ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองหาดใหญ่

เริ่มโดย พี่แอ๊ด, 21:26 น. 15 ก.ค 53

superGod

กราบขอบพระคุณพี่แอ๊ด อย่างงามๆซักร้อยครั้งที่นำเรื่องสงครามโลกมาบอกกล่าวครับ
มีคำถามให้ได้เสวนากันต่อไป เช่น

นโยบายต่อชนชาติจีนของรัฐบาลญี่ปุ่น มีผลหรือไม่อย่างไรต่อชุมชนชาวจีนใน สงขลา-หาดใหญ่(เพราะท่านขุนนิพัทธ์เป็นเชื้อสายลูกหลานมังกรแน่นอน)
   

Singoraman

เมื่อครั้ง อ.เจีย แยน จอง ให้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัย
ท่านพูด "ภาษาใต้สำเนียงสงขลา" ได้น่ารักมาก
คำถามหนึ่งที่คุณสุทธิชัยถามก่อนจบรายการวันนั้น
เป็นคำถามที่ท่าตอบลำบากมาก
ถามว่า "ถ้าท่านตาย จะฝังศพที่ไหน"
อ.เจีย แยน จอง  อมยิ้มขำ ๆ แล้วบอกว่า
ท่านเป็นคนไทย ที่จีนให้ทุกอย่างแก่ท่าน ให้เกียรติ และให้อีกหลายอย่าง
จะฝังศพที่จีนก็ไม่แปลก  แต่ท่านก็รักเมืองไทย
ใจหนึ่งก็อยากไปอยู่ใกล้ศพพ่อแม่ที่สุสานบ้านพรุ
เลยได้แต่อมยิ้ม และหัวเราะด้วยความน่ารักน่านับถือ
ผมดูรายการวันนั้นแล้ว
ยังอยากดูอีกสักครั้ง ท่านยังน่ารัก อ่อนน้อมถ่อมตน
สมกับทุกสิ่งที่ท่านได้รับ
นับถือครับ

กิมหยง

หลายท่านอาจเคยดูหนังดูละคร
ที่ฝ่ายพันธมิตรทิ้งบอมลงมา
แล้วชาวบ้านจะเข้าไปในหลุมหลบภัย
ซึ่งขุดขึ้นเองข้าง ๆ บ้าน

ที่หาดใหญ่แม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น
แต่ก็มีครอบครัวหนึ่ง
ได้สร้างหลุมหลบภัย ค่อนข้างมาตรฐาน
อยู่กันได้ทั้งครอบครัวเลยทีเดียว

ท่านคิดว่าครอบครัวนั้นคือครอบครัวของใคร
และหลุมหลบภัยนั้นตั้งอยู่ที่ใด
สร้าง & ฟื้นฟู

Singoraman


กิมหยง

รอป้าแอ๊ดมาเฉลยดีกว่าครับ

ป้าแอ๊ดจะได้ เขียนข้อมูลลงไปเพิ่มเติมด้วยครับ

แต่น่าเสียดายครับ ไม่สามารถจะถ่ายรูปหลุมหลบที่ว่ามาฝากชาวกิมหยงครับ
เนื่องจากได้กลบและปลูกเป็นบ้านทับเสียแล้ว

สร้าง & ฟื้นฟู

พี่แอ๊ด

อ้างจาก: กิมหยง เมื่อ 12:08 น.  18 ก.ค 53
รอป้าแอ๊ดมาเฉลยดีกว่าครับ

ป้าแอ๊ดจะได้ เขียนข้อมูลลงไปเพิ่มเติมด้วยครับ

แต่น่าเสียดายครับ ไม่สามารถจะถ่ายรูปหลุมหลบที่ว่ามาฝากชาวกิมหยงครับ
เนื่องจากได้กลบและปลูกเป็นบ้านทับเสียแล้ว


หลุมหลบภัยในบ้านขุนนิพัทธ์ฯ   ต่อมากลบดินเป็นที่โรงจอดรถ
ไม่ได้สร้างบ้านทับแต่อย่างใด   เพราะบ้านขุนนิพัทธ์ฯ  สร้างตั้งแต่ปี
พ.ศ.2468   ก่อนสงครามโลกหลายปี

พี่แอ๊ด

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองหาดใหญ่    ทหารญี่ปุ่นมีคำสั่ง
ให้ทหารทุกคนมีระเบียบวินัย    มีเพียงเรื่องเดียวที่เป็นที่ไม่พอใจ
ของประชาชนชาวเมืองหาดใหญ่  ก็คือ  การตั้งสถานบริการ  
โดยญี่ปุ่นกวาดต้อนสาวเกาหลีมาอยู่ในตัวเมืองหาดใหญ่   และใน
การนำสาวเกาหลีเข้ามาอย่างคนเถื่อน   แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม  
สาวเกาหลีเหล่านั้นถูกทิ้งไว้ในหาดใหญ่   บางคนอยู่จนตาย   บางคน
มีครอบครัวที่นี่   บางคนได้กลับบ้านหลังสงคราม     และลูกหลาน
ญี่ปุ่นในหาดใหญ่ก็เยอะ    ลูกหลานคนอินโดนีเซีย   ที่ญี่ปุ่นต้อนมา
ก็มาก   อย่างเช่น   มีครูผู้หญิงคนหนึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนหาดใหญ่
อำนวยวิทย์    ท่านบอกว่าท่านเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก
หน้าตาผิวพรรณเหมือนญี่ปุ่นแท้ ๆ  แต่ตอนนั้นยังไม่สนใจเรื่องดังกล่าว    
เสียดายปัจจุบันไม่ทราบว่าท่านอยู่ที่ไหน  
และเมื่อสองอาทิตย์ไปงานพระราชเพลิงศพของพ่อเพื่อน   ไม่เคย
ทราบเลยว่า  ท่านเป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2  
(บ้านท่านอยู่หน้าค่ายคอหงษ์)

กิมหยง

อืมเสียดาย หลุมหลบภัยของท่านขุนนะครับ

ไม่เช่นนั้นลูกหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นการเตรียมการของผู้สร้างเมืองหาดใหญ่
สร้าง & ฟื้นฟู

gungy

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลเหตุการณ์สำคัญของเมืองหาดใหญ่

พี่แอ๊ด

               ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นตั้งฐานกองบัญชาการที่หาดใหญ่นั้น   มีนักธุรกิจบางคน
ที่เห็นผลประโยชน์ต่อการค้าขายกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับเสบียงและเครื่องใช้  จึง
ทำให้เป็นเศรษฐีสงคราม     ปัจจุบันเศรษฐีสงคราม  มีทรัพย์สินและที่ดินในเมือง
หาดใหญ่มากมาย    ที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าจนทุกวันนี้

กิมหยง

เศรษฐีสงคราม
เศรษฐีโกงที่ดินวัด

เห้อ หาดใหญ่

บางมุมในอดีตก็มีเรื่องดีดี
แต่บางมุมก็มีพวกแสวงหาผลประโยชน์มาตั้งแต่สมัยก่อน
สร้าง & ฟื้นฟู

พี่แอ๊ด

ในปี  พ.ศ.2484  สงครามโลกครั้งที่  2  อยู่ได้เพียง  4  ขวบ  ญี่ปุ่นวางระเบิดที่สงขลา
ยายเล่าให้ฟังว่า  ขณะนั้นยายพาไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลาก็อพยพหนีภัยลงทางเรือ  
ลำบากมาก  ได้กินข้าวกับเกลือ  จะหนีไปขึ้นที่ไหนก็จำไม่ได้  หรือยายไม่ได้บอกก็ไม่ทราบ  
อีกครั้งชีวิตที่ต้องหนีภัยน่ากลัวมาก  ในปี  พ.ศ. 2488  อายุเพียง 7 ขวบ  สงครามโลกครั้งที่  2  
ญี่ปุ่นเต็มเมืองหาดใหญ่ – สงขลา และ กำลังจะเลิกสงคราม เขาจะมีสัญญาณเตือนภัยเป็นหวอ  
ให้หลบภัยเดี๋ยวก็หวอ  เดี๋ยวก็หวอ  วิ่งหนีกันชุลมุนลงหลุมหลบภัยที่บ้าน ดร.ปกิต  กิระวานิช  
เพราะเป็นหลุมหลบภัยถาวรที่ก่ออิฐ – ลาดปูนเรียบร้อย  ที่บ้านมีแต่หลุมดิน
บทความในหนังสือ  ครูของครู   คือ   ครูผู้ประณีต
(อาจารย์ประณีต   สัตยารักษ์   เจ้าของโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์)

Twister

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆๆ

พี่แอ๊ด

เครื่องรีดผ้าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ไม่ใช้ไฟฟ้า

ภาคใต้โพสต์

เป็นบันทึกที่น่าอ่านมาก  O0

สงสัย

อ้างจาก: พี่แอ๊ด เมื่อ 14:41 น.  16 ก.ค 53
ข้อมูลบางส่วนของผู้เขียนบทความ  (นายยรรยง  จิระนคร)
เมื่อสงครามสิ้นสุดเมื่อวันที่  18  สิงหาคม  2553
ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา  เป็นโรงเรียนเอกชน
แห่งแรกของหาดใหญ่   (ปัจจุบันคือ  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์)   
ตอนเย็นไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษกับบาทหลวงชาวอิตาลีที่โบสถ์   
กลางคืนไปเรียนภาษาจีน
และได้เดินทางศึกษาต่อที่โรงเรียนจุงฮวาที่กรุงเทพฯ  เป็น
โรงเรียนที่อยู่ในความอุปภัมภ์ของหอการค้าไทย - จีน ได้
1 ปี  ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองกวางเจา  ประเทศจีน
ในปี  พ.ศ.2490  มีอายุ  18  ปี  ต่อมาในปี พ.ศ.2492  ได้มี
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสังคมนิยมในประเทศจีน
จึงไม่ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน   ด้วยมีภารกิจ
มากมายซึ่งรับผิดชอบอยู่ในหน่วยงานวิจัย   ที่มหาวิทยาลัยคุนหมิง
มณฑลยูนนาน   แต่ได้กลับมาในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ของขุนนิพัทธ์
ที่สนามกีฬาจิระนคร   เมื่อวันที่  1  กันยายน  2528  จึงมีโอกาส
ปลีกตัวมาร่วมงานและเยี่ยมญาติด้วย

คุณพี่แอ๊ดครับ สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่สิ้นสุดเหรอครับเนี่ย  :)
ด้วยความเคารพครับ

พี่แอ๊ด

ขอบคุณที่เข้ามาสอบถามเรื่องวันที่สิ้นสุดสงครามฯ
และได้เข้าไปแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
เป็น  "สงครามได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่  16  สิงหาคม  2488
การพิมพ์ข้อความมาก ๆ  และเร่งรีบ  โดยไม่ได้ตรวจทาน
ย่อมผิดพลาดเป็นธรรมดา   ต้องขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วย
                โดยเฉพาะหนังสือเล่มนี้ที่คัดลอกนำมาอ่านนั้น  
ต้องรีบคืนให้กับครอบครัว "จิระนคร"   ซึ่งเหลืออยู่เพียงเล่ม
เดียวเท่านั้น  เกรงว่าจะสูญหาย    

banyut


พี่แอ๊ด

ในสงครามโลกครั้งที่ 2   นายอำเภอหาดใหญ่ในขณะนั้น  คือ 
นายประเสริฐ  กาญจนดุล    ท่านดำรงตำแหน่งนายอำเภอหาดใหญ่และ
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  รวม 6 ปี    ท่านได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้
เมื่อครั้งเกิดสงครามครั้งที่ 2  ใน พ.ศ.2484   หาดใหญ่ได้รับความ
กระทบกระเทือนในเรื่องการขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภคมาก
โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน   เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ในการเดินทาง   ซึ่งตามปกติเคยใช้รถยนต์หรือรถโดยสาร   ถึงแม้ว่า
จะมีผู้พยายามค้นคว้าหาสิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่ขาดแคลน   เพื่อช่วยตัวเอง
แต่ก็ไม่ผล   โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนเรื่องน้ำมันเบนซิน   มีชาวบ้าน
หลายรายได้ทำการกลั่นน้ำมันเบนซินขึ้นใช้    วันหนึ่งผมได้รับรายงานว่า
ราษฏรตำบลหนึ่งถูกไฟลวกอาการสาหัส    จึงได้รีบเดินทางไปช่วยเหลือ
ระงับทุกข์ทันที    ปรากฏว่าราษฏรผู้นั้นได้กลั่นน้ำมันยางพาราโดยปราศจาก
ความรู้    จึงทำให้ไฟลุกขึ้นไหม้ตัวเอง   ในฐานที่เป็นนายอำเภอผู้ปกครอง
ท้องที่   ก็ได้ว่ากล่าวสั่งสอนไปตามหน้าที่    แต่ในใจนั้น รู้สึกเลื่อมใสราษฏร
ผู้นั้นมาก   ที่รู้จักคิดค้นทำน้ำมันเบนซินจากยางพารา   ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคย
มีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อนเลย

พี่แอ๊ด

ต่อนะคะ

ผมเป็นคนกรุงเทพฯ (นายประเสริฐ    กาญจนดุล   นายอำเภอหาดใหญ่)  เพิ่งรู้จัก
ต้นยางพาราเมื่อไปรับราชการทางภาคใต้ในครั้งนี้เอง   จากมูลกรณีของเรื่องนี้
ทำให้ยึดถือเป็นคติประจำใจ  ตลอดเวลาที่รับราชการว่า   ราษฏรนั้น   ถึงแม้จะได้
รับการศึกษาน้อย   แต่จะด้อยความรู้ในบางเรื่องก็หาไม่    ตั้งแต่นั้นมาเมื่อต้องการ
สาธิตเรื่องใดแก่ราษฏร   มักจะสอบถามราษฏรเสียก่อนเสมอ   เมื่อเห็นว่าราษฏร
ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง   จึงจะสาธิตให้ราษฏรดูตามหลักวิชา
                เรื่องการกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพารานี้   สนใจเป็นพิเศษ    เพราะ
ต้องการจะช่วยตนเอง    เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเบนซินของประชาชน
อยู่แล้ว     ดังนั้น  เมื่อกลับจากไปช่วยเหลือระงับทุกข์ให้ราษฏรแล้ว    จึงได้ไปหา
ท่านขุนนิพัทธ์ที่บ้าน และปรารภเรื่องนี้ให้ฟัง   กับได้บอกท่านว่าอยากให้ท่าน
ทดลองกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพาราให้ดู    เพราะเห็นว่าท่านเคยทำเหมืองแร่
มีความรู้ทางวิศวกรรม   ทั้งยังมีหม้อน้ำใหญ่   ที่มีเครื่องวัดความร้อน    อาจ
ควบคุมการกลั่นน้ำมันเบนซินให้อย่างปลอดภัยได้    ท่านขุนนิพัทธ์ฯ  ก็ยินดีที่จะ
ให้ความร่วมมือเราได้ปรึกษาหารือกันถึงกรรมวิธีที่จะกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพารา
ให้มีคุณภาพดีและปลอดภัย    ในที่สุดก็สามารถกลั่นได้เป็นผลสำเร็จ   มีคุณภาพ
พอใช้กับรถยนต์ทุกชนิด

SydneyChocolatier

สมัยสงคราม บ้านก๋งผมก็โดนทหารญี่ปุ่นขึ้นไปยึดอยู่กันหลายคนเหมือนกันคับ 

พี่แอ๊ด

อ้างจาก: SydneyChocolatier เมื่อ 00:12 น.  06 ส.ค 53
สมัยสงคราม บ้านก๋งผมก็โดนทหารญี่ปุ่นขึ้นไปยึดอยู่กันหลายคนเหมือนกันคับ 
ใช่บ้านที่ถนนแสงจันทร์   ใกล้โรงเรียนกิตติวิทย์ หรือเปล่าคะ
หากจำไม่ผิดครั้งหนึ่งเคยเปิดเป็นร้าน  ร่มไม้  ในเมือง   
ในอดีตเป็นลูกค้าประจำร้านนี้คะ