ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 10:33 น. 31 ส.ค 60

ทีมงานบ้านเรา

พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

[attach=1]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทางด้านการเกษตรและการชลประทาน เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และค่อนข้างอยู่ในฐานะยากจน พระองค์จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและช่วยเหลือกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรของชาติเป็นสำคัญ ราษฎรไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระเกียรติว่า "กษัตริย์เกษตร"

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรและชลประทาน เป็นพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชาติไทยและประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนไทยประมาณร้อย 80 เป็นเกษตรกร และส่วนมากก็เป็นชาวนาชาวไร่ หรือเป็นเกษตรกรที่ยากจน ปัญหาด้านความเดือดร้อนของราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศ จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรกรรมในทุกแขนงอย่างจริงจัง มาใช้กับกิจกรรมด้านการเกษตรและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างถูกต้องสมบูรณ์และครบวงจรทุกขั้นทุกตอน

[attach=2]

ปัญหาของราษฎรในด้านการเกษตร
ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีชื่อเสียงในด้านเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ดังคำว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมาแล้วในอดีต ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่เป็นเกษตรกรรมที่มีปัญหาหลายประการ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ นา ไร่ สวน สภาพที่ดินทำกิน การผลิตและด้านอื่น ๆ ในการทำเกษตรเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการเกษตรมากเป็นพิเศษ ทรงหาแนวต่าง ๆ ในการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรไทยให้ดีขึ้นทุกวิถีทาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นคนยากจนและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น โดยทรงจับหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ว่า ถ้าส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีชีวิตและการเป็นอยู่ดีขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาของชาติได้มากเกินครึ่งทีเดียว

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของราษฎรจึงทรงเน้นในด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยทรงเริ่มศึกษาเรื่องพืชโดยการปลูกพืชบนดาดฟ้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมทั้งในบริเวณสวนจิตรลดา ซึ่งปัจจุบันก็ยังทรงศึกษาอยู่โดยเฉพาะเรื่องข้าว พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น นอกจากนี้ก็ได้ทรงศึกษานอกพระราชฐานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน การจัดสรรที่ดินให้ราษฎรทำกิน เช่น โครงการหนองพลับ เนื่องด้วยทรงเห็นว่าสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาต้องตกอยู่ในสภาพยากจนล้าหลังก็คือ การขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินไม่พอเพียงกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือต้องเช่านายทุนทำกิน บ้างก็ต้องกู้หนี้ยืมสินที่มีดอกเบี้ยสูงและผลผลิตไม่อำนวย ผลผลิตต่ำจนราษฎรหลายรายถึงกับมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดทั้งการขาดปัจจัยต่าง ๆ ในการผลิต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรเหล่านั้นให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคง ถ้าทำได้สำเร็จและแผ่ขยายไปทั่วประเทศแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทย มีความมั่นคงโดยส่วนรวมด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายให้ปลูกข้าวเป็นหลัก เนื่องจากข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย ส่วนพืชไร่พืชสวนอื่น ๆ นั้น เกษตรกรสามารถปลูกเอาตามความสามารถของแต่ละคน เพระถ้าส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นแล้ว เกษตรกรก็ยังคงต้องซื้อข้าวมาบริโภคก็จะทำให้ถูกเอาเปรียบได้ พร้อมกันนี้ยังทรงมีพระราชดำริส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ สุกร ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้มีอาหารประเภทโปรตีนไว้บริโภค

การพัฒนาการเกษตรครบวงจร
ในด้านการส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรโดยการพัฒนาอาชีพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงศึกษาเรื่องพืชหรือเรื่องการพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะเท่านั้น แต่ทรงศึกษาการพัฒนาเกษตรทั้งระบบที่มีความสำคัญต่อปัจจัยการผลิต เช่น น้ำ ที่ดินทำกิน การบำรุงดิน ทุน ความรู้เรื่องการเพราะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนถึงการตลาดด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาการเกษตรครบวงจร

[attach=3]

ปัจจัยประการแรก คือน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวทรงศึกษาจนมีความชำนาญเป็นพิเศษมากในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อให้เกิดผลที่รวดเร็ว และ ถึงมือราษฎรเหล่านั้น โดยเฉพาะหมู่บ้านในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

ปัจจัยประการที่สอง คือที่ดินทำกิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในพื้นที่โดยทำการศึกษาและพิจารณาปรับปรุงแก้ไขดัดแปลงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาให้ราษฎร เช่น โครงการพัฒนาที่ดินหรือจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการประกอบอาชีพที่จะมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว อาทิ โครงการหนองพลับ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

ปัจจัยประการที่สาม คือทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านรัฐบาลและเอกชนที่มาช่วยเสริมให้ราษฎรได้มีทุนกู้ยืมไปพัฒนาอาชีพของตน และขณะเดียวกันการรวมกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อให้การกู้ยืมทุนและใช้หนี้คืนเป็นไปอย่างมีระบบและระเบียบที่ดี รวมทั้งให้การยืมเงินทุนนั้นไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรเป็นสำคัญด้วย

ปัจจัยประการที่สี่ คือความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ อันเป็นเรื่องสำคัญมากอีกประการหนึ่งต่อการพัฒนาอาชีพแก่ราษฎร โดยพระองค์ทรงเน้นให้ราษฎรได้มีความรู้ความเข้าใจต่อวิธีการต่าง ๆ ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด แต่ละฤดู แต่ละภาค แต่ละจังหวัด อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการสมัยใหม่พอที่ราษฎรสามารถที่จะรับได้ และไปดำเนินการเองได้โดยมีราคาถูกเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งในระยะหลัง ๆ นี้ก็ทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งที่จะเสริมสร้างความรู้และการปฏิบัติตามกรรมวีธีแผนใหม่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎรโดยทั่วไป

ปัจจัยประการสุดท้าย คือการตลาด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสหกรณ์ หรือการรวมกลุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้ราษฎรเกิดการรวมกลุ่มเพื่อให้มีพลังต่อรองในการซื้อขายโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างในอดีตที่เคยเป็นมา ซึ่งนับว่าเป็นการจัดการในด้านการตลาดให้ประชาชนเหล่านี้สามารถนำผลิตผลของตนไปสู่ตลาดได้โดยสะดวกและได้ราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งการสหกรณ์นี้ก็ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างหลักประชาธิปไตยไปด้วยในตัว และทรงมีข้อสังเกตว่าชาวบ้านไม่ใคร่สนใจในการบัญชี จึงทรงเน้นให้มีการอบรมฝึกสอนให้ชาวบ้านทำบัญชีการลงทุนการใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนกำไร สามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับการตลาดด้วย

[attach=4]

ในหลวงกับเทคโนโลยีการเกษตร
ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่า หลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วยการแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อย อยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตรเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้นเมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้

[attach=5]

วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ มีดังนี้
1. ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์
2. การปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม คือ
     2.1 ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
     2.2 การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
     2.3 การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน
3. การปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ
     3.1 การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ
     - ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ
     - ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้
     3.2 การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้

ทฤษฎีใหม่ : การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ
ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้นได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดลพระราชหฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า
1. ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2. หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
3. การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดินเป็นอุปสรรคสำคัญ
4.หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้วเมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แต่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า

ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง "ทฤษฎีใหม่" เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขึ้น ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี แนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ให้แบ่งพื้นที่ถือครองทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ
ส่วนแรก : ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตรโดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตร ได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนที่สอง : ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น 2 ส่วนคือร้อยละ 30 ในส่วนที่หนึ่ง: ทำนาข้าวประมาณ 5 ไร่ร้อยละ 30 ในส่วนที่สองปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพของพื้นที่และภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวนโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตร นี้ต้องมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ถ้าหากแบ่ง แต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง
ส่วนที่สาม : ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่ เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ที่บัดนี้ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่าง กว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่า พระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วย พระอัจฉริภาพสูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทย อุบัติขึ้นในครั้งนี้ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุข ของชาวไทย

ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก
ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก พืชจากพระราชดำริ : กำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดิน ที่อุดมสมบูรณ์ จึงทรงศึกษาถึงศักยภาพของ "หญ้าแฝก" ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกัน การชะล้างพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน ซึ่งมีวิธีการปลูกแบบง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วยจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝก

ลักษณะของหญ้าแฝก
หญ้าแฝกมีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า Vetiver Grass มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) และหญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides Nash) เป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายสอบแหลม ยาว 35-80 ซม. มีส่วนกว้าง 5-9 มม. หญ้าแฝกจะมีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลรวดเร็ว โดยการแตกหน่อ จากลำต้นใต้ดิน ในบางโอกาสสามารถแตกแขนงและรากออกในส่วนของก้านช่อดอกได้ เมื่อหญ้าแฝกโน้มลงดินทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นกอหญ้าแฝกใหม่ได้

การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
1. การปลูกเป็นแถวตามระดับขวางความลาดชัน เพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และดักตะกอนดิน ส่วนน้ำจะไหลซึมลงไปสู่ดินชั้นล่างได้มากขึ้น เป็นการเพิ่ม ความชุ่มชื้นในดิน ส่วนรากหญ้าแฝกจะหยั่งลึกลงไปในดินอาจถึง 3 เมตร ซึ่งสามารถยึดดินป้องกันการพังทลายได้
2. การปลูกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินเป็นร่องน้ำลึก
3. การปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชัน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรั้วบริเวณคันคูขอบเขา หรือริมขั้นบันไดดินด้านนอก โดยควรปลูกเป็นแถวตามแนวขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน
4. การปลูกเพื่อการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผล ปลูกแบบวงกลมรอบไม้ผล และปลูกแบบครึ่งวงกลมหงายรับน้ำฝน
5. การปลูกเพื่อป้องกันการเสียหายของขั้นบันไดดินหรือคันคูรับน้ำรอบเขา
6. การปลูกเพื่อป้องกันตะกอนดินทับถมลงสู่คลองส่งน้ำ ระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำในไร่นาตลอดจนปลูกรอบสระ หรือปลูกเป็นแถวขนานไปกับแม่น้ำ ลำคลองเพื่อกรองตะกอนดิน
7. การปลูกเพื่อฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม
8. การปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของไหล่ถนนที่ลาดชันสูง โดยปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดดินและเบี่ยงเบนทางน้ำไหลบริเวณไหล่ทางและปลูกขวางแนวลาดเทเพื่อป้องกันการพังทลายและเลื่อนไหลของดิน
9. การปลูกในพื้นที่ดินดาน รากหญ้าแฝกสามารถหยั่งลึกลงไปในดินดาน ทำให้ดินแตกร่วนขึ้น และหน้าดินจะมีความชื้นเพิ่มขึ้น
10. การปลูกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ รากหญ้าแฝกจะเป็นกำแพงกักกั้นดินและสารพิษที่ปะปนมากับน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่างและรากยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุโลหะหนักและสารเคมีบางอย่างได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น

ประโยชน์เอนกประสงค์อื่น ๆ ของหญ้าแฝก
- ปลูกหญ้าแฝกบนคันนา เพื่อให้คันนาคงสภาพอยู่ได้นาน
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้ประโยชน์มุงหลังคา ตับหลังคาที่ทำจากหญ้าแฝกสามารถผลิตจำหน่ายได้ ส่วนรากที่มีความหอมนั้นคนไทยรุ่นเก่าเคยนำมาแขวนในตู้เสื้อผ้า ทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยไล่แมลงที่จะทำลายเสื้อผ้าได้
- หญ้าแฝกมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และแก้ไข้ได้ ส่วนรากสามารถนำมาสกัดทำน้ำมันที่มีประโยชน์และคุณค่าทางการค้าได้ เช่น ฝรั่งเศสผลิตน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก ชื่อ "Vetiver"

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด..."
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่างสังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยประเทศชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) โดยทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน


ข้อมูลโดย  http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/32149-044726
แหล่งที่มา
http://www.chaoprayanews.com/2009/02/06
http://web.ku.ac.th/king72/
http://school.obec.go.th/padad/king/
http://www.thaigoodview.com/library/
http://www.vcharkarn.com/varticle/44257
http://welovethaiking.com
http://siweb.dss.go.th
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215