ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เรารัก...ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา (ตอนที่ ๑)

เริ่มโดย krerkchai, 14:18 น. 21 ส.ค 54

krerkchai

เรารัก...ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา
ตอนที่ ๑ บ้านของเรา...เรารู้จักดีแค่ไหน???


ลักษณะทางกายภาพลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา (ข้อมูล อ้างอิง ปี ๒๕๔๐ - ๒๕๕๐)
         ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ถือได้ว่าเป็นลุ่มน้ำย่อยที่ ๗ ในลุ่มน้ำที่ ๒๑ (ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา ๕ ลุ่มน้ำของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในพิกัดเส้นรุ้ง ๗ องศา ๑๔ ลิปดา เหนือ และเส้นแวง ๑๐๐ องศา ๒๘ ลิปดา ตะวันออก มีพื้นที่วัดได้ประมาณ ๒,๘๔๐ ตารางกิโลเมตร คลอบคลุมอาณาเขตพื้นที่ ๗ อำเภอ ๓๕ ตำบล ๒๕๒ หมู่บ้าน อันได้แก่ อำเภอสะเดา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง โดยที่มีสายน้ำสำคัญคือคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสงขลา หากมองดูในเชิงกายภาพแล้วจะมีความกว้างของผิวน้ำในหน้าแล้งโดยเฉลี่ย บริเวณต้นน้ำ ๖-๑๕ เมตร กลางน้ำ ๑๕-๓๐ เมตร และปลายน้ำ ๓๐-๕๐ เมตร มีความลึก ๒-๕ เมตร พื้นที่รับน้ำ ๑,๖๐๐ ลูกบาศก์กิโลเมตร คลองอู่ตะเภานี้ไหลจากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ โดยมีจุดเริ่มจากชายแดนไทย-มาเลเซีย ไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง บริเวณบ้านท่าเมรุ อำเภอบางกล่ำ และบ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ รวมความยาวทั้งสิ้น (เฉพาะส่วนที่เรียกว่าคลองอู่ตะเภา) ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร  (กรมพัฒนาที่ดิน ๒๕๓๒ ระบุว่ายาวประมาณ ๙๐ กม.) คลองอู่ตะเภาเกิดจากการไหลมาบรรจบของคลองใหญ่ ๒ สาย ที่บางหรำ (บ้านคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา) คือ คลองรำ ซึ่งไหลมาจากเขาลูกช้าง (สะเดา) และเทือกเขาบรรทัด (ผาดำ) และคลองแม่น้ำที่ไหลมาจากเขาน้ำค้าง (นาทวี) รวมความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ถึงปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ถ้าจะแบ่งคลองอู่ตะเภาตามสภาพภูมิศาสตร์ และขนาดความกว้างลึกของลำคลอง อันเป็นบริบททั้งหมดของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาแล้ว อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ตอน คือ

ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือ (อยู่ทิศใต้ แต่เหนือน้ำ / คลองอู่ตะเภา ไหลจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือ)
          ซึ่งเป็นเขตป่าเขาของคลองแม่น้ำ และคลองรำอันมีกิ่งก้านสาขาเป็นห้วย หนอง คลอง บึง เป็นร้อยสาย ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอสะเดา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาหม่อม ล่มน้ำตอนเหนือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย สามารถหล่อเลี้ยงเมืองสงขลามาตั้งแต่อดีต ทรัพยากรจากลุ่มน้ำตอนเหนือไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ของป่า ไม้ ชัน น้ำมันยาง เครื่องเทศ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลดึงดูดให้เรือสำเภาเข้าถึงท่าหาดใหญ่ และทำให้ที่แห่งหนึ่งบนเส้นทางน้ำสายนี้มีอู่สร้างซ่อมเรือสำเภาขึ้นที่ "บ้านโอ" (ด้านใต้ของวัดอู่ตะเภา) ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
          ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือเป็นดินแดนสำคัญยิ่งสำหรับจังหวัดสงขลาทั้งจังหวัด เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ราบเชิงภูเขา เป็นสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ ซึ่งก่อนนี้เคยเป็นแหล่งแร่ดีบุก (ปัจจุบันหมดแล้ว) เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือเป็นเขตติดต่อชายแดนประเทศมาเลเซีย และเป็นป่าสลับซับซ้อน จึงมีความสำคัญทางด้านความมั่นคงของประเทศมากที่สุดแหล่งหนึ่ง ทางซีกคลองแม่น้ำเคยเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (รัฐบาลไทยเรียกว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์) ส่วนซีกคลองรำเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (รัฐบาลไทยเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) อันที่จริงพื้นที่ส่วนนี้เคยเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายามาก่อน แต่ภายหลังได้ร่วมมือกัน จึงแบ่งเขตพื้นที่เป็นเขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (หลักฐานจากร่องรอยที่มั่นบนค่ายผาดำ และคำบอกเล่าของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย) ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนเหนือส่วนชุมชนแนวถนนกาญจนวนิชและคลองแม่น้ำ เป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม


ลุ่มน้ำอู่ตะเภาเขตชุมชน
          เป็นเขตพื้นที่สัมพันธ์กับคลองอู่ตะเภาโดยตรง มีลำคลองสาขาจากพื้นที่ต่างที่ไหลลงสู่คลองอู่ตะเภามากมาย เช่น คลองปอม คลองหวะ คลองจำไหร คลองเตย คลองแห ฯลฯ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสะเดา ส่วนต่อกับอำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ อำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชกรรม ชุมชนเมือง เป็นแหล่งผู้ใช้น้ำจากคลองอู่ตะเภามากที่สุด สำหรับการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่ที่ปล่อยน้ำเสียลงคลองอู่ตะเภามากที่สุด เนื่องจากเขตลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาย่านนี้เป็นชุมชนเมือง คลองอู่ตะเภาจึงเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อการหล่อเลี้ยงคนเมืองหาดใหญ่ทั้งเมือง คลองหอยโข่งบางส่วน นาหม่อมบางส่วน เมืองสงขลาทั้งเมือง เมืองสิงหนคร จึงสรุปได้ว่าความเป็นไปเกือบทั้งหมดของจังหวัดสงขลาอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงจากคลองอู่ตะเภา จึงจัดเป็นเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภา
          ที่สำคัญท่าหาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่เขตลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนนี้ และถ้าพิจารณาตามความกว้างลึกของคลองอู่ตะเภา เขตลุ่มน้ำตอนนี้นับได้ว่ามีอิทธิพลสูงสุด กล่าวคือ เป็นลำคลองที่ลึก และกว้างจนเรือขนาดใหญ่อย่างเรือสำเภาแล่นเข้าถึง อันเป็นสิ่งที่ทำให้ท่าหาดใหญ่ ได้มีความสำคัญมาแต่อดีต อีกทั้งเป็นเขตอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงมีมาถึงท่าหาดใหญ่ และเข้าไปถึงแถวบ้านชายคลอง ตำบลบ้านพรุ ด้วยเหตุนี้เองที่ก่อปัญหาน้ำเค็มเข้าถึงโรงผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคบางฤดูกาล ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนนี้ นอกจากเป็นชุมชนเมือง ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจสำคัญมากมาแต่อดีตแล้ว ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนล่าง อาจนับได้จากเขตอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงไล่ลงไปจรดปากบางและอ่าวแหลมโพธิ์ มีพื้นที่คลอบคลุมจากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง และอำเภอเมืองด้านทิศใต้ (ส่วนพื้นที่รับน้ำแนวฝั่งทะเลสาบ) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา ทำสวน) ประมงพื้นบ้าน


เขตลุ่มน้ำตอนล่าง
          เป็นเขตลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะ ที่ชุมชนเหนือน้ำปล่อยน้ำทิ้งลงคลองอู่ตะเภา จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งวัฒนธรรมเฉพาะของแม่น้ำอู่ตะเภาหลายอย่าง อาทิ วิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นอย่างกลมกลืน จนเกิดมีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง อย่างกรณีเพลงเรือแหลมโพธิ์ เพลงยาวเกาะใหญ่ การกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ อาคารสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น มีลักษณะเฉพาะอย่างเห็นได้ชัด

ส่งท้ายบทความ...เมื่อเรามีคำถามชวนให้คิด...
เราอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอะไร???.....จะมีใครกี่คนที่ตอบคำถามนี้ได้...
เมื่อเราถามเด็กๆ นักเรียนในท้องถิ่นของเรา ว่า "หนูๆ รู้จักคลองอู่ตะเภาไหม?" เราจะได้คำตอบว่า "?????"
แล้วทำไมเราต้องรู้เรื่องราวของลุ่มน้ำท้องถิ่นของเราแห่งนี้ด้วย???...มันจำเป็นรึเปล่า...
ถ้าวันหนึ่งคลองแห่งนี้...ไม่มีน้ำ...มันก็แค่คน ๗ อำเภอไม่มีน้ำใช้...ไม่ใช่เหรอ...
และถ้าวันหนึ่งคลองแห่งนี้...มีน้ำมากเกินไป....ก็แค่น้ำท่วมไม่กี่วัน...เดี๋ยวก็ลด...เท่านั้นเอง...




เราหวังว่า...ทุกๆ คนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาจะเปิดใจเรียนรู้ธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองมากขึ้นและมากกว่าการหาหนทางต่อสู้กับธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น


บ้านเรา ถิ่นเรา จะปล่อยให้ใครมาดูแล???
เชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันดูแลบ้านเกิดของเรากันครับ
http://www.facebook.com/pages/เรารักลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา_จังหวัดสงขลา/227544700619410

ten

ขอบคุณมากๆเลยครับ บทความนี้ผมขออนุญาต ใช้เป็นบทเรียนในการเรียน สาขาชุมชนศึกษา ของ นศ.ปี3 ศิลปศาสตร์ ม.อ.น่ะครับ ผมกำลังทำบทความ และกำลังจะจัดเสวนากลุ่ม เชิญผู้นำชุมชนมาให้ความรู้ และ ตัวผมเองเกิดมาบนแผ่นดินลุ่มน้ำอู่ตะเภา ด้วย ขอนำบทความนี้ไปอ้างอิงข้อมูลน่ะครับ ผมทำเกี่ยวกับชุมชนเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ แนวคิดชุมชนประมาณนี้ครับ จึงเลือกเอาชุมชนท่าเคียน มาใช้น่าสนใจมาก ถ้าสนใจน่ะครับ วันที่ 30 กันยายน 2554 นี้ กิจกรรมของ เพื่อน นศ. และ กลุ่มผมก็จะจัดเสวนาขึ้นที่ คณะศิลปศาสตร์ครับ ไว้ยังไงสนใจก็เชิญได้น่ะครับ รายละเีอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับผม

นศ.ชุมชนศึกษา ชั้นปี3 คณะศิลปศาสตร์