ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

‘ตำนานโนรา’ โชว์อลังการ มรภ.สงขลา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมถิ่นอีสาน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:27 น. 08 ก.พ 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

รายงานพิเศษ
โดย ลัดดา เอ้งเถี้ยว
ประเด็น/

'ตำนานโนรา' โชว์อลังการ มรภ.สงขลา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมถิ่นอีสาน
               

ท่วงท่ารำอันอ่อนช้อย ความพร้อมเพรียงในทุกจังหวะการแสดง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายงดงามชวนมอง คือเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังเวที เพื่อรับชมการแสดงที่มีชื่อว่า"เทพนิมิตรงามวิจิตรโนราชาตรี" ผลงานนักศึกษา มรภ.สงขลา ที่เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้อย่างกึกก้อง

[attach=9]

ในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 14 ฮีตฮอยศิลป์ ถิ่นตักศิลา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นเจ้าภาพ และมีมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 23-27 มกราคม ที่ผ่านมา ในการนี้มหาวิทยาลัยราชสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้นำวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ไปร่วมจัดแสดง โดยใช้ชื่อชุดการแสดงว่า "เทพนิมิตรงามวิจิตรโนราชาตรี" ประดิษฐ์และฝึกซ้อมการแสดงโดย นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ซึ่งการแสดงชุดนี้ได้รับคำชื่นชมและเสียงปรบมือจากผู้ชมเป็นอย่างมาก

นายโอภาส เล่าว่า การแสดงชุดดังกล่าว เป็นการผสมผสานกันระหว่างระบำเทพนิมิตรนวลทองสำลีและการแสดงโนรา โดยการแสดงชุดนี้บอกเล่าถึงเรื่องราวตำนานโนรา ที่มีความเชื่อว่านางนวลทองสำลีนิมิตเห็นเทพธิดามาร่ายรำให้ดู การร่ายรำนั้นมีทั้งหมด 12 ท่า แต่ละท่ารำล้วนสวยงามน่าชมมาก มีเครื่องประโคมดนตรีลงจังหวะกับท่ารำ โดยนำท่ารำโนรา 12 ท่า มาเป็นท่ารำหลักของระบำ ประดิษฐ์เพลงโดย ครูควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) พ.ศ.2553

[attach=1]

ส่วนโนราหรือมโนราห์นั้นเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบต่อกันมา นิยมแพร่หลายในภาคใต้ ซึ่งเป็นการรำตามแบบฉบับโบราณ มีแม่บทท่าต่างๆ กัน เนื้อร้องจะเป็นการบอกบทของท่ารำต่างๆ ซึ่งจะรำตั้งแต่ท่าง่ายๆ จนถึงท่ายากตามลำดับ ในการฝึกรำก็จะเริ่มตั้งแต่ท่าพื้นฐาน คือการฝึกให้ผู้รำรู้จักจังหวะและท่าต่างๆ เป็นอย่างดี สามารถรำได้ทุกท่า แล้วจึงเริ่มฝึกรำแม่บท เป็นแม่บทเบื้องต้นที่ผู้แสดงมโนราห์จะต้องเรียนรู้ก่อนบทอื่น เพราะเป็นท่าที่ง่ายๆ หลังจากนั้นจะรำบทสอนรำและท่าปฐม ซึ่งเป็นท่ารำที่ยากขึ้นตามลำดับ

"ภูมิใจมากกับการแสดงในครั้งนี้ นักศึกษาตั้งใจฝึกซ้อมกันเต็มที่ เพื่อให้การแสดงออกมาสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งเสียงตอบรับจากผู้ชมหน้าเวที ทำให้เรามีกำลังใจที่จะสืบสานและถ่ายทอดวัฒนธรรมของภาคใต้ ให้คนในภูมิภาคอื่นๆ ได้เห็นถึงความงดงาม" ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าว

พัชรี สุวรรณรัตน์ "พัส" นักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง สาขาวิชานาฏยรังสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ซึ่งรับบทเป็นนางนวลทองสำลี ตัวเอกของการแสดงชุดนี้ เล่าถึงความรู้สึกที่ได้เป็นหนึ่งในทีมนักแสดงว่า ดีใจที่ได้ร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมของภาคใต้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และอยากให้คนทั่วไปได้เห็นถึงที่มาของโนรา 12 ท่า อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ สำหรับบทนางนวลทองสำลีที่ตนได้รับนั้น เป็นบทที่ต้องแสดงท่าทางและอารมณ์ เพื่อให้คนดูเชื่อและอินไปกับการแสดง ดังนั้น จึงต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างหนัก และการแสดงเพื่อหาประสบการณ์ในเวทีต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้ทำการแสดงบนเวทีกว่า 50 ครั้ง ส่วนการแสดงในชุดระบำเทพนิมิตนวลทองสำลีนั้น ได้แสดงเปิดหมวกมาแล้ว 5 ครั้ง ในลักษณะของคอนเสิร์ต เพื่อหาทุนสำหรับเดินทางไปร่วมการแสดงทางวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน     

ด้าน อภิสิทธิ์ รองเมือง "เก๊งเก่ง" นักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา หนึ่งในนักแสดงโนรา กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทนของ มรภ.สงขลา เดินทางไปแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ในงานวัฒนธรรมอุดมศึกษาครั้งที่ 14 ฮีตฮอยศิลป์ ถิ่นตักศิลา ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาอีกหลายคน ซึ่งการได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในนักแสดงชุดนี้ ทำให้ได้รู้ถึงความสามารถที่มีอยู่ในตนเอง และมีความภูมิใจที่ได้นำวัฒนธรรมภาคใต้มาเผยแพร่ยังต่างถิ่น ทำให้คนดูได้เห็นถึงความอลังการตระการตาของโนรา จึงอยากให้คนรุ่นหลังช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมให้คงอยู่ตลอดไป

นที รุ่มรวย "ไมค์" นักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มรภ.สงขลา กล่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ นั่นก็คือโนรามาแสดงให้คนที่มีหัวใจเดียวกันได้รับชมความสามารถของนักศึกษา มรภ.สงขลา และได้สืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน เป็นประสบการณ์ที่ได้รับโอกาสจากอาจารย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประการสำคัญ ได้รับชมและทราบถึงวัฒนธรรมต่างถิ่นของเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ รักษาและสืบทอดนาฏศิลป์ของไทย

"ในฐานที่เป็นนักแสดง ขอฝากถึงเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มีหัวใจรักและชื่นชอบในด้านนี้ ช่วยกันรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้และภาคอื่นๆ ให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน อย่าให้สูญหายและตายไปพร้อมกับเรา" นที กล่าว
ขณะที่ ชูเกียรติ สรยิง "ลูกอ๊อด" นักศึกษาสาขาวิชานาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของภาคใต้ให้ภาคอื่นๆ ได้รับชม การได้ทำกิจกรรมการแสดงเป็นการฝึกปรือฝีมือไปในตัว และได้สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมของดีของเด่นประจำภาคเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

[attach=7]

อนึ่ง งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีเสน่ห์อยู่ภายในตัวเองที่จะดึงดูดให้ผู้คนได้สัมผัสทั้งด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์ และวิจิตรศิลป์ ซึ่ง มรภ.สงขลา เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2554

น่ายินดีว่าต้นกล้าแห่งวัฒนธรรม ได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของคนรุ่นใหม่ผู้มีใจรักในวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งอีกไม่นานต้นกล้าเหล่านี้ก็จะยิ่งเติบโต และถ่ายทอดสายใยทางวัฒนธรรมไปยังต้นกล้ารุ่นต่อไป ไม่รู้จบ 



เรื่อง/ภาพ โดย ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)