ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นับถอยหลังสู่ Rio+20 สิ่งแวดล้อมเลวลง-ไม่ดีขึ้น

เริ่มโดย ฅนสองเล, 14:44 น. 25 พ.ค 55

ฅนสองเล

ที่มา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

[attach=1]
ภาพจาก Mark Ralston/AFP/Getty Images
เรื่อง เสมอชน ธนพัธ

รายงานล่าสุดปี 2012 ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ชี้ว่า นับจากการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก หรือเอิร์ธซัมมิต ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล 20 ปีผ่านไป สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกไม่ดีขึ้น แถมเลวลง

ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น การอพยพเข้ามาอาศัยในเมืองของจำนวนมาก ความต้องการใช้พลังงานและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทะยานสูงขึ้นตามกัน เหล่านี้ล้วนเป็นแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน

"การประชุม Rio+20 ที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า เป็นโอกาสที่จะทำให้รับรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาว่าต้องมุ่งสู่ทิศทางที่ยั่งยืน ซึ่งตัวชี้วัดในรายงานของเราแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่การประชุมที่เมืองริโอหนที่แล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ยังคงไม่เกิดขึ้นจริง" David Nussbaum ผู้อำนวยการ WWF ประจำอังกฤษกล่าว

รายงาน Living Planet เล่มล่าสุด ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 พ.ค.) จัดทำโดย กองทุนสัตว์ป่าโลก สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) และ เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก (Global Footprint Network) ซึ่งรวบรวมข้อมูลรอยเท้านิเวศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสถานภาพของทรัพยากร เช่น น้ำ ป่าไม้ และสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากรจำนวน 2,688 ชนิด

รายงานชิ้นนี้เผยว่า ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเมื่อปี 1996 และปัจจุบันมนุษย์ใช้ทรัพยากรเกินกว่าที่โลกสนองให้ได้ 1.5 เท่า ซึ่งรายงานฉบับนี้ทำนายว่า ในปี 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า มนุษย์จะใช้ทรัพยากรเทียบเท่ากับโลก 2 ใบ หรือพูดง่ายๆ คือ 2 เท่าจากที่ควรจะเป็น

ทั้งที่เรามีอนุสัญญาและข้อตกลงเกิดขึ้นหลายฉบับนับตั้งแต่การประชุมที่เมืองริโอในปี 1992 ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงกลับยังคงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน พบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณ 2 ใน 3 เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีหลังนี้นี่เอง

ผู้อำนวยการ WWF ประจำอังกฤษ กล่าวว่า พวกเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ นั่นคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในลดก๊าซเรือนกระจก หรืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพก็กำลังกำหนดแนวทางที่จะพิทักษ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่วิถีการใช้ชีวิตของพวกเราและผลกระทบที่เกิดขึ้นมันรุนแรงและรวดเร็วมากกว่าการพยายามพิทักษ์รักษาโลกด้วยกฎหมายเหล่านี้

แม้ว่าสถานการณ์ในบางด้านของประเทศร่ำรวยจะดีขึ้น เช่นดัชนีชี้วัดด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์จากปี 1970 เพราะมีการอนุรักษ์และการป้องกันเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติมากกว่า ดัชนีดังกล่าวดิ่งลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ทั่วโลกมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดทยปกติผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะก่อรอยเท้าคาร์บอนใหญ่กว่าคนชนบท อาทิ คนปักกิ่งก่อรอยเท้าคาร์บอนมากกว่าคนจีนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการขับรถส่วนบุคคล

ความมั่นคงทางด้านน้ำก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าวิตกในหลายพื้นที่ เนื่องจากจำนวนประชากรและการทำเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวชี้วัดที่ลดลงมากที่สุดคือ สัตว์น้ำจืดในเขตร้อน พบว่าลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 1970

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ยังพอให้ความหวังอยู่บ้างคือจำนวนประชากรโลกที่คาดการณ์กันว่าจะแตะเพดานสูงสุดในศตวรรษนี้ (แม้จะครบ 7 พันล้านคนไปแล้วในปี 2011) โดยในระยะยาวมีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากรายงานของ UNEP ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรได้ลดลงจาก 1.65 เปอร์เซ็นต์ในปี 1992 เหลือ 1.2 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก guardian.co.uk