ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ตำนานวีรบุรุษของชาวสะเดา

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 14:24 น. 22 ก.ค 57

ทีมงานบ้านเรา

ชีวประวัติของนายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์  

[attach=14]

นายขรรค์ชัย กัมพลานนท์ เป็นลูกชายคนแรกของนายสาย และ นางส้มจีน เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2461 ที่บ้านในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช   แต่ต้องกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กเรียบร้อย อยู่ในโอวาท ว่านอนสอนง่าย และขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน มีความกตัญญูกตเวที รักพี่น้อง 

แม้ขณะที่ท่านไปเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ หรือไปรับราชการห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน ก็ยังหมั่นกลับบ้านเพื่อเยี่ยมพ่อและญาติพี่น้องอยู่เป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นการเดินทางยากลำบากมาก    ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ดังนี้ 
1. เด็กหญิง ส่อง (ถึงแก่กรรมในวัยเด็ก)
2. นางละมุน อัครกุล    
3. นายขรรค์ชัย กัมพลานนท์  และมีน้องต่างมารดา อีก 5 คน ดังนี้
1. พ.ต.อ. ธำรง กัมพลานนท์   
2. นายสุธน กัมพลานนท์
3. น.อ. สุทิน กัมพลานนท์
4. ร.ท. ณรงค์ กัมพลานนท์ ร.น.   
5. นายนิพัทธ์ กัมพลานนท์   

  ด้านการศึกษาเล่าเรียน
เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดมเหยงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
เรียนชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช 
(ปัจจุบันคือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ)
เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา ที่โรงเรียนวังบูรพา
เรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สำเร็จการศึกษา ได้วุฒิ ธ.บ.

  การรับราชการ
 เป็นเสมียนกระทรวงมหาดไทย 
 เป็นประจำแผนกพนักงานเทศบาล กองควบคุมเทศบาล กรมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย 
 เป็นปลัดอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
 เป็นนายอำเภอครั้งแรกที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 

เป็นนายอำเภอสะเดา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2493 
นับแต่ท่านได้มาเป็นนายอำเภอสะเดาชาวสะเดารู้สึกภาคภูมิใจ เพราะท่านได้ปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักความยุติธรรมจนเป็นที่รักใคร่ และไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา และเป็นที่เคารพรักนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดถึงประชาชนชาวบ้านทั่วไป นอกจากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแล้ว ท่านยังสนใจเรื่องการศึกษาของเยาวชนระดับมัธยมเป็นอย่างยิ่ง

โดยได้เริ่มจะให้มีโรงเรียนมัธยมในอำเภอสะเดาแต่ความหวังความตั้งใจยังไม่ทันบรรลุผลท่านก็จากพี่น้องชาวสะเดาไปอย่างกะทันหัน เนื่องจากถูกพวกโจรจีนคอมมิวนิสต์ลอบยิงขณะท่านไปราชการที่ ชายแดนไทย-มาเลเซีย(ด่านจังโหลน) พร้อมกับ ร.ต.อ. ชัย ชวนเจริญ นายตำรวจสันติบาลและพลตำรวจอีก 4 นาย  ท่านได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตระหว่างทางขณะถูกนำส่งโรงพยาบาลสงขลา เมื่อ 14 ธันวาคม 2495

เกี่ยวกับงาน ... ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย มักจะเปรยกับผู้ใกล้ชิด เสมอๆ ว่า "งานที่เขาสั่งวันนี้อยากจะทำเสียให้เสร็จตั้งแต่เมื่อวาน"  และท่านได้กล่าวตอนหนึ่ง ขณะที่กำลังประชุมข้าราชการอำเภอและพนักงานทั่วไป เนื่องในโอกาสมารับตำแหน่งนายอำเภอสะเดาได้ใหม่ๆ ท่านพูดว่า "ข้าพเจ้าจะปกครองลูกน้องเหมือนอย่างต้นกล้วย กล้วยนั้นยืนต้นอยู่จนมีลูก พอเขาต้องการลูกเมื่อใดต้นกล้วยก็ตายเมื่อนั้น....." 
                                  
"นิโรจน์ ขาวมาก"    รวบรวม / เรียบเรียง

[attach=13]


       
นายอำเภอของเรา 

จากการสอบถามเด็ก ๆ วัย ๑๒ - ๑๓ ปี เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ทำให้ทราบว่า ตั้งแต่ทางราชการได้ย้าย นายขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ชายไทยวัย ๓๒ ปี ผู้มีวุฒิปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) จากรั้วเหลืองแดง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง" จากตำแหน่งนายอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มาดำรงตำแหน่ง นายอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๙๓ ทำให้พี่น้องชาวสะเดามีความอบอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยกันทุกถ้วนหน้า

สภาพท้องที่โดยทั่วไปของอำเภอสะเดาในขณะนั้นเป็นดินแดนทุรกันดาร การไปมาติดต่อระหว่างหมู่บ้านระหว่างตำบลหรือระหว่างอำเภอเป็นไปด้วยความยากลำบาก สมัยนั้นมีรถสองแถวซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่ารถหลอหลี วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างสะเดา-หาดใหญ่ เพียงสองคันเท่านั้น คือคันที่มีเลขทะเบียน สข ๑๔๔ กับ สข ๕๙๙

การตัดสินใจ คือ หัวใจของการบริหาร การจัดพัฒนางานด้านใด ๆ ก็ต้องมีข้อมูลด้านนั้น ๆ อย่างถูกต้องและเชื่อถือได้เพื่อใช้ประกอบการ พิจารณาตัดสินใจ

ตอนแรก ๆ ดูออกจะเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับชาวบ้านทั่วไป ที่ได้เห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายอำเภอ เที่ยวตะลอน ๆ และเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการในตอนเช้าตรู่และยามเย็น ๆ เพราะไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน เสียงกรอกแกรก ๆ จากรถถีบคันเก่า ๆ ที่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ใช้ในการเดินทางแวะเวียนไปพูดคุย ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับพี่น้องชาวบ้าน หรือสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ จากเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน "บ้านนี้เขาทำอะไร..." "บ้านหลังนั้นเขาอยู่กันกี่คน...จบ ป. ๔ แล้วไปเรียนต่อบ้างไหม......." แต่พอนานเข้าก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะว่านายอำเภอขรรค์ชัย ท่านได้ทำเป็นปกติวิสัย

ครั้งหนึ่ง ในตอนเช้าเมื่อท่านนายอำเภอขรรค์ชัยขี่รถถีบไปถึงบ้านระตะ ท่านก็เห็นเด็กชายคนหนึ่งกำลังตักข้าวให้หมูอยู่ ท่านถามเด็กชายคนนั้นด้วยภาษาใต้ว่า เธอชื่ออะไร เด็กชายคนนั้นตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า ชื่อประสิทธิ์ ทองคำ ครับ แล้วท่านก็พูดว่า มา..ให้น้าช่วยบ้าง ว่าแล้วท่านก็ลงมือช่วยเด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ ตักข้าวให้หมูทันที แล้วคุยกันไปทำงานกันไปอย่างสนุก เป็นกันเอง เธอจบชั้นไหน "ปอสี่ครับ"ทำไมไม่เรียนต่อ "โรงเรียนอยู่ไกลครับ"

คำว่า โรงเรียนอยู่ไกล ที่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัยได้รับทราบจากเด็กที่จบป. ๔ แล้วจำนวนหลายคน รวมทั้งผู้ปกครองทั้งหลายที่อยากได้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นแต่ก็ไม่สามารถจะกระทำได้ต่อเนื่องจากไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ถ้าอำเภอสะเดาเรามีโรงเรียนมัธยม เด็ก ๆ ย่อมมีโอกาสได้เรียนต่อชั้นสูงขึ้นแน่และผู้ปกครองก็คงไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทองค่าใช้จ่ายมากนักทั้งไม่ต้องลำบากใจเพราะเป็นห่วงเป็นใยในความรักลูกหลานเนื่องจากโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน

นี่คือคำปราถนาดีที่อดีตนายอำเภอขรรค์ชัยผู้เป็นขวัญใจของชาวสะเดา กล่าวกับผู้ใกล้ชิดและกำนันผู้ใหญ่บ้านเสมอ ๆ
สมัยนั้นเด็ก ๆ ที่เรียนจบชั้นป. ๔ แล้ว หากจะเรียนต่อก็ต้องไปเรียนที่ในตัวเมืองสงขลา การพูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนานกับน้าชายผู้ใจดีและเป็นกันเองเหมือนน้าจริง ๆ ในวันนั้น เด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ (ปัจจุบัน คือ พระครูพิทักษ์นิมพเขต เจ้าอาวาสวัดพังลา เจ้าคณะอำเภอสะเดา ไม่ทราบเลยว่าเป็นนายอำเภอสะเดา และแล้วเย็นวันหนึ่ง ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ก็ขี่รถถีบคันเก่าซึ่งมีเสียงกรอกแกรก ๆ เป็นเอกลักษณ์ พอไปถึงบ้านระตะก็เข้าไปพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านและเด็ก ๆ ขณะที่เด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ ลูกยายแก้ว-ตาคงกำลังรดน้ำผักอยู่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัยก็เอาหนังสือที่ท่านนำติดตัวไปด้วยให้เด็กชายประสิทธิ์อ่านให้ฟัง วันนั้นท่านชมเด็กชายประสิทธิ์ว่า เธออ่านคล่องจัง พร้อมกับยื่นเงินให้เป็นรางวัล 

ทุกครั้งที่นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ออกเยี่ยมพี่น้องตามหมู่บ้านต่าง ๆ ท่านจะตั้งคำถาม หรือไม่ก็เอาหนังสือที่ท่านเตรียมไปให้เด็ก ๆ อ่านให้ฟังแล้วท่านจะให้เงินเป็นรางวัล จึงทำให้เด็ก ๆ เตรียมตัวเตรียมใจอย่างจดจ่อและเฝ้ารอนายอำเภอเพื่อที่จะได้ตอบคำถามและอ่านหนังสือเอาเงินรางวัลกันเกือบทุกหมู่บ้านหลังจากวันนั้นท่านนายอำเภอขรรค์ชัยไปเยี่ยมพี่น้องชาวบ้านแห่งบ้านระตะอีก

ท่านได้นำภาพจำนวน ๓ ภาพไปให้เด็กชายประสิทธิ์ดูแล้วให้ตอบว่าเป็นรูปภาพอะไรบ้าง ปรากฏว่า เด็กชายประสิทธิ์ตอบถูกหมดทั้ง ๓ ภาพ คือ ภาพพระราชวังบางปะอิน พระปรางค์สามยอด และภาพพระพุทธชินราช แล้วเด็กชายประสิทธิ์ก็ได้รับเงินเป็นของรางวัลพร้อมกับคำชมเชยจากท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ด้วยความภาคภูมิใจและเกิดความคิดอยู่ในใจเสมอมาว่า การเป็นคนมีความรู้นี่เป็นสิ่งดีนะ..ได้ทั้งคำยกย่องและเงินรางวัล 

ครับ เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ข้างต้นนี้ทำให้เราทราบว่านายอำเภอของเราเป็นนักบริหารสมัยใหม่ ท่านใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และข้อมูลนั้นต้องเชื่อถือได้ ท่านจึงต้องลงไปหา ลงไปคลุกคลีกับแหล่งข้อมูล ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้อง เพื่อรอฟังรายงานจากลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียวอีกประการหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ท่านให้ความสนใจและความสำคัญต่อการศึกษาของเยาวชนของชาติเป็นอย่างมากด้วย

ความหวังความตั้งใจของนายอำเภอขรรค์ชัยที่จะพัฒนาสะเดาให้เจริญก้าวหน้าซึ่งผู้ใกล้ชิดนายอำเภอขรรค์ชัยได้รับรู้จากคำปรารภของท่านเสมอ ๆ ต้องสะดุดลงเนื่องจากท่านถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตี และยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๕ 

เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่านนายอำเภอขรรค์ชัย พี่น้องชาวอำเภอสะเดา จึงได้ร่วมมือกันสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน โดยการสร้างโรงเรียนมัธยมและนำชื่อของท่านมาเป็นที่ระลึกด้วย คือ โรงเรียนสะเดา "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนชาวสะเดาทั้งหลาย  "นายขรรค์ชัย กัมพลานนท์" นายอำเภอของเรา

(คัดจาก หนังสือ 40 ปีสะเดา "ขรรค์ชัยฯ" หน้า 26 - 29 เรื่อง นายอำเภอของเรา โดย นิโรจน์ ขาวมาก) พ.ศ. 2537


ประมวลภาพงานฌาปนกิจศพ นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ณ วัดหัวป้อมนอก อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2495               

[attach=1]
ถ่ายในชุดปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต  
[attach=2]
เมรุชั่วคราว ณ วัดหัวป้อมนอก อ.เมืองสงขลา
[attach=3]   
ร่างกายที่ไร้วิญญาณ
[attach=4]
พิธีรดน้ำศพ

[attach=5]   
ข้าราชการและพี่น้องประชาชนมาร่วมพิธีฯ
บริเวณหน้าหีบศพ ฯ

[attach=6]   
น้องชาย,พี่สาว และ นายสายผู้เป็นบิดา
[attach=7]
พวงหรีดของ ร.ม.ต. กระทรวงมหาดไทย
[attach=8]   
ข้าราชการและพี่น้องประชาชนมาร่วมพิธีฯ   
[attach=9]
พวงหรีดไว้อาลัยจากทั่วสารทิศ
[attach=10][attach=11]   
พิธีทอดผ้าบังสุกุล
[attach=12]
พิธียิงสลุต ฯ

ที่มา http://www.geocities.ws/sadaokhanchai/new_page_112.htm

http://youtu.be/K_GH24rHVVA
นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ นี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้­ถึงความเป็นมาของประวัตินายอำเภอสะเดา และที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนสะเดา"­ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์ "
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ten

อ่านแล้วน้ำตาไหล ขอสดุดีแห่งความดี และการพัฒนาโดยเข้าถึง เข้าใจ

เณรเทือง

กระผมเณรเทือง ศิษย์เก่าโรงเรียนสะเดา"ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์" 2518-2520 ขอขอบคุณ จขกท.ที่ได้เอื้อเฟื้อภาพเก่าให้ได้รับชม ขอขอบคุณจริงๆ ผมจากมานานอยู่ไกลพอสมควรไม่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนเป็นเวลานาน รูปปั้นท่านนายอำเภอที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนเป็นที่สักการะอยู่ในใจของผมเสมอมา จำได้ว่า 14 ธันวาคมเป็นวันระลึกถึงพ่อขรรค์ชัย
อาจารย์ไชยยันต์ มณีสะอาด เคยชักชวนพวกเราร่วมแต่งกลอนลงหนังสือที่ระลึกที่จัดทำขึ้นอย่างง่ายๆเป็นกิจกรรมมุทิตาจิตสมัยนั้น
นี่ก็ใกล้ 14 ธันวาคมแล้ว ไม่ทราบปีนี้จัดงานหรือไม่ ใครทราบช่วยส่งข่าวบ้างนะครับ

คนทำงานแถวสะเดา

ผมไม่ใช่ศิษย์เก่า แต่ทำงานที่สะเดา โรงเรียนขรรค์ชัยฯ จัดงานทอดผ้าป่าเพื่่อซี้อที่ด้านหลังโรงเรียนเพิ่มเติม ในวันที่ 13 14 ธันวาคม 2557 ครับ