ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ที่นี่ สถานีวิทยุกระจายเสียง ปชส.หาดใหญ่

เริ่มโดย คนนอกสวน, 14:55 น. 18 พ.ย 52

คนนอกสวน

สวัสดีครับ สมาชิกกิมหยง ดอท คอม ทุกท่าน

โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา พ.ศ.2512

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงเพลงอันไพเราะผ่านเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ระบบ FM
จำได้ว่า เป็นช่วงพักกลางวัน มีนักเรียนรุ่นพี่ นำวิทยุมาเปิดที่ห้องเรียน
วิทยุเครื่องนั้น เป็นวิทยุทรานซิสเตอร์ ราคาแพง ทำจากประเทศเยอรมัน ยี่ห้อ Schaub Lorenz
ได้ยินเสียงผู้ประกาศรายการพูดว่า ...ที่นี่ สถานีวิทยุกระจายเสียง ปชส.หาดใหญ่ ส่งกระจายเสียง
ในระบบ เอฟ เอ็ม ....ความถี่ 97 เม็กกะเฮิร์ต ....

ผมฟังแต่วิทยุระบบ เอเอ็ม มาตลอด เท่าที่พอจำความได้ ตอนเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก
อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 ที่บ้านผม มีเครื่องรับวิทยุที่ใช้หลอด
สุญญากาศ ยี่ห้อ philips คุณแม่เปิดฟังการแจ้งเตือนพายุด้วยใจระทึก

วิทยุหลอดเครื่องนั้นให้ความบันเทิงกับครอบครัวของเรามาหลายปี จนเริ่มเสื่อมสภาพ เวลาจะฟัง
ต้องเอามือไปตบด้านบนของเครื่อง เสียงจึงจะมา คุณพ่อจึงไปซื้อวิทยุเครื่องใหม่ เป็นวิทยุ
ทรานซิสเตอร์ ยี่ห้อ philips เหมือนเดิม และซื้อจากร้านเดิม คือร้าน "เตือนใจ" ซึ่งตั้งอยู่มุมถนน
เพ็ชรคีรี เยื้องที่ทำการไปรษณีย์สงขลา

คุณแม่ของผมรับตัดเสื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง แม่จะเปิดวิทยุฟังพร้อม
กับตัดเย็บด้วยจักรเย็บผ้า ซิงเกอร์ แบบธรรมดา ไม่มีมอเตอร์ช่วย รายการวิทยุที่แม่ชื่นชอบ คือ
ละครวิทยุคณะแก้วฟ้า ซึ่งมีคุณวิเชียร นีลิกานนท์ เป็นพระเอก คุณจีรภา ปัญจศิลป์ เป็นนางเอก

สถานีวิทยุที่ส่งละครในสมัยนั้น คือ สถานีวิทยุ วพท.705 กรมการพลังงานทหาร กรุงเทพฯ
เราจึงต้องต่อสายอากาศ และสายดิน ให้เครื่องรับวิทยุด้วย เพื่อการรับฟังที่ชัดเจน

40 กว่าปีที่แล้ว สถานีวิทยุท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา  มีไม่กี่สถานี ที่รู้จักกันดีคือ สถานีวิทยุกระจาย
เสียง วปถ.5 หาดใหญ่ ระบบ เอเอ็ม และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ปชส.หาดใหญ่ ระบบ เอฟเอ็ม ที่
ผมติดใจในความไพเราะดังกล่าว

ผู้ฟังอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม คงจำเสียงโฆษกประจำสถานีวิทยุ วปถ.5 หาดใหญ่ สมัยนั้นได้ดี
คือคุณสมาน ตัณฑนุช รายการยอดนิยมที่เด็กและผู้ใหญ่ติดกันมากคือรายการ หนูจ๋า ซึ่ง คุณสมาน
จะมาเล่านิทานให้ฟังทุกสัปดาห์ ความมีชื่อเสียงของคุณสมาน ทำให้ได้รับเชิญไปปรากฏตัว เป็น
โฆษกในงานต่าง ๆ มีผู้ฟังส่งจดหมายขอรูปถ่ายลายเซ็นกันคับคั่ง

อีกรายการที่เรียกได้ว่า เปิดฟังกันทุกบ้าน คือ ลิเกคณะบุษบา ถ้าเราเดินผ่านบ้านเรือนตั้งแต่หัว
ถนนจนสุดถนน จะได้ยินเสียงลิเกวิทยุได้ต่อเนื่องไม่มีสะดุดเลย  ลิเกบุษบาคนติดกันงอมแงม
เวลาออกเดินสายมาแสดงสด ก็ได้รับการต้อนรับหนาแน่นไม่แพ้โนราห์เติม จังหวัดตรัง

รายการขำขัน จัดโดยคุณเกษม ฉายพันธ์ เป็นที่ติดหูผู้ฟังมาก เพราะเปิดรับเรื่องจากทางบ้าน พอ
เล่าจบ จะมีเสียงหัวเราะ ตบท้ายด้วยดนตรีบรรเลงเพลงบ้านเรือนเคียงกัน

นอกจากสถานีวิทยุของหน่วยงานราชการแล้ว วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ สงขลา หรือปัจจุบันเปลี่ยน
เป็น มทร.ศรีวิชัย ก็ได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นเองโดยนักศึกษาช่าง ส่งรายการไป
ไกลข้ามจังหวัดทีเดียว

วิทยุกระจายเสียงมีบทบาทมาก  เวลาดนตรีลูกทุ่งออกต่างจังหวัด จะมีสถานีวิทยุกระจายเสียง
เคลื่อนที่เฉพาะกิจติดตามมากับคณะเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วย ผมได้ไปดูการจัดรายการ
วิทยุของวงดนตรีพยงค์ มุกดา ที่โรงหนังสหภาพยนตร์สงขลา เขียนจดหมายขอเพลงกันเดี๋ยวนั้นเลย

พูดถึง สถานีวิทยุกระจายเสียง ปชส.หาดใหญ่บ้าง  ถ้าหมุนคลื่นวิทยุระบบเอฟเอ็ม จะมีเพียงคลื่นนี้
คลื่นเดียวตลอดย่าน เป็นคลื่นแรกของจังหวัด ก่อนที่สถานีวิทยุ มอ. สถานีวิทยุ สทร. และ อื่น ๆ จะ
ตามมาภายหลังอีกหลายปี คุณเจริญ ประสงค์สุข เป็นโฆษกที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง คุณเจริญ เป็น
คนแรก ๆ ที่นำเพลงลูกทุ่ง มาเปิดในรายการวิทยุระบบเอฟเอ็ม สวนกระแสที่ยุคโน้น รายการส่วน
ใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะเปิดแต่เพลงไทยสากล และเพลงสากล เท่านั้น

มาวันนี้ วันที่เรามีสถานีวิทยุมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งสถานีหลัก สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุผ่านดาว
เทียมและสถานีวิทยุบนอินเทอร์เน็ต ถ้าจะถามคนเก่าคนแก่อย่างผมว่ารู้สึกเช่นไร ผมก็คงไม่
ลังเลที่จะบอกว่า ผมอยากกลับไปนั่งฟังวิทยุเก่า ๆ  ฟังคุณสมานเล่านิทาน ฟังคุณเจริญเปิดเพลง
ลูกทุ่ง และฟังละครคณะแก้วฟ้าใกล้ ๆ คุณแม่ที่กำลังตัดเย็บเสื้อผ้าครับ...

Singoraman

ผมคนหนึ่งที่นึกภาพทั้งหมดที่ "คนนอกสวน" เล่ามาได้ชัดเจน ประหนึ่งว่าเพิ่งผ่านไปเมื่อเดี๋ยวนี้เอง
ผมเป็นแฟนของ "อาสมาน" ขนาดว่าเคยอัดเทปเสียงของอาสมานไว้ฟัง
เสียดายว่าเทปม้วนนั้น ยืดจนฟังไม่ได้แล้ว  ผมเคยไปที่สถานีวิทยุ วปถ. 5 ในปัจจุบันเพื่อขอเทปเสียงของ "อาสมาน"
เสียดายว่า ไม่มี  ผมเคยขอไปที่ภรรยาของอาสมาน ท่านน้ำตาไหล เมื่อพูดถึงอาสมาน
แล้วบอกว่า เทปเสียงนั้นมี แต่เสียหายหมดเมื่อครั้งน้ำท่วมหาดใหญ่ ผมอดน้ำตาซึมไปด้วยไม่ได้
ณ เวลานี้ ใครมีเทปเสียงของท่าน ผมขอก๊อปปี้นะครับ ด้วยความคิดถึง
ใครมีภาพถ่ายลายเซ็นต์ ที่อาสมานเคยมอบให้แฟนเพลงช่วยลงให้ดูบ้าง
"คนนอกสวน" มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เปิดประเด็นให้คุยกันบ้าง
อยากมีส่วนร่วมครับ

คนนอกสวน

ขอบคุณ คุณ Singoraman มากครับที่เข้าชมกระทู้

ผมติดตามอ่านงานเขียนต่าง ๆ ที่คุณ Singoraman โพสต์ในเว็บกิมหยงมาตลอด วันนี้มีโอกาสเลย
เล่าเรื่องเก่าบ้างครับ

ดีใจมากที่เจอแฟนพันธ์แท้ของ "อาสมาน"
ผมไม่ได้ข่าวคราวของท่านมานานแล้ว ถ้าคุณ Singoraman หรือท่านอื่นจะร่วมเสวนาในประเด็นต่าง ๆ
ผมยินดีครับ เชิญตามสบายเลยครับ

ขอบคุณครับ

Singoraman

อาสมาน ตัณฑนุช เป็นชาวสุราษฎร์ธานี
มาตั้งรกรากอยู่ที่หาดใหญ่ แต่หนุ่ม
มีใจรักในการจัดรายการวิทยุเป็นที่ยิ่ง
จัดรายการอยู่ที่ วปถ.5 หาดใหญ่ ตั้งแต่ครั้งสถานีตั้งอยู่ที่วัดโคกสมานคุณ
จนย้ายมาอยู่ที่สวนสาธารณะ
เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 10 ปี
ภรรยาท่านเป็นเครือข่ายวิทยุพระพุทธศาสนา
จึงได้มีโอกาสถามเรื่องราวของท่าน

กิมหยง

ครับ ผมขอคุยบ้าง

ในตอนเด็ก ๆ นั้นอาศัยอยู่ควนกาหลงครับ
บ้านที่ผมอยู่ก็มีวิทยุอยู่ด้วย

ในสตูลไม่แน่ใจว่าจะมีสถานีหรือเปล่า
แต่จำได้รู้สึกลุงมักจะเปิดฟังจากทางหาดใหญ่เป็นหลักครับ

ฟังเพลงลูกทุ่งตอนทุ่มครึ่งถึงสองทุ่มครับ

ยังคงจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ดีครับ
และถ้าให้เลือก ก็คงเลือกไปนั่งฟังเพลงลูกทุ่งข้างกองไฟแบบนั้นแหละครับ
สร้าง & ฟื้นฟู

คนนอกสวน

ขอบคุณ ท่านกิมหยง มากครับ ที่เข้ามาเจิมกระทู้
ฟังเพลงข้างกองไฟ ได้บรรยากาศดีจริงครับ

หม่องวิน มอไซ

สำหรับผม ตอนเด็ก ๆ มีของเล่นมหัศจรรย์อยู่ชิ้นหนึ่ง คือวิทยุแร่ครับ
สามารถฟังวิทยุได้ โดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ถ่านไฟฉายหรือพลังแสงอาทิตย์
แค่เอาปากคีบไปหนีบกับราวตากผ้า หรือวัสดุอะไรที่เป็นโลหะ ก็ฟังวิทยุ AM ได้แล้ว
เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ายังมีอุปกรณ์ขายเอามาประกอบได้อีกหรือเปล่า

คุณเจริญ ประสงค์สุข ผมจำได้เพียงว่าท่านเป็นพิธีกรทางรายการโทรทัศน์ช่อง 10 หาดใหญ่
ตั้งแต่ยังออกอากาศเป็นขาวดำอยู่
(ที่บ้านซื้อทีวีสีมาครั้งแรก พ.ศ. 2522 แต่รายการทีวีช่อง 10 ที่ทางสถานีถ่ายทำเองจะเป็นขาวดำ)
ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุงตอนเช้า รายการนักแสดงรุ่นเยาว์ที่ให้โรงเรียนต่าง ๆ ไปแสดง
หรือข่าวต่าง ๆ จะเป็นขาวดำหมด
เป็นสีเฉพาะโฆษณาหรือภาพยนตร์ที่เป็นฟิล์มเท่านั้น เช่น อมฤตาลัย หุ่นไล่กา พิภพมัจจุราช ห้องหุ่น
แคนดี้จอมแก่น ละครเมฆ ฝันกลางฤดูฝน ฯลฯ

ทำให้ผมนึกภาพคุณเจริญ ประสงค์สุข เป็นภาพขาวดำ นึกเป็นภาพสีไม่ออกครับ

ส่วนรายการวิทยุ ตอนเด็ก ๆ ชอบฟัง FM มากกว่า เพราะเสียงเพลงเพราะ และเป็นสเตอริโอ
จำได้มีรายการที่วิทยุธานินทร์เป็นสปอนเซอร์
...แชนแนล เอ ควรเป็นลำโพงด้านซ้าย แชนแนลบี ควรเป็นลำโพงด้านขวา...

ส่วนตอนเช้ามีรายการเล่าข่าว จาก สทท.ส่วนกลาง ใครนึกชื่อท่านผู้เล่าข่าวผู้ชายได้บ้างครับ

เสียงเป็นเอกลักษณ์เลย นึกชื่อเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก
แล้วก็มีละครวิทยุ ชุด ตายทั้งเป็น เกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติดอีกด้วย

คนนอกสวน

ตอบ คุณหม่องวิน ครับ

รายการเล่าข่าวช่วงเช้าจาก สทท.ส่วนกลาง ผู้จัดคือ คุณปรีชา ทรัพย์โสภา

>> http://www.prd.go.th/bordcast/thai/preecha.html

รายการที่วิทยุธานินทร์เป็นสปอนเซอร์
...แชนแนล เอ ควรเป็นลำโพงด้านซ้าย แชนแนลบี ควรเป็นลำโพงด้านขวา...
ผู้จัดคือ อาจารย์ไพบูลย์  ศุภวารี   .... ทุกบาทคุ้มค่า ด้วย ..ธานินทร์

คุณเจริญ  ประสงค์สุข สร้างชื่อเสียงไว้มากจากการพากย์มวยปล้ำ
เช่นเดียวกับคุณหม่องวินว่าไว้คือ เราไม่เคยเห็นคุณเจริญ ออกจอทีวีสีเลย

วิทยุแร่ ของเล่นมหัศจรรย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีจำหน่ายอยู่ครับ
ของเล่นชิ้นนี้จุดประกายให้หลายคน สนใจอิเล็กทรอนิกส์ ในเวลาต่อมา

รายการทีวีที่คุณหม่องวินบอกมา ผมจำได้ครับ
สมัยก่อน ทีวีไม่ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง
แต่จะเริ่มราว ๆ 17 นาฬิกา จนถึง เที่ยงคืน
ถ้าเป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ จะเริ่มประมาณ 10 นาฬิกา
มีช่วงหนึ่ง ที่คนดูทีวีช่อง 10 หาดใหญ่ ตั้งตารอดู " กระบี่ไร้เทียมทาน"

ขอบคุณ คุณหม่องวิน ที่ร่วมคุยในกระทู้ครับ

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณคุณคนนอกสวนมากครับ ที่ช่วยให้ผมได้รำลึกความทรงจำเก่า ๆ
ตามลิงค์เข้าไปอ่านประวัติคุณปรีชา ทรัพย์โสภา
แล้วก็เสียใจที่ไม่มีโอกาสได้ฟังข่าวหกโมงเช้าของคุณปรีชาอีก

พูดถึงสถานีวิทยุ ชอบฟัง ส.ทร. ครับ แม้ไม่ได้เป็นทหาร
แต่ฟังเพลงทหารเรือจนร้องได้แล้วครับ
...เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น อีกสามร้อยปี มันก็ไม่มีใครจะเห็น...
หรือ
...หนึ่งพันห้าร้อยไมล์ทะเลไทยมีนาวีนี้เฝ้า ข้าศึกฮึกเข้าระดมโจมตีนาวีนี้รบรับอยู่
ใหญ่กี่ตันต้องสู้กัน ฟาดฟันให้รู้ ไม่ปล่อยให้ฝ่ายศัตรู ล้ำอธิปไตย..

ตอนนั้นเอฟเอ็มก็ฟังอยู่ 2 สถานีครับ ส.ทร. กับ สวท.
ต่อมามีสถานีวิทยุ ตชด. เอฟเอ็ม 104.0 MHz เพิ่มเข้ามาอีก
ตอนทดลองออกอากาศ ผมยังโทรศัพท์ไปแจ้งผลการรับฟังเลยครับ

เรื่องวิทยุแร่ เป็นแรงบันดาลใจให้สนใจอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ ครับ
หลังจากนั้นก็ซื้อหัวแร้งตะกั่วบัดกรี มาประกอบชุดคิทเสียงนกเสียงกาเองเลย
ช่วงนั้นฮิตมาก ๆ

คนนอกสวน

ใช่ครับ สถานีวิทยุ ตชด. 104 เปิดตามมาหลังจากสถานี สทร.6
ผมก็ชอบฟังเพลงของทหารเรือเช่นเดียวกันครับ

เห็นคุณหม่องวินพูดถึงรายการทีวี ผมเลยเอาผังรายการช่อง 10 หาดใหญ่
เดือนสิงหาคม 2523 มาฝากครับ

คนนอกสวน

ตามด้วย ผังรายการ เดือนพฤศจิกายน 2524

คนนอกสวน


หม่องวิน มอไซ

เห็นผังรายการแล้ว น้ำตาแทบไหล
ความทรงจำเก่า ๆ กลับมาได้จริง ๆ
จำได้เกือบทุกรายการเลยครับ
ถือเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากครับ

ผังรายการโทรทัศน์ส่วนกลาง ยังพอหาได้
แต่ผังช่อง 10 นี่แหละครับ หายากมาก

จากความทรงจำที่ยังมีเหลืออยู่ ละครเมฆ รู้สึกว่าไม่ได้เป็นเสียงในฟิล์มครับ
ใช้วิธีพากย์กันสด ๆ เลย
เพราะมีอยู่วันหนึ่ง นักพากย์เสียงหายเพราะไอ หรืออะไรสักอย่างนี่แหละครับ
ต้องมาขออภัยผู้ชมกันเดี๋ยวนั้นเลย

กิมหยง

คิดถึงจังครับ

เมื่อก่อนหาดใหญ่เรา ไม่ได้มีทีวีหลายช่องเหมือนในปัจจุบันครับ

จำได้ที่เป็นหลัก ๆ ก็มีช่อง 10 หาดใหญ่เรานี่แหละครับ
สร้าง & ฟื้นฟู

หม่องวิน มอไซ

ผังปี 2523 เห็นละครผู้กองยอดรักด้วย
สมัยนั้นคุณนิรุตต์ กับ คุณดวงใจ เป็นพระเอก-นางเอก คนติดกันทั้งเมือง

และที่สำคัญ ยุคนั้นเป็นยุคทองของหนัง-ละครจีนฮ่องกงจริง ๆ ครับ

Singoraman

ชาดหนุกจัง
ฟังคนแต่แรกเขาแหลงกัน
ดายของฉานเกิดไม่ทัน
แต่ว่าจำชื่อนักจัดรายการวิทยุ (โฆษก) ในอดีตได้หลายคน เช่น
ภาคใต้และสงขลา เช่น
สมาน ตัณฑนุช, เจริญ ประสงค์สุข, อ.อ่าง ณ เมืองใต้, ชัยวุฒิ เกิดชื่น, โกสุม สายศรีโกศล, เอก ยอดจตุกาล, เจ้าลอย, ศักดิ์ สุดา (ชายชรา มก.)
พัฒน์ เพชรสุวรรณ,  ลุงเริญ, ทวน ทักษิณ,
ส่วนกลาง (ส่งเทปมายังท้องถิ่น) เช่น
โอภาส บุนนาค, นายธง แห่งบูรพา, เกษม ฉายพันธ์, ทวน สีแดง, ประจวบ จำปาทอง,
นึกไม่ออกแล้วครับ แต่คิดถึงมาก

กิมหยง

ขอเล่าบ้างนะครับ

ตอนเด็ก ๆ นั้นตอนปิดเทอมจะมาหาดใหญ่ครับ

จำได้ตอนนั้นมีทีวีน่าจะช่องเดียว ตอนหลังจะมีช่อง 7 มาด้วยครับ

กลางวันนั้นจะปิดสถานีครับ
เปิดมาจะมีแต่ลูกน้ำครับ

แต่พอ 16.30 น. เขาจะเริ่มเปิดภาพหลากสี
และมีเพลงให้ฟังครับ

ตอนนั้นมาจากควนกาหลง
ในตอนเย็นมักจะเปิดดูลูกน้ำประจำครับ
อยากดูทีวี อยากดูอะไรก็ได้ครับ
เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นครับ

แต่ถ้าจำไม่ผิดบางช่วงเวลา จะมีรายการเกี่ยวกัน การศึกษาอะไรสักอย่างครับ
คล้าย ๆ เรียนทางไกลผ่านทางทีวีครับ

เห้อ พวกท่านทำให้นึกถึงสมัยเด็กประถมเลยครับ

คิดถึงหาดใหญ่
ได้มาอยู่หาดใหญ่ตอนปิดเทอม มีไฟฟ้าใช้ มีวีทีให้ดู
มีน้ำแข็งให้กิน ตอนค่ำ ๆ มันจะทำน้ำแข็งในช่องฟรีซประจำ
ตื่นเช้ามาก็กินกันตั้งแต่เช้าเลยครับ

ในช่วงเวลานั้น รู้สึกมีความสุขและอบอุ่นมากครับ
สร้าง & ฟื้นฟู

Singoraman


อาการทั้งหลายในห้องนี้ เขาเยียก
"เยสสะเต้อร์เดย์ หวันมอร์"
ครับ

มุมหมอน

โอโหเข้ามาห้องนี้ ใด้รู้อะไรแต่ก่อนมากมาย จำใด้บ้างไม่ใด้บ้างค่ะ
....ทวน  ทักษิณ คนที่อ่านข่าวตอนเช้า ๆหรือเปล่าคะ จำใด้ว่าที่วัดข้างบ้าน ติดลำโพงสูง ๆ แล้วหันไปสี่ทิศ
.....ประจวบ จำปาทอง จะมา แจกของรางวัล ที่สวนสาธารณะ แล้วก้อพา นักร้อง ใต้ มาด้วย จำใด้แต่ ดาวใต้  เมืองตรัง และก้อมีการประกวดร้องเพลงกันด้วย

สว่นน้ำแข็งที่คุณกิมหยงพูดถึง ที่บ้านเรียกว่า หวานเย็น แม่ทำใว้เต็มตู้ รอขายตอนโรงเรียนเลิกค่ะ
แล้วน้ำแข็งมือ ที่เป็นก้อน ๆ ตอนเด็ก ๆ จำใด้ว่าเขาเอาแกบ มาปิดใว้ เวลาจะกิน ก้อเอามาล้างแกบออกแล้วทุบเอา
ยังรู้จักน้ำ ซาซี่ กันหรือเปล่าคะ ทีทำเป็นรูป จรวด

อยากใช้ชีวิตเหมือนแต่ก่อนมากค่ะ เบื่อชีวิตในเมืองอย่างแรง

Singoraman

ขอตีมือ "มุมหมอน" 1 ที
โทษฐานออกเสียง "แกลบ" เป็น "แกบ"
เพี๊ยะ

หม่องวิน มอไซ

อ้างจาก: กิมหยง เมื่อ 13:44 น.  19 พ.ย 52
ขอเล่าบ้างนะครับ

ตอนเด็ก ๆ นั้นตอนปิดเทอมจะมาหาดใหญ่ครับ

จำได้ตอนนั้นมีทีวีน่าจะช่องเดียว ตอนหลังจะมีช่อง 7 มาด้วยครับ

กลางวันนั้นจะปิดสถานีครับ
เปิดมาจะมีแต่ลูกน้ำครับ

แต่พอ 16.30 น. เขาจะเริ่มเปิดภาพหลากสี
และมีเพลงให้ฟังครับ

ตอนนั้นมาจากควนกาหลง
ในตอนเย็นมักจะเปิดดูลูกน้ำประจำครับ
อยากดูทีวี อยากดูอะไรก็ได้ครับ
เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นครับ

แต่ถ้าจำไม่ผิดบางช่วงเวลา จะมีรายการเกี่ยวกัน การศึกษาอะไรสักอย่างครับ
คล้าย ๆ เรียนทางไกลผ่านทางทีวีครับ
ใช่แล้วครับ วันธรรมดา สมัยนั้นกลางวันจะไม่มีรายการโทรทัศน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
ต่อมา มีรายการการศึกษาของ ม.รามคำแหงครับ

ช่อง 7 มาตอน พ.ศ. 2524 ครับ ถ้าจำไม่คลาดเคลื่อน

Singoraman

พบกับสิ่งที่น่าสนใจสักครู่ครับ