ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

แนะป้องกันภาวะเด็กเตี้ย เติบโตช้า

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 13:56 น. 04 พ.ค 60

ทีมงานบ้านเรา

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์

แนะป้องกันภาวะเด็กเตี้ย เติบโตช้า thaihealth

[attach=1]

"ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย" จัดงาน "Growth Day ครั้งที่ 1 สูงสมวัย : เคล็ด (ไม่) ลับ" รณรงค์ให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่สงสัยว่ามีภาวะเตี้ยผิดปกติหรือขาดฮอร์โมนเติบโต เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ เตือนผู้ปกครองระวังอย่าหลงเชื่อสื่อสังคมออนไลน์หลอกโฆษณาเกินจริง ทั้งเรื่องการเพิ่มขนาดความสูงในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการยืดกระดูก การรับประทาอาหารเสริมสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ฝังเข็ม ช่วยให้เพิ่มความสูงได้เป็นเรื่องไม่จริง

"ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา" ประธานชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่มีความสนใจถึงความสูงของลูก โรคเด็กเตี้ยผิดปกติหรือภาวะขาดฮอร์โมนเติบโต จึงเป็นเรื่องที่สังคมอยากรู้และหาวิธีรักษา โดยเด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยหรือเจริญเติบโตช้า พบอยู่ประมาณร้อยละ 1-5 หรือเทียบเท่ากับจำนวนเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ประมาณ 1-5 คน ซึ่งจากปัจจัยหลายอย่างที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ ของรัฐ หรือผู้ปกครองไม่ทราบว่าลูกหลานของตนเองป่วยเป็นโรคนี้อยู่ จึงไม่พามารับการรักษา ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะให้บริการอยู่แล้ว

"ความเตี้ยของคนเราเกี่ยวข้องกับ 2 สาเหตุหลัก คือ ภาวะเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ มีสาเหตุต่างๆ มากมาย บางรายอาจมีเพียงสาเหตุเดียว บางรายอาจมีหลายสาเหตุรวมกัน ได้แก่ พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมน สุขภาพกาย สุขภาพใจและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น ความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพของพันธุกรรม และ ภาวะเตี้ยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเตี้ยตามพันธุกรรม พบได้บ่อย มี 2 ชนิดคือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวช้า เป็นภาวะปกติคือเด็กเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป โดยที่สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด

เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว และมักจะมีประวัติครอบครัวว่าบิดาหรือมารดาเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ หรือมารดามักมีประจำเดือนครั้งแรกช้า (อายุ 14-18 ปี) หรือบิดาเมื่อเป็นเด็กมักตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ เริ่มโตเร็วเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย และมีความสูงสุดท้ายปกติ และ ภาวะเตี้ยตามพันธุกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ พบได้บ่อย ส่วนมากมักมีพ่อหรือแม่เตี้ย หรือถ้าเตี้ยทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งปู่ย่าตายายเตี้ยด้วย ก็ชัดเจนมากขึ้นว่าเตี้ยจากพันธุกรรม กรณีที่พ่อแม่ไม่เตี้ยแต่ลูกเตี้ยกว่าปกติ โดยตรวจไม่พบความผิดปกติจากอัตราความสูงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็ถือว่าปกติคือเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ"

ทั้งนี้ ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้ากว่าอัตราปกติทั้งน้ำหนักและส่วนสูง โดยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ให้ใช้กราฟของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการวัด กล่าวคือ เด็กแรกเกิด-1 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 25 ซม./ปี, เด็กอายุ 1-2 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 12 ซม./ปี, เด็กอายุ 2-3 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 8 ซม./ปี, อายุ 3 ปี - ก่อนวัยหนุ่มสาว มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 4-7 ซม./ปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5 ซม./ปี และในช่วงเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เด็กมักจะโตเร็วขึ้น กล่าวคือ เด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 7-9 ซม./ปี และเด็กชายเติบโตประมาณ 8-10 ซม./ปี ผู้ปกครองจึงควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด โดยดูจากสมุดสุขภาพของเด็ก

ด้าน "ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ" กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และประธานสมาพันธ์ต่อมไร้ท่อเด็ก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า หากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กมีการเติบโตในอัตราปกติ

"เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่าเป็นโรคเตี้ยไปพบกุมารแพทย์ จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติหรือสงสัย จะส่งต่อไปให้กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติเบื้องต้น และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต จะมีการตรวจโดยการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต

เมื่อตรวจพบความผิดปกติของระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อจะพิจารณาการรักษาโดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดฉีดเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตชนิดกินหรือชนิดพ่นหรือแบบอื่นๆ ตามที่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์หรือทางสื่ออื่นๆ ทั้งนี้โรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่แสดงให้เห็นเฉพาะทางด้านร่างกาย คือ เด็กตัวเตี้ย และด้านจิตใจคือ มีปมด้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบร่างกายอื่นๆ ด้วย"

หากสงสัยว่าบุตรหลานจะเป็นโรคเด็กเตี้ยผิดปกติ หรือภาวะขาดฮอร์โมนเติบโต ควรไปพบกุมารแพทย์ ดีกว่าเสียเงินให้กับคำโฆษณาชวนเชื่อว่ามีตัวช่วยที่จะเพิ่มความสูงได้จากสื่อที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่เพียงแค่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215