ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

คนไทยช่างโชคดียิ่งนักที่มีพระองค์เป็นสมาชิกร่วมครอบครัว

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 15:30 น. 29 ต.ค 59

ทีมงานบ้านเรา

ที่มา สำนักข่าวอิศรา
https://www.isranews.org/isra-news/item/51187-thai-51187.html

พระองค์ทรงเห็นว่าพสกนิกรไทยทุกคนเป็นครอบครัวของพระองค์ คนไทยช่างโชคดียิ่งนักที่มีพระองค์เป็นสมาชิกร่วมครอบครัวของพวกเขา และเราช่างโชคดีเหลือเกินที่จะได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระองค์ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

[attach=1]

ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้จัดประชุมพิเศษ เพื่อสดุดีและเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีผู้แทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นกล่าวคำสดุดี เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 2559)

บุคคลหนึ่งที่ได้ขึ้นกล่าวคือ น.ส. ซาแมนธา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ผู้ที่ได้ฟังคำกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติของเธอต่างพูดว่าเป็นคำสดุดีที่กินใจมาก โดยเธอได้กล่าวว่า

นี่เป็นหนึ่งในหลายวันที่ฉันรู้สึกว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นที่ตั้งของสหประชาชาติ ขึ้นมากล่าวในวาระสำคัญนี้

ในนามของสหรัฐอเมริกา ฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งจากหัวใจต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชนชาวไทย ต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นมิตรและหุ้นส่วนตลอดชีพของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังทรงมีความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่ลึกซึ้งกับชาติของเราด้วย

พระราชบิดาและมารดาของพระองค์ทรงพบกันในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ในขณะที่กำลังศึกษาด้านการแพทย์ พระราชบิดาของพระองค์ทรงศึกษาที่ฮาร์วาร์ด พระมารดาทรงศึกษาที่วิทยาลัยซิมมอนส์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ที่นี่ขณะยังทรงพระเยาว์เท่านั้น แต่ทุกวันนี้การดำรงอยู่ของพระองค์ยังคงรู้สึกได้อย่างมากทีเดียวในเมืองเคมบริดจ์

ฉันสามารถกล่าวเรื่องนี้ได้อย่างเต็มปาก เพราะก่อนที่ฉันจะมารับตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ฉันเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่ Kennedy School of Government สังกัดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเมืองเคมบริดจ์ เวลาเดินไปทำงานและตอนขากลับ ฉันผ่านจัตุรัสภูมิพลที่อยู่ติดกับเคนเนดี้สคูลเป็นประจำ มันเป็นจัตุรัสที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงที่ประสูติของพระองค์

เวลาเดินผ่านจัตุรัสภูมิพล จะเห็นอยู่เสมอว่ามีคนไทยนำดอกไม้เข้าถวายสักการะพระองค์ และถ่ายรูปกับแท่นศิลาที่มีแผ่นจารึกพระนามของพระองค์ ในเคมบริดจ์ยังมีอีกหลายแห่งที่มีลักษณะคล้ายกับที่จตุรัสภูมิพล อย่างใกล้ ๆ กันที่โรงพยาบาลบริแกมแอนด์วิเมนส์ เป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งพระมารดาของพระองค์เคยทรงงาน แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่ไม่มีคนไทยแวะเวียนไปมา พวกเขานำของขวัญ ดอกไม้ หรือข้อความสั้น ๆ เขียนด้วยลายมือไปมอบให้กับทางโรงพยาบาล นี่เป็นการแสดงความจงรักภักดีที่คนไทยมีต่อพระองค์

เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งทูลถามพระองค์ว่า ทรงปรารถนาให้คนระลึกถึงพระองค์อย่างไร พระองค์ทรงตอบว่าไม่เป็นห่วงว่าประวัติศาสตร์จะจารึกพระองค์ว่าอย่างไร พระองค์ตรัสดังนี้

"หากพวกเขาต้องการเขียนเกี่ยวกับข้าพเจ้าในเรื่องที่ดี พวกเขาควรเขียนว่าข้าพเจ้าได้ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ไว้อย่างไรบ้าง"

ในสายพระเนตรของพระองค์ การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หมายถึงการหาทางคลี่คลายปัญหาที่พสกนิกรเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพสกนิกรที่ยากไร้และอยู่ชายขอบ และวิธีเดียวที่จะรู้ว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ และเข้าใจถึงปัญหาที่พสกนิกรกำลังประสบอยู่ คือการเสด็จพระราชดำเนินออกไปยังถิ่นที่พสกนิกรของพระองค์อาศัยอยู่ ดังนั้นพระองค์จึงได้เสด็จฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศของพระองค์ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาคที่ยากจนและทุรกันดาร โดยในช่วงที่ครองราชย์ พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนาหลายพันโครงการ

ในการเสด็จฯ ไปเยี่ยมพสกนิกรในภูมิภาคต่าง ๆ พระองค์ทรงเข้าไปหาพวกเขาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง เกษตรกรชาวสวนยาง หรือชาวนาผู้ปลูกข้าว หรือนักเรียนประถม ครั้นเมื่อพระองค์ทรงโปรดฯ ให้บรรดาข้าราชการเข้าเฝ้า พระองค์ทรงมีพระราชดำริเลือกให้ผู้ที่ทำงานในระดับรากแก้วที่จัดว่าเป็นแก่นของสังคมเข้าเฝ้า เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและการเกษตร ครู ตำรวจ

พระองค์ทรงเป็นมากกว่าผู้เฝ้าสังเกตสิ่งต่าง ๆ อย่างพิถีพิถัน การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หมายถึงการรู้จักหาทางแก้ปัญหาที่พระองค์เผชิญอยู่ให้ลุล่วงไป และทรงสอนคนไทยให้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถหลายด้าน ตลอดรัชสมัย พระองค์ทรงรับการถวายจดทะเบียนสิทธิบัตรเกือบ 40 ฉบับ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ ทดลองและปรับปรุงแก้ไขด้วยพระองค์เอง ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ทรงมีพระปณิธานเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาที่พสกนิกรผู้ยากไร้ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน นี่เป็นเรื่องที่พิเศษและโดดเด่นยิ่งนัก

ตัวอย่างเช่น โครงการแก้มลิง ที่เป็นแนวคิดในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทย พระองค์ทรงได้แนวคิดมาจากความทรงจำในวัยเยาว์ที่ทรงสังเกตเห็นว่าลิงเอากล้วยส่วนหนึ่งไปเก็บที่กระพุ้งแก้มจนเต็ม แล้วมันถึงค่อยนำมากินต่อในภายหลัง ซึ่งนี่เป็นที่มาของโครงการสร้างฝายเก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ หรือ การเก็บน้ำส่วนเกินในช่วงที่ฝนตกหนัก เพื่อนำไปใช้สำหรับการชลประทานในภายหลัง ทุกวันนี้ระบบแก้มลิงยังคงมีใช้อยู่ทั่วประเทศไทย โครงการพระราชดำริหลายอย่างของพระองค์ เป็นการผสมผสานการอนุรักษ์กับการพัฒนาบุคคล แนวคิดของพระองค์ล้ำหน้าไปหลายสิบปีก่อนหน้าที่จะมีการตระหนักว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชุมชนในระยะยาว

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐฯ ตามคำกราบทูลเชิญของดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีในสมัยนั้น พระองค์ได้รับการทูลเกล้าเรียนเชิญให้กล่าวต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 32 พรรษา

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า การที่ทรงตอบรับคำทูลเชิญเสด็จเยือนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า "ข้าพเจ้ามีความปรารถนาแบบมนุษย์ธรรมดาที่จะได้เห็นสถานที่เกิด" ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จฯ ไปที่เคมบริดจ์ แต่พระองค์ทรงตรัสด้วยว่าทรงเสด็จฯ เยือนเพื่อยืนยันถึงสัมพันธไมตรีที่พิเศษและคุณค่าร่วมกันระหว่างชาติของเราทั้งสอง พระองค์ตรัสดังนี้

"มิตรไมตรีของรัฐบาลหนึ่งที่มีต่ออีกรัฐบาลหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่มิตรไมตรีของประชาชนชาติหนึ่งต่อประชาชนอีกชาติหนึ่งต่างหาก ที่เป็นหลักประกันสำหรับสันติภาพและความก้าวหน้า"

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า สำหรับคนไทยมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่ง คือเรื่องพันธะความผูกพันในครอบครัว พระองค์ตรัสดังนี้

"คนในครอบครัวหวังว่า สมาชิกในครอบครัวจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในยามที่ต้องการความช่วยเหลือ การให้ความช่วยเหลือมีคุณงามความดีในตัวเองอยู่แล้ว ผู้ให้ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้ยินคำกล่าวยกย่องทุกวัน หรือไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน ถึงกระนั้นก็ตามผู้รับก็รู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณ ซึ่งเขาเองก็จะปฏิบัติตามข้อผูกพันในครอบครัวต่อไปเช่นกัน"

พระองค์ทรงตรัสถึงความผูกพันและความเอื้ออาทรระหว่างสมาชิกในครอบครัวไทย หากมองย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงนำพระราชดำรัสไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของพระองค์อย่างสะดวกพระทัย ชีวิตที่ทรงบำเพ็ญพระองค์ตลอดเวลาเพื่อประโยชน์สุขต่อผู้ที่เดือดร้อน ชีวิตของการเป็นผู้ให้และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพสกนิกรของพระองค์ทุกวัน พระองค์ไม่มุ่งหวังคำสรรเสริญเยินยอ ไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน เพราะว่ามันเป็นเรื่องของพันธะความผูกพันที่บุคคลหนึ่งมีต่อครอบครัว และพระองค์ทรงเห็นว่าพสกนิกรไทยทุกคนเป็นครอบครัวของพระองค์ คนไทยช่างโชคดียิ่งนักที่มีพระองค์เป็นสมาชิกร่วมครอบครัวของพวกเขา และเราช่างโชคดีเหลือเกินที่จะได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระองค์ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

ถนอมจิต พานิชรัตน์ เรียบเรียง
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พิมพ์คำว่า กิมหยง ลงในคำตอบ:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง