ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พระธรรมยุติ ดีกว่า พระมหานิกายยังไง

เริ่มโดย สงสัย, 10:50 น. 31 ต.ค 54

สงสัย

คิดว่าทำบุญที่ไหนก็เหมือนกัน แต่วันหนึ่งเพื่อนบอกว่า พระมหานิกายบาปมากกว่า เพราะไม่เคร่ง ให้ทำกับพระธรรมยุติดีกว่า เคร่ง ตามวินัย เราว่าพระเหมือนกันนี่นะ แต่พระดีเลวน่าจะอยู่ที่คนๆนั้น พระรูปนั้นๆไม่ใช่เหรอ เคร่งแล้วดี หรือ เคร่งแล้วไม่ดีมีไหม ไม่เคร่งแล้วดีมีไหม ทำไมต้องแยกบุญ มาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวกันไม่ใช่เหรอ แล้วแบ่งแยกกันทำไม หรือใครดีกว่าพระพุทธเจ้าล่ะ

บางทีฟังมากก็ปวดหัวนะ ทำอย่างที่ใจอยากดีกว่า

tayphone

ขอตอบหน่อยครับ

สายธรรมยุต เน้นปฏิบัติ เคร่งครัดวินัยสงฆ์ ฉัน 1 มื้อ บุหรี่ยังไม่สูบเลย

สายมหายาน เท่าที่เห็น ที่รู้มา ศึกษาพระธรรม ไม่เคร่งวินัยสงฆ์ ฉัน 2 มื้อ บางวัดยังฉันน้ำเต้าหู้ในเวลาเย็นหรือค่ำ ๆ(ซึ่งจริง ๆ ผิดวินัยสงฆ์) แต่บางรูปท่านก็ปฏิบัติดี อยู่ในวินัยสงฆ์

ก็ถูกอย่าง จขกท ขึ้นอยู่ว่า พระรูปนั้นจะปฏิบัติตนให้ถูกต้องมั้ย อยู่ในวินัยสงฆ์ให้น่ากราบไหว้มั้ย ฆราวาสเวลาไหว้พระรูปไหนก็ตาม เขาจะไหว้ที่ศีลที่พระรูปนั้นปฏิบัติ ไม่ได้ไหว้ที่ตัวตนของพระรูปนั้น

ฉะนั้นก็อยู่ที่แต่ละท่านครับว่าชอบแบบไหน ขอให้อยู่ในความดีก็พอ ส่วนตัวผมชอบสายธรรมยุต แต่ก็กราบไหว้สายมหายานด้วย เพราะพระสายมหายานที่ดี ๆ ก็มีเยอะครับ น่ากราบไหว้

samrit



รู้เพียงแต่ว่าพระสายธรรมยุต เคร่งกว่า เช่น...

จับต้องเบี้ยไม่ได้  หลังเพลฉันกาแฟผสมครีมหรือนมไม่ได้

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าพระ หากปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

จะเป็นสายไหนๆ ก็รับได้ทั้งนั้นครับ...

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (ตถาคต)
คิดดี พูดดี ทำดี ชีวิตก็จะพบแต่สิ่งที่ดีๆ...

narate

ดูศีล 227 ครบหรือไม่ ยึดหลักตามศาสนาครับ  ลองวัดควนจง..สาธุ ส.อ่านหลังสือ

wallop

ดีทั้ง 2 นิกาย  อยู่ที่สมนสารูป การอยู่ในวินัย และการปฏิบัติ  ดูแต่ภายนอก ธรรมยุติอาจจะมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด ที่น่าศรัทธา แต่มหานิกายบางรูปก็ปฏิบัติได้ดีกว่าธรรมยุติบางรูป  เพราะฉะนั้นก็ขอให้เป็นไปตามศรัทธาครับ พระดีมีคนศรัทธามากก็เป็นผลดีต่อศาสนา  ถ้าชาวพุทธรู้จักแยกแยะ สมมุติสงฆ์ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามพระธรรมวินัยที่แท้จริงก็จะเสื่อมไปเอง  พระดีวัดดีมีคนศรัทธา  วัดดีพระไม่ดีก็ยังมีคนไป  พระไม่ดีวัดก็ไม่มีอะไรจูงใจก็จะเป็นวัดร้างไปเอง ครับอย่ามาเปรียบเทียบจะดีกว่า ขอให้พิจารณาว่าสมณสารูปของท่านสมกับการเป็นพระหรือไม่  วัตรปฏิบัติของท่านเป็นไปตามวินัยสงฆ์หรือไม่ 
ยืนด้วยขาตนเอง

คุณหลวง

    สะบายดี...

    พระสายธรรมยุติ ตั้งขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ(ร.๔)ตอนที่ยังทรงผนวชอยู่ เพราะทรงดำริเห็นความเสื่อมโทรม ความเหลวไหลของวงการสงฆ์สมัยนั้น (แต่บางท่านว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง) จึงตั้งสงฆ์สายที่เน้นการปฏิบัติตามธรรมวินัย โดยตั้งชื่อว่า ธรรมยุติกนิกาย แปลว่า ยุติโดยธรรม แล้วให้ชื่อสายเดิมว่า มหานิกาย

    แต่หากพูดกันโดยความจริง พระสมัยนั้น สมัยนี้ ก็มีพระดี พระเลว พระสายอรัญญิกะ หรือ พระธุดงค์นั้น ครองวัตรเข้มข้นมาแต่ไร ต่างกับพระคามวาสีที่อาจจะผ่อนปรนลงเพื่อสังคมชาวบ้านมากกว่า และพระที่บวชเพื่อโลภลาภสักการะก็เยอะ การที่พระองค์ตั้งสายใหม่ขึ้นมานั้นที่จริงก็ไม่ใหม่อะไร เพราะสมัยนี้ พระมหานิกายสายวัดป่าก็เคร่งครัดไม่ต่างกัน

    ความจริง พระทั้งหลายก็ต้อง ธรรมยุติ ครับ คือการยุติโดยธรรม เพราะว่า นิกายนั้น เป็นสิ่งที่ตั้งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติส่วนหนึ่ง เพื่อความกลมเกลียวของกลุ่มมากกว่าครับ เพราะว่าพระที่ปฏิบัติดีนั้น ท่านยุติกันด้วยธรรมทุกรูปครับ อย่างเช่นที่หลวงตามหาบัวเคยเทศน์ว่า พระเรานั้นต้องยอมรับกันด้วยธรรมวินัยมิใช่นิกาย อย่างท่านเองก็ยอมรับพระที่มีธรรมวินัยเสมอกันได้ไม่จำกัดนิกาย

    หลวงตาทองรัตน์ กันตศีโล เป็นพระมหานิกายรูปหนึ่งที่อยู่กับพระสายธรรมยุติ อยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนานมาก และหลวงปู่มั่นก็ยอมรับท่านด้วยดี หลวงปู่มั่นกล่าวว่านิกายไม่ใช่สิ่งสำคัญ ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามธรรมวินัย เพื่อประโยชน์ตน ศาสนา และสรรพสัตว์ เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีพระหนุ่มกลุ่มหนึ่งนั่งวิจารณ์กันเรื่องนิกาย พอดีท่านทองรัตน์เดินผ่านไป พระหนุ่มในกลุ่มจึงยกตัวอย่างว่า ตัวเองดีกว่าพระรูปนั้น เพราะตนเป็นธรรมยุติ

    หลวงตาทองรัตน์ เดินเข้าไปหาพระกลุ่มนั้น แล้วลอกสบงให้ดูก้นท่าน แล้วว่า "เอา(นิกาย)มายัดฮูขี้กูนี่) ท่านเป็นพระที่มีอุปนิสัยโผงผาง นักเลง และแปลกๆห่ามๆ เช่นเดียวกับพระสายหลวงปู่มั่นหลายรูป เช่น หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นต้น แต่ล้วนเป็นพระที่หลวงปู่มั่นรับรองทั้งสิ้นครับ

    อย่างครั้งที่ท่านพุทธทาส ได้เข้าพบกับสมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบัน(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ (เจริญ สิริวัฒฑโน) ทั้งสองท่านต่างก้มลงกราบกันและกันด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง จนพระลูกศิษย์ที่อยู่ด้วยยังเกรงว่าท่านจะก้มลงชนกัน เพราะต่างท่านต่างมีอายุมากจนทรงกายให้นิ่ง และมั่นคงไม่ได้แล้ว หากเราถือตามนิกาย ท่านพุทธทาส เป็นมหานิกาย ท่านสังฆราชเป็นธรรมยุติ แต่ความจริง ท่านทั้งสองมิได้เป็นทั้งธรรมยุติทั้งมหานิกาย แต่ท่านต่างเป็นพระของพระพุทธเจ้าเท่ากัน

    หากว่าท่านเป็นธรรมยุติ ท่านก็ธรรมยุติด้วยกัน เพราะท่านยุติเครื่องกีดขวางลงแล้วด้วยธรรม หากว่ามหานิกาย ท่านก็เป็นมหานิกายด้วยกัน เพราะต่างก็ยิ่งใหญ่ไม่คับแคบอยู่แต่เครื่องยึดถือของตน

    หรืออย่างที่ท่านพุทธทาสกับองค์ทะไล ลามะ ต่างก็ยอมรับกันและกันด้วยธรรม นั่นแตกต่างกันยิ่งกว่านิกาย สองนิกายของไทยอีกครับ ท่านพบกันทางร่างกายเพียงครั้งเดียวตอนที่ท่านทะไล ลามะ มาเยือนประเทศไทย และเสด็จเยี่ยม และพักที่สวนโมกข์คืนหนึ่ง เวลาที่มีคนไทยไปกราบท่านทะไล ลามะ ท่านจะถามถึงท่านพุทธทาสเสมอ และกล่าวว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของท่านอีกรูปหนึ่ง

    ดังนั้น การเคารพ การทำบุญ ก็จงเลือกที่ความเป็นสมณะของท่านเถอะครับ เพียงอย่างหนึ่งนั้น อย่าผูกติดกับบุคคล นิกาย หรืออะไรภายนอก และอย่าด่วนตัดสินว่าใครดี ใครเลว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ศีลนั้น จะรู้กันได้ด้วยการอยู่ร่วมกันนานๆ และทรงเปรียบเทียบพระกับมะม่วง ๔ ประเภท ไว้ว่า

    ๑.มะม่วงผิวนอกดิบ เนื้อในดิบ ดั่ง พระที่เป็นปุถุชน และกิริยาไม่เรียบร้อย
    ๒.มะม่วงผิวนอกดิบ เนื้อในสุก ดั่ง พระผู้ทรงคุณ แต่กิริยาไม่เรียบร้อย
    ๓.มะม่วงผิวนอกสุก เนื้อในสุก ดั่ง พระผู้ทรงคุณ และกิริยาเรียบร้อย
    ๔.มะม่วงผิวนอกสุก เนื้อในดิบ ดั่ง พระปุถุชน ที่กิริยาเรียบร้อย


    ดังนั้น อย่ารีบตัดสินด้วย นิกาย หรืออะไรๆ เลยครับ แค่พระที่บวชทันตอนพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ยังมีพระเลวเลยครับ มิฉะนั้น พระองค์จะไม่บัญญัติพระวินัยขึ้นมามากมายหรอกครับ สาเหตุที่บัญญัติพระวินัยขึ้นมานั้น เพราะพระประพฤติไม่ดีเป็นตัวอย่างขึ้นมา ก่อนหน้านี้พระสารีบุตรเคยทูลขอให้บัญญัติพระวินัย แต่พระองค์ไม่ทำ จนมีพระทำผิด จึงบัญญัติ โดยให้เหตุผลว่า

    เตนะหิ ภิกขะเว ภิกขูนัง สิกขาปะทัง ปัญญาเปสสามิ ทะสะ อัตถะวะเส
ปะฏิจจะ,   ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย,
อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ,

    ๑. สังฆะสุฏฐุตายะ, เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์,
    ๒. สังฆะผาสุตายะ, เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์,
    ๓. ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะ, เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก,
    ๔. เปสะลานัง ภิกขูนัง ผาสุวิหารายะ, เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก,
    ๕. ทิฏฐะธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ, เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดในปัจจุบัน,
    ๖. สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ, เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต,
    ๗. อัปปะสันนานัง ปะสาทายะ, เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส,
    ๘. ปะสันนานัง ภิยโยภาวายะ, เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว,
    ๙. สัทธัมมัฏฐิติยา, เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม,
    ๑๐. วินะยานุคคะหายะ, เพื่อถือตามพระวินัย,
    อิติ,.....ด้วยประการฉะนี้แล.

(..คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือสวดมนต์-ไหว้พระ-สาธยายธรรม (แปล) ธรรมานุสรณ์แด่พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ ...ธรรมจักร.คอม)

    ดังนั้น พระวินัยนั้น มิได้หมายความว่าพระที่เคร่งครัดแล้วดี แต่พระที่ไม่เคร่งไม่ดี แต่อยู่ที่การกระทำ และผลสัมฤทธิ์ในจิตใจของท่านนั้นๆครับ อย่างในพระไตรปิฎกเล่าว่า มีพระหนุ่มที่บวชไม่นานมาขอลาสึกต่อพระพุทธองค์โดยให้เหตุผลว่า มีพระวินัยถึง ๑๕๐ ข้อ (สมัยนั้น) ตนปฏิบัติและศึกษาไม่ไหว พระพุทธองค์ถามว่า แล้วเธอจะปฏิบัติสัก ๓ ข้อได้ไหม พระรูปนั้นตอบว่า หากแค่ ๓ ก็ยินดี พระองค์ จึงให้ รักษาศีล สมาธิ และปัญญา พระรูปนั้นรับมาปฏิบัติ และบรรลุอรหันต์ในที่สุด (สังเกตุวินัย กับ ศีล ว่าต่างหรือเหมือนกัน?)

    ส่วนพระรูปไหน สายไหน ปฏิบัติอย่างไร ก็ลองศึกษาไปนานๆครับ ประเภทปกปิดความชั่วก็มาก อย่างเช่น ต่อหน้าชาวบ้านไม่จับเงินทอง แต่ซองให้สกรับไปให้ที่วัด แล้วแบ่งกันเมื่อชาวบ้านภายนอกไม่อยู่ ต่อหน้าชาวบ้านไม่สูบบุหรี่ แต่ที่กุฏิสูบเป็นว่าเล่น ครีมเทียมไม่ฉัน แต่ว่าเมล็ดทานตะวัน ลูกบ๊วย เมล็ดทานตะวันอัดแท่ง ลูกอินทผลัม ฯลฯ ฉันได้ซะอย่างงั้นแหละ แต่มันเป็นการตีความที่แตกต่างกันเท่านั้นเองครับ อย่าถือสามาก

    พระที่ถือดีด้วยนิกายที่ผมพบมา รูปหนึ่งถึงกับโกหกอายุพรรษาของตนเพื่อที่จะไม่ต้องกราบพระต่างนิกาย อย่างนั้นคุณความดีจะมีอยู่ตรงไหน พระพุทธเจ้าเน้นที่ใจอันตั้งมั่นในธรรมและความบริสุทธิ์ มิใช่นิกายภายนอก ที่ไม่อาจช่วยต่อการบรรลุธรรมแต่อย่างใด ศีลจึงสามารถรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกันนานๆครับ ไม่ใช่แค่ภายนอก ชั่วคราว พระที่เคร่งครัดแต่สอนผิดหลักศาสนาก็มาก

    อย่าคาดหวังสูงในตัวพระครับ เพราะว่าแต่ละท่านก็เป็นคนที่ดิ้นรนอยู่ในวัฏฏสงสารด้วยกันเหมือนเรา เพียงแต่ท่านครองเพศที่สะดวกกว่าเท่านั้นในการละวัฏฏะอันยืดยาวหาที่สิ้นสุดได้ยากนี้ เมื่อเราไม่คาดหวังในคน เราจะพบคนดีว่ามีมากขึ้นครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

คุณหลวง

   สะบายดี...

   คุณ สงสัย นี่ ช่างสงสัยนะครับ ครั้งก่อน ถามเรื่องพุทธทาสตกนรก เล่นเอาผมเข้าใจความหมายที่ท่าน มาอีกคนแล้ว พูดผิดไป ออกอาการเลย

    ได้รู้ว่า ตัวเอง ยังอ่อนสติเหลือเกิน คงระคายเคืองผู้อ่านหลายท่าน

ขอขมามา ณ. ที่นี้ ต่อ ทุกท่านนะครับ

    ท่านพุทธทาสเป็นดั่งพระธรรมาจารย์ที่ผมเคารพยิ่งครับ ลองศึกษาหนังสือ หรือเทปของท่านไปเรื่อยๆสิครับ สิ่งที่คุณสงสัยจะค่อยๆกระจ่างแจ้งไปเอง เพียงแต่แรกๆอาจจะเข้าใจยากหน่อย ก็ลองอ่านเล่นๆอย่าจริงจังมาก จะได้ไม่เบื่อเสียก่อน ดูว่าอ่านยากก็วางก่อน แล้วค่อยอ่านต่อ จะค่อยๆซึมซับและเข้าใจ จนกระทั่งชอบใจในที่สุด เพราะความกระจ่างแจ้ง ตรง ไม่เอาใจใคร เอาตามธรรมโดดๆ

    ขนาดมีพระผู้ใหญ่มาห้ามว่าอย่าพูดเรื่องโลกุตรธรรม เพราะชาวบ้านจะไม่เข้าใจ แต่ท่านว่า หากไม่มีโลกุตรธรรม พระพุทธศาสนาก็หมดความหมาย เพราะโลกุตรธรรมเป็นพื้นฐานของศีลธรรม น่าคิดมากครับ

    ขอบคุณที่สงสัย ขอบคุณทุกท่านครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

คุณาพร.


****** บทความพิเศษ : เปิดกรุหนังต้องห้าม (Prohibited Films) *******
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=19768.0

เว็บบอร์ดส่วนตัว  :  ห้องคุยกับคุณาพร
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?board=11.0

samrit

ขอขอบคุณ "คุณหลวง" ที่ได้กรุณาให้ความกระจ่างในเรื่องของธรรมยุติ และมหานิกาย

ชาวพุทธเราโดยมาก ได้พุทธมาแต่กำเิินิด รู้จักศาสนาพุทธแต่เพียงเปลือกนอก

แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาที่แท้จริงหาได้รู้ไม่ (ซึ่งรวมทั้วตัวผมคนหนึ่งด้วยเช่นกัน)

จนเพื่อนคนหนึ่ง ได้แนะนำให้อ่านหนังสือท่านพุทธทาส  "คู่มือมนุษย์"

ทำให้ผมได้รู้จักศาสนาพุทธที่ตัวเองนับถือมาแต่กำเนิดได้ดียิ่งขึ้น...




คิดดี พูดดี ทำดี ชีวิตก็จะพบแต่สิ่งที่ดีๆ...

tayphone

ขอบคุณ คุณหลวง ครับ

อ่านแล้วได้เข้าใจอะไรมากขึ้น เป็นอย่างที่ผมคิดด้วยในบางอย่าง

จริง ๆ ก็ถูกน่ะ อยู่ที่การปฏิบัติมากกว่า ว่า จะปฏิบัติได้ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามั้ย

ไม่ได้อยู่ที่นิกาย ผมเองก็ตาสว่างขึ้นมาบ้าง เข้าใจแล้วครับ

วรเดช

ตามที่คุณหลวงได้อธิบายเลยครับ สาธุ

เด็กซอย5


คงมีโอกาสได้อ่านแง่คิดดีๆจาก คุณหลวง อีกนะขอรับ

อนุโมธนา สาธุ

คุณหลวง

    สะบายดี...

    เมื่อก่อน ตอนที่ยังบวชอยู่ ผมเจ็บใจกับการที่ต้องทนอยู่กับพระบ้านๆ ที่ไม่มีวินัย

    ผมจึงออกค้นหาพระที่เคร่งครัดในวินัย เพราะอ่านวินัยแล้วเห็นแต่ความผิดของพระ อาบัติทั้งนั้น จนไปเจอกับพระที่เคร่งครัดขนาดท้าให้เราเปิดพระไตรปิฎกจับผิดกันได้เลย ว่าท่านๆไม่ผิดแน่นอน เกิดศรัทธาอยากรู้ เลยอยู่ด้วย จนเห็นว่าเคร่งครัดจริง แต่ธรรมะไม่ก้าวหน้า เพราะยึดติดในวินัยเสียแล้ว

    นึกถึงตอนที่พระพุทธองค์ห้ามพระสารีบุตรว่า การตั้งวินัยนั้นก่อเกิดโทษด้วยเช่นกัน เพราะจะมีพระที่ยึดติดกับวินัยจนเห็นว่าวินัยสูงสุด จะไม่สามารถปฏิบัติเข้าถึงบรมธรรมได้ แต่ยกเว้นไว้ว่าหากจำเป็นพระองค์จะบัญญัติขึ้นมาเมื่อสมควร จนมีพระทำผิดเป็นที่กล่าวโทษทั้งในหมู่สงฆ์และฆราวาส พระองค์จึงบัญญัติขึ้นมาตามที่อธิบายไปก่อนหน้า

    ยิ่งนึกถึงว่า ก่อนปรินิพพานพระองค์อนุญาตให้หมู่สงฆ์เลิกวินัยบางข้อได้ เพราะจะปฏิบัติยากในอนาคต แต่สงฆ์สายหนึ่งไม่ละ ถือตามบัญญัติ เรียกภายหลังว่า สายหินยาน และบางสายก็ละบางข้อ และบัญญัติใหม่ให้เหมาะกับสังคมนั้นๆ เรียกภายหลังว่า มหายาน

    ทำให้ผมต้องมองใหม่ว่า พระที่ดีที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์นั้น เป็นอย่างไรกันแน่ ขนาดพระที่เคร่งครัดพระพุทธองค์ยังตำหนิในบางส่วน ทั้งที่เคร่งครัดไม่ต่างกัน อย่างเช่น ที่พระพุทธองค์กล่าวถึงพระที่ถือธุดงควัตร นั้นมีหลายแบบ แบบที่ถือเพราะเห็นว่าดีก็มี แบบที่ถือเพราะเห็นว่าครูบาอาจารย์ถือมาก็มี แบบที่ถือเพราะเห็นว่าสามารถลดละกิเลสได้ก็มี แบบที่ถือเพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญก็มี แบบที่ถือเพราะสติบกพร่องก็มี

    พระองค์ยกย่องแค่ ๓ ประเภทแรกครับ ดังนั้น เคร่งครัดเหมือนกัน แต่เป้าประสงค์ในใจต่างกันก็มี เมื่อมองผลสัมฤทธิ์ทางธรรม พระบางรูปที่หย่อนยานวินัยไปบ้าง กลับมีธรรมที่ควรค่าแก่การเคารพก็มีเช่นกัน แต่นั่น คือการที่เราต้องมองกันนานๆ ไม่ใช่ตัดสินเพียงภาพภายนอก

    ผมเคยเจอพระที่เคร่งครัดไม่จับต้องเงินทอง แต่พกเป็นตั๋วแลกเงิน พระรูปนี้เล่าว่า ท่านมีตั๋วแลกเงินอยู่สามพันกว่าบาท มาพักที่วัดๆหนึ่งแล้วเด็กวัดขโมยเสีย ท่านเล่าไป ด่าไป สาปแช่งไป กับพระอีกรูปที่จับต้องเงินทอง แต่พอของท่านหาย ท่านแค่ยิ้มๆและบอกว่า มันไม่ใช่ของเรา มันไปหาเจ้าของของมันแล้ว ผมมองพระทั้งสองรูปด้วยความคิดที่ตั้งคำถามว่า แบบใดที่ควรค่าแก่การเคารพมากกว่ากัน

    การพิจารณาก่อนเคารพวางใจจึงเป็นสิ่งที่พระองค์ยกย่อง เพราะการเคารพอย่างไม่เลือกถือว่าพระทั้งนั้น หรือชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ทำให้พระที่มีจุดประสงค์ไม่ดีได้ใจครับ และเป็นบ่อนทำลายพระศาสนาลงไปอย่างกินเนื้อใน
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปลง วิปริต


ปัจเจกพุทธ

บางท่านอาจยังสับสนเรื่องนิกาย ถ้าจะแบ่งให้เข้าใจง่ายคือ ศาสนาพุทธในโลกนี้แบ่งได้ใหญ่ ๆ สองนิกาย คือ
มหายาน
กับหีนยาน (นิยมเรียกว่า เถรวาท)

มหายานก็มีประเทศ จีน ญี่ปุ่น ทิเบต เกาหลี ใต้หวัน ฮ่องกง เวียตนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
เถรวาท ก็มี ไทย ลาว เขมร พม่า อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น

ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนิกายเถรวาท ซึ่งแบ่งออกเป็นสองนิกายอีก
คือ มหานิกาย คือนิกายเดิม
และ ธรรมยุตินิกาย ซึ่งตั้งขึ้นมาโดยรัชกาลที่ 4

หลายท่านอาจยังไม่ทราบข้อมูลของพระมหายาน (ภาษาชาวบ้านเรียก พระจีน) จีวรของพระมหายานจะเป็นลักษณะ เสื้อ กางเกง และมีจีวรห่มทับ วัดของพระมหายาน จะอยู่ตามป่า ตามภูเขา สูง ๆ ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก (หาดใหญ่มีวัดถาวร) ศาสนาพุทธในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จึงไม่ค่อยมีใครนับถือ และใกล้สูญหาย เพราะเวลาจะไปวัดที ต้องบากบั่นมานะอุตสาหะ กว่าจะไปถึง ซึ่งไม่เหมาะกับคนสมัยนี้ที่ส่วนใหญ่อดทนน้อย รักความสบายเป็นหลัก คนญี่ปุุ่น จีน เกาหลี ให้ความเคารพกับพระน้อยมาก เวลาพูดก็พูดเหมือนพูดกับคนธรรมดา ไม่ค่อยมีความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากการปฏิบัติตนของพระเองตามหลักการของนิกายมหายาน มีการอนุโลมมาก เช่น ใส่เสื้อผ้าฆราวาสได้ ในบางโอกาส ประกอบอาชีพอื่น ๆได้(ญี่ปุ่น) ฉันอาหารได้ 3 มื้อ (แต่ไม่ฉันเนื้อ) เล่นกีฬาได้ ฯลฯ

อีกนิกายหนึ่งในต่างประเทศ คือนิกายเซ็น (ลองไปค้นข้อมูลเอา)

ในประเทศไทย มีสองนิกาย
มหานิกาย(ชาวบ้านเรียก พระบ้าน) มีวัดอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ใครอยากมาหาเมื่อไรก็มาได้ ทำให้มีความนิยมมาก
ธรรมยุตินิกาย (ชาวบ้านเรียก พระป่า) แต่ไม่ได้อยู่ในป่าเสมอไป บางวัดก็อยู่ในเมือง ความเคร่งครัดมากกว่าพระบ้าน แต่บางคนบอกอึดอัดเกินไป ก็แล้วแต่แนวคิดใคร

เรื่องจับเงินนี่่ ผมคิดว่า เงินเป็นอะไรที่เป็นกลาง ๆ ไม่ดี ไม่เลว แล้วแต่คนเอาไปใช้ เหมือนมือถือ อินเตอร์เน็ต มีดทำครัว รถยนต์ เป็นสิ่งของ เป็นกลาง ๆ แล้วแต่คนเอาไปก่ออาชญากรรม หรือเอาไปช่วยผุ้อื่น

เรื่องการแบ่งนิกายก็คงคล้าย ๆ กับ คนเรียนสายอาชีพ บางคนว่าเรียนพาณิชย์ดี ได้ทำงานสบายนั่งโต๊ะ บางคนบอกเรียนสายช่างดีกว่า ทำงานสนุกดี ก็เถียงกันไปไม่จบไม่สิ้น ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น


ปัจเจกพุทธ

หลักการใหญ่ ๆ ของมหายาน คือ พระโพธิสัตว์เป็นผู้โปรดสัตว์ โดยทยอยช่วยเหลือหมู่สัตว์โลก(มนุษย์น่ะแหละ) ให้เข้าถึงนิพพานทีละคนหรือทีละหลายๆ คน พระโพธิสัตว์เป็นองค์สุดท้ายที่จะเข้าสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าก็เป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง (เรียกว่าพระอมิตตา แปลว่า พระพุทธเจ้า) ปัจจุบันนี้พระโพธิสัตว์และพระอมิตตาก็ยังคอยช่วยเหลือสัตว์โลกอยู่ มีหลายพระองค์ ที่เด่น ๆ ชัด ก็เห็นจะเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม บ่อยครั้งที่มหายานใช้คำว่า สวรรค์ แทน นิพพาน เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง

หลักการของเถรวาท จะว่าสวนทางกับมหายานก็ได้ คือ อัตตาหิอัตโนนาโถ ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน คือแต่ละคนต้องศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าใจ ศีล สมาธิ ปัญญา (มหายานเน้น ศรัทธา) ไปจนถึง โลกุตรธรรม แล้วเข้าสู่นิพพาน โดยไม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิแต่อย่างใด มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน (อนาคตอาจมีอีก)

หลักการของทั้งสองนิกายจึงแตกต่างกัน (ไม่แตกต่างกันจะแยกนิกายกันเหรอ) บางครั้งมหายานว่า เถรวาทมีแนวคิดค่อนข้างเห็นแก่ตัว ให้พึ่งพาแต่ตนเอง ไม่หันไปช่วยคนอื่น เถรวาทก็บอกว่ามหายานมัวแต่ศรัทธา วอนขอแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่คิดขวนขวายเอาเองบ้างหรือ

ก็เอามาเล่าให้ฟัง จะได้เห็นภาพชัดขึ้น

คนเป็นกลาง


ม.2

อ่านแล้วไม่เห็นว่าประเทืองปัญญาตรงไหน

vanna.karnngarn

จะสายไหนก็แล้วแต่คับนักบุญทั้งหลายการบริจาคทานให้เราสุขกายสบายใจก็พอทำบุญคิดมากก็ไม่ได้บุญคับ สาธุๆๆๆๆๆๆๆ

เจซี

สำหรับเราจะสายไหน เราก็นับถือและทำบุญได้ทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกที่ควรทำ คือทำหน้าที่ของเรา  ส่วนพระ หากเขาทำไม่ดี ก็เป็นบาปของเขาเอง ส-ดีใจ ส-ดีใจ

ผีดำ1

อ้างจาก: tayphone เมื่อ 13:28 น.  31 ต.ค 54
ขอตอบหน่อยครับ

สายธรรมยุต เน้นปฏิบัติ เคร่งครัดวินัยสงฆ์ ฉัน 1 มื้อ บุหรี่ยังไม่สูบเลย

สายมหายาน เท่าที่เห็น ที่รู้มา ศึกษาพระธรรม ไม่เคร่งวินัยสงฆ์ ฉัน 2 มื้อ บางวัดยังฉันน้ำเต้าหู้ในเวลาเย็นหรือค่ำ ๆ(ซึ่งจริง ๆ ผิดวินัยสงฆ์) แต่บางรูปท่านก็ปฏิบัติดี อยู่ในวินัยสงฆ์

ก็ถูกอย่าง จขกท ขึ้นอยู่ว่า พระรูปนั้นจะปฏิบัติตนให้ถูกต้องมั้ย อยู่ในวินัยสงฆ์ให้น่ากราบไหว้มั้ย ฆราวาสเวลาไหว้พระรูปไหนก็ตาม เขาจะไหว้ที่ศีลที่พระรูปนั้นปฏิบัติ ไม่ได้ไหว้ที่ตัวตนของพระรูปนั้น

ฉะนั้นก็อยู่ที่แต่ละท่านครับว่าชอบแบบไหน ขอให้อยู่ในความดีก็พอ ส่วนตัวผมชอบสายธรรมยุต แต่ก็กราบไหว้สายมหายานด้วย เพราะพระสายมหายานที่ดี ๆ ก็มีเยอะครับ น่ากราบไหว้
เจ้าของกระทู้ตั้งคำถามเรื่อง ธรรมยุติ กับ มหานิกาย ไม่ใช่มหายานนะครับ มหายานนั้นคือพระจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย เขาถือศีลปฎิบัติอีกแบบครับ

Mr.No

  สายไหนก็ได้ครับ.... ถ้าเป็น "พระดี"

  แต่ที่น่าห่วงคือ...พวก    สายจานบินที่กำลังจะจัดอีเว้นท์สายสามนี่....น่ากัวสุด ๆ
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.