ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สาวย่านวัฒนธรรมคนไทย ในมาเลเซีย.... ตามไปดูครูหมอหนังตะลุง….

เริ่มโดย ฅนบ้ายอ, 06:58 น. 22 พ.ค 58

ฅนบ้ายอ


วันที่ ๒๕ - ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ ทีมงาน คณะ "หนังณรงค์ ตะลุงทักษิณ"  บ้านวังไทร อ.นาทวี  เดินทางไปเล่นหนังตะลุงแก้บนและไหว้ครูหมอหนังตะลุงที่บ้านเหยีย  อำเภอ เสะ รัฐเคด้า(ไทรบุรี)  ประเทศมาเลเซีย...


บนเส้นทางเดิน...จากด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ ต.ประกอบ อ.นาทวี (ภาพด่านเมื่อปึ ๕๓) ทีมงานกำลังให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางฝั่งไทยตีตราประทับลงบนหนังสือเดินทางออกจากประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ได้ซักถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และสถานที่เป้าหมายที่ทางทีมงานกำลังจะไปอย่างละเอียด...ทราบจากนายหนังณรงค์หัวหน้าคณะ (คนถือเอกสารเสื้อสีม่วง) การเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียในฐานะของนักแสดงหรือศิลปิน... ภาษีสำหรับเครื่องดนตรีทั้งชุดที่นำเข้าเมืองของเขาสูงมาก  สำหรับหนังตะลุง ภาษีค่าเครื่องดนตรีนำเข้าครั้งหนึ่งประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท " เมื่อวานเอกชัย และคณะก็นำทีมงาน ๓๐๐ คน เดินทางล่วงหน้าเข้าไปแล้วเช่นเดียวกัน..." นายด่าน ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองให้ข้อมูลเพิ่มเติม...


จากด่านประกอบ อ.นาทวี เดินทางเข้าไปประมาณ ๑๐๐ กม. ของรัฐเคด้า ผ่าน อ.ปาดังสะราบ ถึง อ.เสะ เดินทางเข้าไปถึงบ้านเหยีย ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนมาเลเซีย เชื้อชาติ เสียมหรือสยาม  เจ้าภาพจัดเตรียมโรงหนังตะลุง ที่ช่วยกันสร้างขึ้นจากไม้หมาก สังเกตดูคล้ายๆ โรงหนังของคนบ้านเราเมื่อ ๓๐ ปีก่อน...ปัจจุบันฝั่งไทยเราประยุกต์เป็นใช้โครงเหล็กแทน...


พิธีการไหว้ครูหมอหนัง จัดทำขึ้นก่อนเล่นหนังตะลุง เจ้าภาพต้องจัดเตรียมอาหารหวานคาว มีหมู มีไก่ ขนมชนิดต่าง ๆ ขนมโค ข้าวเหนียวเหลือง/ขาว สังเกตดูเครื่องเซ่นเหมือนการไหว้เจ้าที่ทุกประการ...เมื่อจัดเตรียมเครื่องเซ่นเสร็จแล้วจึงนำไปวางไว้บนพาลัย ...ลักษณะพาลัยทำแบบง่าย ๆ ไม่เป็นชั้นเป็นภูมิ หรือแบ่งฐานะศักดินาของครูหมอเจ้าที่แต่อย่างใด...

ทรง คือบุคคลสำคัญที่จะเป็นตัวกลางให้ครูหมอได้อาศัยร่างเพื่อพูดคุย สื่อสารกับลูกหลาน(เสื้อขาว) ...พี่เลี้ยงทรง คือบุคคลที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือ ปรนนิบัติเมื่อครูหมอเริ่มเข้าทรง (รายได้ของพี่เลี้ยงทรง/ครั้ง ๓๐๒๔ บาท)  ...เมื่อพร้อม เครื่องดนตรีหนังตะลุงทำการเซิด จังหวะคล้ายมโนราห์โรงครูทุกประการ...บรรยากาศของการไหว้ครูหมอหนังตะลุง เจ้าภาพคือบุคคลสำคัญ จะต้องเตรียมงานและส่งข่าวญาติพี่น้อง ใกล้ไกลให้มาพร้อมเพรียงกัน...และจะทำกันเฉพาะภายในเดือนหก เดือนเจ็ด และเดือนเก้า เหมือนกับการไหว้เจ้าที่  ไหว้ครูหมอโนราบ้านเรา....

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


คุณพิพัทธ์ (สวมเสื้อยืด) คนมาเลเซียสยาม เล่าให้ฟังว่า ประวัติที่มาหรือคติความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอหนังหรือครูหมอโนรา  ของคนไทยในมาเลเซียกับคนไทยฝั่งประเทศไทยเหมือนกัน คือ...คนสมัยก่อนที่เป็นศิลปินไม่ว่าในแขนงไหน เขาจะเป็นด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณ.. ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง หรือครอบครัวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อล่วงลับไปแล้ว  ด้วยดวงจิต ดวงวิญญาณอันเต็มเปี่ยมไปด้วยศาสตร์แห่งศิลปินที่ตนเองเชี่ยวชาญ ถ้าหากลูกหลานเฉยเมย ไม่สนใจหรือทอดทิ้งวิชาการเหล่านั้นไป ไม่เคารพบูชา  ก็มักวางอุบายแสดงตนหรือส่งจิตสัญญาณถึงลูกหลาน ให้มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเกิดอาการล้มป่วยเจ็บไข้ไม่สบาย ออดๆ แอดๆ สามวันดี สี่วันไข้...เขาเรียกว่า "ถูกครูหมอ" หรือ "ครูหมอทัก" ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนมีเชื้อสายของครูหมออยู่กับญาติฝ่ายไหน...ซึ่งนับลำดับของเครือญาติตามสายของครูหมออยู่ ๘ สาย  คือ สายพ่อ มี ๔ สาย คือ สายทวดปู่ ทวดย่า ทวดตา ทวดยาย   สายแม่ มี ๔ สายเช่นเดียวกัน คือ สายทวดปู่ ทวดย่า ทวดตา ทวดยาย...จากการสังเกต การไหว้ครูหมอหนังตามคตินิยมของคนไทยในมาเลเซีย(ในเมืองไทยไม่มี)  ใช้ทรงเพียงร่างเดียว แต่การไหว้ครูหมอโนรา ต้องใช้คนทรงถึง ๘ ทรง...เพราะฉะนั้นในการแก้บนหรือตัดเบรฺย..โนราต้องเชิญครูหมอทั้ง๘ สายลงมากินเหมือนกัน แต่จัดพิเศษเฉพาะฝ่ายครูหมอที่ทักเท่านั้น... ข้อที่น่าสังเกต...ชุมชนที่มีคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องครูหมอ ตายายอย่างแน่นแฟ้น มักสังเกตเห็นความกลมเกลียว สามัคคี อ่อนน้อมถ่อมตนของผู้คนในชุมชนมากกว่าชุมชนที่ทอดทิ้งคติความเชื่อแบบเดิม ๆ จนหมดสิ้น...ตัวอย่างเช่น ชุมชนไทยบ้านเหยีย รัฐเคด้า กับชุมชนไทยในฝั่งประเทศไทย  ที่มีมิติแห่งกาลเวลาของคติความเชื่อห่างกันอยู่หลายทศวรรษ...

*** ต้นไม้ที่เห็นข้างหลังนั้น ต้นกระท่อมครับ ที่โน่นปลูกกันเป็นสวนเลย***

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


ก่อนถึงเวลาทำการแสดงหนังตะลุง ทางคณะเจ้าภาพแนะนำให้นายหนังณรงค์ เดินทางไปกราบไหว้บูชาหลวงพ่อฉิม(วาจาสิทธิ์)  ที่วัดไทยเจริญ ซึ่งเป็นวัดที่เป็นเสมือนศูนย์รวมทางใจของคนเชื้อสายไทยในมาเลเซียอย่างแนบแน่นทุกเพศทุกวัย  ชาวบ้านข้างๆ วัดเมื่อทราบข่าวว่ามีทีมงานสารคดีไปร่วมทำรายการอยู่ด้วยต่างมารอต้อนรับและให้ข้อมูล พูดคุย แสดงความรู้สึกรัก ผูกพันต่อสายสัมพันธ์ในความเป็นไทยอย่างแน่นแฟ้น...พวกเขาเล่าว่า "รัฐบาลกลางไม่ส่งเสริม (แต่ไม่ขัดขวาง) ให้คนมาเลเซียเชื้อสายไทย ได้เรียนรู้และสืบทอดเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและภาษาไทย ดังนั้นในโรงเรียนปกติจึงไม่มีการเรียนการสอนภาษาไทย วิชาบังคับคือวิชาภาษามาเลเซียเท่านั้น...ภาษาไทยในมาเลเซียจึงมีเฉพาะแต่ภาษาพูด...คนไทยส่วนใหญ่จึงเขียนและอ่านหนังสือไทยไม่ได้....

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


โรงเรียนสอนภาษาไทย... ด้วยข้อกังวลของพี่น้องคนไทยที่ยัง ผูกพันอยู่กับความเป็นไทยอย่างแน่นแฟ้น ทุกคนกังวลเหมือนกัน คือ กังวลว่าดวงจิตและวิญญาณแห่งสายคติ ความเชื่อมั่น ศรัทธาประเพณีวัฒนธรรมแห่งบรรพบุรุษจะสูญหายไปกับลูกหลานเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่...วัด จึงยังเป็นศูนย์กลางของการอบรมถ่ายทอดเอกลักษณ์และความเป็นไทยลงสู่บุตรหลาน...โรงเรียนฝึกสอนภาษาไทยและนักธรรมศึกษาจึงเกิดขึ้นทุกชุมชนที่มีคนไทย...ครู คือบุคคลที่เป็นอาสาสมัครในชุมชน ที่เคยบวชเรียนและสอบได้นักธรรมศึกษา  ส่วนใหญ่เคยบวชเรียนและเข้ามาอยู่เมืองไทยมาก่อน...เวลาเรียน มักจะตรงกับวันศุกร์-เสาร์ ซึ่งถือเป็นวันหยุดในมาเลเซีย...ตำราเรียนก็ใช้ตำรารุ่นก่อน สมัยเด็กชายใหม่ รักหมู่ หรือรุ่นตาคำ ทำนา...เทคนิควิธีสอนก็ยังคงใช้แบบเดิม ๆ คือ เน้นให้จำทั้งสระและพยัญชนะ แล้วนำมาฝึกแจกลูกคำ เช่น ก- สระ –อา อ่านว่า กา...ครูที่สอนบอกว่า "วิธีการเรียนแบบเก่าดีหลายอย่าง ที่สำคัญ ครูได้มีโอกาสสอนแทรกคุณธรรมลงไปให้ผู้เรียนได้อีกด้วย...ผิดกับหนังสือปัจจุบันสอนไม่ถูก"

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


คุณถาวร... อาชีพมัคคุเทศก์ (เสื้อขาว) คนมาเลเซียสยามรุ่นใหม่ที่ยังยืนอยู่บนถนนสายวัฒนธรรมของคนไทยอย่างมั่นคง...ต้องขอขอบคุณและขอทักทายคุณถาวรอีกครั้งถ้ามีโอกาสเข้ามาชมหน้ากระดานเว็ปนี้...คุณถาวรได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับคตินิยม ความเป็นอยู่ สภาพปัจจุบัน ปัญหาที่ได้รับ ซึ่งก็มีมากเช่นเดียวกัน แต่ คุณถาวรกลับมองว่า ยิ่งมีปัญหา ยิ่งกลับทำให้สังคมไทยในมาเลเซียเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นทั้งในมุมมองด้านสังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ...โดยเฉพาะ ณ วันนี้ มีตัวแทนของคนไทยได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปมีส่วนในการปกครอง(ส.ว.) ในระดับชาติอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าไม่ง่ายนักสำหรับมาเลเซีย ที่ไม่ค่อยยอมรับคนท้องถิ่นที่ไม่ใช่เชื้อชาติมาลายู...มีข้อที่น่าสังเกต จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนไทยหลาย ๆ รุ่น หลายๆ วัย ตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไป ทั้งในบ้านเหยียและบ้านช่างแดง ... พบว่า เกือบทุกคน มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของชาติไทยดีมาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ของตนเอง แต่น่าเสียดายที่ทางทีมงานยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเด็กๆหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่...

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


การตั้งชื่อ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนไทยในประเทศไทย คือ การตั้งชื่อ นามสกุล... คนไทยในมาเลเซีย ยังนิยมตั้งชื่อเป็นแบบเดิม ๆ ความหมายไม่ซับซ้อนตามแบบคนไทยฝั่งประเทศไทย เช่น ชื่อจันแก้ว ชื่อชุม  ชื่อเรือง หรือถ้าคนรุ่นสมัยหน่อยก็ ชื่อถาวร พิพัด เป็นต้น และถ้าหากเป็นนามสกุล ก็จะนำเอาชื่อของพ่อมาเป็นนามสกุล ดังนั้น คนชั้นพี่กับน้องที่มี พ่อ เดียวกันเท่านั้นที่มีนามสกุลเดียวกัน ต่อจากนั้นถ้าไปแต่งงานใหม่และมีลูกมีหลาน นามสกุลก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยตามชื่อของพ่อ...ตัวอย่างเช่น ในบัตรที่เห็น เป็นบัตรของคุณพิพัด ลูกชายจันแก้ว...จันแก้ว คือพ่อของคุณพิพัด และเป็นนามสกุล ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อย...ข้อสำคัญในการไปแจ้งเกิด เวลาแจ้งลงในช่องเชื้อชาติต้องระบุให้ชัดเจนว่า เชื่อชาติ "Siam" หรือ "สยาม" เท่านั้น ห้ามแจ้งเป็น "ไทย" เพราะหมายถึง คนไทยทางฝั่งไทย จะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดกอีกต่อไป...และอีกกรณีถ้าคนไทยแต่งงานกับมุสลิมก็ต้องเปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่เป็นมาลายู และจะเปลี่ยนกลับมาอีกไม่ได้ ...มรดกก็เช่นเดียวกัน คนไทยมีสิทธิ์ขายให้กับคนเชื้อสายมาลายูได้... แต่ซื้อไม่ได้ ...เหล่านี้คือเกร็ดสารคดีที่ผู้เขียนไม่ประสงค์ให้ใครนำมาเปรียบเทียบว่า ดี หรือ ไม่ดี ...เพียงแต่นำมาเสนอในลักษณะของการเรียนรู้ ...รู้เขา รู้เรา เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกันเท่านั้น...ความมั่นคงอีกอย่างหนึ่งของคนไทยในมาเลเซียที่ดูเหมือนนานวันจะยิ่งแน่นแฟ้นปราศจากอคติข้อสงสัยใดๆ คือ ความรู้สึกเคารพเทิดทูลต่อสถาบัน โดยเฉพาะกับ "ในหลวง" คุณถาวร แห่งบ้านเหยีย กับคุณพิพัด แห่งบ้านช่างแดง ซึ่งอยู่กันคนละอำเภอพูดกับพวกเราทีมงาน ซึ่งต่างกรรม ต่างเวลา กัน แต่ด้วยความรู้สึกคล้ายกันต่อในหลวง  "ในหลวง เป็นเหมือนเทวดา เหมือนเทพสูงสุด  สถิตย์ อยู่บนที่สูง ควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้ ทุกๆ บ้าน จะมีรูปของในหลวงใส่กรอบอย่างดีติดไว้บูชา และที่สำคัญ ได้มีการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในครอบครัวและวิถีชีวิตได้อย่างลงตัวอีกด้วย..."

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


ภายในหมู่บ้านเหยีย เต็มไปด้วยสวนผสมทั้งสวนยาง สวนผลไม้ ถนนหนทางที่ใช้ติดต่อถึงกันเล็กๆ แบบ "รู้รง" แต่ก็ลาดยางอย่างดี...ข้อที่น่าสังเกต ภายในหมู่บ้านทุกแห่งของประเทศมาเลเซีย ไม่ค่อยมีรั้วบ้าน ทุกบ้านเดินติดต่อถึงกันได้ทุกทาง คุณพิพัดบอกว่า ในมาเลเซีย คุณมีสิทธิ์เลือกตายได้ ๒ แบบ คือ แก่ตาย กับ เป็นโรคตาย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง...คุณไม่มีสิทธิ์ตายโดยถูกทำร้าย ปล้นจี้ หรือถูกเขม่น หมั่นใส้ เลยโดนทำร้ายตาย...ทุกคน ทุกเชื้อชาติต่างได้รับสิทธิข้อนี้เท่าเทียมเหมือนกันหมด...กฎหมายของรัฐเข้มแข็ง โทษสถานเดียวของการมีอาวุธเพื่อการฆ่า การทำลายล้าง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่นอาวุธที่ผิดกฎหมาย หรือ ยาเสพติด ... การแขวนคอ คือปลายทางสุดท้าย  ข้อที่น่าสังเกตในระหว่างการเดินทาง ของทีมงาน ทั้งหมด ๑๕ คน จากบ้านช่างแดง ซึ่งเป็นบ้านของอาจารย์จันทร์แก้วหัวหน้าคณะ ไปถึงบ้านเหยีย เป็นหมู่บ้านที่รับหนังไปแสดง ห่างกันเกือบ ๕๐ กม. เราต้องใช้รถสำหรับบรรทุก ถึง ๓ คัน คันแรก บรรทุกสัมภาระ เครื่องดนตรี เป็นรถกระบะหกล้อขนาดกลาง คันที่สองเป็นรถตู้ ๑๑ ที่นั่งรวมทั้งคนขับ ...ถ้าเป็นบ้านเรา  เราน่าจะใช้แค่รถกระบะบรรทุกขนาดกลางหกล้อ แค่คันเดียว แต่อาจารย์จันทร์แก้วหัวหน้าคณะไม่ยอมให้พวกเรานั่ง ...แกบอกว่า "มันผิดกฎหมาย"  กฎหมายมาเลเซียไม่อนุญาตให้คนไปนั่งบนกระบะบรรทุกสิ่งของโดยเด็ดขาดถึงแม้อยู่ในเขตชนบท และในรถตู้แกก็ไม่ยินยอมให้นั่งเกิน ๑๑ ที่นั่ง...แกต้องเสียค่าใช้จ่ายไปติดต่อรถเก๋งเพิ่มอีก ๑ คัน ในการเดินทาง...จิตสำนึกร่วมของคนมาเลเซียอย่างหนึ่ง ที่เราสังเกตเห็น ฝังอยู่ในแววตาของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด  คือ  "สำนึกร่วมแห่งการรักษากฎวินัยของคนในชาติ"

อาจารย์จันทร์แก้วหัวหน้าคณะพูดทีเล่นทีจริงกับพวกเราว่า "กฎหมายมาเลเซีย ไม่แหมือนเมืองไทย"  เมืองไทยมีกฎหมายบังคับให้รัดเข็มขัดนิรภัย หรือสวมหมวกกันน็อค เพื่อเซฟตี้ชีวิตของตนเองแท้ ๆ  แต่เรากลับไปใช้เมื่อเจอด่านตำรวจตรวจ แค่นั้น เมื่อพ้นด่านตรวจกลับไปถอดวางไว้หน้ารถเหมือนเดิม ....

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


กระท่อม เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับเสรีภาพในการมีสิทธิที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ของมันอยู่ในมาเลเซีย...น้ำต้มใบกระท่อม คือน้ำชนิดพิเศษที่ทางคณะเจ้าภาพ  ที่บ้านเหยีย จัดแจงต้มเอาไว้รอต้อนรับทีมงาน และแขกที่มาในงานบนโรงหนังและหน้าโรงหนัง จึงมีน้ำกระท่อมเสิร์ฟเป็นระยะๆ  คุณพิพัดบอกว่า กระท่อมเป็นพืชที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกับเมืองไทย แต่ทางเจ้าที่เขาใช้กฎหมายแบบยืดหยุ่น เพราะมองว่ามันเป็นแค่พืชเป็นพิษชนิดหนึ่งที่กินเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายเกิดสารกระตุ้นชั่วคราวชนิดไม่รุนแรง แต่กลับกลายเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศเสียอีก ที่คนที่กินเข้าไปแล้วกลับขยันทำงาน...สร้างผลผลิตให้กับสังคมส่วนรวมมหาศาล... 

ครูยะ: รายงาน

ฅนบ้ายอ


จากปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ทางทีมงานของเรา ได้เข้าไปแสดงหนังตะลุงแก้บนและไหว้ครูหมอหนัง ทางฝั่งมาเลเซียอยู่เป็นประจำ ปีละหลายๆครั้ง นอกจาก"หนังณรงค์ ตะลุงทักษิณ" แล้ว ยังมีหนังน้องจา(เพชรสุข) ศ.นครินทร์ เข้าไปแสดงด้วย บางครั้งไปแสดงแก้บนถึงปีนังก็ยังมี

10 - 11 สิงหาคม 2554 ทีมงานบ้ายอ.คอม ได้เข้าไปทำงานด้านวัฒนธรรม ณ ประเทศมาเลเซีย โดยการพาหนังตะลุง ไปแสดง คราวนี้พา หนังตะลุงหญิงน้องจา จันจิรา ศ.นครินทร์ ไปแสดงโชว์ ได้รับการต้อนรับจากชาวมาเลเซียอย่างเนืองแน่น ขนาดเมื่อถึงเวลาตามกำหนดที่จะต้องยุติการแสดง ผู้ชมหน้าโรงไม่ยอมให้เลิก อยากชมต่อจนสว่างคาตา ส่วนด้านข้างด้านหลัง ของโรงหนังตะลุง ไม่ต้องแหลง ผู้ชมพูดได้ว่าหนาแน่นมากๆ แต่ก็สู้ผู้ชมด้านหน้าไม่ได้ ผู้ชมจากหน้าโรงหนัง ยาวเหยียดไปถึงถนนใหญ่(ถนนลาดยาง) กันเลยทีเดียว และเขาสนใจชมหนังตะลุงกัน ทั้งวัยเด็กวัยหนุ่มสาวถึงวัยผู้ใหญ่ผู้สูงอายุ ผิดกับทางประเทศไทยบ้านเรา ครูพรว่า ฝั่งไทยเราผู้ชมหนังตะลุง จะมีประมาณวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ เท่านั้น ส่วนวัยหนุ่มสาวจะมีน้อยที่สนใจชมหนังตะลุง


โรงหนังตะลุงในประเทศมาเลเซีย ยังไม่มีโรงหนังสำเร็จรูปให้เช่าแบบเมืองไทยบ้านเรา เจ้าภาพต้องสร้างโรงกันเอง โดยใช้ไม้หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่น ก็แบบเมืองไทยบ้านเราแต่แรก มีอยุ่ครั้งหนึ่งไปแสดงที่ปีนัง เจ้าภาพไปเช่าโรงงิ้วมาซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ทางคณะหนังก็แบ่งกั้นเอาซีกเดียวเพื่อใช้แสดงหนังตะลุง หลกหนิ หนังตะลุงหญิงน้องจา จันจิรา ศ.นครินทร์  หรือ น.ส.จันจิรา เพชรสุข ปัจจุบันเธอศึกษาอยู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา คุณพ่อของเธอคือ หนังเจือ เพชรสุข แห่งตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แบบนี้เรียกว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หนังเจือ คุณพ่อ นอกจากมีความสมารถในการแสดงหนังตะลุงแล้ว ฝีมือในการแกะรูปหนังตะลุงก็ไม่เบา รูปหนังตะลุงจากฝีเมือการแกะของหนังเจือ สวยงามอ่อนช้อย เรียกได้ว่า ฝีมือระดับมืออาชีพก็ว่าได้ สนนราคาก็ไม่แพง เพราะ หนังเจือแกะรูปหนังตะลุงในเชิงอนุรักษ์ เสียมากกว่าการแกะรูปหนังตะลุงเพื่อการค้า


ศิลปินสองวัยใจเดียวกัน หนังน้องจา ประเทศไทย และ หนังจันแก้ว ประเทศมาเลเซีย ดูจากรูปภาพแล้ว ไม่ต้องบอกครับว่าวัยต่างกันขนาดไหน แต่ความสนใจเรื่องเดียวกัน แม้วัยจะต่างกันก็คุยกันรู้เรื่อง ในภาพอาจารย์(พวกเราชอบเรียกหนังจันแก้ว ว่า อาจารย์) กำลังอ่านโปสเตอร์ที่ ครูพร เอาไปจากประเทศไทย เป็นงานวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภ้ฏสงขลา แค่อยากเอาไปโชว์ท่าน ว่าในงานวัฒนธรรมที่ราชภัฏ มีหนังน้องจาแสดงด้วย อาจารย์อ่านภาษาไทยได้คล่องแคล่วมาก อาจารย์ยังมีเรื่องราวเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเกี่ยวกับภาษาไทย มาเล่าให้วงสนทนาในวันนั้นฟัง ทำเอาได้หัวเราะกันทั้งวงสนทนาไปหลายฮาเหมือนกัน มีเหตุบังเอิญว่า หลานสาว ของ อาจารย์ ชื่อเล่นว่า น้องจา และชื่อจริง ว่า จันจิราเหมือนกัน น่าจะผูกเกลอกันได้ กับหนังน้องจา อาจารย์จันแก้ว นายหนังวัย 70 กว่าปีผู้นี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านอีกมากมาย ครูพร ขอเก็บไว้เล่าให้ฟังคราวต่อไปครับ

ครูพร: รายงาน