ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พาไปแล..อาบน้ำคนแก่ ประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่คู่สังคมไทยปักษ์ใต้(ฉบับบ้านๆ)

เริ่มโดย กู้ภัยพเนจร, 08:59 น. 10 พ.ค 53

กู้ภัยพเนจร

  เมื่อสามวันก่อน 8 พ.ค. 2553 กู้ภัยพเนจรได้มีโอกาสหลบเรินซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ที่อำเภอรัตภูมิ และได้แวะเข้าไปเที่ยวในหม๋ง แถวๆบ้านบก.เท่ง ทองแดง (บ้านควนดินแดง ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ) ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้จัดทำพิธี "อาบน้ำคนแก่" ขึ้น เมื่อประมาณช่วงสายๆ เลยได้เก็บภาพมาให้แลกันครับ..

  บทความเรื่อง พิธีอาบน้ำคนแก่ โดย เว็บไซด์ ประเพณีไทยดอทคอม

ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เดือนเมษายน (เดือน ๕) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวันเวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม

ความสำคัญ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ แก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกูล รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ

พิธีกรรม
๑. การขอขมา
เมื่อเชิญคนแก่ทั้งหลายนั่งในโรงพิธีเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานและชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะรวมกลุ่มยืนอยู่ด้านหน้าของคนแก่ทั้งหลาย ผู้นำในพิธีนำดอกไม้และจุดธูปเทียนพนมมือ แล้วกล่าวขอขมา ทุกคนว่าตามดังนี้
"กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
๒. พิธีการอาบน้ำ
การอาบน้ำเป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่จนเปียกโชกทั้งตัว ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการอาบน้ำ มารดน้ำที่มือทั้งสองของคนแก่แทนเพราะคนแก่ที่มีอายุมาก มีลูกหลานและผู้ที่เคารพนับถือมาก พิธีการอาบน้ำต้องใช้เวลานานจึงแล้วเสร็จ คนแก่เหล่านั้นอาจรู้สึกหนาวสะท้าน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บป่วยเป็นไข้ได้
ลูกหลานจะเข้าแถวตักน้ำที่เตรียมไว้ในโอ่ง มารดที่มือหรือที่ตัวคนแก่ และมอบเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ให้คนแก่พร้อมกับขอพร คนแก่ก็จะให้พรลูกหลาน การอาบน้ำจะทำไปตามลำดับจนครบทุกคน
เมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะนำเสื้อผ้าชุดใหม่มาผลัดเปลี่ยนให้คนแก่ ทาแป้ง หวีผม แต่งตัวให้ เป็นอันเสร็จพิธีการอาบน้ำ

สาระ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่ เป็นภูมิปัญญาในการเชื่อมสายใยของครอบครัวให้สาระสำคัญหลายประการคือ
๑. เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของคน คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพ และมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดามารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓. เกิดความผูกพันในวงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น การพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้แก่คนแก่ของตระกูลที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่นของลูกหลาน
 

   


กู้ภัยพเนจร

ลูกๆหลานๆ มาพร้อมเพรียงกันที่บ้านหลังนี้ครับ

กู้ภัยพเนจร

ลูกๆหลานๆนำสำรับกับข้าว ใส่ชั้น ใส่กุบ ใส่หม้อ มาร่วมเลี้ยงพระ

กู้ภัยพเนจร

ตอนนี้ หวางพระอีมาถึง เจ้าภาพก็ขออุ่นเครื่องก่อนครับ

กู้ภัยพเนจร

ผ่านไปสักฮายนึง ถึงเวลาที่ต้องทำพิธีกันแล้ว ลูกๆหลานๆ ได้พาคนแก่ไปในปรำพิธี เพื่อเตรียมจะอาบน้ำ ..  จากนั้นลูกๆหลานๆ ตามความอาวุโส รดน้ำ ขอพร และก็อาบน้ำให้กับคนแก่ อย่างอบอุ่นและสนุกสนาน

กู้ภัยพเนจร

แลกันต่อ..

กู้ภัยพเนจร

พอสักพัก ขี้ไครพองได้ที่ ก็ลงมือถูขี้ไคร ตั้งแต่ลำตัว ลงไปจนถึงหัวแม่ตีน

กู้ภัยพเนจร

น้ำแหม็ดถุ้งพอดี.. ก็นำเสื้อ ผ้าถุง ผ้าโพ้ย มาเปลี่ยนให้ใหม่ และก็ทาแป้ง หวีผม ให้เสร็จสรรพ

กู้ภัยพเนจร

พออาบน้ำคนแก่เสร็จแล้ว ก็เข้าสู่พิธีทางศาสนาต่อไป รับศีล รับพร กรวดน้ำ ถลายเพลแด่พระภิกษุ เป็นอันเสร็จพิธี..จากนั้น ลูกๆหลานๆ ก็ร่วมรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมเพรียง..

กู้ภัยพเนจร

จบแล้ว.. ;)

ขอขอบคุณ ..  ข้อมูลเพิ่มเติมจาก เว็บไซด์ประเพณีไทยดอทคอม
            เจ้าภาพที่ให้กระผมได้พลอยกินข้าวมื้อเที่ยง
            โทรศัพท์ร้ายๆ โนเกีย 6233 ที่ได้เก็บภาพนำมาให้แลกัน
           

กิมหยง

เป็นประเพณีที่ดีงามครับ

ถือเป็นการรวมญาติ รวมวงศ์ตระกูลไปในตัวครับ
สร้าง & ฟื้นฟู

กู้ภัยพเนจร

ต่อไปพอเราแก่ให้มั่ง ไม่รู้จะมีลูกๆหลานๆมาทำให้มั่งป่าว  เหอๆ

ฅนสองเล

พึ่งเข้ามาแล แลภาพไม่อ่านเนื้อหาว่าไซ่ตาหลวงช่วย นั่งอยู่กัน ที่แท้บ้านเรานี่เอง

แบบนี้แหละคับคนบ้านบ้าน ควนควน ท่องท่อง เห็นแล้วบายใจคับ

Feriona


จูนค่ะ

ขอนำบางภาพไปใช้ในการจัดทำสื่อการเรียน การสอนนะคะ ขอบคุณค่ะ

คนเมืองสง

ตามภาษาดั้งเดิมคนสงขลาเรียกว่าการ "สระหัว" ครับ ไม่ใช่ "อาบน้ำ"

ลุงสวัสดี

ขอร่วมคิดเห็นด้วย ............
แถว ๆ นครเรียกว่า "ทำเบญจา" คืออาบน้ำดำหัวให้คนเฒ่า คนแก่ แต่ถ้าจะเอาแบบดั้งดิมก็ต้องเอาน้ำขึ้นไปไว้บนที่สูง ๆ แล้วค่อยปล่อยน้ำลงมา ต่อมาการเอาน้ำไปไว้บนที่สูงค่อนข้างลำบาก ก็เลยทำแบบเอาน้ำใส่ถังแล้วใช้ขันตักรดหัว ทุกวันนี้คำว่าเบญจานี้ไม่มีทำกันแล้ว

คนเมืองสง

อ้างจาก: ลุงสวัสดี เมื่อ 18:52 น.  23 ก.ย 58
ขอร่วมคิดเห็นด้วย ............
แถว ๆ นครเรียกว่า "ทำเบญจา" คืออาบน้ำดำหัวให้คนเฒ่า คนแก่ แต่ถ้าจะเอาแบบดั้งดิมก็ต้องเอาน้ำขึ้นไปไว้บนที่สูง ๆ แล้วค่อยปล่อยน้ำลงมา ต่อมาการเอาน้ำไปไว้บนที่สูงค่อนข้างลำบาก ก็เลยทำแบบเอาน้ำใส่ถังแล้วใช้ขันตักรดหัว ทุกวันนี้คำว่าเบญจานี้ไม่มีทำกันแล้ว
ทำเบญจา สงขลาก็เรียกครับ แต่จะใช้กับพระชั้นผู้ใหญ่ ผมมีหลักฐานยืนยัน
http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=eonweerapong&topic=6047&page=2

ลุงสวัสดี


Gabit