ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เขาเรียกโลกไอไหรแล้วนินึกชื่อไม่ออก หวานๆ เปรี้ยวได้แรงคอ

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:37 น. 29 ส.ค 57

ฅนสองเล

แวะเซ้อมาแถวคลองหวะ ช่อเดียวเติบ 20 บาท ลืมถามชื่อแม่ค้าว่าเขาเรียกโลกไอไหรแล้วนินึกชื่อไม่ออก หวานๆ เปรี้ยวได้แรงคอ ใครสนใจแวะมากินได้นะครับที่ สนง.คืนความสุขเว็บกิมหยง

[attach=1]

คนซอยสาม

คล้ายๆลูกละไม หรือมะไฟ (ไม่แน่ใจว่าใช่รึปล่าว)


คนรัถการ

คำกลอนคนแต่แรก  "ลูกเฟืองขี้ไกล ลูกไฟขี้แค่ ที่แน่ๆจำปูลิ่งขี้คาหัวได"

janistar

 ส-ดีใจ ลูกกำไล  สมัยเด็กๆ ปลอกเปลือก ออกทั้งหมด เหลือแต่เนื้อ ทั้งพวง สวยดี

Hatyai sale

เรียกได้หลายชื่อ ตะกี้น้องที่ออฟฟิส ก้อถาม จนต้องเสริชหาในเน็ต...

"จำปูลิ่ง จำปูรี จำไหร หรือ มะไฟลิง"  เป็นชื่อที่รู้จัก และเรียกกันในแต่ละถิ่น จัดว่า เป็นผลไม้ที่พบเห็นได้ เป็นปกติ  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  โดยเฉพาะผลสุก เริ่มมีทยอย ออกมาให้เห็นชุกในเดือน กรกฏาคม สิงหาคม เรื่อยมาถึงกันยายน ปัจจุบันมีน้อยลง หาทานยากขึ้น

ลักษณะผล สีเหลืองอมส้ม ผลค่อนข้างกลม แต่ลักษณะเป็นสันเล็กน้อย ดูเหมือนมีรอยต่อ ทำให้แตกออกง่าย มีขนาดเล็กกว่ามะไฟเล็กน้อย  ส่วนในเรื่องก้านช่อที่ติดผล ก็คิดตามไปได้เลยว่า มีก้านยาวห้อยทิ้งน้ำหนักลงมาจากกิ่ง  เพราะมักจะออกดอกที่ก้านกิ่ง แต่ละก้านช่อมีก้านขั้วสั้นๆยึดผลย่อย สลับไปมาซ้ายขวาในหนึ่งก้าน  เปลือกหุ้มผลบางและเปลือกด้านในแยกออกได้เป็นห้องๆ (locule) โดยมีเมล็ดในแต่ละห้อง เมล็ดที่สมบูรณ์ที่เจริญเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีสามเมล็ด ในหนึ่งผล

ส่วนที่กินได้ คือเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีส้มแดง เมื่อเปลือกแตกออกมาทำให้สีผลดูจืดลงไปถนัดตา  เยื่อหุ้มเมล็ดตึงใสฉ่ำน้ำยั่วใจให้ลิ้มลองยิ่งนัก จึงเป็นผลไม้ที่เด็กๆชอบ   เมื่อนำแต่ละก้านมารวมเป็นช่อพวงเตรียมพร้อมนำมาวางขาย  หรือหยิบชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัม   สีเปลือกจะช้ำง่ายทำให้มีสีคล้ำเป็นจ้ำๆไม่สวย  คล้ายๆผลไม้เปลือกบางทั่วไปอย่างลองกอง ลางสาด  หากแต่นักชิมก็ไม่ยี่หระ เพราะส่วนที่อร่อย เพิ่มวิตามินซี นั้นคือที่เนื้อหุ้มเมล็ด ที่อยู่ภายในเรียกได้ว่า "สวยซ่อนรูปทีเดียว"  ด้วยเพราะเป็นผลที่แตกออกง่ายจึงมีชื่อเรียกในภาษามลายูถิ่นว่า "ลูกดีด" หมายถึง ดีดเบาๆก็แตกเผยโฉมภายในที่กินได้  และถึงแม้ว่าเปลือกจะแตกออกแล้วเมล็ดภายในยังยึดติดกับก้านขั้ว  เปลี่ยนสภาพไปเป็นก้านช่อที่มีเมล็ดห้อยสลับไปมาแทนที่ผล ดูน่าแปลกตาทีเดียว

วิธีกินกันให้สนุกประสาเด็กๆ หรือผู้ที่มีหัวใจเด็ก  ก็คือหยิบมาหนึ่งก้าน ดีดเปลือกให้แตก  พร้อมกับทายว่าในผลนั้นมีกี่เมล็ด อาจเป็นสาม สองหรือหนึ่งเมล็ด จากนั้นยกก้านช่อขึ้นสูง แหงนกินไปทีละเมล็ดอย่างเอร็ดอร่อย   ทุกครั้งที่กินก็สร้างความสนุกไม่น้อย  ทุกคนที่ได้สัมผัสก็จะมีรอยยิ้ม แห่งความพึงใจ ไม่ว่าจะเป็น รูป หรือรส ส่วนเสียงคงเป็นเสียงบรรยายสรรพคุณ ...เป็นผลไม้แห่งความสุขจริงๆ  แม้เพียงหนึ่งก้านช่อก็ชวนหัวร่อ ...๕๕๕.
ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก บาง และลื่นๆจึงกลืนไปได้เลย ในขณะที่บางคนเผลอหรือตั้งใจกลืน  หากแต่ถ้าคายเมล็ดก็สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าได้ต่อไป  จึงเป็นเทคนิคของฝ่ายจัดหาเมล็ดพันธุ์โดยซื้อผลจำปูลิ่งมาหลายช่อพวง แจกจ่ายกันกินแล้วร้องขอว่า ใครที่กินแล้วให้คายเมล็ดเก็บไว้เพื่อนำไปเพาะพันธุ์ต่อไป



สรรพคุณของผลไม้ชนิดนี้ ยังไม่มีรายงาน แต่พืชในกลุ่มเดียวกันคือ "มะไฟ" มีข้อมูลกล่าวถึงว่าทั้งราก ใบ ผล มีสรรพคุณใช้รักษาโรค (medicinal plant) มีฤทธิ์ขับเสมหะ ช่วยย่อย  หากแต่ที่ต่างไปจากมะไฟก็คือส่วนที่กินได้ของ จำปูลิ่ง มีสีสันเช่นเดียวกับแครอท จึงมีสารในกลุ่มแคโรทีนที่น่าจับตามองทีเดียว  ผลของ "มะไฟ" นอกจากจะมีโปตัสเซียม แมกนีเชี่ยม ฟอสฟอรัสแล้ว วิตามินซีสูง 55 มก. (http://www.mcgill.ca/files/cine/Karen_Datatables_fruits_Jn06.pdf   วิเคราะห์ จากปริมาณ 100 กรัมของส่วนที่กินได้ เทียบกับผลมะขามป้อมซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง 276 มก.)    จำปูลิ่งนั้นหากกินผลที่สุกแล้วในปริมาณมากๆๆ ทำให้ระบายท้อง  และในช่วงที่ผลแก่ มีสีเขียว นำไปปรุงอาหารได้  เพิ่มความเปรี้ยวของรสชาติ อาหารพื้นบ้าน



นับว่าโชคดีที่ได้เกิดมาในแผ่นดินมาตุภูมินี้ ความอุดมสมบูรณ์มากมี  ผลไม้ชนิดนี้มาจากต้นพันธุ์ที่ขึ้นได้เฉพาะแหล่งอาศัย (habitat) เช่นบริเวณป่าต้นน้ำ  หรือป่าที่ไม่ค่อยถูกรบกวนจากภัยคุกคามภายนอก  ต้นจำปูลิ่งจึงบ่งชี้ "สถานภาพของป่า" มีนัยว่าถ้ายังมีผลไม้ชนิดนี้อยู่ แสดงว่ายังคงมีป่าใหญ่อยู่ในพื้นที่   แต่ปัจจุบันนี้หาทานผลไม้ชนิดนี้ได้ยากขึ้น เป็นเพราะป่าถูกทำลายต้นจำปูลิงถูกโค่น ต้นไม้จึงบ่งชี้ "ความพร่องของคน"..เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โค่นทำลายต้นไม้ในป่าใหญ่



ต้นจำปุลิ่งงอกขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากเมล็ดที่นกหรือสัตว์กินเป็นอาหาร  ต้นที่พบในธรรมชาติ มีลักษณะต้นไม้ใหญ่ สูงประมาณ กว่า 20 เมตร คล้ายกับต้นมะไฟ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน  แต่มะไฟเป็นพืชที่รู้จักกันทั่วไป แหล่งอาศัยพบได้กระจายมากกว่าจำปูลิ่ง  ซึ่งจำปูลิ่งค่อนข้างเป็นพืชเฉพาะถิ่น    แหม...คิดถึงชีวิตในวัยเด็ก ที่บ้านไม่มีต้นจำปุลิ่งและไม่เคยรู้จักมาก่อน  แต่ได้ปีนต้นมะไฟแถวบ้าน เลยรู้ว่าก้านกิ่งก็เหนียวพอดู ที่จะให้เด็กๆ ปีนเล่น ห้อยโหนกัน หยิบฉวยผลมะไฟมาลิ้มลอง ตั้งแต่ผลอ่อน ผลแก่ และผลสุก... ยังจำรสชาติได้

ขอบคุณที่มาจาก อากู๋ ค๊าบ อิๆๆๆ.....