ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ทำอย่างไร? เมื่อลูกซนเป็นโรค "สมาธิสั้น"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 16:40 น. 28 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ที่มาจาก มติชนออนไลน์

ความซนกับเด็กๆ มักเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ดังคำกล่าวที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ถ้าลูกรักของคุณมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง สมาธิให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ หรือซนมากผิดปกติจนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งกลุ้มว่าลูกฉันเป็นลิงกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงขอมาไขปัญหาน่าปวดหัวของคนเป็นพ่อแม่ให้ฟังกัน

โรคซนสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) นั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยเด็ก (ร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเด็กจะแสดงอาการ คือ ไม่สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิในสิ่งที่ทำ (ไม่รวมถึงการเล่นเกม หรือดูทีวี) มีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรมหรือหุนหันพลันแล่น และซนอยู่ไม่สุข  ซึ่งอาการอาจรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กบางคนอาจซน อยู่ไม่นิ่ง และไม่สามารถควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจมีอาการสมาธิสั้นเป็นปัญหาหลัก พบได้บ่อยทั้งในเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย โรคซนสมาธิสั้นพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5% ของเด็กวัยเรียนเป็นโรคนี้

อาการของเด็กแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.ขาดสมาธิ เด็กจะแสดงอาการวอกแวกง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียด หรือเลินเล่อในการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น เบื่อง่าย แม้ว่าเพิ่งเริ่มเล่นหรือทำกิจกรรมไม่กี่นาที มีปัญหาในการจดจ่อหรือจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม ไม่สามารถเล่นหรือทำการบ้านได้เสร็จ ขี้หลงขี้ลืมทำของหายบ่อยๆ ดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เหม่อ เชื่องช้า และสับสนง่าย ประมวลข้อมูลได้ช้าและไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่สามารถทำตามคำสั่งหรือแนวทางที่ให้ไว้

2.ซนอยู่ไม่สุข เด็กจะมีลักษณะยุกยิก อยู่ไม่สุข หรือบิดตัวไปมาเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่ พูดมาก พูดตลอดเวลา วิ่งไปมา เล่นหรือจับของเล่นทุกชิ้นที่เห็น เคลื่อนที่ตลอดเวลาไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ขณะกินอาหาร เรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ต้องนั่งได้ เล่นเสียงดังตลอดเวลา  หรือไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบๆ ได้

3.หุนหันพลันแล่น เด็กจะมีพฤติกรรมไม่มีความอดทน พูดโพล่งด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่ แสดงความรู้สึกโดยไม่เก็บอาการ หรือทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา รอคอยไม่เป็น ชอบแซงคิว

หากเด็กมีอาการในข้อ 1. ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะมีปัญหาสมาธิสั้น

แต่ถ้าเขามีอาการในข้อ 2.และ 3. ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะเป็นเด็กซน-หุนหันพลันแล่น

แต่ถ้ามีอาการทั้ง 3 ข้อ แสดงว่าเขาเป็นเด็กซน สมาธิสั้น

โดยเด็กต้องแสดงอาการก่อนอายุ 7 ปี มีอาการทั้งที่บ้านและโรงเรียน รวมทั้งอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม การเรียน หรืออาชีพการงานซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้น

จากผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมองโดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใด คนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการ หรือความผิดปกติดีขึ้น หรือแย่ลง มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคซนสมาธิสั้นสูงขึ้น

การวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาล หรือช็อกโกแลตมากเกินไป การขาดวิตามิน โรคภูมิแพ้ การดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมมากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซนสมาธิสั้น เพราะในขณะที่เด็กดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวี หรือ วีดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2-3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือ หรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นจะขาดสมาธิด้านนี้

ทั้งนี้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคซนสมาธิสั้น โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลักในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือเอ็กซเรย์สมองที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจสายตา (vision test) การตรวจการได้ยิน (Hearing test) การตรวจคลื่นสมอง (EEG) การตรวจเชาวน์ปัญญา และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง (Learning Disorder) ออกจากโรคซนสมาธิสั้น

นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการ หรือพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นหรือผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องนั้นปัจจุบันนั้น วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดี คือ การให้ยาเพิ่มสมาธิ ร่วมกับการฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยและผู้ดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วย และผู้ปกครองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การรักษาเด็กซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน
1.การรักษาด้วยยา
2.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็ก และครอบครัว
3.การช่วยเหลือทางด้านการเรียน

การรักษาด้วยยา ยาเพิ่มสมาธิ ปัจจุบันมีการนำยามาใช้เพื่อเพิ่มสมาธิหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่
1.ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้น (psychostimulant medications) ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นถือเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีสำหรับโรคสมาธิสั้น ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง อีกทั้งมีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะช่วยให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น และยังช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้นอีกด้วย รายงานทางการแพทย์ล่าสุดพบว่าการรักษาเด็กสมาธิสั้นด้วยยาในกลุ่มนี้ได้ผลดีถึงร้อยละ 70-90
- Methylphenidate (Ritalin, Metadate, Concerta)
- Amphetamine (Dexedrine, Dextrostat, Adderall)

2.ยาใหม่ในกลุ่มที่ไม่กระตุ้น (non-stimulant) ยาในกลุ่มนี้เรียกว่า "non-stimulant" หมายถึงไม่กระตุ้นสมอง และระบบประสาท แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปถึงกลไกการออกฤทธิ์แล้วกลับไม่พบความแตกต่างกับยาในกลุ่มแรก Atomoxetine (Strattera) เป็นยาที่ได้รับการวิจัยอย่างมากที่สุดในปัจจุบัน และใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ในแง่ผลข้างเคียงของยานี้ถือว่าน้อยมาก และพบว่าเมื่อใช้ยานี้ร่วมกับการบำบัดทางด้านพฤติกรรมแล้ว จะช่วยให้เด็กเคารพกฎเกณฑ์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพ่อแม่ และบุคคลรอบข้าง

3.ยาออกฤทธิ์ต้านเศร้า (antidepressant) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง รู้จักกันในชื่อของ antidepressant medications ยาในกลุ่ม tricyclic antidepressants (TCA) ที่นำมาใช้รักษา ได้แก่ imipramine, desipramine, nortripyline งานวิจัยพบว่า bupropion (Wellbutrin) ช่วยลดอาการซน และขาดความสามารถในการควบคุมตัวเองได้มาก และยังช่วยเพิ่มสมาธิในกรณีที่เด็กขาดสมาธิ เช่น ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น ไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย วอกแวกง่าย ทำของใช้ส่วนตัวหายบ่อยๆ ขี้ลืมบ่อยๆ และมักไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ เด็กที่มีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า กระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน การใช้ยาออกฤทธิ์ต้านเศร้าร่วมกับกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นจะได้ผลดีกว่าการใช้ยาออกฤทธิ์กระตุ้นเพียงอย่างเดียว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็ก และครอบครัว ผู้ปกครอง และครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตี หรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรม คือ ต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชม หรือรางวัล (positive reinforcement) เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัด   สิทธิพิเศษ (negative reinforcement) เด็กซนสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดที่ตัวเด็กมี และช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัว โดยเน้นให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง ในบางราย ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียดของเด็ก

การช่วยเหลือทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น

ข้อแนะนำสำหรับครูในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น คือ จัดให้เด็กนั่งหน้าชั้น หรือใกล้ครูให้มากที่สุดในขณะสอน, จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตู หน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวก โดยสิ่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน, เขียนการบ้าน หรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ, ตรวจสมุดจดงานของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบ, อย่าสั่งงานให้เด็กทำ (ด้วยวาจา) พร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป, คิดรูปแบบวิธีเตือน หรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน โดยไม่ให้เด็กเสียหน้า, จัดให้เด็กที่อยู่ไม่สุข มีโอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ในห้อง เป็นต้น ให้คำชมเชย หรือรางวัล เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์, หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ว่ากล่าวรุนแรง หรือทำให้เด็กอับอายขายหน้า, หลีกเลี่ยงการตี หรือการลงโทษทางร่างกาย เมื่อเด็กกระทำผิด, ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด, ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างการสอน,

หากพบว่ามีวิธีการใดที่บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวควรแจ้งให้ผู้ปกครองและแพทย์ผู้ดูแลรักษาทราบ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันในการปฏิบัติต่อเด็ก ก่อให้เกิดการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30% ของเด็กซนสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากอาการซนได้ แต่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัว และเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนักก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อการงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง