ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

กวีคนสำคัญ ของสงขลา

เริ่มโดย เณรเทือง, 09:26 น. 20 ก.พ 55

เณรเทือง

กวีคนสำคัญ ของสงขลา
ชาวกิมหยงดอทคอมรู้จักกวีชาวสงขลาท่านใด+ผลงานของท่าน ช่วยนำเสนอเพื่อประกาศเกียรติคุณท่านเหล่านั้น สำหรับผมขอเสนอ
๑. พระราชรัตนดิลก (ก.ศรนรินทร์) กับผลงาน "พระมหาชนกคำฉันท์"

คนเขารูปช้าง

ขอบคุณครับ คุณ เณรเทือง ที่ได้เปิดประเด็นทำให้ผมนึกถึงอดีตอาจารย์ รร.มหาวชิราวุธสงขลาท่านหนึ่ง
ผมอยากจะขอเสนอชื่อท่านด้วยความเคารพยิ่งครับ ว่าท่านควรที่จะจารึกชื่อว่าเป็นกวีสำคัญของเมืองสงขลาครับ
ท่านเพิ่งจะได้รับรางวัลนราธิปฯ ไปเมื่อช่วงปลาย มกราคม ที่ผ่านมานี้เองครับ
ผลงานของท่าน ตัวอย่างเช่น

มหารัตนพิมพวงศ์ คำฉันท์

กาพยพากย์

สุริยการ :ธรรมนิทานจินตนาการร้อยกรอง

และยังมีอื่นๆอีกมากครับ ถ้าท่านผู้ใดสนใจเข้าไปหาใน google ได้เลยครับ

นามของท่านคือ   ชูชาติ  ชุ่มสนิท

ฅนเกาะเสือ

แหลง เรื่องกวี ผมพลันให้นึกถึง ครูอ๊อต ที่สงขลาไครเคยพบ ทันท่านบ้าง เก่งมากๆครับ เรื่อง กาพย์ กลอน
แม้ ความรู้อันน้อยนิด อาจช่วยชีวิต คนเป็น ร้อย

ป๋าไก่ สมาร์ทตี้-จี

 สำหรับผม ไอดอลของนักเขียนคำกลอนและใช้คำกลอน ผมต้องยกให้ครูเคล้า คชาฉัตร
ที่ครั้งนึงตอนเด็กๆแม้นจะเป็นความทรงจำที่ลางเลือนเนื่องจากเป็นปฐมวัยของชีวิตที่จำความ
ยังไม่ได้มากนัก แต่จำความได้ว่า ครูเคล้า คชาฉัตร จะแต่งกลอนใส่กระดาษของสมุดที่
แจกวันเด็กแล้วเมื่อแต่งเสร็จก็จะมี คนที่ชื่นชอบผลงานของท่าน ขอซื้อต่อไป ในราคา
1-2บาท ต่อหนึ่งคำกลอนในสมัยนั้น ซึ่งในภาษาที่ครูแต่งสละสลวยมากครับ



เณรเทือง

พระราชรัตนดิลก (จิตคนโธ)



ประวัติ
         
พระราชรัตนดิลก  (จิคคนโธ) นามเดิมชื่อ กลิ่น ศรนรินทร์ เป็นบุตรของนายแก้ว กับ นางฉิม ศรนรินทร์ เกิดที่บ้านหมู่ที่ ๑  ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันพุธที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มรณภาพเมื่อ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ อายุได้ ๘๙ ปี ๕ เดือน
         
พระรัตนดิลก   ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนบ้านหาดใหญ่   จบการศึกษาชั้นปีที่   ๔   เมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดคลองเรียน อำเภอหาดใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค จากสำนักเรียนสามพระยาเมื่อปี พ.ศ.  ๒๔๘๒ และได้กลับไปวัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นผู้จัดการโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน ๓๕  ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๒๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกสมานคุณ (วัดราษฎร์ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง  พ.ศ. ๒๕๒๑) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัด พ.ศ.  ๒๕๒๘ เป็นผูช่วยอธิการบดี (ฝ่ายธุรการ) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพระธรรมฑูตประจำจังหวัดสงขลา  และระหว่างปี  พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ เป็นประธานอบรมหลักสูตรครูสอนพระปริยัติธรรม  ๑๔  จังหวัดภาคใต้ ร่วมกับกรมการศาสนา และวิทยาลัยครูสงขลา (โครงการ ๕ ปี)

ผลงาน/เกียรติคุณที่ได้รับ
         
๑. ดำรงสมณศักดิ์สูงสุดเป็นพระราชาคณะชั้น "ราช" ที่ พระรัตนดิลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕
         
๒. ได้รับรางวัลวรรณกรรมร้อยกรอง จากมูลนิธิธนาคารกรุงเทพหลายเรื่อง อาทิ วิธูรบัณฑิต๙ พระเจ้าชัยทิศ (๒๕๒๑) สรภังคดาบส (๒๕๒๒) มหาชนกคำฉันท์ (๒๕๒๔) ฯลฯ
         
๓. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่ชาติ เชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ในสาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
         
๔. สถาบันราชภัฏสงขลาถวายปริญญากิตติมศักดิ์ ครุศาสตรบัณฑิต โปแกรมวิชาบริหารการศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๓๕

เณรเทือง

สมัยที่ท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระครูวินัยธร"
กวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์คนสำคัญคือ นายชิต บุรทัต ผู้มีผลงานอันโด่งดังคือ "สามัคคีเภทคำฉันท์" ยังเคยเข้านมัสการท่านเพราะศรัทธาในฝีมือการแต่งฉันท์ของท่านนะครับ
กวีชิต บุรทัต แต่งโคลงถวายท่านบทหนึ่ง ผมจำมาได้ไม่หมด ดังนี้
    พระครูวินัยธร กลิ่นผู้    พึงมนัส
ของ ชิต บุรทัต              เท่าแจ้ง

Singoraman

การจารึกและยกย่องกวีท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
โดยทางการมีการยกย่องกันมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่สมาชิกนำมาเสนอไว้
สำหรับ กวีท้องถิ่น+กวีชาวบ้านชาวสงขลา (จะเกิดที่อื่นอยู่ที่นี่นาน หรือเกิดที่นี่แต่ไปอยู่ที่อื่นนานก็แล้วแต่)
นอกจากที่กล่าวแล้วขอกล่าวถึง อีก 2-3 ท่าน เช่น
พระครูนิเทศธรรมาภรณ์ (น.อุไรกุล) วัดมัชฌิมาสสงขลา (มรณภาพแล้ว) ผลงานเด่น กลอนศัพท์ภาษาใต้ รางวัลจาก ธ.กรุงเทพฯ
ฉิ้ว ทิพย์วารี (ชาวเกาะใหญ่อยู่เกาะยอ) ยอดกวีแห่งลุ่มทะเลสาบ (เขียนกลอนหนังให้หลายคณะ)
ดอกหญ้า นางเมิน (ถวิล มณีมั่งคั่ง) ชาวสทิงหม้อ (เสียชีวิต) เจ้าของผลงานเพลง "ไม่อยากเอาเมียมาเลย" ที่เอกชัย ศรีวิชัย ขับร้อง และผลงานเพลงลูกทุ่งปักษ์ใต้ทั้งทีบันทึกเสียงแล้วและยังไม่บันทึกเสียงไม่น้อยกว่า 3000 เพลง
ผศ.จำเริญ แสงดวงแข ม.ทักษิณ
รูญ ระโนด
ดร.มาโนช ดินลานสกูล
ประมวล มณีโรจน์ กลุ่มนาคร
พนม นันทพฤกษ์ (สถาพร ศรีสัจจัง) ศิลปินแห่งชาติ
และอีกหลายท่าน
ส่วนครูอ๊อด นั้น ต้องยอมรับว่าถึงไม่ติดทำเนียบ แต่ก็ไม่ควรลืมครับ
ด้วยความเคารพ

วันชัย

   
สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺมเถร)

             สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) เป็นพระมหาเถระที่มีความสามารถ และทรงเกียรติคุณมากรูปหนึ่งของวัดโสมนัสวิหาร และในคณะสงฆ์ไทย ท่านเป็นสมเด็จพระวันรัต รูปที่ ๒ ในคณะธรรมยุต และเป็น สมเด็จพระวันรัตรูปที่ ๒๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ชาติภูมิ
             เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จับ เกิดในสกุล สุนทรมาศ บิดาชื่อ ผุด มารดา ชื่อ ร่ม เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่บ้านหมู่ ๒ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีพี่น้อง ๕ คน คือ
      ๑. นางเลื่อน ชมเชย
      ๒. นายจันทร์ สุนทรมาศ
      ๓. สมเด็จพระวันรัต
      ๔. เด็กชายจวน (ถึงแก่กรรมเมื่ออายุยังน้อย)
      ๕. นางผัด จันมา

การศึกษาเมื่อปฐมวัย
             การศึกษาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านได้เรียนได้เรียนอักษรสมัยทั้งภาษาไทย และภาษาขอมตามความนิยมในสมัยนั้นจากโยมบิดาของท่านจนพออ่านออก เขียนได้ ต่อมาก็เข้าโรงเรียนในชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนประชาบาลที่วัด เกษตรชลธีจนจบหลักสูตรบริบูรณ์

บรรพชาและอุปสมบทและการศึกษา
             เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อายุได้ ๑๗ ปี มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเข้า บรรพชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่วัดตะเครียะ เมื่อบรรพชาแล้ว ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม จนจบนักธรรมโท เมื่อจบนักธรรมโทแล้วก็ย้ายไปอยู่วัดประดู่หอม จังหวัดพัทลุง เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดศาลาหลวงล่าง จังหวัดสงขลา ได้ฉายาว่า ฐิตธมฺโม และได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้พักอยู่ที่วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี และได้ย้ายไปอยู่วัดพระยายัง และศึกษาอยู่ที่นั้นจนสอบได้ป.ธ. ๕ และนักธรรมชั้นเอก ต่อมาท่านได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับพระพุทธวิริยากร( จันทร์ จนฺทกนุโต) เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดโสมนัสวิหาร เมื่อได้มาอยู่ท่านก็ได้พากเพียรจนสามารถสอบได้ ป.ธ. ๙ ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๕

เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ของวัดโสมนัสวิหาร
             เมื่อเจ้าพระคุณสิริปัญญามุนี (เยี่ยม ตทุตฺตรสิริ) เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น สุจิตฺตมหาเถร เปรียญ ๙) ได้แต่งตั้ง พระมหาจับ ฐิตธมฺโม ป.ธ. ๙ เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส ในวันที่ ๘ กุมพาพันธ์ ๒๔๘๙ ครั้นต่อมา ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร และได้เป็นเจ้าอาวาส มาจนกระทั่งได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปีและท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้เป็นเจ้าอาวาสที่ครองวัดนี้นานที่สุดคือ เป็นระยะเวลา ๕๐ ปี

สมณศักดิ์
             เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (จับ) เป็นอุปัชฌายาจารย์ของกุลบุตรมากมาย ได้บำเพ็ญศาสนกิจประโยชน์เกื้อกูลต่อพระศาสนาและประเทศชาติเป็นอันมาก จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลปัจจุบันตามลำดับดังนี้

             ๑. พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระอมรมุนี" เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙.
             ๒. พระราชาคณะชั้นราชที่พระราชทิมนามเดิม คือ "พระอมรมุนี" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔.
             ๓. พระราชาคณะชั้นเทพที่พระราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖
             ๔. พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ "พระธรรมวราลังการ" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
             ๕. พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ "พระธรรมปัญญาจารย์" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ .
            ๖. สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ "สมเด็จพระวันรัต" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐.

ตำแหน่งหน้าที่
             สมเด็จพระวันรัต (จับ) เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาไว้มาก ในที่นี้จะนำเฉพาะที่สำคัญมากดังนี้

             ๑. เป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๙
             ๒. เป็นพระอุปัฌชาย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
             ๓. เป็นกรรมการกองตำราของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ และเป็นเลขาธิการ กองตำรามหามกุฎราชวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๔๘๓
             ๔. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นคณาจารย์ตรีทางรจนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘
             ๕. เป็นกรรมการที่ปรึกษาหนังสือธรรมจักษุ
             ๖. ไปร่วมสังคายนาพระธรรมวินัย อันเป็นฉัฏฐสังคายนา (สังคายนาครั้งที่ ๖) ในประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗
             ๗.เป็นพระวินัยธรชั้นฎีกา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
             ๘. เป็นสมาชิกสังฆสภา (เทียบได้กับ ส.ส.) พ.ศ. ๒๔๘๔
             ๙. เป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย และกรรมการสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
             ๑๐. เป็นเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุต) มาตั้งแต่ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๗
             ๑๑. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒
             ๑๒. เป็นประธานกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖
             ๑๓. เป็นกรรมการพิจารณางบประมาณสาธารณสมบัติกลาง
             ๑๔. เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดโสมนัสวิหาร
             ๑๕. เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโสมนัสวิหารมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗
             ๑๖. เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๗๘ และโดยเฉพาะเป็นกรรมการตรวจชั้น ป.ธ. ๙ มาเป็นเวลานาน
             ๑๗. รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ถวายตำแหน่งอัครบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา ชื่อว่า AGGA MAHA PANDITA BADDANTA VANARATA (อัครมหาบัณฑิตภัททันตะวันรัต) เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕

Singoraman

กวี แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เณรเทือง

นายฉิ้น อรมุต (หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ หรือ หนัง อรรถโฆษิต)



ประวัติ
         
นายฉิ้น  อรมุต เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๗๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ที่บ้านธรรมโฆษณ์ หมู่ที่ ๓ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายยก และนางแช่ม อรมุต มีพี่น้องรวม ๖ คน สมรสกับนางเหี้ยง คงสุวรรณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ มีบุตรและธิดารวม ๘ คน
ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๙) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๑๑๖ หมู่ที่ ๓ บ้านธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสทิงนคร จังหวัดสงขลา
         
นายฉิ้น  ธรรมโฆษณ์  จบการศึกษาชั้นประถมปีที่  ๔  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ จากโรงเรียน วัดธรรมโฆษณ์ สอบได้นักธรรมตรี เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๙๖ อุปสมบท ๑ พรรษา ณ วัดธรรมโฆษณ์ โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตโต) เป็นพระอุปัฌาจารย์
         
นายฉิ้นเริ่มสนใจหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังไม่จบประถมปีที่  ๔ เพราะคิดว่านายหนังนั้นเป็นผู้มีเกียรติ และสามารถฝึกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ จึงพยายามที่จะหัดเล่นโดยไม่มีครู ได้พยายามเรียนรู้ โดยการติดตามดูหนังทุกโรงทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง   ดูแล้วจำแบบอย่างที่คิดว่าดีและไม่ดีนำไปฝึกเล่นแก้ไขไปในตัวเสร็จ ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแต่งกลอนสดได้ดีและรวดเร็ว นอกจากนี้ได้เป็นศิษย์ขึ้นครูของหนังขับ บ้านดีหลวง  (ได้รับพระราชทานว่า  ขุนลอยฟ้าโพยมหน)  ทำให้หนังฉิ้นได้รับมรดกการเล่นหนังอีกหลายประการ คือความรู้ไสยศาสตร์ทั้งทางแก้และทางกั้น  ได้รับเรื่องหนังที่ครบบริบูรณ์  คือ "พรายโพยม" คำสอนเกี่ยวกับการเชิดรูป และข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องหนัง จึงทำให้มีชื่อเสียงและมีฐานะมั่นคง โดยคนทั่วไปรู้จักในนาม "หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์"

ผลงาน
         
หนังฉิ้น  อรมุต  ได้แสดงหนังตะลุงไม่น้อยกว่า ๕,๒๐๐ ครั้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสามารถเป็นเลิศในการเขียนบทหนังตะลุง    ประดิษฐ์ตัวตลกที่ใช้แสดงเองเกือบทั้งหมด เป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยมและมีทักษะในการใช้ภาษาให้เกิดสุนทรียะในการแสดง  นอกจากนี้ในการแสดงทุกครั้งยังฝากข้อคิดที่เป็นคติสอนใจ และเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้ชมอีกด้วย เคยแสดงหนังตะลุงหน้าพระที่นั่งถึง ๒ ครั้ง จนได้รับพระราชทานนามว่า "หนังอรรถโฆษิต"

เกียรติคุณที่ได้รับ
         
หนังฉิ้น  อรมุต หรือหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ จึงได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘

เณรเทือง

ประวัติ
นายสุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์

1.   ชื่อ – สกุล   นายสุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์
2.   ตำแหน่ง   ศาสตราจารย์ ระดับ 11   (ข้าราชการบำนาญ)
         และศาสตราจารย์กิตติคุณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
3.   ที่อยู่ปัจจุบัน
ถนนกาญจนวนิช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

4.   ประวัติการศึกษา
   -      ปริญญาตรีสาขา ศึกษาศาสตร์
-   ประกาศนียบัตรขั้นสูงวิชาเฉพาะ ภาษาและวรรณคดีไทย B.Ed. (Prasanmit)
-   Advance level Diploma in Thai Language and Thai Literature (Prasanmit)
5.   ประวัติการทำงาน
ปี         ตำแหน่ง         สังกัด
วันที่ 3 พ.ค. 2504   อาจารย์ประจำสถาบัน      กรมการฝึกหัดครู
วันที่ 1 มิ.ย. 2504   อาจารย์ตรี         วิทยาลัยครูสงขลา
วันที่ 4 ก.พ. 2506   อาจารย์โท         วิทยาลัยครูสงขลา
วันที่ 1 มี.ค. 2516   อาจารย์โท         วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
วันที่ 7 ธ.ค. 2517   อาจารย์เอก         วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
วันที่ 29 มิ.ย. 2517   อาจารย์เอก         วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
วันที่ 28 ต.ค. 2518   ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอก      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
วันที่ 1 ต.ค. 2519   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 6   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
วันที่ 12 ก.ค. 2522   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 7   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
วันที่ 1 ต.ค. 2522   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
   วันที่ 1 ต.ค. 2524   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 9   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
   วันที่ 8 พ.ย. 2525   ศาสตราจารย์ ระดับ 9      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
   วันที่ 1 ต.ค. 2526   ศาสตราจารย์ ระดับ 10      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
   วันที่ 21 ก.พ. 2535   ศาสตราจารย์ ระดับ 11      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
   วันที่ 30 ก.ย. 2539   เกษียณอายุราชการ
      (เป็นข้าราชการระดับ 11 คนแรกของประเทศที่รับราชการอยู่ในส่วนภูมิภาคโดยตลอด)
- 2 -

6.   การเป็นกรรมการ (พ.ศ. 2548)
-   กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สำนักนายกรัฐมนตรี)
-   กรรมการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (องคการมหาชน)
-   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยทักษิณ
-   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
-   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
-   กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
-   กรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
-   กรรมการ สวรส. สาขาภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-   กรรมการ ว.พ.ส. สาขาภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-   ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทด้านวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-   ที่ปรึกษาคณะกรรมการวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนด้านมุขปาฐะ  ขนบธรรมเนียม ประเพณีและความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
-   ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันทักษิณคดีศึกษา
-   ประธานกรรมการจัดทำแผนแม่บทวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
ฯลฯ

7.   รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
-   รางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น (พ.ศ. 2532)
-   รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. 2532)
-   รางวัลจากคณะกรรมการอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์ดีเด่นทางภาษาและวรรณกรรม (พ.ศ. 2537)
-   รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านการค้นคว้าและเผยพร่ความรู้ทางวัฒนธรรม (พ.ศ. 2537)
-   รางวัลอนุสรสงขลานครินทร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ภาคใต้ (พ.ศ. 2537)
-   รางวัลอาเซียน (ASEAN AWARD) จากกลุ่มประเทศอาเซียน ในฐานะผู้มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่นของประเทศไทย และของกลุ่มประเทศอาเซียน (พ.ศ. 2540)

- 3 -

-   รางวัลผู้มีผลงานวัฒนธรรมดีเด่น สาขาวัฒนธรรมท้องถิ่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) พ.ศ. 2541)
-   รางวัลคนดีศรีทักษิณ จากสมาคมชาวภาคใต้ในพระบรมราชูปถัมถ์  ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (พ.ศ. 2544)
-   ปรัชญาดุษฎีบัณฑิกิตติมศักดิ์ สาขาไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยทักษิณ (พ.ศ. 2544)
-   ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2545
-   ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศิลปะการวิจัยฦ) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-   ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวัฒนธรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (2547)







เณรเทือง

ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เด็กใต้ โดยเฉพาะเด็กสงขลา ต่างก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สุทธิวงศ์ด้านวิชาภาษาไทย
เพราะสมัยนั้นก็เรียนจากตำราของท่าน

vi_vs

หมี่เป็ดศิริวัต.....หาดใหญ่ ส.สู้ๆ กวีรางวัลซีไรท์ปีอะไรจำไม่ได้...แต่เค้ายังอยู่ ไปต๊ะ ส.สู้ๆ

เณรเทือง

ระดับหมี่เป็ดซีไรท์ ไม่อยู่ในความหมายกวีคนสำคัญตามหัวข้อนี้
ต้องขออภัยนะครับที่มีการพาดพิง