ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไขปริศนาภาพถ่าย"หาดใหญ่แต่แรก"ของ ดร.บอม

เริ่มโดย หม่องวิน มอไซ, 13:14 น. 19 มี.ค 53

คนเขารูปช้าง

ยอดเยี่ยมมากครับ อจ.หม่องฯ ร่วมคารวะด้วย ๑จอก รู้สึกขนลุกไปด้วยที่เปิดประเด็น "หาดใหญ่แต่แรก"ได้สวยมากครับ
รูปเก่าในหาดใหญ่ผมมีอยู่น้อยมาก แต่จะพยายามรื้อค้นมาครับ กระทู้นี้ทำให้ทราบว่าปี ๒๔๖๗ ตลาดโคกเสม็ดชุมยังไม่มีไฟฟ้าใช้ครับ
พอถึงปี ๒๔๗๒(1929) ที่ดร.บอม ท่านเข้ามามีเสาไฟฟ้าแล้ว พอถึงปี ๒๔๘๐ บริเวณในเขตรถไฟมีการปักเสาไฟซีเมนต์แล้ว
และบางเสาคล้ายทำจากรางรถไฟเก่าครับ

เรื่องป้ายภาษาจีนนี้ทำให้ผมรู้สึกเสียดายมากที่ไม่เรียนภาษาจีนไว้บ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณลุงผมท่านสอนภาษาจีนธุรกิจที่วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้

พี่แอ๊ด

ช่วยอ่านภาษาจีนที่ป้ายว่าร้านถ่ายรูปโปจิน หรือ เปาจิน หรือเปล่า

คนเขารูปช้าง

อจ.หม่องฯครับผมไปเจอ ๑ภาพที่เป็นภาพเดียวกับที่มีการเขียนบนภาพว่า "ตลาดหาดใหญ่ 2480  52ปีมาแล้ว"
ในเวป geocity.com ที่ปิดไปแล้วในเรื่องญี่ปุ่นบุกสงขลา เขาระบุในชื่อภาพว่าเป็นปี1933(๒๔๗๖) ต่างกัน ๔ ปีครับ

พี่แอ๊ด

ตื่นเต้นมากที่ได้เห็นภาพเก่าของหาดใหญ่  ขอแนบไฟล์สถานีรถไฟ พ.ศ.2467

พี่แอ๊ด

ไม่กล้าฟันธงว่า โรงแรมศรีทักษิณ  คือ  โรงแรมแหลมทอง ในปัจจุบัน

บ๋าวไช

โรงแรมแหลมทองไม่ใช่ศรีทักษิณแน่นอนครับ  ผมต้องไปยืนดูอีกสักครั้ง น่าจะเป็นแถวปากทางเล็กที่เข้าโรบินสันด้านข้างครับ  ผมทำงานใหม่ๆ ไปกินก๊วยเตี๋ยวของเฮียบูรณ์ (ชื่อไม่แน่ใจ)ตั้งอยู่ใต้ โรงแรมครับ ก๊วยเตี๋ยวแกอร่อยมาก  พอบ่ายร้านก็กลายเป็นสนามนักเล่นพระครับ  ก่อนที่จะรื้อโรงแรมนี้ แกก็เสียชีวิต  ภรรยาก็มาเปิดร้ายก๊วยเตี๋ยวนี้อีกที่ซอยหัวหอม  ข้างพลาซ่า  พอนานเข้าแกก็ย้ายไปอยู่กับลูกชาย  ถามเซียนพระเก่าๆน่าจะรู้ครับ  พิกัดตรงตามภาพ  ไม่ใช่แหลมทองแน่นอนครับ  ผมไปกินตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ ปี 31นู้น..ครับ

พี่แอ๊ด

สอบถามจากคุณพ่อซึ่งอายุ 83 ปี โรงแรมศรีทักษิณ ปิดกิจการไปนานแล้ว  ที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ของการรถไฟ   ปัจจุบันเป็นบริเวณร้านหนังสือดวงกมล  เมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มากมาย  เช่น  ขุนพระเสน่หามนตรี (ชื่น  สุคนธหงษ์)  เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 6  เป็นผู้สำรวจเส้นทางรถไฟสายใต้  ผู้บริจาคและตัดถนนในหาดใหญ่  บุตรีของท่านคือ คุณหญิงชื่นจิตรฯ 

คนเขารูปช้าง

อจ.หม่องฯ และพี่แอ็ดครับ ผมได้ไปค้นภาพเก่าหาดใหญ่เจอมาอีก ๑ ภาพ ต้นฉบับที่ผมมี อัดจาก film บนกระดาษอัดภาพขนาดใหญ่ เป็นสีซีเปีย
ผมซื้อมาจากร้านเจียฯ หาดใหญ่อัดขายครับ คำบรรยายที่เอาตั้งเป็นชื่อภาพหายไปบางส่วน ตึกเก่าซ้ายมือถ้าจำไม่ผิดเป็นธนาคารครับแต่จำไม่ได้ว่า
ธนาคารอะไร
ภาพขนาดเต็มจะส่งให้อจ.หม่องทาง hotmail จะได้ช่วยกันสืบหาในภาพต่อไปครับ

พี่แอ๊ด

หาดใหญ่มีนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ (นายไพร  พัฒโน) เป็นคนหาดใหญ่โดยกำเนิด  ศิษย์เก่าโรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์  ศิษย์เก่าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย  เป็นผู้ทราบดีว่าหาดใหญ่เป็นเมืองประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง  ย้อนกลับมาดูที่รูปภาพถ่ายจากสถานีหาดใหญ่ (ปีนั้นไม่แน่ใจว่าสร้างแล้วหรือยัง) หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  โรงแรมศรีทักษิณอยู่ขวามือ  และถนนเส้นนี้จะมีศูนย์การโอเดียนเช่าที่ดินของพระเสน่หามนตรี (ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้สำรวจเส้นทางรถไฟสายใต้)  หากมองขึ้นไปบนตึกจะเขียนว่า  อาคารพระเสน่หามนตรี ผู้ดูแลคือ คุณชูนิล  บุตรีของท่าน  และท่านมีหลานสาวคือ คุณจันทนา  ภริยาพล.อ หาญ  ลีลานนท์  และหนึ่งในจำนวนหลานมีนายวิเชียร  สุคนธหงษ์  เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

พี่แอ๊ด

ในรูปเป็นธนาคารนครหลวงไทย สาขาหาดใหญ่ ถนนเส้นนี้เป็นเส้นแรกที่พระเสน่หามนตรี ร่วมกับขุนนิพัทธ์ และชีกิมหยง ทำการตัดถนนจากหน้าสถานีรถไฟตัดตรง ผ่านที่ดินของท่าน และของขุนนิพัทธ์  (หมายเหตุ  พระเสน่หามนตรี ได้ซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง จำนวน 50 ไร่ ในราคา 200 บาท ช่วงนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งสถานีขึ้นที่บนดอยซื้อติดกับที่ดินของท่าน)  กำลังหาหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพระเสน่หาฯ จะสแกนภาพให้ดู  เคยอ่านในห้องสมุดประชาชน  เป็นหนังสือขนาดใหญ่ ไม่ใช่ขนาดเล็กเหมือนทุกวันนี้

พี่แอ๊ด

พระเสน่หามนตรี  มีบ้านในหาดใหญ่ชื่อ บ้านคุณพระ  เป็นบ้านไม้ทรงไทย เคยเป็นบ้านรับรองพระราชวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ในครั้ง ร.9 ประพาสภาคใต้ ทรงโปรดเกล้าให้พระเสน่หาฯ เข้าเฝ้า และเมื่อท่านป่วยต้นปี 2515 พระนางเจ้ารำไพพรรณี  เสด็จประทับโรงแรมสุคนธา (โรงแรมของคุณหญิงชื่นจิตร์ สุขุม ธิดาของท่าน) ทรงโปรดเสด็จเยี่ยมท่านด้วย

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณพี่แอ๊ด ท่านคนเขารูปช้าง ท่านบ๋าวไชมาก ๆ ครับที่ช่วยกันบอกเล่าประสบการณ์
ค้นคว้าหาข้อมูลมาเพิ่มเติม
เริ่มเห็นลู่ทางที่สดใสในการเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์หาดใหญ่แล้วครับ
มีข้อมูลอย่างใด ช่วยกันเพิ่มได้เลยครับ

ผมเองมีความรู้เกี่ยวกับหาดใหญ่น้อยมาก กำลังค่อย ๆ เก็บเกี่ยวความรู้อยู่ครับ  ;D
ขอบคุณ อ.Singoraman ด้วยครับที่แนะนำงานค้นคว้าของ อ.ศุภการ สิริไพศาล

พี่แอ๊ด

ผู้ที่บุกเบิกถนนในหาดใหญ่คือ ขุนนิพัทธ์ (ต้นตระกูล) จิระนคร  เจ้าของสนามกีฬากลางหาดใหญ่  ได้ซื้อที่ดินบริเวณป่าต้นเสม็ด บ้านโคกเสม็ดชุน จำนวน 50 ไร่ ด้วยเงิน 175 บาท  ต่อมาที่ดินบริเวณนี้ทางการขอซื้อต่อ  เพื่อทำเป็นสถานีรถไฟ "โคกเสม็ดชุน" หรือ สถานีรถไฟหาดใหญ่ในปัจจุบัน

พี่แอ๊ด

ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ปรับพื้นที่กว้างบริเวณนั้น สร้างห้องแถวไม้หลังคามุงจาก 5 ห้อง แบ่ง 2 ห้องแรก ให้เพื่อนเช่าทำโรงแรม ส่วน 3 ห้องที่เหลือปรับเป็นบ้านพักอาศัย  ร้านขายของชำ และโรงแรม "ซีฟัด"  (ปัจจุบันคือธนาคารนครหลวงไทย สาขาหาดใหญ่)

พี่แอ๊ด

ช่วงหลังการรถไฟฯ เสร็จ กลายเป็นศูนย์การติดต่อผู้สัญจรมากขึ้น  ขุนนิพัทธ์ได้เปิดสำนักงาน "ยี้ซุ้นซอง" และโรงแรม "กวั้นออนฝ่อ" เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น  หลังคามุงกระเบื้องแห่งแรกในหาดใหญ่  ตรงข้ามกับเรือนแถวเดิม

พี่แอ๊ด

รูปถ่ายจากร้านโปจินในมุมเดียวกันในปี 2467 และ ปี 2550

พี่แอ๊ด

ร้านถ่ายรูปโปจิน เป็นร้ายที่มีโอกาสถ่ายภาพครอบครัวและภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของขุนนิพัทธ์ (ต้นตระกูล จิระนคร) และเป็นผู้ถ่ายบันทึกภาพทัศนียภาพการก่อร่างสร้างเมืองหาดใหญ่  แต่เกิดน้ำท่วมในปลายปี 2518 ฟิล์มต้นฉบับอันล้ำค่าได้รับความเสียหายแทบทั้งหมด(จากประวัติร้านโปจิน หาดใหญ่)

หม่องวิน มอไซ

อ้างจาก: พี่แอ๊ด เมื่อ 16:31 น.  19 มี.ค 53
ช่วยอ่านภาษาจีนที่ป้ายว่าร้านถ่ายรูปโปจิน หรือ เปาจิน หรือเปล่า
ใช่แล้วครับ ด้านซ้ายมือสุดเป็นป้ายชื่อร้านโปจิน
เพิ่งทราบว่าฟิล์มร้านโปจินเสียหายไปในน้ำท่วมปี ๒๕๑๘ น่าเสียดายมากครับ

พี่แอ๊ด

จากจดหมายเหตุ ร.6  ประพาสทางรถไฟ  วันที่ 22 ก.ย.2467 ถึงสถานีหาดใหญ่  ตัวเมืองหาดใหญ่ มีรถไฟเป็นแต่ป่า จะเรียกว่าเจริญก็ไม่ถนัด เพราะมีเพียงที่พักที่ทำการของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและกรมรถไฟ กับโรงร้านตลาดบ้านเรือนเพียงหมู่เดียว ตามสองฟากที่ตัดลงจากสถานียาวแถวละ 5 ถึง 6 เส้น ส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวไม้  ส่วนโรงแรมเป็นโรงแรมเจ๊ก 2 ถึง 3 แห่ง   เป็นบ้านนอกอยู่มาก

หม่องวิน มอไซ

ถ้าอย่างนั้น ภาพนี้


อาจถ่ายเมื่อครั้งเสด็จประพาสน้ำน้อย พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็ได้นะครับ  :o

หม่องวิน มอไซ



ด้านล่างของภาพ เห็นมีเก้าอี้เสริมอยู่บนหลังคาด้วยนะครับ (นึกถึงรถสองแถวเล็กสมัยนี้เลย)
รถโดยสารแบบนี้ ของจริงคงไม่เหลือซากที่ไหนไว้ให้ศึกษาแล้วนะครับ

หม่องวิน มอไซ

อ้างจาก: คนเขารูปช้าง เมื่อ 16:31 น.  19 มี.ค 53
อจ.หม่องฯครับผมไปเจอ ๑ภาพที่เป็นภาพเดียวกับที่มีการเขียนบนภาพว่า "ตลาดหาดใหญ่ 2480  52ปีมาแล้ว"
ในเวป geocity.com ที่ปิดไปแล้วในเรื่องญี่ปุ่นบุกสงขลา เขาระบุในชื่อภาพว่าเป็นปี1933(๒๔๗๖) ต่างกัน ๔ ปีครับ
เอ...จะเชื่อถืออันไหนดีนะครับ  ::)