ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สถานีสอง , ป้อมหก

เริ่มโดย Probass, 13:49 น. 24 พ.ย 52

Probass

มีใครทราบบ้างว่า   ทำไมจึงตั้งชื่อเช่นนี้  มีความเป็นมาอย่างไรหรือครับ

รบกวนคนแต่แรกหล่าว
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

ลูกแมวตาดำๆ

รอ ท่าน หม่องวินฯมาชี้แจง ไม่นานคงทราบกันครับ

แต่ที่ผมรู้คร่าวๆ คือว่ารถไฟจอดเพราะใกล้ตลาดสด

รถไฟหยุดเปรียบเสมือนสถานีหาดใหญ่เลยครับ

เลยอาจเรียกว่า สถานี สอง มั้งครับ

Probass

วันนี้ ไม่เห็นท่าน อ.เอก กับ ท่าน อ. Singoraman ครับ

แถวๆ หลังวัดปลักกริม ขบวนรถสายปาดังก็ชะลอด้วย(ใครอยากรู้ว่าชะลอทำไม  ต้องไปดูเอง) ถ้าอย่างนั้น น่าเรียกว่า 'ถานี3


คุณลูกแมวฯเลิกเรียนแล้วหรือครับ
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

หม่องวิน มอไซ

ป้อมหกนี่ ยังไม่ทราบที่มาครับ
แต่สถานีสอง เกิดขึ้นราว ๆ พ.ศ. 2507 และยกเลิกไปราว ๆ พ.ศ. 2518 ครับ
ตรงที่เป็นสถานีสอง อยู่ตรงกับตลาดสดเทศบาลเมืองหาดใหญ่
ชาวบ้านจึงนิยมมาขึ้นรถไฟที่นี่สะดวกกว่าไปที่ตัวสถานีชุมทางหาดใหญ่
ชื่ออย่างเป็นทางการของสถานีสองคือ ป้ายหยุดรถตลาดหาดใหญ่ครับ

เคยมีการกล่าวถึงสถานีสองไว้ในงานวิจัย
โครงการวิจัย"ความอยู่ดีมีสุขของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา"
ข้อมูลสถานภาพชุมชน : ชุมชนใกล้ตลาด เทศบาลนครหาดใหญ่ ด้วยครับดังนี้


Probass

ผมเข้าใจว่า สถานีสอง คือฝั่งโชคสมาน
ส่วนป้อมหก คือฝั่งตลาดสด

แถวนั้นมีชุมชนรัตนอุทิศ ชุมชนโชคสมาน ชุมชนใกล้ตลาด
ผมเรียกเหมาว่าสถานีสอง ทั้งนั้น

ของคุณอ.เอกที่ให้ความกระจ่างครับ
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

หม่องวิน มอไซ

สำหรับไฟล์งานวิจัยดังกล่าว อ่านได้ที่นี่ครับ
http://biochem.flas.kps.ku.ac.th/rft/klaitalad_thai.pdf

สวย

เป็นป้อมปืนโบราณอะป่าว

คนแต่แรก

ผมก็ทันสถานีสองตรงตลาดสดหาดใหญ่ ตรงสี่แยกไฟแดงขึ้นไปวงเวียนน้ำพุ สถานีสองจะเป็นเพิงและมีที่นั่งให้คนโดยสารนั่งรอรถ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร รถไฟเขาจะรู้กัน เมื่อถึงสถานีสองรถไฟจะหยุดรับส่งผู้โดยสารตรงนี้ด้วย  ไม่ต้องเสียเวลาไปลงที่สถานีหาดใหญ่ แล้วต้องนั่งสามล้อถีบหรือรถตุ๊กๆย้อนกลับมาขึ้นรถยนต์โดยสารที่หน้าหอนาฬิกา(บางคนต้องเดินทางต่อ เพราะบ้านไม่ได้อยู่หาดใหญ่) เพราะลงที่สถานีสองแล้วเดินเข้ามาที่หน้าหอนาฬิกาใกล้นิดเดียว ประหยัดค่ารถรับจ้างต่างหาก  ส่วนที่เขาเรียกว่าป้อมหก ผมเคยเห็นมีป้อมตำรวจตั้งอยู่(สมัยนี้รื้อถอนไปแล้ว) ส่วนเลขหกอาจจะมาจากหมายเลขป้อมของตำรวจ เพราะสมัยก่อนตำรวจจะเรียกป้อมหรือกำหนดลำดับป้อมเป็นตัวเลข เช่น ป้อมหนึ่งอยู่ตรงนั้น ป้อมสองอยู่ตรงนี้ ซึ่งทางตำรวจเขาจะรู้กันและเข้าใจในหมู่ตำรวจ

ลูกแมวตาดำๆ

คุณ คนแต่แรก หากมีประสบการณ์กับถไฟสายนี้อีกช่วยโพสตอบในกระทู้ต่างๆของบอร์ดด้วยนะครับ

ข้อมูลท่านเป็นข้อมูลที่ควรบันทึกไว้เพื่อไม่ให้สูญหายไปในอนาคตครับ

หม่องวิน มอไซ

ฟังคุณคนแต่แรกเล่าให้ฟังแล้ว
นึกขึ้นได้ครับ ตอนเด็ก ๆ บ้านผมอยู่ที่สะเดา ตรงข้ามบ้านมีป้อมตำรวจอยู่ด้วย
เรียกว่าป้อม ๑ ครับ
มีเลขไทยติดอยู่ที่ป้อมด้วย  :)

Probass

ป้อมตำรวจ สมัยก่อนเป็นยังไงหรือครับ มีภาพไหมครับ

ช่วงนึงป้อมตำรวจ เป็นโครงเหล็กเชื่อม
ต่อมาก็ทำเป็นไฟเบอร์ มีรูปหมวกจราจร

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ก่ออิฐ ติดแอร์หมดแล้ว
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

เบื่อคนเจ้าเล่ห์

อ้างจาก: Probass เมื่อ 16:37 น.  24 พ.ย 52
วันนี้ ไม่เห็นท่าน อ.เอก กับ ท่าน อ. Singoraman ครับ

แถวๆ หลังวัดปลักกริม ขบวนรถสายปาดังก็ชะลอด้วย(ใครอยากรู้ว่าชะลอทำไม  ต้องไปดูเอง) ถ้าอย่างนั้น น่าเรียกว่า 'ถานี3


คุณลูกแมวฯเลิกเรียนแล้วหรือครับ

เอ... ถ้าแถว ๆ นั้น ผมจำได้ว่า  ตอนผมวัยรุ่น นั่งรถหิน หรือพวกรถพ่วงที่เค้าเรียก ขต. มาจากปาดังฯ  พอรถเบาทาง เราก็โยน ๆ ๆ สินค้า ลง  เพื่อเศรษฐกิจหาดใหญ่ เติบโต.....

  คำถามนี้ ท่าน pro คงนึกออกนะครับว่า.......... เป็นอะไร  ;D ;D
โลกมีทรัพยากรเหลือเฟือสำหรับทุกคน..แต่ทรัพยากรทั้งหมดของโลก..ไม่พอสำหรับคนโลภ เพียงคนเดียว!

หม่องวิน มอไซ

อ้างจาก: Probass เมื่อ 13:51 น.  26 พ.ย 52
ป้อมตำรวจ สมัยก่อนเป็นยังไงหรือครับ มีภาพไหมครับ

ช่วงนึงป้อมตำรวจ เป็นโครงเหล็กเชื่อม
ต่อมาก็ทำเป็นไฟเบอร์ มีรูปหมวกจราจร

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ก่ออิฐ ติดแอร์หมดแล้ว
ป้อม ๑ ที่สะเดานั้น ลักษณะจะคล้าย ๆ กับป้อมตำรวจทางหลวงในปัจจุบันนั่นแหละครับ ไม่ติดแอร์
แต่ถ้าจำไม่ผิด บนหลังคาจะมีหลอดไฟกลม ๆ ใหญ่ ๆ ให้เป็นที่สังเกตด้วย
บ้านผมอยู่ตรงข้ามป้อม ๑ ริมถนนกาญจนวนิช ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ชุมสายโทรศัพท์สะเดา
ส่วนพ่อผมเป็นตำรวจอยู่ที่นั่น

เวลารถบรรทุกข้ามแดนไทย-มาเลเซีย ขนปลาสดผ่านป้อมนี้ คนขับมักจะส่งปลาให้ตำรวจที่เฝ้าป้อม
และบางครั้งก็เอาปลามาให้บ้านผมด้วยครับ ตัวใหญ่ ๆ เลย

เสียดายยังหาภาพถ่ายป้อม ๑ มาให้ชมไม่ได้ครับ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

คนแต่แรก

ไหนๆก็เข้ามาแล้ว อยากจะเล่าเรื่องขึ้นรถไฟจากสถานีปาดังเบซาร์มาหาดใหญ่ แล้วต่อรถไฟที่สถานีหาดใหญ่ไปสงขลา   จะขอเล่าประสบการณ์ช่วงประมาณปี พ.ศ.2510   รถไฟขบวนหาดใหญ่ไปปาดังเบซาร์  ซึ่งเป็นรถไฟตู้โดยสารมีประมาณ 5-6 ตู้ ไม่มีตู้สินค้านะครับ ขบวนรถไฟตู้สินค้าจะแยกอีกขบวนหนึ่ง   พอรถไฟไปถึงสถานีปาดังเบซาร์ ผู้โดยสารจะลงจากรถจนหมด เพราะสุดสายแล้ว แล้วหัวรถไฟก็จะถอดหัวออกจากตู้โดยสาร สมัยนั้นหัวรถไฟยังเป็นหัวรถจักรไอน้ำอยู่นะครับ (สมัยก่อนเขาเรียกว่าหัวรถจักร) หัวรถไฟก็จะวิ่งไปเติมน้ำ(จะมีท่อน้ำใหญ่ๆโยงเข้าทางหลังคาหัวรถจักร)  น้ำที่เติมนี้ใว้สำหรับต้มให้เดือดเป็นไอเพื่อไปขับลูกสูบของหัวรถจักร  เมื่อเติมน้ำเต็มแล้ว  ก็ขับต่อไปที่สำหรับกลับหัวรถจักร เป็นเหมือนจานวงกลมใหญ่ๆ หรือวงเวียน   หัวรถจักรขับเข้าไปอยู่ตรงกลางจาน แล้วจานก็จะหมุนตัวพร้อมกับหัวรถจักร เพื่อกลับหัวกลับหาง พอนึกภาพออกนะครับ   พอหัวรถจักกลับหัวเสร็จแล้วก็จะวิ่งออกมาจากจานนั้นหรือวงเวียนนั้น (วงเวียนที่กลับหัวรถจักรนั้น สมัยนี้อยู่ฝั่งมาเลเซียเสียแล้ว  เหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ขอกล่าวถึงนะครับ)  แล้ววิ่งไปต่อกับขบวนรถโดยสารที่จอดทิ้งใว้  เพื่อรอผู้โดยสารที่จะขึ้นรถกลับไปหาดใหญ่กัน ส่วนมากจะเป็นแม่ค้าที่ซื้อของหนีภาษีไปส่งในตลาดหาดใหญ่กันเป็นส่วนมาก  เมื่อรถออกจากสถานีปาดังเบซาร์ ไปสักพักก็ถึงสถานีบ้านท่าข่อย  สถานีบ้านคลองรำ  สถานีคลองแงะ  สถานีทุ่งลุง  สถานีบ้านพรุ  และปลายทางที่สถานีหาดใหญ่  บางครั้งก็มีเรื่องตื่นเต้นก่อนขบวนรถไฟจะถึงสถานีหาดใหญ่  แถวๆวัดปลักกริม คือ รถไฟจะหยุดรถตรงแถวๆนั้นแหละ  แล้วแม่ค้า พ่อค้า จะรีบเก็บของแบกของหนีภาษีวิ่งลงจากรถไฟกันอย่างโกลาหล  ก่อนที่จะถึงสถานีหาดใหญ่ เพราะว่าพ่อค้า แม่ค้า เขารู้กัน จะมีคนคอยส่งสัญญาณอยู่แถวๆข้างทางรถไฟตรงวัดปลักกริมนั่นแหละ ว่ามีด่านหรือตำรวจมาคอยดักจับของหนีภาษีที่สถานีหาดใหญ่  พวกค้าของหนีภาษีที่อยู่บนรถไฟ(เขาเรียกว่าพวกพลร่ม  คือพวกนี้ชอบนั่งบนหลังคารถไฟ ไม่ต้องเสียค่าโดยสาร) จะปลดท่อลมที่ข้อต่อลากรถระหว่างตู้รถไฟด้วยกัน  เมื่อลมออกจากท่อ  ทำให้ระบบเบรคของรถไฟทำงานจนทำให้รถไฟต้องหยุดเอง  พ่อค้า แม่ค้าก็สามารถนำของหนีภาษีลงจากรถได้ ก่อนที่จะโดนจับที่สถานีหาดใหญ่  ขอจบภาคหนึ่งก่อนนะครับ เดี๋ยวภาคสองจะเล่าต่อจากสถานีหาดใหญ่ไปสงขลานะครับ

หม่องวิน มอไซ

รอฟังต่อนะครับท่าน น่าตื่นเต้นมากครับ

นายไข่นุ้ย

 :( :o ::)อ่านแล้ว เราคนมาทีหลังได้ความรู้เยอะเลย ชอบมากครับ เรื่องเก่าๆ  )love
DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)

คนแต่แรก

เล่าเรื่องรถไฟต่อจากภาคที่หนึ่งนะครับ  พ่อค้า แม่ค้า ที่พาของหนีภาษีลงจากลงจากรถไฟหมดแล้ว พวกพลร่ม(ดูความหมายจากภาคที่หนึ่ง)ก็จะต่อท่อลมเข้าคืนเหมือนเดิม  รถไฟก็จะวิ่งได้เหมือนเดิมจนถึงสถานีหาดใหญ่  พวกนายด่านและนายตำรวจที่มายืนรอจับของตรงสถานี ก็แห้วตามเคย มีแต่ผู้โดยสารธรรมดา พ่อค้า แม่ค้า ลงตรงแถววัดปลักกริมกันหมดแล้ว   สถานีรถไฟหาดใหญ่ตอนนั้นยังเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง และยกพื้น  พื้นชานชลารถไฟยังเป็นไม้คล้ายระแนงตีเป็นช่องๆ เวลาเดินจะมองเห็นใต้ถุนหรือเห็นพื้นดินข้างล่างอยู่เลย  ผมลงจากรถไฟผมก็เดินไปซื้อน้ำโอเลี้ยงกับขนมมาทานที่สถานี  เพื่อรองท้องนั่งรอรถไฟจะไปสงขลาต่อ  เมื่อรถไฟมาถึงแล้ว ผมก็ขึ้นไปนั่งรอบนรถ เพื่อรอเวลาตีระฆังให้รถออก  รถไฟสายสงขลาไม่ต้องซื้อตั๋วที่สถานี  ค่อยขึ้นไปจ่ายค่าโดยบนรถไฟเลย  พอเขาตีระฆังเตือนครั้งที่หนึ่งว่ารถไฟกำลังจะออกแล้ว  ผู้โดยสารที่จะไปสงขลาก็รีบวิ่งขึ้นรถกัน  เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่มีผู้โดยสารวิ่งขึ้นรถแล้ว  ก็จะตีระฆังอีกครั้งเพื่อให้รถไฟออกจากสถานีได้  เมื่อรถไฟวิ่งมาได้สักประมาณ 4-5 นาที รถไฟก็จอดตรงสถานีสอง(เลยตลาดสดเทศบาลไปหน่อยหนึ่ง)  เพื่อรับผู้โดยสารตรงสถานีสอง  เมื่อรับเสร็จแล้วรถก็จะออกเดินทางต่อไป   อ้อ ลืมบอกไปว่าหัวรถจักรที่ไปสงขลาเป็นหัวรถจักรเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว แต่ถ้าไปปาดังเบซาร์หัวรถจักรจะเป็นหัวรถจักรไม้ฟืนขับไอน้ำ(สมัยเด็กๆเรียกว่าหัวรถจักรไม้ฟืน  เพราะต้องใช้ไม้ฟืนเผาหรือต้มน้ำให้เดือด )  เมื่อรถออกสถานีสองไปได้สักพัก  จะมีพนักงานเก็บเงิน แต่งชุดสีกากี  หิ้วกล่องสี่เหลี่ยมหรือหีบที่บรรจุตั๋วโดยสาร  ตั๋วโดยสารจะเหมือนกับตั๋วรถเมล์สมัยนี้  เป็นม้วนยาวเหมือนกันเลย   เจ้าหน้าที่จะถามว่าลงที่ไหน  ผมบอกว่าลงสงขลา เจ้าหน้าที่ก็จะดึงตั๋วจะกล่องหรือหีบตามจำนวนราคา  รู้สึกว่าค่าโดยสารไปสงขลาประมาณ 2 บาท แต่งชุดนักเรียนก็ 1 บาท  เพราะว่าวันนั้นผมแต่งชุดนักเรียนจะไปเที่ยวงานวันเด็กที่แหลมสมิหลากัน   ระยะทางจากหาดใหญ่ไปสงขลา ผมจำสถานีไม่ได้แล้วว่ามีกี่สถานีกว่าจะถึงสถานีสงขลา  แต่รู้สึกว่าสถานีตรงระหว่างทางจะไม่มีเจ้าหน้าที่ประอยู่  ถ้าจำไม่ผิดจะมีสถานีน้ำน้อยเท่านั้นที่มีเจ้าหน้าที่และมีอุปกรณ์สื่อสารประจำสถานีอยู่   นอกนั้นไม่มีเลย   แต่จะทำเป็นเพิงและมี่ที่นั่งรอ  เหมือนกับป้ายรถเมล์สมัยนี้  แต่จะมีป้ายชื่อบอกว่าสถานีอะไร      รถไฟก็จะจอดหรือหยุดรถทุกสถานี    เมื่อรถไฟถึงสถานีสงขลา  พวกผมก็รีบลงจากรถเพื่อต่อรถสองแถวไปเที่ยวแหลมสมิหลากัน   เที่ยวกันจนเย็นก็นั่งรถสองแถวกลับมาที่สถานีรถไฟสงขลา  เพื่อรอรถไฟขบวนต่อไป  รถไฟสายสงขลาจะวิ่งไปกลับประมาณสี่หรือห้าเที่ยว จำไม่ค่อยได้แล้วต้องขออภัยด้วย  รูสึกว่ารถไฟสายสงขลาจะวิ่งกันจนค่ำ  เพราะสมัยก่อนรถเมล์ รถสองแถว วิ่งระหว่างสงขลากับหาดใหญ่  ยังมีน้อยอยู่  ประชาชนเลยต้องอาศัยโดยสารรถไฟกันมาก  ไม่เหมือนสมัยนี้ทุกครอบครัว ทุกบ้าน เกือบจะมีรถยนต์กันหมดแล้ว  พอแค่นี้ก่อนนะครับ  เดี๋ยวมีอะไรค่อยเข้ามาเล่าต่อนะครับ

หม่องวิน มอไซ

กำลังสนุกเลยครับ รอฟังต่ออีกนะครับ
------------------
สถานีรายทางระหว่างชุมทางหาดใหญ่กับสงขลา มีดังนี้ครับ
ชุมทางหาดใหญ่
ป้ายหยุดรถ ตลาดหาดใหญ่ (สถานีสอง)
ป้ายหยุดรถ คลองแห
ป้ายหยุดรถ คลองเปล
ป้ายหยุดรถ บ้านเกาะหมี
สถานี เขาบรรไดนาง
ป้ายหยุดรถ ตลาดน้ำน้อย
สถานี น้ำน้อย
ป้ายหยุดรถ บ้านกลางนา
สถานี ควนหิน
ป้ายหยุดรถ ตลาดพะวง
ที่หยุดรถ น้ำกระจาย
ป้ายหยุดรถ บ้านบางดาน
ป้ายหยุดรถ วัดอุทัย
สถานี สงขลา

เด็กป้อม6

ผมมาทัีนสถานีสอง ยุค"ขาวแดง"ระบาด ระหว่างที่รถไฟยังไม่มา จะมีคนนั่งคอยรถ แล้วก็มีพวกนักต้มตุ๋น(ไม่อยากบอกว่าอยู่ชุมชนวัดอะไรน้าาาาาาแถวๆนั้นน่ะ) ปูผ้าเช็ดหน้าแล้วงัดอุปกรณ์เล่นขาวแดงออกมา เป็นลูกสี่เหลี่ยม มีแต่สีขาวและสีแดง เวลาเล่นเจ้ามือจะเอาถ้วยครอบ แล้วปล่อยให้คนแทงพนันว่าจะออกขาวหรือแดง โดยจะมีหน้าม้าเข้ามาแทงทีละคน ส่วนใหญ่จะแทงถูกเพื่อล่อเหยื่อซึ่งก็คือคนรอรถไฟแถวๆนั้น บางคนเกิดมาไม่เคยเล่นการพนัน เกลียดการพนัน แต่ด้วยความโลภเห็นคน(หน้าม้า)แทงถูกได้เงินง่ายๆ อดใจไม่ไหวลงไปเล่นกะเขาด้วย สุดท้ายหมดกระทั่งสร้อยแหวนนาฬิกา แม้แต่ค่ารถจะกลับบ้านก็ไม่มี
พวกนี้ร้ายกาจมาก มันร่วมหัวกันกินเหยื่อแบบไม่ปรานีเลย ในที่สุดกรรมตามสนอง ผมเคยเห็นบางคนต้องมาเดินขอเงินในตลาดบ้าง บางคนนอนเป็นอัมพาต บางคนใช้ชีวิตสุดท้ายในคุกฯลฯ 

Probass

อ่านข้อความของ คนแต่แรกแล้ว  คิดถึง กระทู้อ.เอก ในเวบรถไฟไทย

อยากให้มีภาพประกอบด้วยเผื่อคนรุ่นหลังๆที่มาดูเวบนี้  รบกวนอาจารย์สักนิดได้ไหมครับ


(ปล. ผมเริ่มรู้จักเวบกิมหยง กับ เวบรถไฟไทย  พร้อมๆกันเลย แต่เวบรถไฟได้แต่อ่าน Forums อย่างเดียว ไม่ค่อยแสดงตัว ...เพราะอ่านแล้วมันส์ดี)
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณครับคุณ Probass
นำภาพตั๋วรถไฟสายสงขลายุค 2510 มาให้ชมกันก่อนครับ
ของ อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์
คุณเอนก นาวิกมูลนำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือมรดกเมืองสงขลา มหาวชิราวุธ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ครับ

สถานีสอง ก็คือ ป้ายหยุดรถตลาดเทศบาลนั่นเอง
โปรดสังเกตว่าในตั๋วนี้ ไม่ได้ระบุสถานีเขาบรรไดนาง น้ำน้อยและควนหินไว้
เนื่องจากรถไฟชานเมือง ไม่ได้จอดที่สถานีดังกล่าว เพราะห่างไกลจากชุมชนครับ

สำหรับกำหนดเวลาเดินรถในปี 2511 นั้น มีดังนี้ครับ
ข. 237 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 6.25 น. ถึง สงขลา 7.15 น. / ข. 238 สงขลา ออก 7.20 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 8.10 น.
ข. 239 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 8.15 น. ถึง สงขลา 09.05 น. / ข. 240 สงขลา ออก 09.10 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 10.00 น.
ข. 241 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 10.15 น. ถึง สงขลา 11.05 น. / ข. 242 สงขลา ออก 11.10 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 12.00 น.
ข. 243 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 12.15 น. ถึง สงขลา 13.05 น. / ข. 244 สงขลา ออก 13.10 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 14.00 น.
ข. 245 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 14.15 น. ถึง สงขลา 15.05 น. / ข. 246 สงขลา ออก 15.10 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 16.00 น.
ข. 247 ชุมทางหาดใหญ่ ออก 16.10 น. ถึง สงขลา 17.00 น. / ข. 248 สงขลา ออก 17.05 น. ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 17.55 น.

แต่ในตั๋วนั้น มีขบวนที่ 249/250 ด้วย เข้าใจว่าเพิ่มเข้ามาในภายหลัง อาจเป็นยุค พ.ศ. 2512 ก็ได้ครับ



หม่องวิน มอไซ

อ้างจาก: เด็กป้อม6 เมื่อ 00:10 น.  01 ธ.ค 52
ผมมาทัีนสถานีสอง ยุค"ขาวแดง"ระบาด ระหว่างที่รถไฟยังไม่มา จะมีคนนั่งคอยรถ แล้วก็มีพวกนักต้มตุ๋น(ไม่อยากบอกว่าอยู่ชุมชนวัดอะไรน้าาาาาาแถวๆนั้นน่ะ) ปูผ้าเช็ดหน้าแล้วงัดอุปกรณ์เล่นขาวแดงออกมา เป็นลูกสี่เหลี่ยม มีแต่สีขาวและสีแดง เวลาเล่นเจ้ามือจะเอาถ้วยครอบ แล้วปล่อยให้คนแทงพนันว่าจะออกขาวหรือแดง โดยจะมีหน้าม้าเข้ามาแทงทีละคน ส่วนใหญ่จะแทงถูกเพื่อล่อเหยื่อซึ่งก็คือคนรอรถไฟแถวๆนั้น บางคนเกิดมาไม่เคยเล่นการพนัน เกลียดการพนัน แต่ด้วยความโลภเห็นคน(หน้าม้า)แทงถูกได้เงินง่ายๆ อดใจไม่ไหวลงไปเล่นกะเขาด้วย สุดท้ายหมดกระทั่งสร้อยแหวนนาฬิกา แม้แต่ค่ารถจะกลับบ้านก็ไม่มี
พวกนี้ร้ายกาจมาก มันร่วมหัวกันกินเหยื่อแบบไม่ปรานีเลย ในที่สุดกรรมตามสนอง ผมเคยเห็นบางคนต้องมาเดินขอเงินในตลาดบ้าง บางคนนอนเป็นอัมพาต บางคนใช้ชีวิตสุดท้ายในคุกฯลฯ 
พอบอกได้ไหมครับ ว่าราว พ.ศ. เท่าไหร่ที่ขาวแดงระบาดครับ
แถวนั้น ผมเองก็ไม่ค่อยกล้าเดินเข้าไปสำรวจครับ
แล้วไม่ทราบว่า ตลาดใหม่สร้างเสร็จหรือยังครับ เพราะได้ข่าวว่ารื้อชุมชนออกไปแล้ว