ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไขรหัส 'ประยุทธ์' เข็น 'กฎอัยการศึก' หยุดม็อบ!!

เริ่มโดย itplaza, 13:40 น. 20 พ.ค 57

itplaza


พล.อ.ประยุทธ์ งัดกฎอัยการศึกมาคุมสถานการณ์

จู่ๆ เสียงเพลงที่คุ้นเคย ก็ดังขึ้นตามสถานีโทรทัศน์ ประกอบกับเสียงท็อปบูตวิ่งขวักไขว่ ตามห้องส่งออกอากาศ เมื่อทหารเข้าควบคุมสัญญาณได้ทุกสถานี ปฏิบัติการลิงก์สัญญาณจาก ททบ.5 ก็ถูกส่งเชื่อมไปทุกสถานีโทรทัศน์ เสียงประกาศของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ดังขึ้น พร้อมกับป่าวประกาศ "กฎอัยการศึก" พร้อมกับถนนหนทางทุกแยก ก็ถูกตรึงไปด้วยกำลังทหาร จากหลายหน่วย พร้อมอาวุธครบมือ อันเป็นการปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ที่ไม่มีข่าวเล็ดลอดออกมาก่อน แม้แต่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (ทหาร) ก็รู้คำสั่งจาก ผบ.ทบ. เมื่อเวลา ตี 2....





ทหารเข้าประจำจุด





และแล้วการประกาศกฎอัยการศึก ของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในเวลา 03.00 น. ถือว่าไม่เกินความคาดหมาย เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เร่ิมเข้าสู่จุดไคลแมกซ์ โดยทั้งสองฝ่ายมีการระดมมวลชนเข้ามา และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคง กองทัพบก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลัก จึงไม่อาจที่จะนิ่งเพื่อให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนได้ การส่งกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์



ตรึงกำลังทุกแยก





ส่งผลให้ ศอ.รส. ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศอ.รส. ต้องถูกยุบ และยุติโดยปริยาย โดยคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อย และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม



ภาพบรรยากาศมุมสูง





สำหรับ "กฎอัยการศึก" เชื่อว่าหลายคนยังไม่มีความเข้าใจ และไม่รู้ว่าเมื่อประกาศแล้วจะดำเนินชีวิตอย่างไร "ไทยรัฐออนไลน์" จึงนำความรู้เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวมาให้รับทราบ



ทหารเข้าประจำสถานีโทรทัศน์


กฎอัยการศึก (Martial Law) ถือเป็นกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน





เตรียมพร้อม



กฎอัยการศึกจึงเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาปกติ แต่ไม่ได้ใช้บังคับ โดยเมื่อจะใช้บังคับจะต้องประกาศ และกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้บังคับ ในหลายประเทศจะไม่มีการตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในบางประเทศจะตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น ฝรั่งเศส ไทย



ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ตี3





กฎอัยการศึก ในประเทศอังกฤษเริ่มใช้เมื่อ ค.ศ. 1628 (พ.ศ. 2151) และฝรั่งเศสมีกฎอัยการศึกใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392)



เขียวพรึบ





กฎอัยการศึกของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 มีทั้งสิ้น 9 มาตรา โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส ต่อมาใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้น ยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรากฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง

อำนาจ "กฎอัยการศึก" คือ...

พ.ร.บ.กฎอัยการศึก รวม 17 มาตรา โดยวัตถุประสงค์ของการออก พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนั้น มาตรา 2 ระบุว่า  เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย ปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตรา หรือแค่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร หรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติ หรือบทกฎหมายใดๆ



ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน

ส่วนขอบเขตผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา 4 ได้ระบุว่า เมื่อมีสงคราม หรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อม หรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด

สำหรับอำนาจทหาร เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา 6 ได้ระบุถึงรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนว่า ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่ ด้านการตรวจค้น พ.ร.บ.กฎอัยการศึกตามมาตรา 9 ให้อำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้



1. ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจ ที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ทั้งสิ้น

2. ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่ง หรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

3. ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บท หรือคำประพันธ์

ทั้งนี้ ในส่วนของ อำนาจการกักตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเป็นราชศัตรูนั้น มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใด จะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ พ.ร.บ.นี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ เพื่อการสอบถาม หรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ ไม่เกินกว่า 7 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกนั้น ตาม พ.ร.บ.กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2547-2557) การประกาศ กฎอัยการศึก ที่เคยเกิดขึ้นมามีเพียง 1 ครั้ง เมื่อ คณะปฏิรูปการปกครองฯ โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ได้ประกาศเมื่อกลางดึกวันที่ 19 กันยายน 2549 ในวันทำการ "ปฏิวัติ" เพื่อให้เกิดความสงบ ความเรียบร้อยต่อบ้านเมืองและประชาชน และการประกาศ "กฎอัยการศึก" ครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข กองทัพ ต้องการเห็นความสงบ และลดความขัดแย้ง จึงต้องประกาศเพื่อเข้าไปควบคุมสถานการณ์ โปรดฟังอีกครั้ง...



ขอบคุณ : ไทยรัฐ
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=35896&page=1