ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

อบต.ผนึกกำลัง29แห่งต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 17:48 น. 02 มี.ค 54

ทีมงานบ้านเรา

โดย เนชั่นทันข่าว 2 มี.ค. 2554 14:47 น.

อบต.ผนึกกำลัง 29 แห่ง ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลงพื้นที่นครศรีธรรมราชเต็มพิกัด ขีดเส้น 15 มี.ค.ยุติโครงการทั้งหมดย้ายออกจากพื้นที่ทันที ผช.ผอ.ฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อนกร้าว "ผิดตรงไหน" เมินพลังงานลม บอกไม่พอกับความต้องการมุ่งไปได้ถึงนิวเคลียร์

    เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายบุญโชค แก้วแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นับจากวันที่มีการจัดเวทีประชาคมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพื้นที่ท่าศาลาจำนวนมาก ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้น จุดยืนของผู้นำท้องถิ่นทุกระดับในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จึงจะร่วมมือกันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงเฉพาะมูลค่าจีดีพีแล้วชาวบ้านไม่มีอาหารกิน และยังทำลายวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็ถือว่าล้มเหลว

    "ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอเงินให้ อบต.ท่าขึ้น เป็นเงินกว่า 120 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพื้นที่ระหว่างที่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ แต่ผมตอบปฏิเสธ วันนี้ผมต้องขอบคุณ กฟผ.ที่จะนำโครงการเข้ามาในชุมชนของเรา เพราะถือว่าวันนี้โรงไฟฟ้าได้เป็นจุดศูนย์รวมของคนทั้งจังหวัดที่ร่วมกันไม่ เอาโรงไฟฟ้า และตอนนี้ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต.ทั้ง 29 แห่ง และอีกหลายพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้จะร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อออกข้อบัญญัติ ท้องถิ่นในการสร้างภูมิคุ้มกันของคนในชุมชนต่อการพัฒนาของรัฐต่อไป" นายบุญโชคกล่าว

    นายวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์ท่าศาลา กล่าวว่า เราจะให้เวลา กฟผ.อีก 15 วัน จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2554 หากไม่ย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่และไม่ยกเลิกโครงการ เราก็จะไม่รับรองความปลอดภัย เพราะตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่มีความไม่พอใจกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินค่อน ข้างมาก ดังนั้นหากเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนในพื้นที่ทราบแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแต่สร้างผลเสีย ให้กับคนในชุมชน

    "เราจะต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ถึงที่สุด หากวันที่ 16 มีนาคม นี้ กฟผ.ไม่ออกจากพื้นที่ก็จะเห็นดีกัน นอกจากนี้เรายังจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า โครงการของรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะการเข้ามาของโครงการใหญ่ๆ ของรัฐอย่างไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน พร้อมกันนี้จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนขอแผนพัฒนาภาคใต้ ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ว่าไม่ควรมาสร้าง เพราะเป็นการพาคนนอกที่เป็นเอเลี่ยนฉบับนายทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยผล ประโยชน์ จากทรัพยากรของชาวบ้านที่เป็นคนพื้นที่และเป็นการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของ คนภาคใต้" นายวิชาญกล่าว

    ผศ.ลัดดา เฉียมวงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การเข้ามาของโรงไฟฟ้าทำให้สังคมการศึกษาค่อนข้างตื่นตัวถึงผลกระทบ ดังนั้นหลายภาควิชาโดยเฉพาะภาควิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ได้บรรจุเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เข้ามาเป็นหนึ่งหลักสูตรในการศึกษาด้วย เพราะเราได้รับข้อมูลทางด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่ง อื่นๆ ทั่วประเทศแล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

    "ตอนนี้มีข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชปี 2551 ว่า สาเหตุการตายของคนในพื้นที่ คือ โรคเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดและโลหิตเป็นพิษ แต่ถ้าโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น คงมีโรคแปลกๆ ตามมาอีกมาก ดังนั้น พวกเราก็คงต้องตั้งรับและศึกษาเพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ในพื้นที่ให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชุมชน" ผศ.ลัดดากล่าว

    นายปิยพล บุญแก้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาค่อนข้างตื่นตัวกับการเข้ามาของโรงไฟฟ้า เพราะทุกคนต่างกลัวผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นทุกสัปดาห์นักศึกษาจึงจะออกรณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ ทราบถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นและออกมาร่วมกันกำหนดอนาคตของชุมชนร่วมกัน

    ด้านนายวิวัฒน์ ชาญเชิงพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เข้าใจว่าการที่กลุ่มเคลื่อนไหวออกมาสั่งให้ออกจากพื้นที่ยุติโครงการ ไม่ทราบว่ายุติด้วยเหตุผลอะไร ผิดตรงไหน การลงพื้นที่ของ กฟผ.ไปทำหน้าเพียงสร้างความเข้าใจ สถานการณ์ไฟฟ้าปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไรหากไม่มีไฟฟ้าเพิ่ม หากไม่เพิ่มจะเป็นอย่างไร เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ

    ต่อข้อถามถึงการขีดเส้นให้ยุติและออกจากพื้นที่ กฟผ.จะยุติโครงการหรือไม่ นายวิวัฒน์พยายามกล่าวเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ามีเหตุผลอะไรที่ไม่ให้ความรู้กับชาวบ้าน เท่ากับปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่ สิ่งที่เราทำคือการให้ความรู้เท่านั้น แต่ไม่เป็นไรเราไม่สามารถฝืนประชาชนได้ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ห้ามไม่ได้หากประชาชนไม่ต้องการ จริงๆแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนนั้นโรงแรกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 เราจึงไปทำตามนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้าใจ หากประชาชนต้องการสร้างหากไม่ต้องการจะเป็นไปตามความต้องการของประชาชน"

    ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อน กล่าวต่อว่า ในเรื่องของพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ ให้ไปดูที่ อ.หัวไทร กังหันลมหมุนมั่งไม่หมุนมั่ง ไม่หมุนแล้วจะทำอย่างไร พลังงานทดแทนจะเต็มที่ได้อย่างไรไม่พอกับความต้องการ จึงต้องมองไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ไปเลยแต่อย่างไรก็ตาม กฟผ.สนับสนุนในส่วนของพลังงานทดแทนเช่นนี้เต็มที่

    "การส่งคนไปทำงานสร้างความเข้าใจในพื้นที่นั้นเราเลือกคน แต่ถ้าทราบถึงบุคลิกว่าไม่เหมาะสมแข็งกร้าว หรือสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเราจะต้องเปลี่ยนคนอยู่แล้ว" ผช.ผอ.ฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อน กฟผ.กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศในพื้นที่นั้นยังคงเป็นไปตามปกติ เจ้าหน้าที่ กฟผ.ยังคงทำงานต่อไปตามโครงการต่างๆ เช่น การแจกจ่ายสิ่งของ เสื้อผ้า ส่วนสำนักงานที่ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายนครศรี-สุราษฎร์ หน้าปั๊ม ปตท.ท่าขึ้น ยังมีบรรยากาศที่เงียบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า ยังไม่มีการถูกร้องขอให้ส่งเจ้าหน้าที่มารักษาความปลอดภัยแต่อย่างใด
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง