ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เร่งผลิตข้าวปลอดภัยทั้งระบบเพิ่มทางเลือกทั้งชาวนา-ผู้ริโภค

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 10:45 น. 06 ต.ค 57

หาดใหญ่ใหม่

โดย คมชัดลึก www.komchadluek.net

เร่งผลิตข้าวปลอดภัยทั้งระบบเพิ่มทางเลือกทั้งชาวนา-ผู้ริโภค : ดลมนัส กาเจรายงาน
               
ท่ามกลางปัญหามากมายที่จ่อกระหน่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ว่าจะเป็นด้านราคาตกต่ำ ผลผลิตได้น้อย และด้อยคุณภาพ ทำให้กรมการข้าวหันมาเน้นและดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้มีมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกโครงการหนึ่งที่นอกจากที่จะดำเนินในด้านอื่นมาแล้ว  และดูเหมือนว่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สอดรับกับนโนบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เปิดตัวโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

               สำหรับโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 นายชวลิตร รูปขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ยึดมั่นตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีนโยบายต่างๆ ออกมาช่วยเหลือดูแลเกษตรกรรายย่อยและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเน้นในด้านการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต

               โดยกระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือจากภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ลดราคาปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ในปีการผลิต 2557/58 เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ ค่ารถเกี่ยวข้าว และค่าเช่าที่นา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยโครงการช่วยเหลือเกษตรกรนี้ จะรวมถึงการสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้องค์กรของเกษตรกรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตและแปรรูป ดำเนินธุรกิจข้าวครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               ส่วนดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานนั้น นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า เป็นการยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้มีมาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นภารกิจหลักที่กรมการข้าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

               นายชาญพิทยา กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวอินทรีย์และข้าวจีไอ (GI) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตข้าว หรือจีเอพี (Good Agricultural Practice for Rice : GAP) เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพควบคู่กับความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีข้าวเปลือกที่ได้รับการรับรองการผลิตข้าวเปลือกจีเอพี จำนวน 4 หมื่นแปลง และข้าวอินทรีย์ในระดับฟาร์มจำนวน 5 หมื่นแปลง

               ดังนั้นเพื่อให้การผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตมีความปลอดภัย กรมการข้าวจึงสนับสนุนผู้ประกอบการโรงสีข้าวให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิต ดำเนินการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโรงสีข้าวของกรมการข้าว ตามหลักมาตรฐานสากล จะใช้หลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว หรือจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice for Rice Mill : GMP) ซึ่งข้าวเปลือกที่ได้รับการรับรองจีเอพี ผ่านเข้าสู่กระบวนการสีและแปรรูปจากโรงสีที่ได้รับการรับรองจีเอ็ม ก็จะได้รับการรับรองเครื่องหมายสินค้าเกษตรปลอดภัย สัญลักษณ์ "คิว" (Q) ติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์ ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภค ขณะที่ผู้ผลิตเองก็เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองมีคุณภาพสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

               "การยกระดับคุณภาพข้าวไทยของกรมการข้าวที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐาน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในช่วงที่เปิดตลาดเสรีข้าวในภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้ว่าเรื่องคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวไทยเราถือว่าเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว แต่เราก็จำเป็นต้องรักษามาตรฐานการผลิตให้สูงเช่นนี้ต่อไป เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน" อธิบดีกรมการข้าว กล่าวย้ำ

               ด้าน นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว กล่าวว่า ขณะนี้กรมการข้าวมีการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานในกรมการข้าวเอง คือสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่ทำหน้าที่ในการเข้าไปส่งเสริมให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการแปลงจีเอพี หรือโรงสี จีเอ็มพีให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

               ส่วนกองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ก็เป็นหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบและให้การรับรอง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลมากที่สุด นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการพัฒนาโรงสีข้าวของสหกรณ์ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานจีเอ็มพี และรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกสหกรณ์ที่มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานจีเอพี ในราคาที่สูงกว่าราคาข้าวทั่วไป เป็นต้น

               "เราอยากให้เกษตรกรชาวนาไทยหันมาผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐานจีเอพีมากขึ้น โดยให้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของตัวเกษตรกรและผู้บริโภค คำนึงถึงความยั่งยืนในอาชีพ มากกว่าจะมองว่า ถ้าทำแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร เพราะจีเอพี อาจจะไม่ทำให้ขายข้าวได้ราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่ได้มีแต่ประโยชน์ต่อตัวเกษตรกร ทั้งสภาพแวดล้อมไม่ถูกทำลาย จากการใช้สารเคมีมากเกินจำเป็น ต้นทุนการผลิตก็ลดลง สุขภาพก็ดีขึ้น ที่สำคัญสามารถเก็บรักษาผืนดินไว้ให้ลูกหลานได้ทำกินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป" นายประสงค์ กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ทั้งโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 และการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานของกรมการซึ่งล้วนแต่เป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรที่เป็นชาวนาเพื่อให้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และให้ผลผลิตได้คุณภาพนั่นเอง
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน