ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ส่งออก ส.ค.ยังโตได้ดี บวก 8.93% แม้เจอวิกฤตโควิด-19 ส่วนทั้งปีคาดเพิ่ม 2 หลัก

เริ่มโดย Chigaru, 05:58 น. 25 ก.ย 64

Chigaru



ส่งออก ส.ค. 64 ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ทำยอดมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.93% แม้ต้องปิดโรงงานบางส่วน เจอปัญหาโลจิสติกส์ ระบุสินค้าเกษตรโตแรง 45.5% เฉพาะยางเพิ่ม 98.8% เงาะเพิ่ม 431% ทุเรียน 315% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมโต 3.3% ด้านตลาดโตหมด เว้นแค่ 3 ตลาด ส่วนยอดรวม 8 เดือนเพิ่ม 15.25% คาดทั้งปีโตเกินเป้า 4% มีลุ้นแตะ 2 หลัก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ส.ค. 2564 มีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.93% โดยถือว่าชะลอตัวลงจากเดือนก.ค. 2564 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และบางโรงงานผลิตบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และระบบโลจิสติกส์มีปัญหาติดขัดจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี ส่วนยอดรวม 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.25% ยังเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% เยอะพอสมควร ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.92% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 65.73% จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในอนาคต และยอดรวม 8 เดือนมีมูลค่า 175,554.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.97% เกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวมาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 23.6% และหากดูลึกในรายสินค้า พบว่าผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่ม 98.8% บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 84.8% บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 51.0% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.4% บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าวเพิ่ม 25.4% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอาหารสัตว์เพิ่ม 17.3% บวก 24 เดือนต่อเนื่อง

"หากดูเฉพาะสินค้าเกษตรจะบวกสูงถึง 45.5% โดยยางบวก 98.8% เกือบทำได้ 100% ผลไม้ 84.8% ดูลึกลงไป เช่น เงาะ ที่ไม่เคยหยิบมาไฮไลต์ บวก 431% ทุเรียน 315.48% ลำไย ที่เคยกังวลช่วงต้นฤดู บวก 102.67% มังคุด บวก 44.16% ข้าวที่ตัวเลข 7 เดือนไม่ดีเพราะบาทแข็ง แข่งขันเวียดนามและอินเดียไม่ได้ แต่พอบาทอ่อน เศรษฐกิจโลกดีขึ้น มีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ส่งออก ส.ค.เริ่มเป็นบวก 25.44% ดูสัญญาณถึงสิ้นปีมีแนวโน้มดี" นายจุรินทร์กล่าว

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.3% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 17.8% รถจักรยานยนต์ เพิ่ม 44.3% คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 10.5% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 35.7% เป็นต้น

ทางด้านตลาดส่งออกขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% จีน เพิ่ม 32.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 15.2% สหภาพยุโรป เพิ่ม 16.1% อินเดีย เพิ่ม 44.2% ยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ CLMV ที่ขยายตัวติดลบ

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือน ส.ค. 2564 ที่ทำให้เป็นบวกได้มาจากการแก้ไขปัญหาเชิงรุกและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อังค์ถัดประเมินว่าจะโตเร็วสุดในรอบ 50 ปี โตมากในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก หรือ PMI เกินระดับ 50 ต่อเนื่อง 14 เดือน แปลว่าพร้อมซื้อ และอย่างน้อยซื้อจากไทยด้วย และค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงหลายเดือน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยสูงขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับเอกชนผลักดันการส่งออกต่อไปเพื่อทำรายได้เข้าประเทศต่อไป โดยมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีจะทำได้เกินเป้าหมาย 4% อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นตัวเลข 2 หลักตามที่เอกชนประเมินไว้หรือไม่ ก็จะทำให้ดีที่สุด และเชื่อว่าทำได้