ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ย้อนอดีตเที่ยว“คลองจะทิ้งหม้อ”

เริ่มโดย ฅนสองเล, 13:49 น. 17 เม.ย 57

ฅนสองเล

ย้อนอดีตเที่ยว"คลองจะทิ้งหม้อ"
เกษม ลิมะพันธุ์/บันทึก/ภาพ www.facebook.com/kasemnews

"คลองสทิงหม้อ" หรือ "คลองจะทิ้งหม้อ" จะเรียกอย่างไรก็เป็นคลองเดียวกัน เป็นคลองที่มีอยู่ตามธรรมชาติของภูมิประเทศ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นลำน้ำอยู่ตอนกลางพื้นที่ตามแนวยาวของลักษณะภูมิภาคคาบสมุทรสทิงพระ ต้นน้ำอยู่ระหว่างบ้านป่าขวาง ม.7 ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา กับ บ้านปะโอ ม.1 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดรวมของลุ่มน้ำจากทุ่งสทิงพระ-สิงหนครตอนล่าง

"คลองสทิงหม้อ" ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ที่ปากบางจะทิ้ง ม.4 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร กว้าง 40-60 เมตร ยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ไหลผ่านเขตพื้นที่ 5 ตำบล คือ ต.ม่วงงาม ต.รำแดง ต.วัดขนุน ต.ทำนบ และ ต.สทิงหม้อ

ตามภูมินามและร่องรอยประวัติศาสตร์ สทิงหม้อกับสทิงพระมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของชุมชนหรือภูมิประเทศที่เอื้อต่อกัน มีความพ้องกันในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสิ่งใด นั่นเป็นเพราะยังสรุปความหมายที่แท้จริงของคำว่า"จะทิ้ง" ที่คนในคาบสมุทรสทิงพระเรียกด้วยสำเนียงดั้งเดิมว่า ถิ่ง ได้ไม่แน่ชัด

แต่อย่างไรก็ดี ความหมายอันเป็นที่ยอมรับเป็นทางการจนได้มีพระกฤษฎีกา เปลี่ยนคำว่า "จะทิ้ง" เป็น"สทิง" คือจะทิ้งเพี้ยนมาจากคำว่า สทิง ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึง สายน้ำ,ลำคลอง มีหลักฐานว่ามีคนเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ และมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในคาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

รัตน์ วัชราภรณ์ นำเที่ยวคลองจะทิ้งหม้อ เส้นทางคมนาคมทางเรือที่สำคัญในอดีตสู่เมืองสงขลา โดยประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง "คำกลอน" เมื่อปี พ.ศ. 2495 โดยแต่งในลักษณะของนิราศ เป็นวรรณกรรมที่บันทึกบรรยากาศ เหตุการณ์ แบบแนวความคิด ตลอดถึงวิถีสังคมในย่านลำคลองจะทิ้งหม้อในยุคนั้น สภาพสมัยที่คลองจะทิ้งหม้อรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในพื้นที่สิงหนคร เป็นวรรณกรรมที่มีค่าต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากตำบลรำแดง

"จะพาใคร ใครก็ไม่ จากสถาน, พาผู้อ่าน ไปตาม ความประสงค์,
จะท่องเที่ยว ไปตาม ความจำนง, วันจันทร์ลง เรือยนต์ ที่ต้นทาง, (จันทร์ 3 พ.ค.2495)
วันที่สาม พฤษภา คะมามาส, ไม่บอกญาติ ลามิตร เพราะจิตหมาง,
นั่งเรือยนต์ เศร้าหมอง ถึงน้องนาง, เป็นคู่สร้าง สืบสม มานมนาน,
ทั้งลูกเต้า เล่าก็ยัง กำลังเล็ก, ล้วนเด็กเด็ก กะจิริด คิดสงสาร,
เพราะความจน สละรัก ให้หักราน, เลยลาบ้าน "รำแดง" แข่งขืนใจ"

และกล่าวถึงตำบลสทิงหม้อ (เป็นตำบลที่มีการปั้นหม้อที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา) เป็นตำบลสุดท้ายที่คลองสทิงหม้อไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลา สู่เมืองสงขลา อันเป็นเส้นทางคมนาคมหลักทางเรือในอดีต ก่อนที่จะมีทางหลวงหมายเลข 408 ระโนด-สงขลา เช่นปัจจุบัน

"จะทิ้งหม้อ หม้อไหน ใครจะทิ้ง, ถ้าทิ้งจริง ฉันหมาย ใครจะขอ,
แต่สักใบ ถนอมใช้ สบายพอ, หรือแกล้งล้อ ลวงเล่น ไม่เป็นจริง,
ดูบ้านเรือน มั่งคั่ง ฝั่งซ้ายขวา, ตลาดค้า วางราย ก็หลายสิ่ง,
คนหนาแน่น สับสน บ้างวนวิ่ง, บ้างแย่งชิง ซื้อหา สินค้ากัน,
ที่ทำหม้อ ตีหม้อ เสียงเปาะแป็ก, ทั้งใหญ่เล็ก เคาะเคียง เสียงสนั่น,
พวกผู้ชาย หาบหา ดินมาพลัน, ให้เมียปั้น เมียหยำ คลำกันไป,
ที่ยังเด็ก เล็กแลบ แขบให้ปั้น, ฝึกฝนกัน หนักหนา กว่าจะใหญ่,
นั่งลอกขา คลิงหม้อ ไม่ท้อใจ, เปื้อนเท่าใด ก็ไม่ผลัก เพราะรักเงิน,
ครั้นมากพอ หม้อส่ง เข้าเตาเผา, ผัวอยู่เฝ้า กองไฟ ไม่ห่างเหิน,
ดูเขาทำ ปล้ำหา น่าเพลิดเพลิน, ทิ้งเจริญ มาเพราะหม้อ ก็นมนาน"

รัตน์ วัชราภรณ์ เดิมชื่อแดง เตี้ยงอิ่ม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2453 ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเกาะยวน ต.เกาะนางคำ จ.พัทลุง เป็นน้องชายของนายฉ้าย วัชราภรณ์ อดีตกำนันตำบลเกาะนางคำ ในวัยหนุ่มรับราชการครู ระหว่างปี พ.ศ. 2477-2482 เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดห้วยพุด ต.รำแดง อ.สิงหนคร

รัตน์ ได้แต่งงานกับนางเวียม นามสกุลเดิมไกรดิษฐ์ บ้านรำแดง ม.6 จึงได้ตั้งครอบครัวเป็นหลักฐาน โอนภูมิลำเนาเป็นชาวบ้านรำแดง มีความรู้ ความสามารถและฝีมือหลายด้าน ภายหลังได้ลาออกจากราชการครูมาประกอบอาชีพอิสระ เป็นช่างโดยเฉพาะช่างไม้ครุครุภัณฑ์และช่างไม้ก่อสร้าง มีฝีมือดี ขณะทำงานจะว่ากลอนไปพลาง อารมณ์แจ่มใสอยู่เสมอ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2505 มีบุตร-ธิดา 7 คน

บันทึกภาพ-ข้อมูล : เกษม ลิมะพันธุ์
อำนวยความสะดวก : อุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง
สถานที่ : ริมคลองบ้านตาเพียร มะเดื่อ ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

นายไข่นุ้ย

DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)

Big MaHad

ข้อสันนิษฐานของชื่อสทิงหม้อ มีมาหลายที่มาครับ เช่น

สทิง มาจาก ภาษาเขมรว่า สตรึง  แปลว่าลำน้ำ คลอง ส่วน หม้อ มาจากคำเขมรว่า สมอ แปลว่า หิน ดังนั้น สทิงหม้อ จึงแปลว่า คลองหิน 

ในขณะที่บ้างก็ว่ามาจากคำมลายูว่า จันทิติมอ โดยจันทิ แปลว่า เจดีย์  และติมอ แปลว่าทิศตะวันออก ดังนัน้ สทิงหม้อ จึงแปลว่า เจดีย์ทิศตะวันออก  ซึ่งล้อกับชื่อ สทิงพระ ที่สันนิษฐานว่ามาจาก จันทิบาระ (เจดีย์ทิศตะวันตก)

หรืออาจจะหมายถึง คลองที่มีการทำหม้อดินเผาในอดีต  (คำเขมร+ไทย) ดังคำกล่าวที่ว่า "ทิ้งทำหม้อ เกาะย่อทำอ่าง บ่อยาทำเคย"
อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน...ปัจจุบันคือรากฐานของอนาคต

คนหาดใหญ่แต่ไม่ใหญ่

เครื่องปั้นดินเผา บ้านสทิ้งหม้อ
ก้อนดินกลิ่นเตา
ศิลปก่อนเก่า ซบเซาเฉาชีวิต
ฤาจะสามารถฝ่าวิกฤต.....
พิชิตกาลเวลา ???
อ่านรายละเอียดใน  หนังสือ เลสาบเรา 6
http://www.slb-media.psu.ac.th/project_book
อ.วิวัฒน์ สุทธิวิภากร
   โครงการพัฒนาสื่อความรู้ ความรักและความหวงแหน
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา