ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

"เสานี้ไม่ว่าง เสาหน้านะน้อง" เพจฮา+ฮิต กระตุกให้คิดมารยาทสังคม

เริ่มโดย itplaza, 13:08 น. 30 เม.ย 57

itplaza


เพจ "เสานี้ไม่ว่าง เสาหน้านะน้อง" เป็นการรวบรวมภาพอิริยาบถของผู้โดยสารรถไฟฟ้าในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และในต่างประเทศ หลายๆแห่ง เพื่อนำเสนอวิธีการพยุงตัว การทรงตัว ขณะรถไฟแล่นไปตามสถานีต่างๆ เน้นไปที่การใช้เสาเป็นตัวช่วยหลัก ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทุกวัน



เจ้าของของเพจอธิบายถึงที่มาของเพจไว้สั้นๆว่า นำเสนอทุกรูปแบบการพิง การแนบ เรามองว่ามันคือศิลปะ!!! เป็นการรวบรวมทุกกระบวนท่าการพิงอิงแอบเสา...ไม่ว่าเสานั้นจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าใครคนใดจะพิงมันอยู่ ถ้าคุณพบ ถ้าคุณเห็น กดแชะแล้วแชร์มาให้เราได้ชมกันนะจ๊ะ!


ด้วยเหตุนี้ภาพที่ปรากฏในเพจจึงเต็มไปด้วยนาย/นาง/ด.ช./ด.ญยืนพิงอิงแอบเสา กอดเสา โอบเสา รัดเสา ด้วยมือ เท้า ขา แขน หน้าอก หรือแม้แต่ก้นหนีบเสาไว้เพื่อทรงตัว แบบไม่เผื่อแผ่ใคร เนื่องจากมือไม่ว่างเพราะกำลังท่องโลกออนไลน์อันกว้างใหญ่ จนลืมไปว่าตนเองเบียดเสียดอยู่ในโลกออฟไลน์






พฤติกรรมเหล่านี้หากกระทำในช่วงรถโล่งว่างไม่มีคนแออัดมาก คงไม่มีใครว่าอะไร แต่หากกระทำในช่วงที่คนแออัดบนรถไฟฟ้าที่แคบและมีพื้นที่จำกัด เสาอันเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อจะได้เกาะกุมเกี่ยว ไม่ให้โยกไปตามแรงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของรถไฟฟ้า ควรเป็นจุดที่ใช้ร่วมกัน แต่สำหรับบางคนไม่ใช่ "เล่นบทเสานี้ข้าครอง"



สำหรับคนที่ไม่มีที่นั่ง แถมยังโหนไม่ถึงราวจับ และอาจจะไม่อยากโชว์รักแร้ เสาจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับคนที่มีข้อจำกัดเรื่องความสูง และระยะทางไกล


เสาจึงกลายเป็นจุดยอดนิยมที่มีคนรุมล้อม อย่างเช่นรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อก่อนมีแค่เสาเดียวโดดๆ แต่ตอนนี้ เขาขยายเสาตรงกลางให้มี 3 แฉก เพื่อจะได้มีเสาให้จับมากขึ้น ถึงขนาดนี้แล้วก็ยังมีคนจองครองเสาอีกเช่นเดิม



แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ดูไม่สนใจโลกรอบข้าง ยังคงก้มหน้าก้มตาจิ้มสมาร์ทโฟน ยืนอ่านหนังสือ โดยเอาหลังพิงทั้งแผ่นพิงเสา ใช้ขาเกี่ยวรัดรอบเสา หรือใช้ส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกายให้เป็นประโยชน์ แบบกินพื้นที่ไม่แบ่งให้คนอื่น โดยพฤติกรรมเช่นนี้ พบเห็นได้ทุกวัน แบบไม่ซ้ำหน้าเลยก็ว่าได้


นับว่าเพจนี้เป็นการสะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงสามัญสำนึกและมารยาทสังคม ที่ต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แบบที่มีให้เห็นอยู่อย่างทุกวัน

ขอบคุณเนื้อหา sanook.com
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=7&news_id=35405&page=1