ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ค่าแรงขั้นต่ำ

เริ่มโดย Telwada, 10:42 น. 10 มิ.ย 58

Telwada

กรุณานำเรียน        ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ
   บทความนี้ มุ่งหมายที่จะสร้างความเข้าใจ และเป็นข้อคิดข้อพิจารณาให้กับบุคคลบางบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม เพื่อจะได้ไม่ทำตัวเป็นเครื่องมือของกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล  แลจะยังสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกันในด้านค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ใช้แรงงานในอันที่จะดำรงชีพได้อย่างเป็นสุข ไม่อัตคัดขัดสน ในระดับหนึ่ง
   ค่าจ้างแรงงาน ของผู้ใช้แรงงานนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญ ของตัวผู้ใช้แรงงานเอง และตัวผู้ประกอบการผู้ที่ต้องอาศัยผู้ใช้แรงงานในการผลิต หรือประกอบกิจการ
   การผลิต หรือการประกอบการของแต่ละกิจการ ย่อมแตกต่างกันไป บ้างก็ผลิตหรือขาย หรือประกอบกิจการค้าขายสินค้าที่สามารถขายได้เร็วขายได้มาก มีระยะเวลาการขายที่รวดเร็ว ขายได้ตลอดปี ,บ้างก็ผลิตหรือขาย หรือประกอบกิจการ ค้าขายสินค้าที่ขายได้ตามฤดูกาล มีระยะเวลาการขายไม่รวดเร็ว ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ของผู้ซื้อ, บางกิจการ ก็ผลิตหรือขาย หรือประกอบกิจการ ค้าขายสินค้าที่ขายได้ช้า มีระยะเวลาการขายที่เชื่องช้า ถึงช้ามาก  ซึ่งในการประกอบกิจการที่ได้กล่าวไปข้างต้น บ้างก็ต้องจ้างผู้ใช้แรงงาน บ้างก็ไม่จ้างผู้ใช้แรงงาน
   สถานประกอบกิจการแต่ละชนิดที่ต้องจ้างผู้ใช้แรงงานดังที่ได้กล่าวไป ตั้งแต่ระดับโรงงานใหญ่ๆ ไปจนระดับรากหญ้า ค้าส่ง ค้าปลีก ที่ต้องจ้างผู้ใช้แรงงาน จะให้ค่าจ้างแรงงานเป็นระดับเดียวกัน คงเป็นไปได้ยาก เพราะยังมีปัจจัยหลายๆด้านเป็นสิ่งประกอบปัจจัยเหล่านั้น บ้างก็ควบคุมได้ บ้างก็ควบคุมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ ความต้องการจะซื้อ,ความต้องการจะขาย เงินทุน วัตถุดิบ ฯลฯ ถ้าเป็นโรงงานใหญ่หรือบริษัทห้างร้านที่มั่นคงก็ย่อมสามารถจ้างผู้ใช้แรงงานโดยให้ค่าแรงขั้นต่ำได้  แต่ถ้าเป็นบริษัทห้างร้านปานกลางหรือเล็ก ก็อาจสามารถให้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำได้ หรือ บางบริษัทห้างร้าน ก็ไม่สามารถให้ได้ ขึ้นอยู่กับรายได้ของการประกอบกิจการนั้นๆ
   การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เป็นแนวคิดของข้าพเจ้า เขียนเผยแพร่เมื่อครั้งรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี  ประมาณว่า " เป็นความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างแรงงานของผู้ใช้แรงงานตั้งแต่แรก  ไม่กำหนดให้มีค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั่วประเทศ แทบแก้ไขไม่ได้ เวลาขึ้นค่าแรงก็ขึ้นค่าแรงไม่เท่ากัน แต่เวลาขึ้นราคาสินค้า ขึ้นราคาเท่ากัน และ/หรือ ขึ้นราคามากกว่าส่วนกลาง ไม่ยุติธรรมต่อผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัด"
   ค่าแรงขั้นต่ำ ที่กำหนดขึ้นนั้น ต้องเท่ากันทุกพื้นที่ แต่ผู้จ้างจะมีความสามารถจ้างได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามศักยภาพตามขนาด ตามประเภทของแต่ละสถานประกอบการ ตามลักษณะของกิจการว่าอยู่ในระบบประกันสังคม หรือไม่อยู่ในระบบฯลฯ อีกทั้งขึ้นอยู่กับรายได้ของสถานประกอบการนั้นๆ และเกี่ยวข้องกับปัจจัยอันได้แก่สภาพสภาวะจิตใจและสถานะทางการเงิน ของเจ้าของสถานประกอบการนั้นๆ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
   การที่บุคคลบางบุคคลแสดงความเป็นเครื่องมือของกลุ่มนายทุน ออกมาแสดงความคิดความเห็น กล่าวถึงเรื่องที่จะกลับไปใช้การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบเดิมนั้น เป็นการไม่สมควร และไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะราคาสินค้าที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนในปัจจุบันมีราคาเท่ากันทั่วประเทศ หรือบางชนิดในต่างจังหวัด มีราคาสูงกว่า  , สินค้าบางชนิด เมื่อก่อนนี้อาจมีราคาต่ำกว่า เพราะทำในพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีราคาเท่ากัน(ตามราคากลาง)หรือสูงกว่า เช่น เนื้อหมู ไก่ วัว (ส่งไปขายประเทศจีนเยอะ คนไทยต้องบริโภคเนื้อวัวในราคาที่แพงขึ้นมาก)  สินค้าการเกษตรบางชนิดที่ผลิตได้ในพื้นที่ อาจมีราคาถูกอยู่บ้าง( มีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้าปลีกรับสินค้าทางการเกษตรมาขายต่อ) แต่ราคาก็ไม่ถูกมากนัก เพราะผู้ผลิตหรือผู้ค้าขายก็ล้วนมีภาระที่จะต้องใช้สอยในเรื่องอื่นๆที่มีราคาสูง   
   การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เป็นผลดีต่อประชาชนผู้ใช้แรงงาน บางกิจการที่จำเป็นต้องจ้างผู้ใช้แรงงาน อาจให้ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่บ้าง(ที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม) ก็พอยอมได้ และเป็นความยินยอมของทั้งผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไป ถ้าหากขืนไปกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบเก่า จะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อน เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ก็ย่อมอยากลดต้นทุน ประชาชนผู้ใช้แรงงานก็อยากจะได้ค่าแรงที่เป็นธรรมไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ และผู้ใช้แรงงานอาจจะถูกกดขี่โดยกลุ่มนายทุนเหมือนเดิมอีก การกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศนั้นดีแล้ว เวลาปรับขึ้นก็ปรับขึ้นเท่ากัน จะได้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ กิจการไหนมีศักยภาพ มีสถานะทางการเงินดี ตามการประกอบกิจการ ก็ย่อมสามารถจ้างผู้ใช้แรงงานตามกำหนดค่าแรงขั้นต่ำได้  กิจการไหนมีศักยภาพน้อย มีสถานะทางการเงินน้อย ก็จ้างผู้ใช้แรงงานตามความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
   ปัจจัยในการกำหนดค่าจ้างแรงงานนั้นมีมากมายหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือสภาพสภาวะจิตใจของเจ้าของกิจการและผู้ใช้แรงงาน ปัจจัยอื่นอันเกี่ยวกับการผลิตหรือค้าขายก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะมันต้องอาศัยซึ่งกันและกันประกอบกัน จึงจะสามารถทำให้ทั้งผู้จ้างและผู้ใช้แรงงานอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข   
                     จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)
                                                                                  ๙   มิถุนายน ๒๕๕๘