ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เชื่อมั่นอุตฯต่ำสุดรอบ56เดือน ขายรถเดือนก.พ.ร่วง44%

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:25 น. 26 มี.ค 57

ฅนสองเล

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ขายรถเดือนก.พ.ร่วง 44% ปัญหาการเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 56 เดือน คาดจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 3%

ส.อ.ท. ระบุ การเมืองฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 56 เดือน คาดจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 3% ขณะที่การส่งออกยังต้องลุ้น ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เผยยอดขายเดือนก.พ. ลดลงต่อเนื่อง รับผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาการเมือง รถคันแรก โตโยต้า ชี้ยอดขายร่วง 44% เชื่อเป็นการปรับฐานเข้าสู่ภาวะปกติ มั่นใจ เดือนมี.ค. ปรับตัวดีขึ้น หลังจากรถใหม่เปิดตัวชิงตลาดรับฤดูขาย กลุ่มอุตฯ เผยตลาดต่างประเทศยังโต ตั้งเป้าผลิตเพื่อส่งออกปีนี้เพิ่ม 7%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความกังวลต่อปัญหาทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อและไร้ทางออก ทั้งนี้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนก.พ. 2557 จำนวน 1,103 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 2557 ต่ำสุดในรอบ 56 เดือน ลงมาอยู่ที่ระดับ 85.7 ปรับลดลงจากระดับ 86.9 ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา กำลังซื้อภาคการเกษตร และการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมียอดขายที่ลดลง กระทบเอสเอ็มอีประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. อยู่ระดับ 100 เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ผู้ประกอบการมองไม่เห็นอนาคตเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตไปได้อย่างไร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีลดลงมาก มาจากความกังวลต่อปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อและยังไร้ทางออก ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจประหยัดค่าใช้จ่ายลง ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงของภาคเกษตร ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยอดขายลดลง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ มีการปรับลดถึง 2 ครั้งแล้ว จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่ง ส.อ.ท.เชื่อว่า ตัวเลขคงไม่ถึง 3% ขณะที่เป้าหมายส่งออกก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะไม่ถึง 5% ตามเป้าหมาย

ดัชนีเชื่อมั่นลดลงทุกกลุ่มธุรกิจ


นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 80.2 ลดลงจากระดับ 84.2 ในเดือนม.ค. ดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.0 ลดลงจากระดับ 100.1 ในเดือนม.ค. ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 86.7 ลดลงจากระดับ 87.9 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้มีผลจากยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ ไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.6 ลดลงจากระดับ 101.2 ในเดือนม.ค.

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 90.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 88.3 ในเดือนม.ค. โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.8 ลดลงจากระดับ 98.1 ในเดือนม.ค.

"ผลสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ คือ ปัญหาการเมือง อัตราแลกเปลี่ยนมีความกังวลเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กังวลลดลง จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น แก้ปัญหาราคา คุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตร และสร้างโอกาสการลงทุน" นายศุภรัตน์ กล่าว

[attach=1]

ยอดขายรถเดือนก.พ. หดตัว 44%

ตลาดรถยนต์ไทย ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว แต่ยังสามารถประคองตัวให้มีตัวเลขติดลบไม่มากนัก คือ 7% เมื่อสิ้นปี แต่เมื่อเริ่มต้นปี 2557 พบว่ามีสัญญาณการถดถอยที่ชัดเจน โดยยอดขายเดือนม.ค. ที่ผ่านมาลดลง 45% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และล่าสุดเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ยอดขายก็ยังลดลงต่อเนื่อง 44% ด้วยยอดขาย 71,680 คัน

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ยอดขายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า รถยนต์นั่ง ซึ่งทำได้ 29,066 คัน มีอัตราการถดถอยมากที่สุด 54% ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) ทำได้ 42,614 คัน ลดลง 35.% ส่วน ปิกอัพ 1 ตัน มียอด 35,142 คัน ลดลง 35%

"ตลาดรถยนต์ที่มียอดขายลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของการปรับเข้าสู่สมดุลของตลาดรถยนต์ หลังจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ประกอบกับการชะลอตัวของภาคการบริโภค และการลงทุน และผลจากการสิ้นสุดโครงการรถคันแรก"

สำหรับเดือนมี.ค. คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากดัชนีการขายตามฤดูกาลชี้ว่าตลอดเดือนนี้จะมียอดขายสูงสุดในไตรมาสแรก ประกอบกับการส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวตั้งแต่ช่วงต้นปี และการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายเดือน จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของตลาด แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองยังคงส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่อาจมีผลต่อตลาดได้เช่นเดียวกัน

ส่งออกยังขยายตัว

ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เดือนก.พ. ที่ผ่านมา ไทยมีการผลิตรถยนต์รวม 173,506 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 24% เนื่องจากไม่ต้องมีการผลิตเพื่อป้อนให้กับโครงการรถยนต์คันแรก รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้น อีกทั้งหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการผลิตในเดือนม.ค. ปีเดียวกัน พบว่าเพิ่มขึ้น 6% โดยรถยนต์นั่งมีการผลิตรวม 69,640 คัน ลดลง 33% ส่วนรถปิกอัพ 1 ตัน ผลิต 101,956 คัน 15%

ส่วนยอดผลิตสะสมเดือนม.ค.-ก.พ. ทำได้ 336,58 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 27%

ด้านรถจักรยานยนต์ เดือนก.พ. ผลิตได้ 190,499 คัน ลดลง 17% รวม 2 เดือนแรก ผลิตได้ 382,646 คัน ลดลง 18%

ขณะที่ ตลาดต่างประเทศเดือน ก.พ. มีการส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 97,171 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 0.51% และ สูงกว่าเดือนม.ค. ปีนี้ 19% อีกด้วย และเมื่อรวมการส่งออกเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ พบว่าเดือนม.ค. มีรายได้ 67,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%

รวมเดือนม.ค.-ก.พ. ส่งออกรถยนต์ 178,196 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3% เมื่อรวมส่งออกเครื่องยนต์ อะไหล่ และ ชิ้นส่วน มีมูลค่ารวม 123,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%

ด้านรถจักรยานยนต์ เดือนก.พ. ส่งออก 67,594 คัน ลดลง 7% รวมส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่ ทำได้ 4,513 คัน ลดลง 7% รวมเดือนม.ค.-ก.พ. ส่งออก 145,741 คัน เพิ่มขึ้น 2% รวมส่งออกชิ้นส่วน อะไหล่ มีมูลค่า 8,914 ล้านบาท ลดลง 4%

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มได้ประมาณการการผลิตรถยนต์ในปีนี้ว่าจะทำได้รวม 2,400,000 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 57,057 คัน หรือลดลงประมาณ 2% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้น 7% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ตั้งเป้า 1,200,000 คัน เท่ากัน แต่ลดลงจากปีที่แล้ว 10%

ส่วนเป้าหมายการผลิตรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 2,250,000 คัน เพิ่มขึ้น 1% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 350,000 คัน เพิ่มขึ้น 4% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้น 0.8%

w_2005

เศรษฐกิจแบบนี้ ใช้เงินระวังกันหน่อยนะพี่น้องเห้อ

นายไข่นุ้ย

คนคิดหนักละงานนี้ ต้องใช้เบี้ยอย่างประหยัด.... ส-เหอเหอ ส.อ่านหลังสือ ส.โบยบิน
DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)