ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

จะทิ้งพระ กับ สทิงพระ ทำไมไม่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

เริ่มโดย "มะเหมี่ยว", 09:36 น. 21 มี.ค 53

"มะเหมี่ยว"

แบบว่าสงสัยค่ะ มีญาติพี่น้องอยู่ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ
ทำไม ชื่อตำบล และอำเภอ จึงแตกต่างกัน ไม่เหมือน ตำบล อำเภออื่นๆ
ที่อื่นบางทีก็มีชื่อตำบลกับอำเภอเหมือนกัน
แต่ที่นี่ทำไมต้อง เป็นตำบลจะทิ้งพระ  ทำไมไม่เป็นตำบลสทิงพระ
แล้ววัดก็เป็นวัดจะทิ้งพระ ทำไมไม่ชื่อวัดสทิงพระ งงค่ะ


คำถามของมะเหมี่ยว คนตอบก็คงจะงงเหมือนกัน คือว่าไม่รู้จะเริ่มตั้งคำถามอย่างไรดี
แต่อยากได้คำตอบค่ะ

จัสติส

ตอบ..โดยจัสติส คนสทิ้งพระ......หรือ คนทิ้ง....หรือเมือง สทิงปุระ..เมืองเก่าของสงขลา   ชื่อ..จะทิ้งพระ..เป็นชื่อของ ตำบลคือ
ตำบล จะทิ้งพระ  เช่น  บ้านจะทิ้งพระ    อบต.จะทิ้งพระ    วัดจะทิ้งพระ      ชื่อ.สทิงพระ   เป็นชื่อ อำเภอ สทิงพระ   จ. สงขลา
                                                                                                                         จบ

หม่องวิน มอไซ

สมัยก่อนชื่อ บ้านจทิงพระ อยู่ในอำเภอปละท่า (ประท่า) ครับ
จทิง ว่ากันว่ามาจากภาษาเขมร ว่า ฉทึง หรือ สทิง แปลว่า คลอง
ก็สงสัยอยู่ว่า คนเขมรอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่หรืออย่างไร

ต่อมาก็เรียกตำบลจะทิ้งพระ อำเภอจะทิ้งพระ
มาเปลี่ยนเฉพาะชื่ออำเภอเป็นสทิงพระ ในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนายพจน์ อินทรวิเชียร เป็นนายอำเภอ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอจะทิ้งพระ เป็นอำเภอสทิงพระ จนถึงปัจจุบัน (ยังค้นหาเหตุผลที่เสนอให้เปลี่ยนไม่พบ)

แต่เข้าใจว่าชื่อตำบล ชื่อวัด ชาวบ้านคงอยากให้คงไว้เช่นเดิม เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรม ความเป็นมาดั้งเดิมไว้ จึงไม่ยอมเปลี่ยนตามครับ
หลักฐานตรงนี้มีอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อสุขาภิบาลจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นสุขาภิบาลสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2511/D/043/1363.PDF

แต่หลังจากนั้น ก็ใช้ลักลั่นกันมาครับ สทิงพระบ้าง จะทิ้งพระบ้าง
แต่ที่แน่ ๆ คือ ชื่อตำบลยังคงไว้เป็นจะทิ้งพระ
เมื่อยกฐานะสุขาภิบาลสทิงพระ เป็นเทศบาลตำบล
เทศบาลก็เลยได้ชื่อว่า เทศบาลตำบลสทิงพระไปด้วย

คงต้องสืบสวนกันต่อไปว่า เหตุใดนายอำเภอจึงอยากให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นสทิงพระ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ครับ

เรื่องชื่อบ้านนามเมืองไม่สอดคล้องตรงกัน เป็นปัญหาทั่วประเทศมาทุกยุคทุกสมัย
อย่างชื่อสถานีรถไฟนาม่วงนั้น ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอนาหม่อม และไม่ปรากฏว่ามีการเอาชื่อนาม่วงไปเรียกสถานที่หรือเขตปกครองท้องถิ่นที่ไหนอีก
มีแต่ชื่อสถานีอย่างเดียว
อีกแห่งก็ป้ายหยุดรถไฟตลาดพะวง อยู่ที่ตลาดควนหิน แต่สถานีควนหินเดิม จะอยู่ใกล้วัดควนหิน ซึ่งตั้งชื่อให้ไพเราะว่า วัดเนินไศล แปลว่าควนหินนั่นแหละครับ ส่วนชื่อตำบลพะวง ก็เป็นเพียงชื่อตำบล ไม่มีใครใช้เรียกหมู่บ้านเลยครับ
สถานีรถไฟศาลาทุ่งลุ่ง (มีไม้เอก) แต่อยู่ที่บ้านทุ่งลุง ตำบลพะตง
สถานีคลองแงะ กลับอยู่ในตำบลพังลา

หม่องวิน มอไซ

ค้นหาเหตุผลได้เพิ่มเติมถึงเหตุที่เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นสทิงพระ ในปี ๒๕๐๔ ครับ
ยุคนั้น กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายในการปรับปรุงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี วัฒนธรรมท้องถิ่น
โดยร่วมมือกับกรมศิลปากร

ดังนั้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชื่อเขตปกครองส่วนภูมิภาค จึงตกอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกระทรวงมหาดไทยและกรมศิลปากร
ทั้งนี้การปรับปรุงชื่ออำเภอเป็นสทิงพระนั้น คงอาศัยหลักฐานในพงศาวดารพัทลุง ที่กล่าวว่าเมืองพัทลุงแรกเริ่มตั้งขึ้นที่เมืองเดิม เรียกว่า สทิง
นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าในเมืองมอญ มีชื่อ สเทิม สโตง คือ ตัว ส. นำ ท. ทำนองเดียวกับสทิงนี้ อยู่จนกระทั่งบัดนี้
คำสทิง นี้น่าจะเพี้ยนมาจาก สตึง หรือ สทึง ซึ่งแปลว่า สายน้ำ ชื่อนี้น่าจะตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับสเทิม และสโตง ซึ่งอาจจะเป็นสมัยที่ชาวอินเดียตอนใต้มามีอำนาจรุ่งเรืองขึ้นทางตะวันออกนี้ บริเวณที่เป็นอำเภอสทิงพระนี้ หากได้ขุดลอกลำน้ำดูก็จะพบเห็นว่าในครั้งโบราณกาลมีสายน้ำอันกว้างใหญ่ไหลผ่านบริเวณอำเภออย่างแน่นอน
อ้างอิง : หนังสือนำเที่ยวสงขลา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ และ พงศาวดารพัทลุง รวมอยู่ในหนังสือ ตำนานและพงศาวดารในประวัติศาสตร์แหลมทอง เริงวุฒิ มิตรสุริยะ : บรรณาธิการ

ส่วนชื่อตำบลและชื่อวัดที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิมว่าจะทิ้งพระ ก็ยังคงใช้ต่อมาจนทุกวันนี้ ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด
แม้มีความพยายามบอกว่า จะทิ้ง มาจากภาษาเขมรว่า ฉทึง แปลว่าคลอง อย่างเช่น ในชื่อจังหวัดฉะเชิงเทรา
แต่ความคิดเห็นส่วนตัว ผมไม่คิดว่าอิทธิพลของเขมรจะส่งผลมาถึงชื่อตำบลที่สงขลาครับ

หมายเหตุ ตอนเด็ก ๆ นึกถือชื่อ จะทิ้งพระ แล้วนึกถึงจังหวะตีกลองในขบวนแห่ทุกทีเลยครับ
"จ้า มา จ๊ะ ทิง จา มา จ๊ะ ทิง จา มา จ๊ะ ทิง จา..." ...  ;D

หม่องวิน มอไซ

นอกเรื่องนิดนึงครับ เมื่อคราวที่ผมไปสำรวจทางรถไฟแถวควนหิน
เห็นป้ายนี้เข้าครับ

[attach=1]

ชื่อตำบล พิมพ์ผิด จาก "พะวง" เป็น "พระวง" อย่างไม่น่าเชื่อ
กลายเป็นไปสอดคล้องกับ เรื่องเล่าที่บอกว่า เดิมประชาชนร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจเรียกชื่อ "พระวง" ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น "พะวง" เป็นที่มาของตำบล  ;D

แต่ผมก็คิดว่าชาวตำบลพะวงส่วนใหญ่ ก็คงอยากให้คงชื่อเดิมที่ใช้กันมานานนะครับ

เฝ้าพะวงห่วงคิดถึงเธอ ใจใคร่เจอเห็นเธอใกล้เคียง.... ;D

น้องบ่าวหน้าค่าย

ว๊าวว  มีหวานตบท้ายด้วย
ต้อนรับเช้าวันจันทร์ที่สดใสครับอาจารย์

อ้างจาก: หม่องวิน มอไซ เมื่อ 07:55 น.  22 มี.ค 53
นอกเรื่องนิดนึงครับ เมื่อคราวที่ผมไปสำรวจทางรถไฟแถวควนหิน
เห็นป้ายนี้เข้าครับ


ชื่อตำบล พิมพ์ผิด จาก "พะวง" เป็น "พระวง" อย่างไม่น่าเชื่อ
กลายเป็นไปสอดคล้องกับ เรื่องเล่าที่บอกว่า เดิมประชาชนร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจเรียกชื่อ "พระวง" ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น "พะวง" เป็นที่มาของตำบล  ;D

แต่ผมก็คิดว่าชาวตำบลพะวงส่วนใหญ่ ก็คงอยากให้คงชื่อเดิมที่ใช้กันมานานนะครับ

เฝ้าพะวงห่วงคิดถึงเธอ ใจใคร่เจอเห็นเธอใกล้เคียง.... ;D
ถ้าทำวันนี้ให้ดีที่สุด พรุ่งนี้ก็จะมีอดีตที่ดี

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณมากครับคุณน้องบ่าวหน้าค่าย  ;D
นึกถึงตำบลพะวง แล้วนึกถึงเพลงพะวงรัก ของคุณศรวณี โพธิเทศน่ะครับ


จัก


หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณมาก ๆ ครับคุณจัก
ตามเข้าไปอ่านแล้วครับ  ;)

พี่

อ้างจาก: หม่องวิน มอไซ เมื่อ 07:55 น.  22 มี.ค 53
ชื่อตำบล พิมพ์ผิด จาก "พะวง" เป็น "พระวง" อย่างไม่น่าเชื่อ
กลายเป็นไปสอดคล้องกับ เรื่องเล่าที่บอกว่า เดิมประชาชนร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจเรียกชื่อ "พระวง" ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น "พะวง" เป็นที่มาของตำบล  ;D

...ที่มาชองชื่อ ตำบลพะวง ในอดีตได้มีการเล่าขานกันมาว่า มีพระพุทธรูปปางไม้ตะเคียนองค์หนึ่งได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นมา ในคลองวง ชาวบ้านจึงอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐาน ณ บริเวณ หลังวัดน้ำกระจาย ติดกับศูนย์เด็กเล็กบ้านน้ำกระจายในปัจจุบัน เพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวบ้านจึงร่วมกันเรี่ยไรเงินทำบุญเพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ครอบพระพุทธรูปปางไม้ตะเคียนที่อันเชิญขึ้นมาประดิษฐาน และเพื่อเป็นสิริมงคล ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านพระวง และเรียกต่อ ๆ กัน จนกระทั่งมีการเรียกที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เป็นตำบลพะวง ซึ่งเป็นการเรียกและใช้เป็นชื่อของตำบลมาจนถึงปัจจุบัน ...

ข้อมูลจาก http://www.pawong.go.th/content/history.php

หลังวัดน้ำกระจาย มีชุมชนชื่อว่า ชุมชนวัดเก่าพระวง

ช่วงนี้ถ้าใครผ่านห้าแยกเกาะยอ จะเห็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ เป็นของเทศบาลตำบลพะวง ประกาศเชิญชวนร่วมงานสงกรานต์ที่ วัดเก่าพระวง (บ้านน้ำกระจาย)

หม่องวิน มอไซ

วัดสทิงพระ (จะทิ้งพระ) สมัย ร.๕ ครับ

จากหนังสือ ประชุมสมุดภาพสำคัญในประวัติศาสตร์ เล่ม ๒

"มะเหมี่ยว"

ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ ที่ให้ความกระจ่าง
ตอนแรกมะเหมี่ยวคิดว่า  จะทิ้งพระ เกิดจากเมื่อก่อน มีชาวจีนมากับเรือสำเภามาขายสินค้าทางสทิงพระ
และมีการเอาพระบูชามาด้วย เพื่อเป็นการทำให้ค้าขายขึ้น และปลอดภัยในการเดินเรือมาขายสินค้า
แล้วบังเอิญพายุเข้า เรือแตก ทำให้เรือสำเภาพัง เลยเป็นที่มาของบ้านพังเภา
ส่วนลูกเรือและพ่อค้าก็ตายหมด คนที่ไปพบเห็นก็เจอพระพุทธรูปของพ่อค้าชาวจีนก็อยากได้
แต่เอาไปอย่างไรก็เอาไปไม่ไหว เลยเอาพระไปทิ้งไว้ ทำให้เกิดเป็น จะทิ้งพระ ( เป็นแค่ความคิดเมื่อก่อนค่ะ ตอนนี้ทราบแล้วขอบคุณมากค่ะ )   /color]

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณคุณมะเหมี่ยวด้วยครับที่ตั้งกระทู้น่าสนใจขึ้นมาครับ

ผมว่าชื่อตำบลหลาย ๆ ตำบลมีที่มา แต่ชาวบ้านไม่ได้ใช้เรียก เหมือนอย่างกรณีของ พะวง พังลา พะตง
ถ้าเรียกว่า น้ำกระจาย คลองแงะ ทุ่งลุง จะคุ้นกว่ามากนะครับ