ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ถนนแต่แรกในสงขลา

เริ่มโดย หม่องวิน มอไซ, 09:47 น. 03 ก.พ 53

หม่องวิน มอไซ

ผมนั่งอ่านจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๕๘ ของสักขี
ไปถึงฉบับที่ ๕ ไปถึงหน้า ๑๓๔ พบเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับถนนหนทางในสงขลาสมัยเกือบ ๑๐๐ ปีก่อน ครับ
ขอพิมพ์โดยรักษารูปแบบของต้นฉบับเดิมครับ

เสด็จจากโรงเรียนมหาวชิราวุธแล้วทรงรถพระที่นั่งยนตร์ ประพาศ
ตามถนนในเมืองสงขลาแทบทั่วไปทุกถนน. ถนนเมืองสงขลานี้มีมาก
สาย สายใหญ่กลางเมือง เรียกถนนไทรบุรี ถนนสายนี้ไปบรรจบ
ทางแยกไปถนนปัตตานี แล้วยังเลี้ยวเลยต่อไปทางอำเภอเหนือ
ตลอดไปจนถึงเมืองไทรบุรี เวลานี้มีรถยนตร์รับส่งคนโดยสารไปมา
อยู่ระหว่างเมืองสงขลากับไทรบุรี ตามวันกำหนด. แลมีถนนในที่
ประชุมชนค่อนเข้ามาทางทเลสาบสายยาวอีกสายหนึ่งมีชื่อเปน ๓ ตอน
ตอน ๑ ตั้งแต่แหลมทรายขึ้นมาถึงมุมป้อมเมืองเก่าเรียกชื่อถนน
วิเชียรชม
ตั้งแต่ตลาดออกไปบรรจบถนนไทรบุรี เรียกถนนนครใน
ถนนนครนอก
. ทางเหนือถนนไทรบุรีใกล้ทางรถไฟ มีถนนยาวอีก
สายหนึ่งเรียกถนนรามวิถี ตั้งต้นแต่แหลมทรายไปบรรจบถนน
ไทรบุรีเหมือนกัน. ที่ใกล้แหลมทรายชายทเลมีถนนขวางเรียกถนน
ชลเจริญ
ไปต่อกับถนนราชดำเนินซึ่งตัดโอบหลังเขาน้อยวกมาบรรจบ
ถนนรามวิถีแลมีถนนซอยต่าง ๆ หลายแยกหลายทางเรียกชื่อตาม
นามเมืองต่าง ๆ ซึ่งเคยรวมอยู่ในบังคับบัญชาดูแลของข้าหลวง
เทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เช่น ชื่อเมืองในมณฑลปัตตานี
ซึ่งเคยเปนบริเวณเมืองแขก ๗ หัวเมือง คือ ถนนหนองจิก ถนนยะหริ่ง
ถนนราห์มัน ถนนยะลา ถนนสาย ถนนระแงะ
แลมีถนนกลันตัน
แลถนนตรังกานู. ในชั้นใหม่นี้มีชื่อตามนามอำเภอ เช่น ถนนสะเดา
และถนนปละท่าเปนต้น และในขณะนี้กำลังจะทำถนนชายทเลสาบ
อีกสาย ๑

ตามถนนที่เสด็จ ชาวร้านชาวบ้านตกแต่งธงทิวแลตั้งเครื่อง
บูชา มีราษฎรออกมาชมพระบารมีแทบทุกหนทุกแห่ง ตามอาราม
ต่าง ๆ พระสงฆ์ออกมาที่ปรำน่าวัดสวดถวายไชยมงคล เวลาจวนค่ำ
เสด็จมาประทับในปรำป่าสนชายทเล มีทหารมหาดเล็กรักษา
พระองค์หมวด ๑ แตรสั้น ๒ รับเสด็จ อำมาตย์โท พระรำไพพงษ์
บริพัตร์ นายช่างประจำภาคในรถไฟสายใต้จัดได้ตัวสมเส็ดซึ่งได้
เลี้ยงไว้เชื่องแล้วขอพระราชทานถวาย

หม่องวิน มอไซ

ข้อที่น่าสงสัยคือ
๑. ถนนราชดำเนิน สร้างขึ้นในสมัยใด พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใดเคยเสด็จ จึงตั้งชื่อถนนราชดำเนิน
๒. ถนนรามวิถี ปรากฏในจดหมายเหตุฯ พ.ศ. ๒๔๕๘ แสดงว่าสร้างก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากถนนสายนี้ตั้งใจสร้างขึ้นให้ทันกับการเปิดเดินรถไฟในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยรื้อกำแพงเมืองสงขลาด้านตะวันออกออก แล้วเอาอิฐหินที่รื้อถมเป็นถนนรามวิถี
การตั้งชื่อถนนว่า รามวิถี เนื่องจาก ร.๖ เสด็จฯ ครั้งใด หรือตั้งชื่อนี้เพียงเนื่องจากเป็นถนนที่สร้างในสมัย ร.๖
๓. "ขณะนี้กำลังจะทำถนนชายทเลสาบอีกสาย ๑" อาจหมายถึง ถนนแหล่งพระราม ?

หม่องวิน มอไซ

ส่วนถนนที่เปลี่ยนชื่อไปแล้วในปัจจุบันคือ
ถนนกลันตัน เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนไทรงาม
ถนนตรังกานู เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนชายเขา

Singoraman

อ.จรัส จันทร์พรมรัตน์ เคยนำเอกสารราชกิจจานุเบกษามาให้ผม ๑ ชุด (ยังหาไม่เจอ)
จำได้ว่าในเอกสารนั้นเรียกถนนสายหนึ่งในเมืองสงขลาว่า "ถนนนคร"
ยังไม่คำว่า "นอก" และ "ใน"
ถ้าไม่ใช่ถนน "แหล่งพระราม" ก็อาจเป็น "ถนนนครนอก" ครับ

หม่องวิน มอไซ

ถนนนครใน ถนนนครนอก ปรากฏแล้วในจดหมายเหตุระยะทางฯ พ.ศ. ๒๔๕๘ ครับ
เอกสารราชกิจจานุเบกษา ที่มีถนนนคร เฉยๆ นั้นคือ พระบรมราชโองการ ประกาศ ใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลในตำบลตลาดเมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ร.ศ.๑๒๘ ซึ่งเป็นปลายสมัย ร.๕ ครับ


ที่น่าสังเกตคือ มีถนนริมน้ำ ด้วย แสดงว่า ถนนริมน้ำกลายมาเป็นถนนนครนอก ในเวลาต่อมา

Singoraman


หม่องวิน มอไซ

เหลือ ถ.ราชดำเนิน กับ ถ.ราชดำเนินนอก (หน้าเทคโนฯ) นี่แหละครับ อ.Singoraman น่าสงสัยจังว่าตั้งชื่อไว้ตั้งแต่สมัยไหน

Singoraman

ในหนังสือที่ระลึก มหาวชิราวุธประมาณปี 2511 มีบทความระบุว่า
กำแพงเมืองสงขลาบางส่วนริมทะเลสาบสงขลา ไม่ได้เป็นแนวตรงแต่เป็นแนวโค้งเล็กน้อย
เมื่อตัดถนนนครนอกจึงทำลายกำแพงไปบ้าง
หาหนังสือเจอเมื่อไรจะคัดข้อความมาแสดงครับ

วรชาติ

ในจดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสฯ นั้น  มีตอนหนึ่งกล่าวถึงว่าเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานีวิทยุโทรเลขสงขลา  ซึ่งในประวัติศาสตร์มีบันทึกไว้ว่า

วันที่  ๑๓  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๕๖
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีวิทยุราดิโอโทรเลขไม่มีสาย  ที่ถนนสรรพสาตร  ตำบลปทุมวัน
โดยมีสถานีสงขลาเป็นสถานีรับช่วง  ร่วมกับสถานีในเรือรบหลวง ๓ ลำ
ทรงเปิดเครื่องยนต์ให้เกิดแรงไฟฟ้าใช้เครื่องราดิโอโทรเลขด้วยฝีพระราชหัตถ์
แล้วเสด็จยังห้องเครื่องราดิโอโทรเลข  ทรงกดสัญญาส่งประกายเรียกขานให้กระจายไปในนภากาศ
แล้วพระราชทานพระราชโทรเลขพระบรมราชโองการสั่งเปิดให้เจ้าพนักงานส่งไปยังสถานีสงขลา
แลสถานีเรือหลวงที่อยู่ในท้องทะเลรับพร้อมกัน
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์
สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช
มีพระวิทยุโทรเลขกราบบังคมทูลตอบจากสถานีสงขลา  กับผู้บังคับการเรือรบหลวงในท้องทะเลหลวง
ได้มีราดิโอโทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว  จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ขอเรียนเป็นข้อสังเกตว่า ถนรามวิถี จะเกี่ยวข้องกับสถานีวิทยุโทรเลขสงขลาหรือไม่?  เพราะคำว่า "ราม" นั้นหมายถึง รามาธิบดี คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนชื่อถนนาชดำเนินนั้น  เริ่มมีใช้เป็นครั้งแรกในตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕  เมื่อโปรดให้สร้างพระราชวังดุสิต  แล้วโปรดให้ตัดถนนจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระราชวังดุสิต  จึงได้พระราชทานชื่อถนนสายนี้เป็น ๓ ตอน  ตามแนวถนน คือ ราชกำเนินใน  ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินนอก  จากนั้นจึงเกิดความนิยมที่จะตั้งชื่อถนนราชดำเนินตามหัวเมืองต่างๆ 

ประเด็นที่อาจารย์หม่องวินตั้งข้อสังเกตว่า ถนนราชดำเนินนี้หมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด  ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเป็นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  เพราะล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จสงขลาครั้งแรกคราวตามเสด็จล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ราว พ.ศ. ๒๔๓๓ หรือ ๓๔  แล้วมาเสด็จเมืองสงขลาอีกครั้งในปี ๒๔๕๘  ในปี ๒๔๖๐ไม่ได้เสด็จประพาสเมืองสงขลา  และปี ๒๔๖๗ เสด็จกลับจากประพาสมลายูแล้วแวะประทับแรมตำหนักเขาน้อย ๒ คืน  คือวันศุกร์ที่  ๑๐ - ๑๑  ตุลาคม  วันอาทิตย์ที่  ๑๒  ตุลาคม  ประทับรถไฟพิเศษเสด็จกลับกรุงเทพฯ 

ถ้าเป็นการที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองสงขลาก็น่าจะเป็นคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสชวาประเทศ  ทรงแวะประพาสเมืองสงขลาเมื่อวันที่  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๔๔๔  ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

วรชาติ

สำหรับถนนนคร  ที่มีทั้งนอกและในนั้น  เดิมน่าจะมีเฉพาะถนนนคร  เมื่อมีการต่อถนนออกไปจากถนนนครเดิม  จึงเรียกถนนนครเดิมว่า นครใน  และส่วนที่ต่ออกไปใหม่ ก็เรียกว่า นครนอก

ในกรุงเทพฯ ก็มีถนนซางฮี้  เมื่อแรกตัดถนนซางฮี้จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงทางรถไฟสายเหนือ  ก็เรียกถนนสายนี้ว่า ถนนซางฮี้  พอต่อถนนออกจากทางรถไฟทางตะวันออกถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในปัจจุบัน  ถนนซางฮี้เดิมจึงได้ชื่อว่า ซางฮี้ใน  และตอนที่ต่อใหม้ได้ชื่อว่า ซางฮี้นอก  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดพระราชทานชื่อถนนสายนี้ทั้งตอนในตอนนอกว่า ถนนราชวิถี  จากนั้นมาก็เลยมรชื่อถนนราชวิถีเพิ่มขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ

หม่องวิน มอไซ

มีข้อสงสัยดังนี้ครับ
1) ราม หมายถึง ร.๖ โดยเฉพาะหรือไม่ เพราะ ร.๖ ทรงใช้พระนามแฝงในพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ มักมีคำว่า ราม อยู่ด้วย
2) ถนนราชดำเนิน ตามหัวเมืองต่าง ๆ สร้างขึ้นตามธรรมเนียม หรือว่าเป็นเส้นทางที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่านแล้ว จึงตั้งชื่อว่า ราชดำเนิน

วรชาติ

ในพระราชปรารภตอนเปลี่ยนพระบรมนามาภิไธยจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร  มาเป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวไว้ว่า รามนั้นเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ  มีความหมายถึงพระรามาธิบดี  แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้พระนามว่า รามนั้นเห็นจะมีแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระองค์เดียว  ที่เห็นทรงใช้มีอู่ ๒ แบบ คือ เวลาทรงเซ็นพระบรมนามาภิไธย ทรงใช้ ราม วชิราวุธ ป.ร.  หรือ ราม ร.  กับอีกแบบหนึ่งที่ทรงใช้ในเวลาที่ทรงเป็นทวยนาคารหรือพลเมืองของดุสิตธานี คือ นายราม  ณ กรุงเทพฯ

เรื่องถนนราชดำเนินตามหัวเมืองนั้น  ยังไม่เคยค้นคว้าว่า ตั้งขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินหรือไม่  แต่เห็นชื่อถนนนี้มีทั้งที่ นครราชสีมา  และนครปฐม  เป็นชื่อถนนมาตั้งแค่ตรั่งรัชกาลที่ ๖ เสด็จแล้วครับ

แต่ถนนราชวิถีที่เชียงใหม่นั้น  ผมหลัก,นว่ามีการเปลี่ยนชื่อถนนจากเดิมมาเป็นราชวิถีเมื่อคราวรัชกาลที่ ๗ เสด็จเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๙  กับอีกสายหนึ่งเปลี่ยนจากถนนวโรรส ที่เป็นชื่อเจ้านครเชียงใหม่ที่ตัดถนนสายนี้  เปลี่ยนมาเป็นถนนพระปกเกล้าเป็นเจ้า  ปัจจุบันถูกตัดลงเหลือแค่ถนนถนนพระปกเกล้า

เมื่อวานพบหลักฐานเพิ่มเติมว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เคยเสด็จทางดรือไปขึ้นฝั่งที่สงขลาอีกครั้งเมื่อวันที่  ๑๙  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๕๔  คราวนั้นเสด็จขึ้นบกที่สงขลาแล้วเลยไปประพาสตลาดหาดใหญ่  เวลาเย็นเสด็จประทับในเรือแล้วเสด็จออกจากสงขลาเลย  การเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลคราวนี้ทำให้เกิดกองเสือป่าด้วยครับ

หม่องวิน มอไซ

นอกจากที่นครราชสีมาและนครปฐมแล้ว ที่นครศรีธรรมราชก็มีถนนราชดำเนินด้วยครับ

ร.๖ เคยเสด็จประพาสตลาดหาดใหญ่ด้วยหรือครับ ผมเองเพิ่งทราบจริง ๆ  :o
ณ เวลานั้นทางรถไฟยังสร้างไม่เสร็จ มีแต่ทางรถยนต์ คือ ถนนสงขลา-ไทรบุรี
(ถนนสงขลา-หาดใหญ่ ปรากฏภาพอยู่ในหนังสือ สยามตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ถึงสมัยปัตยุบัน ด้วยครับ)



ยิ่งฟัง ยิ่งน่าสนใจครับ

วรชาติ

รายละเอียดเสด็จประพาสสงขลาและหาดใหญ่ พ.ศ. ๒๔๕๔ จากราชกิจจานุเบกษาครับ

วรชาติ

ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นจะได้อ่านง่ายๆ ครับ

วรชาติ

หน้าที่ ๒ ครับ

วรชาติ

หน้าที่ ๓ ครับ  ในหน้านี้มีตอนหนึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระบรมราชชนกกราบถวายบังคมลาออกไปทรงศึกษา  เพราะเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ สวรรคตนั้น  เจ้านายที่ทรงศึกษาอยู่ที่ยุโรปต้องเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพทุกพระองค์ครับ  ในเอกสารชุดนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า พ.ศ. ๒๔๕๔ มีรถไฟสายสงขลาและหาดใหญ่แล้ว  และตำหนักเขาน้อยยังไม่ได้สร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จ  จึงต้องประทับแรมในเรือพระที่นั่ง

หม่องวิน มอไซ

ผมเชื่อมาตลอดครับว่า วันแรกของการเปิดเดินรถไฟสายสงขลา-พัทลุง คือ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ.1914)
เอกสารฉบับที่ อ.วรชาติ นำมาให้ชมนี้ นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งที่ระบุว่า ทางรถไฟช่วงสงขลา-น้ำน้อย สร้างเสร็จ เดินรถได้บ้างแล้ว
ในวันที่ ๑๙ เมษายน ร.ศ.๑๓๐ (ค.ศ.1911)
ก่อนหน้าวันเปิดเป็นทางการถึง ๒ ปีกว่าครับ  :o

ขอนำราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกเพื่อให้อ่านง่ายนะครับ


คนเขารูปช้าง

ทำให้รู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสงขลาที่ไม่เคยรู้ในการเสด็จพระราชดำเนินมายังสงขลาและหัวเมืองปักษ์ใต้อื่นๆ ของทั้งล้นเกล้า ทั้ง ร.๕ และ ร.๖ กำลังติดตามด้วยความสนใจมากครับ สำหรับคนไม่ค่อยมีเวลาค้นเอง

วรชาติ

เส้นทางรถไฟสายสงขลานี้น่าจะเป็นเส้นทางสายแรกๆ ของทางรถไฟสายใต้ที่ทยอยก่อสร้างเป็นตอนๆ ครับ
เพราะรัฐบาลสยามเพิ่งจะตกลงกู้ยืมเงิน Federated Malaya States (FMS) เมื่อคราวล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐  การกู้ยืมเงินนี้มาเสร็จสมบูรณ์มีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่  ๑๕  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๕๑  ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้มีข้อตกลงลับว่า รัฐบาลสยามยินยอมให้ดินแดนในคาบสมุทรมลายูเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ  และสยามจะไม่ส่งกองทหารลงไปประจำตั้งแต่บางสะพานลงไป

เมื่อลงนามในสัญญากันแล้วอีกไม่ถึง ๑ เดือน   ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งแรก  สมัยนั้นเปลี่ยนปี พ.ศ. กันในวันที่  ๑  เมษายนครับ

เรื่องทางรถไฟสายสงขลานี้ยังต้องค้นข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปครับ

Singoraman

ครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จสงขลา ปรากฏนามถนนในเมืองสงขลาที่พระองค์เสด็จผ่านด้วย
ชื่อ "ถนนบ้านขาม"
ใครเคยผ่านเอกสารชิ้นนี้บ้างครับ
ร่ำ ๆ ผมจะหมายถึง "ถนนนางงาม" หลายทีแล้ว แต่ไม่หาญ