ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

Case Study 2 : ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ควรขอสินเชื่ออย่างไร ?

เริ่มโดย TERRABKK, 15:17 น. 07 ก.ค 57

TERRABKK

[attach=1]
ในปัจจุบัน หากต้องการซื้อบ้านหลังใหม่เพื่ออยู่อาศัย แต่ด้วยทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าจะรอเก็บเงินครบตามจำนวนเพราะไม่อยากเป็นหนี้ กว่าจะถึงเวลานั้น บ้านที่หมายปองอาจปรับราคาสูงขึ้นตามกาลเวลา จนสุดท้ายก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ดังนั้น การยื่นเรื่องขอสินเชื่อธนาคาร จึงเป็นหนึ่งสิ่งจำเป็น ที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเป็นทางออกที่ใครก็เลือกใช้ในสังคมปัจจุบัน

การซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย เป็นหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่ก่อให้เกิดทรัพย์สิน แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ( ค่าเช่า) ต้นทุนทางการเงินในรูปแบบดอกเบี้ยจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจ แต่คงไม่เพียงพอ หากละเลยความสำคัญของตัวแปรอื่นที่เกี่ยวโยงกัน โดยปกติแล้ว ธนาคารจะพิจารณาปล่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 80% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายบ้าน (กรณีธนาคารมีโปรโมชั่น อาจให้วงเงินสูงกว่าปกติ) ซึ่งภาระการผ่อนชำระธนาคารไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เงื่อนไขนี้เป็นข้อกำหนดสำคัญที่ธนาคารนำมาพิจารณาในการคิดอัตราผ่อนชำระต่อเดือนและอายุสัญญาเงินกู้ (ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้) ในกรณีผู้มีรายได้น้อย อัตราการผ่อนชำระจะลดลง โดยใช้วิธียืดระยะเวลาสัญญาออกไปให้นานขึ้น สูงสุดไม่เกิน 30 ปี ซึ่งข้อนี้ส่งผลโดยตรงต่อผลรวมดอกเบี้ยจ่าย และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผลรวมการชำระคืนเงินกู้ครั้งนี้ สูงกว่า ราคาบ้านที่ซื้อจริง เป็นจำนวนมาก

TerraBKK Research ขอยกตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจโดยง่าย โดยสมมติเหตุการณ์ดังนี้
(ทั้งหมดเป็นตัวเลขสมมติโดยประมาณ อาจแตกต่างจากเหตุการณ์จริงได้ตามปัจจัยอื่น)

"คุนพ่อบ้าน อายุ 30ปี มีรายได้ประจำ 52,000 บาทต่อเดือน ต้องการซื้อบ้านหลังใหม่เพื่ออยู่อาศัย ราคา 3.5 ล้าน ในย่านนนทบุรี และได้ยื่นเรื่องขอสินเชื่อธนาคาร อนุมัติวงเงินเบื้องต้น 2.8 ล้านบาท (80%ของราคาบ้าน) ด้วยอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ตลอดอายุสัญญา ที่ MLR-0.5% (6.25%) คุณพ่อบ้าน สนใจและได้ศึกษาการผ่อนชำระ 2 แผน ดังนี้
1. แผน 20 ปี ที่อัตราผ่อนชำระสูงสุดตามความสามารถในการผ่อนชำระ
2. แผน 30ปี เพื่อลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือนให้น้อยที่สุด "


คุณพ่อบ้าน มีความสามารถในการผ่อนชำระสูงสุดที่ 40%ของรายได้ ประมาณ 20,800 บาท และจากการคำนวณเบื้องต้น พบว่า กรณี 20 ปี มีอัตราการผ่อนชำระ 20,466 บาทต่อเดือน ขณะที่กรณี 30ปี มีอัตราการผ่อนชำระ 17,240 บาทต่อเดือน ต่างกันเพียง 3,226 บาทต่อเดือน ดูเหมือนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อศึกษารายละเอียดถึงสัดส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นในการผ่อนชำระ 3 เดือนแรก จะพบข้อมูลตามแผนภาพดังนี้

[attach=2]

TerraBKK Research ขอกล่าวว่า การที่อัตราผ่อนชำระลดลง เมื่อยืดเวลาผ่อนชำระยาวออกไปนั้น เป็นเพราะการลดสัดส่วนเฉพาะเงินต้น สังเกตเห็นได้ว่า ยอดชำระเงินต้นของแผน 30 ปี จะลดลงเกือบครึ่งของแผน 20 ปี ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายนั้น แทบไม่มีความแตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ อัตราผ่อนชำระต่อเดือนนั้น เป็นผลรวมของเงินต้นและดอกเบี้ย การยืดระยะเวลาชำระให้นานขึ้น จะทำให้เงินต้นถูกซอยย่อยลง อัตราผ่อนชำระต่อเดือนจึงไม่สามารถลดเงินต้นคงเหลือได้มากนัก ขณะที่การคิดดอกเบี้ย จะคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ จึงทำให้เสียดอกเบี้ยมากขึ้นเป็นเงาทอดยาว (ตอนกลางคืน) ตามระยะเวลาผ่อนชำระที่ยืดออกไปนั้นเอง

เมื่อมองภาพรวมตลอดอายุสัญญา จะพบว่าแผน 20 ปี มีสัดส่วนดอกเบี้ยจ่ายรวม 75% ของเงินต้น ( = 2,113,365 / 2,800,000 ) ขณะที่แผน 30ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 122% ของเงินต้น ( = 3,411,293 / 2,800,000) ตีเป็นตัวเงินต่างกันกว่าล้านบาทเลยทีเดียว( = 3,411,293 -2,113,365 )

ท้ายนี้ TerraBKK Research ขอแนะนำว่า การขอสินเชื่อธนาคารซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย อาจเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิต และเป็นภาระผูกพันที่ต้องใช้เวลายาวนานในการปลดหนี้ ดังนั้น หากผู้กู้เลือกอัตราผ่อนชำระที่ใช้เวลาสั้นลงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระด้วย ผู้ที่มีรายได้น้อย อาจเลือกอัตราผ่อนชำระตามความสามารถในการจ่ายชำระในช่วงแรก หากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ติดต่อธนาคาร ขอปรับเพิ่มอัตราการผ่อนต่อเดือนขึ้นก็ได้ ถือเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยให้ระยะการผ่อนชำระสั้นลง เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของบ้านโดยอิสระอย่างแท้จริง

[attach=3]

Case Study 1: ลงทุนอสังหา ต้องกู้สินเชื่ออย่างไร ? :http://terrabkk.com/?p=13507
ที่มาจาก:WWW.TERRABKK.COM