกว่าจะกล้ารบกวนค่ะ

        ดัง นั้นภาชนะที่เห็นอยู่ในภาพก็เป็นกระบอกไม้ไผ่ค่ะ คงดัดแปลงมาแล้ว เพราะเส้นที่รัดอยู่รอบๆ นั้นคือลวด ซึ่งสมัยแมนจูคงจะยังไม่มี  รัดไว้เพื่อให้ไม้ไผ่ไม่แตกง่าย เนื่องจากต้องโดนความร้อนซ้ำซาก

        ที่ป้าเจี๊ยบว่าคล้ายครกตำหมากก็เพราะวิธีการตอนที่นำขนมออกจากกระบอกไม้ไผ่ จะคล้ายกับตอนเอาหมากออกจากที่ตำหมากค่ะ คือกระทุ้งก้นกระบอกดันชิ้นไม้ไผ่ที่อยู่ด้านในให้ดุนขนมออกมา ซึ่งชิ้นไม้ด้านในชิ้นนี้ จะบากเป็นร่อง 3 ร่องให้ไอน้ำผ่านขึ้นมาได้ค่ะ...."

ที่น่าสนใจจากเรื่องเล่าของป้าเจี๊ยบก็คือที่มาที่ไปของขนมบอกนี้ มาจากเมืองฝูเจี้ยน มณฑลฮกเกี้ยน  ซึ่งในตัวเมืองเก่าสงขลาก็มีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่เช่นกัน ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากเลยทีเดียวที่ขนมบอกนี้ เป็นตำหรับอาหารที่ติดตัวมาจากการอพยพชาวจีนเข้ามาทำมาหากินในเมืองสงขลา ในระยะสร้างเมืองแรกๆครับ
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

Singoraman

แผนที่ ๆ แสดง ยังมีกิ่งอำเภอ คือ
๑. กระแสสินธุ์
๒. ควนเนียง
๓. บางกล่ำ
๔. นาหม่อม
ดูจะไม่เห็นคลองหอยโข่งนะครับ
ส่วน "หนุมบอก" นั้น ที่ข้างวัดโลกา สิงหนครนั้น ผมทันได้ชิม ใช้บอกไม้ไผ่ ส่วนหัวหนุนนางงาม ใช้บอกสังกะสี ครับ
ปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา แผนกอาหาร ได้ถ่ายทอดวิชามาจากต้นตำรับ แล้วถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นใหม่แล้วครับ

พี่แอ๊ด

ทุกวันนี้ก็มีขายอยู่ที่ถนนนางงาม  ประมาณ 3 โมงเย็น หน้าร้านขายน้ำชา  ตรงสี่แยกไฟแดง เยื้อง ๆ ร้านขายเย็นตาโฟ

หม่องวิน มอไซ

คลองหอยโข่ง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอปี ๒๕๓๕ ครับ แล้วเป็นอำเภอปี ๒๕๔๐
หนังสือสารคดีเล่มนี้พิมพ์ปี ๒๕๓๔ จึงยังไม่มีคลองหอยโข่งอย่างที่อาจารย์ Singoraman ตั้งข้อสังเกต

พอมีอำเภอคลองหอยโข่ง ทำให้สนามบินหาดใหญ่ กลายเป็นสนามบินที่ไม่ได้อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ครับ  ;D

ชอบแผนที่ฉบับนี้ในส่วนของตัวเมืองสงขลา ที่ทำเส้นทางรถไฟไปท่าเรือไว้ให้เป็นอนุสรณ์ครับ

หม่องวิน มอไซ

ถนนชลาทัศน์ ในแผนที่ตัวเมืองสงขลา เขียนว่า ถนนเลียบริมทะเลหลวง
แสดงว่าข้อมูลที่นำมาใช้เขียนแผนที่ ยังไม่ระบุว่า ถนนชลาทัศน์หรือเปล่านะครับ

ถนนชลาทัศน์สร้างปีไหน ?

พี่แอ๊ด

สนามบินหาดใหญ่  ปัจจุบันขี้นกับอำเภอคลองหอยโข่ง

หม่องวิน มอไซ

ดังนั้น สนามบินหาดใหญ่ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นชื่อเฉพาะ ที่ไม่ได้บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว
เหมือนกับ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ
และสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งอยู่ที่ อ.พุนพิน