ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ญี่ปุ่นบุกหาดหาดสมิหลา สงขลา

เริ่มโดย คนแต่แรกกก442, 11:01 น. 19 ธ.ค 55

คนแต่แรกกก442

เคยเห็นกันไหม

[attach=1]
เรือยกพลขึ้นบกญี่ปุ่น ด้านหลังคือ เกาะหนู ซ้อนกับเกาะแมว

[attach=2]
เรือรบขนาดใหญ่ จอดอยู่นอกชายฝั่ง

[attach=3]
เรือยกพลขึ้นบก และด้านหลังคือ แหลมเก้าเซ้ง

kris027

หาชมยากครับ ขอบคุณที่เอามาให้ชมครับ  ส.ยกน้ิวให้

แฟนเก่าชื่อส้ม

สุดยอดดดดดดไปหาจากไหนครับ
ก่อนตายคุณอยากอยู่กับใครเป็นคนสุดท้าย

นายไข่นุ้ย

DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)

เขยบ่อยาง


ซัมเบ้ Note 7 Jr.

พี่ยุ่นยกพลขึ้นบกได้ ก็เพราะขอความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในยุคนั้น

หากไม่ให้ความร่วมมือ พี่ยุ่นก็จะโจมตีประเทศเรา จอมพล ป.(นายกฯเวลานั้น)จึงจำใจอนุมัติให้พี่ยุ่นใช้ประเทศเราเป็นทางยกพลขึ้นบก เดินทัพ  ...  ในภาวะจำยอมและจำใจ เพื่อเลี่ยงการถูกพี่ยุ่นโจมตี

ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป

เณรเทือง

อ้างจาก: คนข้างมาม่า ^^ เมื่อ 11:51 น.  20 ธ.ค 55
พี่ยุ่นยกพลขึ้นบกได้ ก็เพราะขอความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในยุคนั้น

หากไม่ให้ความร่วมมือ พี่ยุ่นก็จะโจมตีประเทศเรา จอมพล ป.(นายกฯเวลานั้น)จึงจำใจอนุมัติให้พี่ยุ่นใช้ประเทศเราเป็นทางยกพลขึ้นบก เดินทัพ  ...  ในภาวะจำยอมและจำใจ เพื่อเลี่ยงการถูกพี่ยุ่นโจมตี
อืมมม...ผึ้งได้โหร่วนี้แหล๊ะ แหะๆ ล้อเล่นเผื่อนน๊า

เขยบ่อยาง

คนแก่ยุคสงครามโลกเล่าให้ฟัง...ช่วงที่ยกพลขึ้นสงขลา ญี่ปุ่นได้นำเสบียงและเครื่องมือเครื่องใช้ไปเก็บในโกดังบริเวณสวนหมาก(ข้างวิกคิงส์)ปริมาณมหาศาล โดยเกณฑ์ชาวจีนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ขนถ่าย พอสงครามสิ้นสุดลงญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องรีบยกทัพกลับ สินค้าทั้งหลายแหล่เหล่านั้นก็ตกเป็นของคนจีนเหล่านั้นโดยปริยาย
แล้วคนจีนกลุ่มนั้นก็กลายเป็นคนรวยในพริบตา ต่อยอดสร้างฐานะจนร่ำรวยสืบทอดรุ่นต่อรุ่นและมีชื่อเสียงในสงขลาจนถึงบัดนี้

TRS

ขออนุญาต เซฟรูปไว้นะครับ ส.ยกน้ิวให้

ลูกทหารผ่านศึก

พ่อเล่าให้ฟังว่า  สมัยนั้นญี่ปุ่น บุกสงขลา พ่อเราเป็นทหาร ป พัน 5  ได้ยิงกันแหละ  แม่ได้ลูกคนแรกเพิ่งคลอด ใหม่ ๆ คือพี่สาว คนโต ตอนนี้ 72 ปีแล้ว ต้องหอบลูกหนี มาตามริมทะเลสาป เดินเท้ามา  พ่อเล่าว่า เนื้อของคนที่ถูกระเบิด ถูกยิงขึ้นไปอยูบนต้นสนก็มี  ตอนนี้พ่อไม่อยู่แล้ว ไม่รู้อีถามใคร  ถามได้คือแม่ ยังมีชีวิตอยู่  เพราะฉะนั้น  เราคนรุ่นหลัง ควรสำนึก ในพระคุณเหล่าทหารให้มาก  ไม่เชื่อลองไปดูในวันทหารผ่านศึก  ทหารรุ่น ปู่ของเราเขาปลื้มในความรักชาติมาก  เราเห็นแล้วเราร้องไม่ออก .ผู้ปิดทองหลังพระ ภาครัฐ หรือเอกชน ควรให้ความสำคัญกับรั้วของชาติ  ควรจะช่วยซื้อดอกป็อบปี้  หรือช่วยขาย เพื่อได้นำเงินมาช่วยทหารที่ต้อง ขาขาดแขนขาด ตาบอด พิกลพิการ  อย่าลืมชิ  .

สมิหลา๙๒

สุดยอดมากที่ได้ภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 มาให้ชาวบ่อยางและคนทั่วไปดูกัน  หายากจริงๆและได้ศึกษาผู้ที่รู้ขอช่วยขยายความในเชิงวิชาด้วยขอบพระคณุ

คนแต่แรกกก442

ผมเจ้าของกระทู้นี้ รูปนี้ไม่ใช่รูปถ่ายนะ แต่เป็นไฟล์วิดิโอ ที่บังเอิญไปขึ้นเจอมา เป็นของจักรวรดิ์ ญี่ปุ่น ถ่ายไว้ เป็นฟิลม์เก่าหายากมาก  จึงต้องเซปเก็บไว้  ตอนนี้ทำเป็นไฟล์วิดิโอมาให้ชมกัน

เป็นคลิปที่หาดูยาก เป็นการบุกภาคพื้นมาลายา
นาทีที่ 0.16 เป็นเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น นอกชายฝัง สงขลา เมืองที่บุกคือ สงขลา ปัตานี และโกตาบารู
นาทีที่ 0.43 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ ชายหาดสมิหลา ด้านหลังคือ เกาะหนูซ้อนกับเกาะแมว
นาทีที่ 0.53 คือแหลมเก้าเส้ง
นาทีที่ 0.55 คือธงของญี่ปุ่น ที่ เอาเสาที่เขียนภาษาไทยเป็นเสาธง 
นาทีที่ 1.00 ทหารญี่ปุ่น เคลื่อนกำลัง และปืนใหญ่ ยึดสนามบินสงขลา ก่อนส่งเครื่องบินบินจากสนามบินสงขลาเพื่อไปทิ้งระเบิดในมาลายา
นาทีที่ 1.18 ทหารญี่ปุ่น ยึดรถไฟไทย และใช้เส้นทาง สงขลา-ปาดังเบซาร์ เพื่อบุกมาเลเซีย ต่อไป

http://www.youtube.com/watch?v=oPdKeDV5qyk

นี้คือเรื่องราว เครดิดจากเว๊ปอูตะเภาครับ

ปัจจุบันสงขลาเป็นจังหวัดที่สำคัญจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของไทย แต่คงจะมีนักท่องเที่ยวน้อยคน ตลอดจนชาวสงขลารุ่นใหม่อีกมากที่คงไม่ทราบว่า สงขลาครั้งหนึ่งเคยเป็นยุทธภูมิที่สำคัญและมีเกียรติประวัติทางการรบที่น่าภาคภูมิใจไม่แพ้ที่ใด และเป็นครั้งแรกหรือครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่กองทหารไทยที่มีกำลังและอาวุธอันน้อยนิดได้อาจหาญเข้าสู้รบเผชิญหน้ากับแสนยานุภาพของกองทัพพระมหาจักรพรรดิจากแดนอาทิตย์อุทัยอันเกรียงไกร ซึ่งมีกำลังพลและกำลังอาวุธทั้งทางบก เรือ และอากาศ จำนวนมหาศาลอย่างเทียบกันไม่ได้ โดยมิได้มีความพรั่นพรึงหรือเสียขวัญเลยแม้แต่น้อย มีเพียงกำลังกายและกำลังใจที่เข้มแข็งกับความมุ่งมั่นที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติและรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ของทหารไทยให้ปรากฎอยู่ชั่วนิรันดร์เท่านั้น

การรบครั้งนี้อุบัติขึ้นเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นวันเริ่มสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าประเทศไทย 8 แห่ง คือ ทางบกที่อรัญประเทศ ส่วนทางทะเลได้ยกพลขึ้นบกที่ บางปู สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ ปัตตานี ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเส้นทางตีด้านหลังของแนวป้องกันมลายู(ปัจจุบัน-มาเลเซีย) ของกองทัพสหราชอาณาจักร สถานที่เหล่านี้แต่ละแห่งมีสภาพของภูมิประเทศ เวลา สถานที่ตั้งและกำลังของกองทัพฝ่ายไทยและกำลังของฝ่ายญี่ปุ่นแตกต่างกันไป ดังนั้นแต่ละแห่งจึงมีสถานการณ์และชะตากรรมแตกต่างกันไปด้วย หนักบ้าง เบาบ้าง ตามแต่ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวว่ามาแล้ว

เหตุการณ์รบที่สงขลา มีลักษณะแตกต่างกว่าที่อื่น เป็นจุดที่ญี่ปุ่นส่งกำลังมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสถานที่ที่ขึ้นบกได้สะดวก มีหาดทรายกว้างและยาวกว่า 9 กิโลเมตร และเดินทางไปสู่รัฐไทรบุรีและปีนังได้ใกล้ที่สุด ญี่ปุ่นขึ้นบกได้ง่ายดายในยามดึก ด้วยความร่วมมือของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาประกอบอาชีพที่สงขลาก่อนหน้า แต่กองทหารไทยก็โชคดีที่ได้ทราบข่าวค่อนข้างจะทันทีและมีเวลาเตรียมตัวทัน สามารถวางกำลังตามแนวที่เกือบจะเป็นแนวเดียวกับแนวที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

สถานที่ตั้งและแนวต่อต้านก็อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีกองพันทหารราบอยู่ด้านหน้า และกองพันทหารปืนใหญ่อยู่ด้านหลังและตั้งอยู่ในที่ราบมีภูเขาล้อมเกือบรอบ บริเวณที่ตั้งคือสวนตูล มีสวนมะพร้าวหนาแน่น กำบังทั้งสายตานักบินและลูกระเบิด ปากทางเข้าค่ายก็เป็นช่องเขาระหว่างเขารูปช้างกับเขาสำโรง ทำให้แคบเหมือนคอขวด ญี่ปุ่นมีกำลังมากก็เหมือนน้อย ไม่สามารถหักหาญเข้ามาโดยง่าย ปืนใหญ่ก็มีจุดตรวจการณ์ที่เหมาะที่สุด มองเห็นได้ตลอดความยาวของชายหาดและท้องทะเลหน้าเมืองสงขลาสุดสายตา ทำให้แจ้งตำแหน่งยิงให้แก่ปืนใหญ่ได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ยังมีทหารอีกกองพันหนึ่งตั้งอยู่ที่คอหงส์ บนเส้นทางที่สามารถสกัดกั้นศัตรู ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษจากมลายูหรือญี่ปุ่นจากทะเล ทหารราบกองพันนี้ มีเวลาส่งกำลังมารอรับมือกองร้อยจักรยานของญี่ปุ่น ได้ทันทีที่แนวเขตบ้านน้ำน้อย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมอีกจุดหนึ่งบนเส้นทาง สงขลา-ไทรบุรี เพราะเป็นช่องเขาแคบ จึงสามารถดักทำลายกองทหารญี่ปุ่นได้อย่างยับเยิน

การรบที่สงขลาจึงเป็นการรบที่ค่อนข้างเป็นไปตามยุทธวิธีและแบบแผนมากที่สุด สามารถทำความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของกองทัพญี่ปุ่นหลายเท่าตัว โดยฝ่ายไทยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและสามารถทำให้กองทัพญี่ปุ่นต้องหยุดการเคลื่อนที่ถึง 7 ชั่วโมง นับเป็นการสูญเสียทางยุทธวิธีอย่างมากมาย

และนี่คือ ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นาทีต่อนาทีที่โลกไม่เคยลืมในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่ง นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้บันทึกและส่งให้กับ ผู้บัญชาการค่ายเสนาณรงค์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2541

00.00 น.-ก่อน 01.00 น. - ชาวญี่ปุ่นซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในสงขลาและหาดใหญ่ บางคนเป็นแพทย์ เป็นทันตแพทย์ เป็นช่างถ่ายรูปและอื่นๆ จำนวนประมาณ 20 คน ซึ่งได้มาร่วมชุมนุมอยู่ในงานเลี้ยงที่สถานกงศุลญี่ปุ่นในเมืองสงขลา ต่างก็โกนหัวแล้วแต่งเครื่องแบบนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเตรียมทำหน้าที่นำทาง และ เป็นล่ามให้กองทัพญี่ปุ่น
ขณะนั้นคาดว่ากองทัพญี่ปุ่น(*กองทัพที่ 25 ซึ่งมี พล.ท.ยามาชิดะ เป็นแม่ทัพ) ประกอบด้วยเรือประเภทต่างๆ จำนวนหนึ่ง ได้จอดเป็นแถวเรียงขนานชายฝั่งสงขลา ตังแต่แหลมสมิหลาถึงเก้าเส้ง แถวที่หนึ่งห่างจากชายฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นกองเรือลำเลียงประมาณ 12 ลำ แถวที่ 2 ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นกองเรือรบประเภทต่างๆ ประมาณ 10 ลำ และแถวที่ 3 ห่างออกไป เข้าใจว่าเป็นกองเรือบรรทุกเครื่องบินและขบวนเรือคุ้มกันอีกจำนวนหนึ่ง

01.00 น. - หน่วยจู่โจมญี่ปุ่น ลอบขึ้นฝั่งบริเวณแหลมสน แหลมทราย และเคลื่อนที่เข้ายึดสถานที่ราชการในจังหวัดสงขลา และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข

02.00 น. - ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสงขลา(พันเอกหลวงประหารข้าศึก) ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับการทหารทุกหน่วยในจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 14 ซึ่งมีกองบังคับการอยู่ที่ค่ายทหารสวนตูล(ปัจจุบัน คือ ค่ายพระปกเกล้า) ได้รับโทรศัพท์จากอัยการจังหวัดสงขลา(หลวงอรรถโกวิทวที) แจ้งข่าวกองเรือรบจำนวนมาก ปรากฎที่ทะเลหน้าเมืองสงขลา

02.15 น. - ผู้บังคับการฯ ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวจาก *หลวงอังคณานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา(ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัด)อีก และแจ้งว่าเป็นกองเรือรบญี่ปุ่น
ผู้บังคับการฯจึงให้ทหารในสังกัดเตรียมพร้อม ขณะนั้นกองทหารในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ 41 (ร.พัน 41- *ร.อ.โชติ โกมลวัต รักษาการ ผบ.พัน) กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 (ป.พัน 13- *พ.ต.ขุนพร พีระพาน เป็นผบ.พัน) หน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่ 18(นขต ร.18) และกองพันทหารราบที่ 5(ร.พัน 5) กองทหาร 3 หน่วยแรกตั้งอยู่ที่ค่ายสวนตูล ส่วนกองพันทหารราบที่ 5 ตั้งอยู่ที่คอหงส์ หาดใหญ่(ปัจจุบัน คือ ค่ายเสนาณรงค์) และไม่สามารถติดต่อได้ เพราะโทรศัพท์ถูกตัดสาย
อนึ่ง พันเอกหลวงประหารข้าศึก ทำหน้าที่ผู้บังคับการกรมทหารรายที่ 18 ด้วย มีกองพันทหารรายในสังกัด 3 กองพันคือ กองพันทหารราบที่ 41(สวนตูล) กองพันทหารราบที่ 42(ปัตตานี) และ กองพันทหารราบที่ 5(คอหงส์) ในขณะนั้นจึงสามารถติดต่อบัญชาการรบได้เพียงกองพันทหารราบที่ 41 แห่งเดียวเท่านั้น

02.30 น. - ผู้บัญชาการสั่งให้ทหารกองรักษาการณ์ 1 หมวด มายึดพื้นที่ที่สะพานแนวสามแยกสำโรง(ปัจจุบันสามแยกสำโรง) ต่อมาได้ให้กำลังหลักของกรมทหารราบที่ 41 กองร้อยที่ 1 มาทำหน้าที่แทน
ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 คอหงส์(พันเอกหลวงแถวเถลิงพล) ได้รับโทรศัพท์จากอัยการจังหวัดสงขลาว่า มีทหารญี่ปุ่นอยู่บนสโมสรข้าราชการ แล้วสายโทรศัพท์ก็ถูกตัดขาด ไม่สามารถติดต่อกับผู้บังคับการฯที่สวนตูลได้ จึงตัดสินใจนำกำลังพลจากคอหงส์ มาตั้งรับที่แนวเขาบ้านน้ำน้อยและยึดแนวแม่เตยเป็นที่มั่นรักษาด่าน เนื่องจากเป็นทำเลที่เป็นช่องแคบอยู่ระหว่างทางสายสงขลา-ไทรบุรี(มาเลเซีย) เหมาะกับการตั้งรับและได้ส่งนายทหารติดต่อ(ร.ต.ประนต เวชรักษ์) และพลทหาร 1 คนไปรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับการฯที่ค่ายสวนตูลทราบ

02.40 น. - กองกำลังจักรยานญี่ปุ่น ประมาณ 1 กองร้อย ได้ปะทะกับทหาร ร.พัน 5 ที่ที่มั่นรักษาด่านที่เนินแม่เตย ญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายมากเพราะอยู่ในที่โล่งแจ้ง

03.00 น. - หน่วยลาดตระเวณ ร.พัน 41 ได้ปะทะกับหน่วยลาดตระเวณของญี่ปุ่นที่เชิงสะพานสามแยกสำโรง

03.30 น.- ทหารของ ร.พัน 41 กองร้อยที่ 1 ยึดแนวถนนสายสำโรง-ทุ่งหวัง บริเวณกิโลเมตรที่ 1 ด้านขวา ส่วนกองร้อยที่ 2 พร้อมหมวดปืนกลหนักจากกองร้อยที่ 4 จำนวน 1 หมู่ เข้ายึดด้านซ้ายของถนน แนวเดียวกับกองร้อยที่ 1 ส่วนกองร้อยที่ 4 ที่เหลือ แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้เตรียมการต่อสู้เครื่องบิน ส่วนที่สองไปเสริมทางปีกซ้ายของกองร้อยที่ 2
หมวดปืนใหญ่ของทหารราบได้รับคำสั่งให้ตั้งอยู่ในจุดที่เตรียมทำลายยานหุ้มเกราะและเตรียมทำลายสะพานและทางรถไฟทางซ้ายของแนวป้องกัน
ทหารในส่วนหน้าได้ปะทะกับกองกำลังญี่ปุ่นที่เคลื่อนที่มาจากสงขลาอย่างรุนแรง ฝ่ายญี่ปุ่นมีกำลังมากกว่าและยิงมอย่างหนาแน่น มีข้าศึกบางส่วนได้เคลื่อนที่ไปทางหาดใหญ่ได้

03.30-04.00 น.- เนื่องจากแนวปะทะได้เลื่อนลงมามากกว่าที่ได้วางแผน และบริเวณทุ่งนามีน้ำท่วมนองไปหมด ปืนใหญ่วิถีราบขนาด 75 มม.ของ ป.พัน 13 กองร้อยที่ 1 และ 2 (8 กระบอก) จึงต้องตั้งยิงบนที่ดอนในบริเวณค่ายสวนตูล การเตรียมยิงจึงต้องใช้แผนที่ประกอบ และเนื่องจากมีต้นมะพร้าวกีดขวางวิถีการยิง จึงต้องโค่นมะพร้าวลงหลายสิบต้น โดยกองร้อยที่ 1 รับมอบที่หมายยิงตามชายหาด ตั้งแต่ แหลมทราย-แหลมสน-แหลมสมิหลา-แนวศาลจังหวัด ส่วนกองร้อยที่ 2 ที่หมายตั้งแต่ศาลจังหวัด-สนามบิน-เก้าเส้ง
สำหรับกองร้อยที่ 3 เนื่องจากเป็นปืนใหญ่ภูเขา แบบ 63 มม.ได้เข้าตั้งยิงบริเวณเขารูปช้าง เพื่อช่วยทหารราบโดยตรงและทำหน้าที่ต่อสู้รถถังข้าศึกด้วย
สำหรับจุดตรวจการณ์ปืนใหญ่ ผู้บังคับกองพัน ป.พัน 13(พ.ท.พร พีระพาน) ได้สั่งให้ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 (ร.ท.เดช ตุลวรรธนะ) ทำหน้าที่ผู้ตรวจการณ์และควบคุมการยิงของ ป.พัน 13 โดยให้ไปตั้งจุดตรวจการณ์บนภูเขารูปช้าง(ปัจจุบันอยู่หลังสถาบันราชภัฏและเป็นที่ตั้งของสวนสัตว์สงขลา)

04.00 น.- กำลังทหาร ร.พัน 5 ที่รักษาด่าน ถอยมาสมทบแนวที่มันใหญ่ที่เขาบ้านน้ำน้อย และต่อต้านอยู่จนเวลา 11.35 น.จึงได้รับคำสั่งให้หยุดยิง

04.00 น.-04.30 น.- จากจุดตรวจการณ์บนเขารูปช้าง เมื่อส่องกล้องมองเห็นภูมิประเทศทั่วเมืองสงขลา โดยเฉพาะชายทะเลตั้งแต่แหลมสมิหลา-สนามบินและเก้าเส้ง ชัดเจน พระจันทร์ทอแสงสว่างนวลในระยะสูงมีเมฆค่อนข้างมาก แต่เห็นเครื่องบินจำนวนมากบินไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระลอก

04.30 น.- เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่น 2 ฝูง จำนวน 20 เครื่อง บินเข้าฝั่งและหายไปทางทิศตะวันตก

05.00 น.- ทัศนวิสัยดีขึ้นมาก เห็นเรือสินค้าขนาดใหญ่หลายหมื่นตันสูงใหญ่ทาสีเทา มีปันจั่นยกของหน้า-หลัง ลำละ 8 ชุด จำนวน 12 ลำและกำลังลำเลียงเรือท้องแบนลงน้ำ ไกลออกไปเห็นเรือรบขนาดต่างๆ กว่า 10 ลำ และ ไกลออกไปอีก ยังมีเรือรบขนาดใหญ่มากกว่าอีกหลายลำจอดเรียงราย
05.42 น.- กระสุนปืนใหญ่ชุดแรกของป.พัน 13 ตกถูกเรือท้องแบนในทะเล ต่อมายิงให้ตกอยู่แนวฝั่งทั้ง 8 กระบอก เพราะเห็นทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่บนชายหาด ตังแต่บริเวณสนามบินสงขลา-เก้าเส้ง

07.30 น.- ข้าศึกโอบปีกซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งยิงของปืนใหญ่ ทหารราบต้องส่งกำลังสำรองของกองพัน 13 กองร้อยที่ 1 ไปช่วย 1 หมวด จุดตรวจการณ์ถูกปืนเรือยิง 12 นัด หินก้อนใหญ่ที่เป็นกำบังหายไปทั้งก้อน ทำให้เกิดที่ราบเตียนขนาดสนามเทนนิสแทนที่ ทหารทุกคนปลอดภัยเพราะย้ายจุดตรวจการณืไปก่อนหน้านิดเดียว

07.55 น.- ปืนเรือญี่ปุ่น ยิงที่ตั้ง ร.พัน 5 ที่บ้านน้ำน้อย เพื่อสนับสนุนทหารราบ

08.00 น.- ปืนเรือยิงค่ายทหารสวนตูล แต่เป็นกระสุนวิถีราบจึงข้ามที่หมายไปหมด ปืนใหญ่ญี่ปุ่น 1 กองร้อย ตั้งยิงที่ขอบสนามบินสงขลา ยิงมายังแนวหน้าของฝ่ายไทยที่สำโรง เครื่องบินยิงปืนกลที่จุดตรวจการณ์เขารูปช้างเป็นระยะๆ

08.25 น.- ปืนใหญ่ ป.พัน 12 หยุดยิงชั่วคราว เพราะจุดตรวจการณ์ไม่สะดวกต้องย้ายจุดตรวจการณ์อีก ทหาร ร.พัน 41 ยังคงปะทะกับทหารญี่ปุ่นที่สามแยกสำโรงอย่างหนักและไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้ แต่ทำให้กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนที่ไปหาดใหญ่ได้ยาก

08.45 น.- เครื่องบินญี่ปุ่นร่อนลงจอดที่สนามบินสงขลา

09.00 น.- จุดตรวจการณ์วางสายโทรศัพท์ใหม่เสร็จ ปืนใหญ่ ร.พัน 13 เริ่มทำการยิงได้อีก เครื่องบินญี่ปุ่น 6 เครื่องทิ้งระเบิดในค่ายทหารสวนตูล เพื่อทำลายที่ตั้งปืนใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสวนมะพร้าวกำบังอย่างดี

09.10 น.- กองกำลังญี่ปุ่น 1 กองพันลำเลียงขึ้นรถไฟตรงโค้งสนามบินกับมีรถยนต์ประจำทางของคนไทย ซึ่งถูกข้าศึกยึดมาขนทหารจอดอยู่มากมาย ในสนามบินก็มีทหารญี่ปุ่นทำงานกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไปเหมือนมด ป.พัน 13 จึงยิงเข้าไปในสนามบินเมื่อกระสุนตกเห็นฝูงทหารญี่ปุ่นกระจายแตกออกไป เมื่อควันจางเห็นเป็นที่ว่างอยู่หย่อมหนึ่งแต่ไม่ช้าทหารญี่ปุ่นก็กลับเข้ามาอีกจนเต็มตามเดิม

09.30 น.- ส่วนหน้าขอกำลังหนุน เพราะข้าศึกมีกำลังมากกว่ามาก กำลังหนุนไม่มีแต่ก็รวบรวมทหารช่วยรบในหน่วยต่างๆ ถือปืนเล็กล้วนประมาณ 50 คนขึ้นไปเสริมเตรียมอพยพยุทธสัมภาระต่างๆ เช่น น้ำมัน เสบียง เวชภัณฑ์ ไปไว้ที่บ้านทุ่งหวัง ซึ่งเตรียมเป็นที่มั่นสุดท้ายถอนกำลังปืนใหญ่กองร้อยที่ 3 ไปตั้งยิงที่หลัก ก.ม. 8.3 เพื่อคุ้มกันการถอย

11.35 น.- ได้รับคำสั่งทางวิทยุโทรเลขจากผู้บังคับบัญชา มณฑล 6 จากค่ายนครศรีธรรมราช ให้หยุดการรบและหลีกทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล

ความสูญเสีย ร.พัน 41 ตาย พลทหาร 6, บาดเจ็บ นายสิบ 3 พลทหาร 19 ร.พัน 5 ตาย นายสิบ 1, พลทหาร 4 บาดเจ็บ นายสิบ 1, พลทหาร 3ป.พัน 13 ตาย -, บาดเจ็บ -ญี่ปุ่น ตายประมาณ 200 คน บาดเจ็บไม่ทราบชัด

---------------- เอกสารประกอบการเรียบเรียง
1. ชาย ไชยกาล, พ.อ., 2498 ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น เอกสารพิมพ์เป็นอภินันทนาการในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯพลเอกหลวงเสนาณรงค์ องคมนตรี, 237 หน้า
2. เดช ตุลวรรธนะ, พ.อ., 2510 ประเทศไทยถูกทำลายความเป็นกลางที่สงขลา วารสาร มทบ.5 ปีที่ 1 เล่มที่ 3 ตุลาคม-พฤศจิกายน , หน้า 12-13
3.อำพล เสนาณรงค์, 2541, บันทึกส่วนตัวจากความทรงจำและประสบการณ์
* 50 ปีองค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, การรบที่จังหวัดสงขลา, หน้า 100

neo01

อ้างจาก: ลูกทหารผ่านศึก เมื่อ 19:43 น.  21 ธ.ค 55
พ่อเล่าให้ฟังว่า  สมัยนั้นญี่ปุ่น บุกสงขลา พ่อเราเป็นทหาร ป พัน 5  ได้ยิงกันแหละ  แม่ได้ลูกคนแรกเพิ่งคลอด ใหม่ ๆ คือพี่สาว คนโต ตอนนี้ 72 ปีแล้ว ต้องหอบลูกหนี มาตามริมทะเลสาป เดินเท้ามา  พ่อเล่าว่า เนื้อของคนที่ถูกระเบิด ถูกยิงขึ้นไปอยูบนต้นสนก็มี  ตอนนี้พ่อไม่อยู่แล้ว ไม่รู้อีถามใคร  ถามได้คือแม่ ยังมีชีวิตอยู่  เพราะฉะนั้น  เราคนรุ่นหลัง ควรสำนึก ในพระคุณเหล่าทหารให้มาก  ไม่เชื่อลองไปดูในวันทหารผ่านศึก  ทหารรุ่น ปู่ของเราเขาปลื้มในความรักชาติมาก  เราเห็นแล้วเราร้องไม่ออก .ผู้ปิดทองหลังพระ ภาครัฐ หรือเอกชน ควรให้ความสำคัญกับรั้วของชาติ  ควรจะช่วยซื้อดอกป็อบปี้  หรือช่วยขาย เพื่อได้นำเงินมาช่วยทหารที่ต้อง ขาขาดแขนขาด ตาบอด พิกลพิการ  อย่าลืมชิ  .
ส.ยกน้ิวให้ ส.ยกน้ิวให้
"หน้าตาดี" ไม่ใช่ประเด็นหลักในการคบหา เพราะถ้า สวย หล่อ แร้ว"สันดานหมา"ก้อไม่รู้จะคบไป"ทำ....."อะไร

หนุ่มหาดใหญ่

อ้างจาก: คนแต่แรกกก442 เมื่อ 03:43 น.  22 ธ.ค 55
ผมเจ้าของกระทู้นี้ รูปนี้ไม่ใช่รูปถ่ายนะ แต่เป็นไฟล์วิดิโอ ที่บังเอิญไปขึ้นเจอมา เป็นของจักรวรดิ์ ญี่ปุ่น ถ่ายไว้ เป็นฟิลม์เก่าหายากมาก  จึงต้องเซปเก็บไว้  ตอนนี้ทำเป็นไฟล์วิดิโอมาให้ชมกัน

เป็นคลิปที่หาดูยาก เป็นการบุกภาคพื้นมาลายา............

เป็นคลิปที่หาดูยากมาก มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง
ขอบคุณมากๆ และขอบคุณเจ้าของคลิปด้วย ส.ยกน้ิวให้

Singoraman

เป็นคลิปที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลามากครับ
ขอบคุณที่แบ่งปัน
อ.หม่อง ช่วยแปลภาษาญี่ปุ่นให้หน่อยครับว่าเขาบรรยายว่าไงมั่ง?

เรื่องมันเศร้า

พ่อผมเป็นคนอินโดนีเซียโดนไอ้พวกทหารญี่ปุ่นจับตัวมาทำสงครามในครั้งนี้ด้วย พวกมันจับเอาชาวอินโดมาใช้แรงงานทำถนนทำทางรถไฟและทำสงครามอย่างทารุณมาก พ่อเล่าให้ฟังว่าในตอนขณะที่พ่อกำลังขี่เรืออยู่กับเพื่อนๆอีกหลายๆคนแล้วมีเพื่อนคนหนึ่งเกิดไม่สบายไอ้พวกทหารญี่ปุ่นมันจะยิงทิ้งทะเลไปเลย และเหตุการณ์อีกหลายๆอย่างที่พ่อเล่าให้ฟัง แต่สุดท้ายพวกมันก็ต้องแพ้สงครามและยังมีชาวอินโดอีกหลายๆคนรวมทั้งพ่อผมด้วยก็โดนพวกมันทิ้งเอาไว้ที่เมืองไทยไม่ได้กลับบ้านอีกเลยจนกระทั่งพ่อผมได้มาแต่งงานอยู่เมืองไทยและมีผมออกมานั่งอยู่ตรงนี้ได้ แต่.....ตอนนี้พ่อผมก็ได้จากผมไปแล้วเมื่อ มกราคม 2547

วัวชน ส.ว.

เมื่อวานไปงานศพกับน้าที่วัดบ่อปราบเล่าให้ฟังว่าเมื่อเกิดสงครามโลกคนจากสงขลาไปอยู่ที่วัดธรรมโฆษมากในศาลาวัดเต็มไปหมด         มีเครื่องบินญี่ปุ่่นโดนยิืงตกปักหัวอยู่ด้วย น้าบอกขนมถ้วยขายดีมาก

yaicreative

ก๋งของผมเป็นคนจีนเวียดนามอบพยบมาทางเรือสำเภาขึ้นฝั่งอยู่สงขลาตั้งแต่เด็กๆ ก่อนสงคราม แกเล่าให้ฟังว่าตั้ง แกอยู่ในเหตการณ์ตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่ง แกเป็นเด็กคนนึงที่หาบถั่วไปขาย ให้กับทหารญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่มีเงินให้ ใช้การแลกเปลี่ยนกับสิ่งของ เอาถั่วแลก ผ้า, ดาบซามูไร. กล้องส่องทางไหล อีกหลายอย่าง แต่ก๋งจำไม่ค่อยได้ แกยังบอกอีกว่า ตอนนั้นแกพูดภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อาวุธ สิ่งของในค่ายทหารท่ตั้งอยู่บริเวณแหลมสน ของพวกนั้นได้เอาไปทิ้งที่บริเวณหน้าเกาะหนู ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นบางส่วนจะคว้านท้องตัวเองตายเพราะแพ้สงคราม(วิธีนี้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ก๋งบอกมา แต่ผมจำไม่ได้)

คนเขารูปช้าง

ต้องขอบคุณ คุณคนแต่แรกกก442 เป็นอย่างสูงครับ
ที่ได้นำภาพอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลามาแบ่งปันกัน

ผมนึกได้ว่ามีภาพตอนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เซฟไว้จากเว็บจีโอซิตี้แต่รู้สึกตอนนี้ไม่มีแล้วมาให้ชมกันบ้าง
ภาพแรกเรือยกพลขึ้นบกมีขึ้นทางด้านทะเลสาบสงขลาด้วยครับ
จะเห็นมีชาวบ้านในเรือคล้ายเรือหาวยาวด้วย
ภาพที่สองเป็นมุมมองที่ผมคิดว่าผู้ถ่ายภาพแรกได้มองครับ

คนเขารูปช้าง

ภาพ๓ ถ่ายจากบนบกบนแหลมสนอ่อน ฉากหลังเป็นทิวเขาแดง
ปัจจุบันได้กลายเป็นท่าเรือน้ำลึกสงขลาไปแล้ว

ตามด้วยภาพ ๔ เป็นภาพที่ผมคิดว่าเป็นมุมมองของช่างภาพกองทัพญี่ปุ่นครับ

คนเขารูปช้าง

ผมขอนำกระทู้ในกิมหยงนี้ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นบุกสงขลามาให้ชมกันนะครับ

http://gimyong.com/talung/index.php/topic,57111.0.html

http://gimyong.com/talung/index.php/topic,10105.0.html


คนเขารูปช้าง

ขอนำเรื่องที่ผมเก็บไว้จากจีโอซิตี้ฯ ฉบับเต็มมาให้ชมกันนะครับ

The Japanese Invasion of Songkhla (มีประกอยทั้งหมด13ภาพ)