ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

กฟผ. ร่วมจัดงาน Future Energy Asia 2021 ชูโมเดลขับเคลื่อนประเทศ

เริ่มโดย fairya, 20:24 น. 30 ส.ค 64

fairya



วันที่ 25 สิงหาคม 2564 กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานด้านพลังงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน  "Future Energy Asia 2021" (FEA 2021) นิทรรศการและการประชุมด้านพลังงาน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้แนวคิด "ASEAN Region's Energy Transition post COVID and towards net zero" โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมบรรยายพิเศษ

แผนพลังงานลดมลพิษ
นายกุลิศ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทย 4.0 กับการฟื้นตัวกิจการพลังงานและนวัตกรรมในยุคโควิด" (Thailand 4.0 & Energy Resilience and Innovation Amidst the COVID Era) ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทิศทางนโยบายพลังงานหรือ National Energy Plan (NEP 2022) ซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


NEP 2022 นี้จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่พลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาด มีแผนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2065-2070 โดยผลักดันให้ภาคพลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการลงทุนในพลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้รองรับการกระจายศูนย์ของระบบ microgrid ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจะแก้ไขข้อจำกัดกฎการซื้อขายไฟฟ้าและข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรค

"เราจะเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคขนส่งให้ใช้พลังงานไฟฟ้า ในปี 2030 จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็นสัดส่วน 30% ซึ่งนโยบายนี้ไม่เพียงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ยังช่วยลดปัญหา pm2.5 อย่างไรก็ตาม ต้องมีการจัดการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างราบรื่น มีนโยบายที่ก่อให้เกิดการสมดุลระหว่างการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงและรถยนต์ไฟฟ้าความพยายามการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ในช่วง 2065-2070 จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การสนับสนุนด้านการเงิน และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด"

กฟผ. ดันโปรเจคพลังงานสะอาด

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การผลักดันการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนการใช้พลังงาน" (Accelerating the Integration of Renewables into the Energy Mix) ระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พลังงานหมุนเวียนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดย กฟผ. พร้อมผลักดันให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นไปอย่างคล่องตัว ส่งเสริมการเติบโตของพลังงานสีเขียว ซึ่งได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริดซึ่งผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลอยน้ำร่วมกับพลังน้ำที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ (MW) ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) มาใช้ควบคุมและบริหารจัดการ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้แก่พลังงานหมุนเวียน โดยมีแผนดำเนินการใน 9 เขื่อนของ กฟผ. ทั่วประเทศ รวม 2,725 MW ภายในปี 2580 รวมถึงโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นระบบกับเก็บพลังงานด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลมในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน โดยไฟฟ้าที่ได้จะถูกนำไปใช้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ. นครราชสีมา



ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง
นายบุญญนิตย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การเผชิญกับความท้าทายในยุคเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง ยืดหยุ่น และมีราคาที่เหมาะสม ดังนั้น กฟผ. จึงพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับพลังงานหมุนเวียน โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น สถานีส่งไฟฟ้าดิจิทัล การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีการขายไฟฟ้าในรูปแบบทวิภาคีและพหุพาคี กับ สปป. ลาว และมาเลเซีย กฟผ. มุ่งหวังที่จะสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งอนาคตเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ดังแนวคิด "EGAT for All"


สำหรับการจัดงาน  "Future Energy Asia 2021" (FEA 2021) เป็นงานนิทรรศการและการประชุมสุดที่มุ่งเน้นจุดสนใจไปที่แผนการเปลี่ยนถ่ายพลังงานของภูมิภาคในยุคหลังโควิด และการสร้างกรอบการพัฒนา หรือ Road map เพื่อมุ่งไปสู่ยุคของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero  ซึ่งผู้กำหนดนโยบายระดับกระทรวง ผู้นำด้านพลังงานของโลก ผู้พัฒนาโครงการ และผู้ลงทุน จะมาร่วมปรึกษาหารือและวางแนวทางของแผนยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาการใช้พลังงานแบบผสมผสานของภูมิภาคไปสู่เส้นทางของพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนต่อไป