ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ตอบ

รูปแนบ: (ล้างรูป)
Restrictions: 10 per post (10 remaining), maximum total size 6.40 MB, maximum individual size 4.88 MB
เลือกที่นี่เพื่อลบไฟล์แนบของคุณ
คลิกเพื่อใส่รูปหรือลากรูปมาวางตรงนี้
ตัวเลือกเพิ่มเติม...
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวแรก:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง

สรุปหัวข้อ

กระทู้โดย ทีมงานบ้านเรา
 - 14:35 น. 12 มิ.ย 60
ที่มา สำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/south-news/scoop/57041-six-57041.html

โครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์จำนวนกว่า 14,000 จุด ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาทของ ศอ.บต.ที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เปิดประเด็นและเกาะติดมาอย่างต่อเนื่องนั้น สรุปปัญหาใหญ่ๆ ได้ 3 ปัญหาด้วยกัน


[attach=1]

          1.โคมไฟติดๆ ดับๆ แต่ส่วนใหญ่จะดับมืดไปเลย จำนวนจุดที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านและองค์กรปกครองท้องถิ่นพร้อมใจกันแฉว่ามีกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนเสาไฟที่ติดตั้งทั้งหมด แต่ ศอ.บต.อ้างว่าเสียแค่ร้อยละ 4 หรือ 531 ต้นเท่านั้น

          2.องค์กรปกครองท้องถิ่นบางแห่งแฉว่า ศอ.บต.แจ้งเอาโครงการมาลง และมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษา แต่จริงๆ ไม่มีเสาไฟมาติดตั้ง เรียกว่า "โครงการลม"

          และ 3.การจัดซื้อจัดจ้างใช้วิธีพิเศษ โดยเอกชนบางรายที่เป็นคู่สัญญา ไม่มีความชัดเจนว่ามีศักยภาพทำได้จริงหรือไม่ ขณะที่การตั้งงบซ่อมแซมกว่า 4 ล้านบาท ก็ไปจัดจ้างบริษัทที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องโซลาร์เซลล์มาก่อน โดยบริษัทแห่งนี้แจ้งที่ทำการเป็น "ที่พักอาศัย" คล้ายบริษัทห้องแถว

          ประเด็นการจัดจ้างวิธีพิเศษถือว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่าโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ มีสัญญาที่เป็นการจัดจ้างล็อตใหญ่อยู่ 6 สัญญา ปรากฏว่าเอกชนบางรายกวาดไปถึง 3 สัญญา และต้องรับติดตั้งเกือบ 10,000 จุดทั่วทั้งสามจังหวัด

          รายละเอียดที่ปรากฏเป็นเอกสารของ ศอ.บต.เอง มีดังนี้

          1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ติดตั้ง จำนวน 2,000 ชุด โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สุนทรเทคโนโลยี งบประมาณ 126 ล้านบาท สัญญาเริ่ม 26 ก.ย.2557 ถึง 24 ธ.ค.2557

          2.โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซลาร์เซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ ทั้งกุโบร์ (ของอิสลาม) สุสานจีน และฌาปนสถาน (ของพุทธ) จำนวน 3,484 ชุด โดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี งบประมาณ 219,492,000 บาท สัญญาเริ่ม 16 เม.ย.2558 ถึง 15 ก.ค.2558

          3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด โดย บริษัทแสงมิตรอิเล็คทริค จำกัด งบประมาณ 94,500,000 บาท สัญญาเริ่ม 16 เม.ย.2558 ถึง 15 ก.ค.2558

          4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดี ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด โดย หจก.เจเจออลเทคโน งบประมาณ 212 ล้านบาท สัญญาเริ่ม 3 ก.ค.2558 ถึง 8 ม.ค.2559

          5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด โดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี งบประมาณ 270 ล้านบาท สัญญาเริ่ม 5 ม.ค.2559  ถึง 4 ม.ค.2560

          6.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 1,555 ชุด จังหวัดยะลาดำเนินการโดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี จ.นราธิวาส ดำเนินการโดย หจก.เจเจออลเทคโน และ จ.ยะลา ดำเนินการโดย หจก.แกรนด์ เฟมัส งบประมาณ 89,924,500 บาท

          จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ 5 สัญญาแรก หจก.สุนทรเทคโนโลยี ได้งานไปถึง 3 สัญญา ต้องติดตั้งชุดโคมส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์รวมแล้วถึง 9,984 ชุด จากตัวเลข 14,318 ชุดตามที่เคยมีการชี้แจง งบประมาณทั้ง 3 สัญญารวมกันสูงถึง 615,492,000 บาท

          ทั้งนี้ หจก.สุนทรเทคโนโลยี จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี 2553 สถานที่ตั้ง เลขที่ 28 ซอย 1 ถนนคุปตาสา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา แจ้งประเภทธุรกิจว่า ประกอบกิจการค้าวิทยุสื่อสาร เครื่องกระจายเสียง และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

          สำหรับผลประกอบการของ หจก.สุนทรเทคโนโลยี แจ้งว่ามีกำไรตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง (ตัวเลขโดยสังเขป) โดยในปี 2553 มีกำไร 2.5 แสนบาท จากรายได้ราว 1.5 ล้านบาท ปี 2554 มีกำไร 2.2 แสนบาท จากรายได้ราว 9.6 แสนบาท ปี 2555 มีกำไร 3.1 แสนบาท จากรายได้ 2.5 ล้านบาท ปี 2556 มีกำไร 4.9 ล้านบาท จากรายได้ 52 ล้านบาท ปี 2557 มีกำไร 5.9 แสนบาท จากรายได้ 5.3 ล้านบาท และปี 2558 มีกำไร 39 ล้านบาท จากรายได้ 277 ล้านบาท

          โดยตัวเลขรายได้ 277 ล้านบาท ใกล้เคียงกับตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.

          สำหรับการจัดจ้างวิธีพิเศษ โดยไม่ต้องประกวดราคานั้น เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ ด้วยการเปิดช่องให้สามารถจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ในวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาทได้โดยอนุโลม ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัว ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมาตรการดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาจนถึงเดือน พ.ค.60 (ยังไม่ชัดว่ามีการต่ออายุมาตรการนี้หรือไม่)

          อย่างไรก็ดี ยังมีข้อกำหนดในรายละเอียดของการจ้างโดยวิธีพิเศษว่า ต้องเป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ, เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ, เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ, เป็นงานที่จำเป็นต้องจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น เร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม รวมถึงเป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี

          นอกจากนั้น ก่อนกระบวนการจัดจ้าง ต้องมีการสืบราคาอ้างอิงจากผู้มีอาชีพจำหน่ายและติดตั้ง!!!

------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณ : ภาพประกอบจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.