ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

การบวชภิกษุณี สามเณรี ในประเทศไทยทำได้หรือไม่เห็นที่เกาะยอทำแล้ว

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 11:42 น. 03 ธ.ค 57

หาดใหญ่ใหม่

ที่มา http://picasawebcothssomkiert.blogspot.com/2014/12/blog-post.html

มหาเถรสมาคมไม่ดูแลพระศาสนา? ภัยต่อความมั่นคงยุคคสช.ก่อการดีข้ามชาติ ! ภัยต่อความมั่นคงสถาบันพระศาสนา ยุคคสช. มหาสังฆนายกศรีลังกาบินข้ามทะเล ทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่เมืองไทย โดยที่มหาเถรสมาคมไม่มีใครทราบ เป็นเรื่องประหลาดในโลกใบนี้

[attach=1]
ซ้าย : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชไทย
ขวา : พระมหินทวังสะ มหาสังฆนายก แห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา

[attach=2]
ซ้าย : ภิกษุณีธัมมทีปา หัวหน้าอารามทิพยสถานธรรม เกาะยอ สงขลา
ขวา : พระพรหมวํโส เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย

ภาพจาก : มจร.นิวส์

ข่าวการบินข้ามทะเลอันดามันจากศรีลังกามายังจังหวัดสงขลาประเทศไทย ของพระมหาสังฆนายกะ มหินทะวังสะ สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา พร้อมด้วยภิกษุณีสุมิตราและภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกา เพื่อทำการอุปสมบทภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อารามทิพยสถานธรรม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่29 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา มองดูเหมือนว่า ไม่มีอะไร เพราะเป็นการมาทำสังฆกรรม เป็นกิจกรรมในทางศาสนา ธรรมดาๆ เท่านั้น

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็จะพบว่า มีอะไรไม่ธรรมดา เพราะว่า

1. นี่เป็นการบวชภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนประเทศไทย ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมานั้น ไม่เคยมี ถึงจะมีความพยายามบวชภิกษุณีในประเทศไทย ก็ถูกคณะสงฆ์ไทย (โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย) สั่งระงับ ถึงกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ได้เคยออกคำสั่ง "ห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี" ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2471 ถึงปัจจุบันคำสั่งนั้นก็ยังมิได้ยกเลิก

2. เป็นการเดินทางมาบวชนอกราชอาณาจักรศรีลังกา ของพระมหาเถระระดับ "มหาสังฆนายก" เทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นตำแหน่งผู้นำระดับประเทศ แต่เป็นการมาแบบ "มิได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ" จากรัฐบาลไทย หรือจากคณะสงฆ์ไทย หากแต่เป็นการมาแบบ "Private" หรือเป็นการส่วนตัว

ก็ในเมื่อประเทศไทยมี "ข้อห้าม" จากคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอุปถัมภ์โดยรัฐบาลไทย มิให้มีการบวชภิกษุณี บรรพชาสิกขมานา และสามเณรี (พระผู้หญิงและเณรผู้หญิง) ทำให้พระสงฆ์ไทยไม่ว่านิกายใดๆ ไม่กล้าทำการบวชให้แก่สตรีในประเทศไทย ซึ่งสตรีไทยที่ประสงค์จะบวชพระบรรพชาเณร ได้พยายามทุกวิถีทาง หลังสุดก็คือ การเดินทางไปบรรพชาอุปสมบทในประเทศศรีลังกา แล้วกลับมาอยู่ในเมืองไทย ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยให้เป็นภิกษุณี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่มีนักบวชสตรีไทย เดินทางไปนิมนต์พระมหาสังฆนายกะ แห่งศรีลังกา เดินทางมาทำการบรรพชาอุปสมบทสตรีไทย คงมิใช่เรื่องที่พระมหาสังฆนายกะจะมิทราบเรื่อง ว่ามีปัญหาอะไรในเมืองไทย เกี่ยวกับสถานภาพของภิกษุณี และนักบวชสตรีทั้งหลาย

การเดินทางมาของพระมหาสังฆนายกะ แห่งนิกายอมรปุระ ในครั้งนี้ ย่อมจะเป็นที่ "ทราบดี" ทั้งที่ไปที่มา อุปสงค์อุปาทานต่างๆ คงจะเล็งเห็นผลลัพธ์แล้วว่า ถ้าไปจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งด้านผลดีและผลเสีย แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว คงจะเห็นว่า "มีผลดีมากกว่าผลเสีย" จึงถึงกับยอมเอาตำแหน่งมหาสังฆนายกะมาทำสังฆกรรมข้ามประเทศ ในระดับที่ต้องเรียกว่า "ก่อการดีข้ามชาติ"

การเผยแผ่พระศาสนาข้ามชาติในอดีตนั้น เท่าที่ทราบ ก็มีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

อย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ มีพระภิกษุชาวไทยในหัวเมืองต่างๆ ในเมืองสุโขทัย เชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยา ละโว้ (ลพบุรี) เป็นต้น เดินทางไปยังศรีลังกา ศึกษาพระธรรมวินัย เกิดความเลื่อมใส จึงทำการบวชใหม่ แล้วกลับมาทำการเผยแผ่ลัทธิแบบลังกาวงศ์โดยตรง ชาวไทยเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงถวายการทำนุบำรุง และทางราชการ (โดยพระมหากษัตริย์ไทย) ได้ยกย่องขึ้นเป็นนิกายสงฆ์อย่างเป็นทางการ

อย่างเป็นทางการ ได้แก่ การที่รัฐบาล (พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ทำการร้องขอพระภิกษุสงฆ์ พระไตรปิฎก ไปทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมลงแทบว่าจะไม่มีเหลือ เช่นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการร้องของจากทางศรีลังกา จึงส่งพระสงฆ์นำโดยพระอุบาลี ไปทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันนิกายสยามวงศ์ก็ยังคงดำรงมั่นในศรีลังกา

คำว่า "ทางการ" กับ "ไม่เป็นทางการ" นั้น แยกความหมายออกง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ไปรับเอาลัทธินิกายใหม่เข้ามา ก็จะถือว่า "ไม่เป็นทางการ" แต่ถ้าหากการที่บุคคลมี "ตำแหน่ง" ในทางคณะสงฆ์ จะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศนั้น ต้องมีการร้องขอจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ จึงจะเป็นเหตุผลในการไป มิใช่นึกอยากจะไปก็ไป ยกเว้นแต่ประเทศนั้นๆ มิได้มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ อยู่ดี จึงจะมีสิทธิ์เข้าไปทำการสอนสั่งศาสนาของตนในประเทศนั้นๆ ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับการมาของ พระมหาสังฆนายก มหินทะวังสะ นิกายอมรปุระ แห่งศรีลังกาในครั้งนี้ ย่อมจะเป็นที่ "กังขา" ว่ามาได้อย่างไร ในเมื่อ

1. มิได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลหรือคณะสงฆ์ไทย

2. เป็นการมาส่วนตัว แต่ที่ติดตัวมานั้นเป็น "ตำแหน่งมหาสังฆนายกะ" เทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงส่ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับนี้ จะทำอะไรก็ต้องมีพิธีรีตรอง โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้น พิธีทางการทูตอันประกอบด้วย กฎ กติกา มารยาท ถือว่าสำคัญสูงสุด ผิดไปจากนี้ก็เป็น "วิธีการของโจร"

3. ถามว่า การเข้ามาทำความดีในประเทศไทยนั้นทำได้ไหม ? คำตอบก็คือ เป็นคำถามที่ครอบจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิศาสนาในโลกนี้นั้น มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แม้ว่าทุกลัทธินิกายจะอ้างว่า "ทุกศาสนาล้วนแต่สอนคนให้เป็นคนดี"แต่การทำความดีตามลัทธิของตนโดยปราศจากความมีมิตรภาพต่อลัทธิอื่นๆ นั้น ก็เป็นชนวนแห่งการ "ทำความชั่ว" ระดับสงครามศาสนามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

4. ในประเทศศรีลังกานั้น ทราบว่ามีพระสงฆ์ในพุทธศาสนาอยู่ 3 นิกายด้วยกัน ได้แก่ นิกายสยามวงศ์ นิกายรามัญ และนิกายอมรปุระ ซึ่งสองนิกายหลังนี้ไปจากประเทศพม่า ส่วนนิกายสยามวงศ์นั้นไปจากกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งถ้าดูสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับศรีลังกาแล้ว รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยย่อมจะให้ความเคารพนับถือนิกายสยามวงศ์มากกว่าอีกสองนิกาย เพราะถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ไปจากประเทศไทยเรา

ทีนี้ว่า ถ้าหากคณะสงฆ์ไทย (โดยมหาเถรสมาคม) ไม่เห็นชอบให้มีการบวชภิกษุณีขึ้นในประเทศไทย ทางนิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ทราบเรื่องราวแล้ว ก็คงจะปฏิเสธไม่ยอมรับคำนิมนต์ให้มาทำการบวชภิกษุณีขึ้นในแดนไทย ทั้งนี้ก็เพราะเคารพและให้เกียรติในกันและกัน

กลับกัน สำหรับนิกาย อมรปุระ ซึ่งเป็นนิกายพม่า แทบว่าไม่รู้จักมักจี่กับคณะสงฆ์ไทย ครั้นได้รับนิมนต์จากสตรีไทยแล้ว ก็รีบบินมาทำสังฆกรรมขึ้นในเขตประเทศไทย โดยที่คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยมิได้รับทราบ

เรื่องนี้มิใช่แค่การ "เสียมารยาท" เท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำที่ "อุกอาจ" เพราะเป็นการทำผิดกฎหมายของประเทศอื่น ของพระมหาเถระ ระดับ "สมเด็จพระสังฆราช" แห่งศรีลังกา

ทางมหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทย จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อพฤติกรรมของ "พระมหินทวังสะ มหาสังฆนายกะแห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา" ในครั้งนี้ ก็ต้องติดตามดูอย่างไม่กระพริบตา ว่ามหาเถรสมาคมจะรักษาอำนาจในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยไว้ได้หรือไม่

ยกตัวอย่าง ในปี พ.ศ.2552 พระพรหมวังโส วัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวัดในสังกัดวัดหนองป่าพง ของหลวงพ่อชา จังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำการบวชภิกษุณีที่ประเทศออสเตรเลีย โดยมิได้รับการอนุญาตจากคณะสงฆ์ไทย จึงถูกคณะสงฆ์ไทย "ตัดออก" จากคณะสงฆ์ไทยไป ซึ่งนั่นยังเป็นเพียงการที่พระในสังกัดคณะสงฆ์ไทย "ไปทำการบวชภิกษุณีนอกราชอาณาจักร" ซึ่งทางคณะสงฆ์ไทยก็ไม่ยินยอมแล้ว

ในทางปกครองของคณะสงฆ์ไทยเรานั้น หากภิกษุรูปใดยังมิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ก็ไม่สามารถจะทำการบรรพชาอุปสมบทได้ ขืนทำก็ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว แต่ประสงค์จะไปทำการบรรพชาอุปสมบทในเขตอื่นๆ ซึ่งมีพระอุปัชฌาย์อยู่แล้ว ก็จะต้องมีการ "ขออนุญาต" ไปทำสังฆกรรมข้ามเขต มิเช่นนั้นก็จะถือว่าผิดจริยาพระสังฆาธิการระดับร้ายแรงด้วย

แต่ครั้งนี้ พระมหาสังฆนายกะ นิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา พร้อมด้วยภิกษุณีสงฆ์ ได้บินเข้าทำการบวชภิกษุณีขึ้น "ในราชอาณาจักรไทย" ถามว่า คณะสงฆ์ไทยยินยอมหรือไม่ และหากไม่ยินยอม ทางมหาเถรสมาคม อันนำโดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จะทำอย่างไร เพราะหากมหาเถรสมาคมไม่ทำอะไร ต่อไป ใครนึกอยากจะนิมนต์พระนิกายไหนมาบวชภิกษุณีขึ้นในเมืองไทยก็ได้ นั่นก็เท่ากับว่า ประเทศไทยไร้ขื่อแป เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไปแล้ว



อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
1 ธันวาคม 2557
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

คนชอบถาม

อยากตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า
- คนสงขลารู้จัก เคยไปเห็นกับตา สถานธรรม แห่งนี้สักกี่คน
- คนสงขลาคิดอย่างไรกับ สถานธรรม แห่งนี้บ้าง
- สถานธรรม แห่งนี้ มีกิจกรรมอะไรเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม หรือไม่
- มีเฉพาะ พุทธในไทย หรือไม่ ที่ปฏิเสธ ภิกษุณี  แล้วเป็นเพราะอะไร
- ภิกษุณีที่ครองตนได้ดี กับ ภิกษุที่ครองตนไม่ดี เรายกมือไหว้ใครได้สนิทใจกว่า
- ถ้าเป็น สถานธรรมบ้านนอก เหตุใด สังฆราชาศรีลังกาจึงยอมเดินทางมา ทั้งๆที่เสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา

คนไร้ศาสนา

ผมไม่เคยไปและไม่เคยรับรู้ถึงสถานปฏิบัติธรรมนี้ แต่แค่การกระทำที่ขัดต่อการห้ามให้มีการบวชภิกษุณี ผมก็มองว่าสถานปฏิบัติธรรมนี้มันก็ไม่น่าเชื่อถือแล้ว เมื่อคุณแหกหนึ่งข้อห้ามมันย่อมทำให้คุณแหกได้ทุกข้อห้าม

จ่าหรอย

คนไทยส่วนใหญ่น่าสงสาร ขาดความมั่นใจ เชื่อคนง่าย ชอบพี่งพาสิ่งเร้นลับ ฯลฯ เช่นเวลาใกล้หวยออกจะต้องมีเรื่องปัญญาอ่อนให้เป็นข่าวทุกงวด หรืออย่างบางคนจ้างพวก18มงกุฏมาดูฮวงจุ้ย ถ้ามันใช้ให้รื้อเสาบ้านก็รื้อตาม สั่งให้ทำไรก็ทำ คนพวกนี้น่าเวทนาที่เกิดมาโง่ให้คนอื่นจูงจมูกได้ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเขาจะจูงไปทางไหน?
ถ้าให้สรุป เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ขาดการศึกษา บางคนจบปริญญายังโง่กว่าคนจบป.4 เพราะขาดการศึกษา บางคนเขียนไม่ได้อ่านไม่ออก แต่โทษทีลูกๆจบปริญญาทุกคน เพราะเขาไม่ขาดการศึกษา
การศึกษาจึงไม่ใช่ใบรับรองวิทยะฐานะ แต่หมายถึงการไม่อยู่นิ่งเฉย ตาดู หูฟัง ปากถาม มือเขียน คือศึกษาหาความรู้ไปเรื่อย เพื่อให้ตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่อสังคม และสามารถพัฒนาตัวเองได้ 

คนเมืองสง

ท่านเจ้าคณะระดับต่างๆของสงขลาจงอย่านิ่งเฉย
โปรดให้ความเมตตาและเอื้อเฟื้อพระวินัย

ฟ้าเปลี่ยนสี

งานนี้วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ น่าจะชัดเจนน่ะครับ  ส.หัว

สำนักข่าว AECNEWS
ที่มา http://www.aecnews.co.th/buddhism/read/256

พศ.เสนอด่วนเรื่องบวชภิกษุณีเข้ามหาเถรสมาคม
วันที่:4-12-2557 เวลา:15:53:22

[attach=1]

จากการที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการบวชภิกษุณีขึ้นที่ทิพยสถานภิกษุณีอาราม ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีภิกษุณีและพระสงฆ์จากศรีลังกานำโดยพระมหินทวังสะมหาสังฆนายกแห่งนิกายอมรปุระประเทศศรีลังกาเข้าร่วมด้วยนั้น นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาในฝ่ายเถรวาท ซึ่งคณะสงฆ์ยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นหลัก ทั้งนี้ ในฝ่ายเถรวาทถือว่าภิกษุณีสงฆ์ได้หมดไปจากฝ่ายเถรวาทแล้ว ไม่สามารถทำการบวชหรือรื้อฟื้นขึ้นมาได้

อีกทั้งปัจจุบันคณะสงฆ์ยังถือปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓๑/๒๕๔๕  เรื่องการบวชภิกษุณีว่า ข้อแรกคณะสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติว่าด้วยการให้การบรรพชาอุปสมบทหญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานาและสามเณรีเป็นหลักปฏิบัติ และข้อสองคณะสงฆ์ปฏิบัติตามประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยเรื่องห้ามภิกษุสามเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.๒๔๗๑ ต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี ก็สามารถสมาทานศีล ๘ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมขั้นสูงได้

นอกจากนี้การที่พุทธศาสนิกชนมีความห่วงใยและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในประเทศไทยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณานั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลพร้อมจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ นี้ อนึ่ง ได้ทราบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า ปัจจุบันรัฐบาลศรีลังกาก็มิได้รับรองสถานะของภิกษุณีแต่อย่างใด รวมทั้งคณะสงฆ์ที่มาทำการบวชภิกษุณีในครั้งนี้ด้วย
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

ฟ้าเปลี่ยนสี

เรามาร่วมศึกษากันก่อนน่ะครับ ก่อนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์

บางสิ่งบางอย่างพวกเราอาจมองข้ามไป มันเป็นสิ่งละเอียดอ่อน

ทำให้ผู้หญิงบางครั้งออกมาเรียกร้องสิทธิว่าทำไมผู้ชายทำได้ ผู้หญิงทำไมทำไม่ได้

เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ก็นั้นแหละในความเห็นอกเห็นใจ

ก็ต้องอยู่ในหลักการ และ ความถูกต้องนั้นด้วย

ครับ มันเป็นคำถามคำตอบ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย

เหมือนบทสรุป ถามมา ตอบไป เข้าใจง่ายครับ

ซึ่งเนื้อความเดิม เป็นบทสนทนายาวมากครับ ต้องจับใจความเอา อันนี้เข้าใจง่ายครับ

ตามลิ้งค์นี้ครับ

http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2012/10/Y12862720/Y12862720.html
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

Mr.No

ถือเป็นประเด็นน่าสนใจครับ..

  เพราะมุมมองผมก็ยังเห็นว่า  เมื่อพระธรรมวินัยก็เอื้อ  และพุทธองค์ก็ทรงรับรองสิทธิของสตรีไว้ให้สามารถเข้าถึงการหลุดพ้นและบรรลุธรรมได้ ไม่แยก ชายหรือหญิง ดังนั้นประเด็นนี้ ผมก็เห็นว่า ถ้าจะมีภิกษุณีเกิดขึ้นในเมืองไทยก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

แต่สิ่งที่อาจต้องเข้าใจก็คือ สภาพสังคม ต่างหากที่อาจไม่เอื้อ... เหตุผลของการความแตกต่างทางเพศ คืออุปสรรคไม่เฉพาะในประเทศไทย หากแต่เป็นเรื่องทั่วไปของโลกที่ยังไม่สามารถยอมรับสิทธิสภาพของหญิงให้ขึ้นมาเทียมชายได้อย่างร้อยเปอร์เซนต์!

แม้นในประเทศที่บอกตัวเองว่าเป็น ประเทศเสรีภาพสุด ๆ อย่างอเมริกา เอาเข้าจริง แค่เรื่อง ผิวสี ก็ยังเป็นตราบาปและพิสูจน์ว่า มันยังมีอยู่ไม่หายไป

เรื่องอาณาจักร กับ ศาสนจักร จริง ๆ ก็ยังต้องเป็นไปในทางเดียวกัน โดยทั่วโลกแม้นในปัจจุบันก็ยังถือเอา อาณาจักรเป็นตัวนำ, ชี้และกำกับศาสนจักรเสมอ ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย

การปกครองไทยกับศาสนาพุทธก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายอาณาจักรต้องเข้าไปคอยควบคุมกำกับไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรืออ้อมมาโดยตลอด ด้วยเหตุของความมั่นคงนับแต่ประวัติศาสตร์ที่มองว่า  ความศรัทธาที่มาจากศาสนาจักรนั้น เป็นทั้งคุณและโทษ เพราะสามารถชี้นำหรือเบี่ยงเบนให้สังคมหรือผู้คนยอมรับหรือปฎิเสธอำนาจปกครองได้มานับแต่โบราณ   

การออก พ.ร.บ สงฆ์ และการที่ มหาเถรสมาคม มีความเกี่ยวพันให้คุณให้โทษ กับพระชั้นต่าง ๆ ได้คือการขีดกรอบล้อมรั้วให้ศาสนจักรอยู่ในร่องในรอยตราบเท่าที่อาณาจักรจะเชื่อได้ว่า ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้าน "ความมั่นคง"

ดังนั้น ประเด็นท่าจะเถียงกันว่า การอนุญาตให้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้หรือไม่ต่าง พระธรรมวินัย หรือพุทธานุญาตจึงตัดประเด็นนี้ออกไปได้ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องถกเถียงกัน

ผมมองว่า การที่ พระสังฆราชจากศรีลังกา ท่านเดินทางมาบวชให้ภิกษุณีเองเป็นการส่วนตัว จึงเป็นกรณีที่ มหาเถรสมาคมเองต่างหากที่จะต้องลุกขึ้นมาขยับเรื่องนี้ และเปิดใจว่ากันแบบจริง ๆ จัง ๆ เสียทีว่า จะเอาแบบใด

เพราะถ้าบอกว่า "บวชไม่ได้" แต่  พระธรรมวินัย และพุทธองค์ทรงอนุญาต  งานนี้ก็เท่ากับ ไปตัดทอนหรือละเมิดพระธรรมวินัยของพุทธองค์ และตู่เอากฎของตัวเองเป็นใหญ่กว่า "พระธรรมวินัย" ก็จะยิ่งกลายเป็นกรณีประหลาดและสับสนกันใหญ่

สมัยก่อนมี สำนวนว่า "ยศช้างขุนนางพระ" เพื่อชี้ให้เห็นเป็นทำนองประชดว่า การนำเอาบรรดาศักดิ์มาใส่ให้ ทั้งช้างทั้งพระ เป็นเรื่องที่ไม่มีความหมาย เพราะ ต่อให้ ช้างศึกมีตำแหน่งแห่งยศถึงชั้นเจ้าพระยา  แต่ช้างก็หารุ้ไม้ว่านี่คือตำแหน่งไปเพื่ออะไร 

หรืออย่างการแต่งตั้งให้พระท่านเป็นชนชั้นนั้นชั้นนี้เทียบเท่ากับขุนนาง มีอำนาจบังคับระดับสังฆาธิการ ฯลฯ แต่มันจะประโยชน์อะไรเมื่อพระท่านไม่ได้หวังเกียรติลาภยศที่อาจเป็นกิเลสเครื่องกั้นเหล่านี้     

แต่เอาเข้าจริงทุกวันนี้ ผมก็เห็นว่า มหาเถรสมาคม และบรรดาพระสงฆ์องคเจ้าหลาย ๆ รูปที่ได้รับตำแหน่งแห่งหน ทำท่าจะทึกทักและเข้าใจว่า ท่านเป็น "ขุนนาง" เอาซะจริง ๆ

ดังนั้น กรณีของ "ภิกษุณี"  จึงเป็นเรื่องน่าติดตามว่า  มหาเถรฯ ท่านจะให้เหตุผลใด กล่าวคือ

1. ถ้ายกเอาเรื่องพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้ง 2471 บัดนี้ ท่านสิ้นไปแล้ว การยกมาใช้คงไม่ได้ทำให้ มหาเถรสมาคมฯ มีเหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าที่เคยใช้อ้าง
2. หรือถ้าจะบอกว่า เถรวาทไทย ห้ามภิกษุทำการบวชให้แก่ภิกษุณี  (เพื่อเลี่ยงบาลี จากพุทธานุญาตที่ทรงให้กระทำโดยสงฆ์สองฝ่าย) ปัญหาก็คือ การห้ามภิกษุทำการบวชนั้นเป็นการกำหนดข้อบังคับขึ้นใช้เองเพื่อป้องกันปัญหานี้ แต่ทำให้เจตนารมณ์แห่งพุทธานุญาตที่จะให้หญิงสามารถเข้าถึงและบรรลุธรรมได้เท่าเทียมชายนั้น เสียไปหรือไม่

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะให้ ชาวพุทธได้เข้าใจก็คือ   ช่วยอรรถาให้ประชาชนได้เข้าใจว่า อันไหนคือ พุทธานุญาต,คือพระธรรมวินัย และอันไหนเป็นเพียงกฎที่ตั้งขึ้นมาปกครองและกำหนดกันเอง

ผมคิดว่า  ถึงเวลาที่ มหาเถรสมาคม จะต้องเปิดใจและรับฟังการสะท้อนปัญหาให้ถึงแก่นเสียทีว่า การปกครองหรือแนวทางการวางกรอบสังฆมณฑลแบบเดิมที่อิงเอาระบบการปกครองฝ่ายโลก แต่ละทิ้ง พระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ปลอยปละละเลย และทำให้แก่นของพุทธแท้กลายเป็นเรื่องเพียงเปลือกกระพี้ อิงแต่ประเพณีและวัฒนธรรม แต่กลับไม่ทำให้คนได้เข้าถึงธรรมอันง่ายและเป็นไปได้ของพุทธองค์   ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและกลับมายึดเอาแนวทางการควบคุมให้ภิกษุเดินอยุ่ในแนวทางที่สอดคล้องกับ ธรรมวินัยและธรรมะของพุทธองค์อย่างเคร่งครัด น่าจะทำให้ ศาสนาพุทธไม่ถดถอยจากความเสื่อมไปเร็วกว่าที่เรา ๆ คาดคิด

เปิดใจยอมรับกันกับ ความเสื่อมของ สงฆ์ไทย ที่ ทุกวันนี้ ทำให้เกิดกรณี "วิกฤตศรัทธา" และการแสวงหา "พุทธแท้" ที่ถูกต้องกำลังมีมากขึ้นทุกที เพราะหากปล่อยให้มหาเถรสมาคมควบคุมดูแลสงฆ์ด้วยการเอา ยศถาฯ,ตำแหน่งและลาภยศเป็นตัวตั้ง มุ่งแต่จะพิจารณาสรรหาพวกพ้อง และมุมมองวัดดี,พระดี ด้วยวัตถุ,วัดวาใหญ๋โต แข่งกันสร้างราวทิพยวิมาน...เงินทองล้นหลามวัด ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนทำให้ คนไทยเริ่มเสื่อมต่อ ศาสนาพุทธแบบเดิม ๆ 

และหาก มหาเถรสมาคมไม่ขยับ และไม่ยอมรับว่า ได้ยึดติดกับ "ขุนนาง" เข้าไปเต็มตัวแล้ว ถ้าไม่ถอดหัวโขนและกลับมามองตัวตนให้แท้ว่าที่แท้ตนคือแค่  "นักบวช" ผู้เลี้ยงดูง่าย และเป็นไปเพื่อการ หลุดพ้น สุดท้าย ผมเชื่อว่า ในวันหนึ่งข้างหนึ่ง เถรวาทไทยแบบเดิม ๆ นี่ละที่อาจกลายเป็นเพียง "อดีตนิกาย" หนึ่ง ที่ไม่สอดคล้อง กับแนวทางพุทธที่ถูกต้อง

กล่าวโดยสรุป   ผมคิดว่า การมีหรือไม่มีภิกษุณีนั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่น่าติดตามคือ  เหตุผลใดต่างหากที่ทำให้  มหาเถรสมาคม ไม่อาจทำให้ พระสัทธรรมหรือไม่อาจทำให้ชาวพุทธมอง ภิกษุตามท้องตลาดไม่ต่างจากแค่ นักบวชอาศัยผ้าเหลืองทำมาหากินไม่ว่าจะเป็น พ่นน้ำหมาก..สักเศกเลขยันต์..ปรกปลุกเสกเครื่องราง เจิมโน่นนี่เป็นพ่อมดหมอผีไร้สาระได้เลย  นี่ต่างหากคือโจทย์?
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

คนเมืองสง

อยากมีก็มีไป แต่ขอให้ไปสร้างวัดเอาใหม่นะ
อ้อ ..ช่วยออกแบบจีวรใหม่ด้วยแระกานน
ใช้แบบเดียวกันเหมือนใช้ร่วมกัน สยองงงงง...ว่ะ
แล้วบทสวดก็โปรดประพันธ์เอาใหม่ด้วย

ฟ้าเปลี่ยนสี

โพสไม่ใช่ทำให้เกิดความแตกแยก แต่เพื่อความชัดเจน และ ถูกต้อง น่ะครับ  ส.ตากุลิบกุลิบ

น่าจะชัดเจนตาม ย่อหน้าสุดท้ายของบทความนี้ครับ 

[attach=1]

[attach=2]
[attach=3]

วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พระพรหมเมธี กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม(มส.) กล่าวภายหลังประชุมมส.ว่า จากการที่พระศรีลังกามาบวชภิกษุณีในประเทศไทย จำนวน 47 คน ณ ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เมื่อเร็วๆนี้นั้น ที่ประชุมมส.ได้มีการหารือกรณีดังกล่าวแล้ว และได้มีมติให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศ ปฏิบัติตามประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 โดยห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรทุกนิกายบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา เป็นสามเณรี ด้วยเหตุผลที่ว่า นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว

พระพรหมเมธี กล่าวต่อไปว่าแต่เดิมข้อบัญญัติในภิกขุนีขันธกะแห่งวินัยปิฎก ในพระไตรปิฎกกำหนดไว้ว่าผู้หญิงทั่วไปที่อายุยังไม่ครบ20ปีสามารถเข้ารับบรรพชาเป็นสามเณรี และเมื่ออายุได้18ปีให้บวชเป็นสิขมานาผู้รักษาศีล6ข้อ ซึ่งจะขาดไม่ได้แม้แต่ข้อเดียวเป็นเวลา 2ปี จนมีอายุครบ20ปี จึงจะสามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีจากอุภโตสงฆ์ คือ คณะสงฆ์2ฝ่าย ได้แก่ ภิกษุณี และภิกษุสงฆ์เถรวาท แต่เมื่อปัจจุบันภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ขาดสูญไปแล้วการบรรพชาสามเณรีและการอุปสมบทภิกษุณีโดยภิกษุสงฆ์เถรวาทเพียงฝ่ายเดียวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

กรรมการและโฆษกมส. กล่าวอีกว่า ภิกษุณีสงฆ์ก็ได้ขาดสูญไปจากประเทศศรีลังกาแล้วเช่นกันตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าวิชัยพาหุ  ซึ่งในปัจจุบันคณะสงฆ์และรัฐบาลศรีลังกาก็ไม่ได้รับรองสถานภาพของภิกษุณีในศรีลังกาด้วยเหตุผลที่ว่าภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้ขาดสูญไปนานแล้ว การนำภิกษุและภิกษุณีสงฆ์มหายานจากเกาหลีและไต้หวันมาร่วมอุปสมบทแก่ภิกษุณีเถรวาทที่อินเดียย่อมทำให้สังฆกรรมนั้นบกพร่องไม่เป็นไปตามพระวินัยกำหนด  ทั้งนี้มหาเถรสมาคมยังได้มอบหมายให้พศ.ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศในการที่จะออกประกาศให้พระสงฆ์จากต่างประเทศที่จะมาจัดพิธีบรรพชา อุปสมบทในประเทศไทย ต้องแจ้งให้มหาเถรสมาคมรับทราบ และได้รับหนังสืออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเพื่อป้องกันเหตุการณ์เหมือนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลาอีก

"เราไม่ได้ห้ามไม่ให้ภิกษุณีอยู่ในประเทศไทยแต่มหาเถรสมาคมห้ามภิกษุบวชภิกษุณีในประเทศไทย เพราะตามประวัติศาสตร์ถือว่าภิกษุณีเถรวาทหมดไปจากประเทศไทยแล้ว และที่มีการกล่าวอ้างว่า มีพระมหินทวังสะเจ้าอาวาสวัดทีปทุตมาราม แห่งนิกายอมรปุระ  ประเทศศรีลังกามาเป็นประธานบวชภิกษุณีในประเทศไทยก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ตามทราบว่าในเร็วๆนี้จะมีการบวชภิกษุณีอีกจึงมอบหมายให้พศ.ติดตามและดำเนินการตามประกาศดังกล่าวต่อไป" โฆษกมหาเถรสมาคม กล่าว
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

กวินท์

ME Dynasty Soundsystem
ให้เช่า เครื่องเสียง ระบบไฟ เวที
098-4511563
https://www.facebook.com/MeDynasty/

หาดใหญ่ใหม่

ห้ามบวชแต่ไม่ห้ามมีภิกษุณีในประเทศไทย อะไร ยังไงนิ ไปบวชที่อื่นแล้วมาอยู่ที่นี่ได้อย่างนั้นหรือ แล้วมีแต่ที่เกาะยอที่เดียวหรือมีที่อื่นด้วยในประเทศไทย

หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

ฟ้าเปลี่ยนสี

อ้างจาก: หาดใหญ่นิวส์ เมื่อ 13:31 น.  12 ธ.ค 57
ห้ามบวชแต่ไม่ห้ามมีภิกษุณีในประเทศไทย อะไร ยังไงนิ ไปบวชที่อื่นแล้วมาอยู่ที่นี่ได้อย่างนั้นหรือ แล้วมีแต่ที่เกาะยอที่เดียวหรือมีที่อื่นด้วยในประเทศไทย

ห้ามบวชแต่ไม่ห้ามมีภิกษุณีในประเทศไทย อะไร ยังไงนิ ไปบวชที่อื่นแล้วมาอยู่ที่นี่ได้อย่างนั้นหรือ

ตอบแบบรวมๆน่ะครับ มันเหมือนมีอะไรๆที่พันๆกันอยู่ครับ ระหว่าง มหาเถรสมาคม กับ กฎหมายของไทยที่ควบคุมโดยกระทรวงมหาไทย เลยไม่รู้ว่าบทสรุปเป็นอย่างไรครับ ประเด็นพวกนี้มีการถกเถียงกันตั้งแต่สมัยแรกครั้นมี ภิกษุณี รูปแรกในประเทศไทยแล้วครับ ทำให้ต้องมาคิดเอาเองว่า เราจะยึดอะไรเป็นหลักครับ

ภิกษุณีเองจะยึดอะไรเป็นหลัก จะยึดที่มาที่ไปของตัวเองเป็นหลัก เพื่อความสง่า มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่ หรือ จะยึดเพียงเพื่อต้องการรูปแบบชีวิตของนักบวชสตรีที่ชัดเจนในการประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลสิกขาบททั้ง ๑๐ ข้อ และเพื่อการสำรวมระวังในชีวิตพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้นไป และเน้นปฎิบัติ เผยแพร่พระธรรมคำสอนของพุทธศาสนา อันนี้คือหลักใหญ่ ที่ว่าถึงตัวบุคคลครับ

เพราะการบวชสามเณรี และ ภิกษุณี ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทยน่ะครับ มีการบวชหลายครั้งแล้วครับในประเทศไทย คำถามคือ ทำไมไม่เป็นข่าว ทำไมที่เกาะยอ มีกิจกรรมครั้งนี้แล้วจึ่งเป็นข่าว มันน่าคิดน่ะครับ

ทีกล่าวมา กล่าวถึงตัวบุคคล หลังจากนี้เรามาว่ากันเรื่ององค์กรครับ ทางคณะสงฆ์ไทย ก็จะอ้าง เป็นเรื่องของพระวินัย เป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่า ไม่คัดค้านผู้หญิง ที่เดินทางไปบวช สามเณรีหรือ ภิกษุณี จากต่างประเทศ แล้วกลับมาเมืองไทย แต่ทางสงฆ์ไทย ไม่มีหน้าที่ดูแลผู้หญิง ที่บวชมาจากต่างประเทศ คนเหล่านี้ ต้องให้อยู่ในความดูแล ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ กระทรวงมหาดไทยว่า จะให้อยู่ในฐานะอะไร มีทั้งนักบวช นักพรต ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นพระพม่า เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ต้องเป็นเรื่องของ กระทรวงมหาดไทยดูแล แต่ประเด็นที่อยากให้ประชาชนได้ทราบและเข้าใจ คือ ไม่ใช่ว่าพระสงฆ์ ไม่ยอมบวชให้สามเณรี หรือภิกษุณี แต่พระไม่มีสิทธิที่จะบวชให้คนเหล่านี้ ทางออกในเรื่องนี้ จึงไม่มี เพราะพระธรรมกำหนดไว้เช่นนั้น

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม พระสงฆ์ไทยบวช ภิกษุณี ไม่ได้ ครับ

แล้วประเด็นที่ว่า ภิกษุณีบวชจากที่อื่น สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้นั้นเพราะว่า การบวชเป็นภิกษุณี เป็นเสรีภาพครับ ที่ไม่มีความผิดทางกฎหมาย สิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง เปิดช่อง ให้มีการบวชภิกษุณี เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ว่า โดยอ้างอิง รัฐธรรมนูญใหม่ ในมาตรา ๓๘ ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือสิทธิ ในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพ ในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบ หรือศีลธรรมของประชาชน ควบคู่กับปฏิญญาสากล ข้อที่ ๑๘ ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ ในการนับถือศาสนา ครับผม

ผมเลยอยากทราบว่า มันจะหาข้อสรุป ได้อย่างไรกันครับ

หรือจะออกมาในรูป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างพิจารณา ผมก็ว่าดีน่ะครับ เพราะผมยังเชื่อมั่นว่า บทบาทและผลงานรวมถึง การปฎิบัติตนของบุคคล ในการเผยแผ่พระธรรม คำสอน ยังเป็นเครื่องตัดสินซึ่งความ มีจิตศรัทธาในบุคคลคนนั้น และจะเชื่อมโยงไปถึงการมีส่วนร่วม ต่อๆไปด้วยกันครับ

แล้วมีแต่ที่เกาะยอที่เดียวหรือมีที่อื่นด้วยในประเทศไทย

ถ้าหมายถึงในประเทศไทยมีภิกษุณีอยู่กี่แห่ง เท่าที่รวบรวม ศึกษาน่ะครับ ประเทศไทยมีภิกษุณีอยู่ทั่วไปครับ ที่มีมาก ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ส่วนภาคอีสานไม่แน่ใจครับ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่น่ะครับ

กลุ่มที่ 1 รูปนี้เป็นภิกษุณีรูปที่ สอง ของประเทศไทยคือท่าน ภิกษุณีธัมมนันทา รูปนี้ท่านเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในประเทศ และ นอกประเทศ ครับซึ่งมี ภิกษุณีธัมมทีปา หัวหน้าอารามทิพยสถานธรรม เกาะยอ สงขลา นี้แหละเป็นวัดสาขา ทางภาคใต้ และยังมีสาขาอีกไม่ว่าที่ จ.พะเยา และ จ.สุราษฏร์ธานี ครับ

[attach=1]

ประวัติ บทบาท ผลงาน สามารถหาอ่านตามลิ้งค์นี้น่ะครับ

http://www.thaibhikkhunis.org/thai2556/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=7&Itemid=11

กลุ่มที่ 2 ภิกษุณีนันทญาณี  (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ) รูปนี้จะเป็นที่รู้จักในวงแคบครับ ในภาคเหนือไม่มีใครที่ไม่รู้จักท่านครับเน้นปฎิบัติ เหมือนพระป่า อยู่ทางภาคเหนือ มี 1 สาขา แต่ก็ยังอยู่ในภาคเหนือ ครับ

[attach=2]

ประวัติ บทบาท ผลงาน สามารถหาอ่านตามลิ้งค์นี้น่ะครับ

http://www.nirotharam.com/

นอกจากที่กล่าวถึงก็จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ครับ ไม่มีบทบาทในสังคมมากครับ  ส.หัว






ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

Mr.No


  จริง ๆ เรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า  มหาเถรสมาคม กำลังจะจนกระดาน เพราะยิ่งอ่านเหตุผลของการห้าม ไว้โดยโฆษก มหาเถรสมาคม ที่บอกว่า  "เราไม่ได้ห้ามไม่ ให้ภิกษุณีอยู่ในประเทศไทยแต่มหาเถรสมาคมห้ามภิกษุบวชภิกษุณีในประเทศไทย เพราะตามประวัติศาสตร์ถือว่าภิกษุณีเถรวาทหมดไปจากประเทศไทยแล้ว และที่มีการกล่าวอ้างว่า มีพระมหินทวังสะเจ้าอาวาสวัดทีปทุตมาราม แห่งนิกายอมรปุระ  ประเทศศรีลังกามาเป็นประธานบวชภิกษุณีในประเทศไทยก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อ ประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ตามทราบว่าในเร็วๆนี้จะมีการบวชภิกษุณีอีกจึงมอบหมายให้พศ.ติดตาม และดำเนินการตามประกาศดังกล่าวต่อไป"

กรณีที่ 1  การนำเอาเหตุผลทางประวัติศาสตร์ว่า ภิกษุณีเถรวาทหมดไปจากประเทศไทยแล้ว ประกอบเหตุผลว่าเป็นคำสั่งของเจ้าประคุณพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งเคยทรงประกาศห้ามไว้เมื่อ พ.ศ 2471 นำมาเพื่อทำให้ พุทธานุญาตและครุธรรม 8 ประการของพระศาสดาไม่มีความหมาย ดูเป็นการทำให้ศาสนาพุทธแปร่ง ๆ และผิดเพี้ยนกันไปหรือไม่?

ทั้งที่ประเทศไทยเราภูมิใจนักหนาว่า เป็นศาสนาพุทธที่สืบทอดแนวทางเก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับพระอริยะสงฆ์ที่ทำปฐมสังคายนาครั้งแรกที่มีความเห็นว่า เราจะธำรงแนวทางของพุทธองค์เดิมไว้อย่างเคร่งครัดทั้งตัวบทพระธรรมวินัย,พุทธดำรัส และการรักษาภาษาเดิมคือภาษาบาลี (ถึงขนาดภาษาที่ไม่ยอมให้เปลี่ยนไปใช้ภาษาอื่นเพราะเกรงจะผิดเพี้ยนเปลี่ยนไป) เราจึงมีนิกายที่ชื่อ เถรวาท ที่หมายถึง แนวทางตาม วาทะของพระเถระอย่างเคร่งครัด (พระเถระนี้หมายถึงพระเถระเฉพาะที่ทำปฐมสังคายานาในครั้งแรกนั้น) มิใช่หรือ?

มหาเถรสมาคมคงจำได้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยที่ศาสนาพุทธในอินเดีย, ศรีลังกา เสื่อมลงจนถึงขนาดศรีลังกาไม่มีภิกษุเหลืออยู่ ประเทศสยามต้องส่งพระภิกษุไปบวชให้คนศรีลังกาเพื่อให้พระศาสนาธำรงอยู่ต่อไปในประเทศนี้มิใช่หรือ?

กรณีที่ 2 เมื่อย้อนลึกไปกว่านั้น กรณีที่พระนางสังฆมิตตาเถรี เดินทางไปศรีลังกาเพื่อบวชภิกษุณีให้แก่สตรีชาวศรีลังกา ก็ถือเป็นหนี่งในภาระกิจของการฟื้นฟูพระศาสนาที่ควรจะมีครบทั้ง 4 พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ทั้งสองกรณีเป็นไปตาม พระวินัย,พุทธานุญาต ซึ่งเมื่อเปรียบกับ คำสั่งของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเคยทรงใช้คำสั่งทางการปกครองคณะสงฆ์ คงไม่ต้องแปลความว่า ชาวพุทธจะคิดว่าแบบใดจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผลกว่า
ผมยิ่งเห็นว่านี่จะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับเหตุปัจจัย และตรงตามพระธรรมวินัย และพุทธานุญาต ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่า ระบบการปกครองคณะสังมณฑลไทย กำลังจะผิดเพี้ยนไปเป็น อาจริยวาท แทนที่จะเป็น เถรวาท เอาซะเองแล้ว

การแตกแขนงออกเป็นนิกายต่าง ๆ สารพัด มักมีต้นทางที่เกิดจากการไม่ยอมแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เบ็ดเสร็จ เช่นนั้นและปล่อยให้เรื้อรังจนยากเกินแก้เสมอ

ความเห็นส่วนตัวของผม...ว่า อยากให้มี ภิกษุณีหรือไม่?      ผมก็ตอบตามตรงว่า "ไม่ค่อยอยากให้มี!"

  ซึ่งลึก ๆ เข้าไปก็อาจคล้ายกับสิ่งในใจของมหาเถรสมาคมและหลายคนที่มองว่า  อาจคุมได้ยากและอาจทำให้ ความศรัทธาที่มีต่อภิกษุในอาวาทของมหาเถรสมาคมลดลงซึ่งนั่นอาจนำไปสู่  ปัญหาด้านความมั่นคง

แต่.... เมื่อต้องการจะแก้ปัญหาให้เด็ดขาดและไม่ต้องมาเวียนวนซ้ำซาก ก็ต้องว่ากันให้ชัด ๆ ตรง ๆ 
ก็คือ การทำให้ภิกษุณีเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ตามบรมพุทธานุญาต และพระธรรมวินัย
แต่สิ่งที่ต้องทำให้เข้มก็คือ เรื่องการตรวจสอบและคัดกรองให้สตรีที่จะเข้าบรรพชาเป็นสามเณรี, หรือสิกขมานา ที่เตรียมจะเป็นภิกษุณี ต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด ทั้งพระธรรมวินัยเดิม(ศีลวินัย) และ ครุธรรม 8 ประการสำคัญที่พุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุณีพึงต้องปฎิบัติตลอดชีวิต

เพราะในส่วนของเหล่าภิกษุณีที่อยู่ในเมืองไทยปัจจุบันผมก็ยังมีความเห็นว่าท่านก็ยัง "ไม่ผ่าน!"

เพราะทีท่าส่วนใหญ่ดูจะเป็นการดำเนินไปในทางการ แยกเอาเป็นกิจส่วนตัว เอาซะมาก  และ ครุธรรม 8 ประการสำคัญที่พุทธเจ้าบัญญัติให้ต้องประพฤติปฎิบัติตลอดชีวิต ต่างก็ไม่ได้นำมาปฎิบัติกัน ซึ่งก็มีคำถามกลับไปยังเหล่าภิกษุณีที่ตั้งสำนักกันในปัจจุบันเช่นกันว่าเมื่อครุธรรมสำคัญที่สุดขาดแล้ว การเป็นภิกษุณีที่อุตส่าห์บวชมานั้นมันจะสมบูรณ์และจะดำรงตนอยุ่ในฐานะภิกษุณีตามบรมพุทธานุญาตได้อย่างไร

2 ใน 8 ประการ  ไม่ว่าจะเป็นการที่พุทธเจ้า ทรงบัญญัติให้ ภิกษุณีต้องพึงจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุอยุ่ด้วย...หรือกรณีที่ภิกษุณีต้องถามวันอุโบสถและเข้าฟังธรรมจากภิกษุทุก ๆ 15 วัน นั้น สองข้อนี้ได้กระทำกันหรือไม่?

กรณีที่ภิกษุณีธัมมนันทา ท่านเคยให้สัมภาษณ์แก้ต่างว่า การที่มีสำนักของตนและอยู่จำพรรษาโดยไม่มีภิกษุนั้น ถือว่าไม่ผิดครุธรรม ท่านให้เหตุผลว่า  " ในครุธรรมที่ระบุอย่างนั้น เพื่อให้ผู้หญิงปลอดภัย บัดนี้เราแสวงหาความปลอดภัยได้แล้ว เราจึงไม่ได้อยู่กับพระภิกษุสงฆ์ แต่ไม่ใช่เราไม่เคารพ เราเข้าใจที่กำหนดให้ภิกษุณีอยู่อารามเดียวกับพระภิกษุสงฆ์ในสมัยโบราณ เพื่ออาศัยให้พระภิกษุดูแลเรา"

ส่วนอีกข้อหนึ่งของครุธรรมคือ ทุก15 วันของเดือน ภิกษุณีสงฆ์ต้องฟังโอวาทจากพระภิกษุสงฆ์ ท่านตอบว่า  "เราทำอยู่ เราทั้งนิมนต์พระมาที่วัดและออกไปหาพระ พระที่จะมาให้โอวาทได้ต้อง 20 พรรษาขึ้น และต้องรู้พระธรรมวินัยดีด้วย เราก็ลงปาติโมกข์กัน"

การตีความครุธรรมอันเป็นธรรมอันหนักยิ่งที่พุทธเจ้าบัญญัติไว้เองแบบนี้  ถือเป็นการตู่พระธรรมวินัยชนิดหนึ่งที่เป็นอันตราย!

ภิกษุณีธัมมนันทา แก่กล้าพระธรรมวินัยหรือเก่งกาจเพียงใดถึงกล้าตีความครุธรรมเอาเองว่า เหตุที่ทรงกำหนดให้ต้องอยุ่จำพรรษาในอาวาสเดียวกันกับภิกษุสงฆ์นั้น เป็นไปตามเหตุผลที่ตนแสดงตีความเออออเองกระนั้นหรือ?

เมื่อข้อแรกตีความผิด..ก็ทำให้เกิดมิจฉาทิฎฐิในประการต่อมา เพราะไปตีความว่า ที่สำนักได้ทำอยุ่คือการนิมนต์พระมา และออกไปหาพระเอง และกำหนดคุณสมบัติเอาว่า พระที่จะมาให้โอวาทต้งมีพรรษามากเท่าโน้นนี่  นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดแนวคิดเช่นนี้

เพราะแค่เริ่มต้นก็เริ่มจะทำให้พระสัทธรรมบิดเบือน ไม่ทำตามครุธรรมแต่ยังตีความไปในทางที่ผิดเพี้ยนเอาความสะดวกแก่ตน แบบนี้ ถือว่า ยังไม่ผ่านและเป็น อันตรายไม่น้อยเช่นกัน

นี่อาจเป็นเหตุผลว่า เหตุใดที่พุทธองค์ถึงทรงต้องรอให้พระอานนท์ทูลขอให้ทรงอนุญาตให้พระนางปชาบดีได้บวชเป็นภิกษุณีได้บวชถึงสามครั้งสามคราจึงทรงมีบรมพุทธานุญาตและให้มีครุธรรม 8 ประการไว้เป็นด่านสำคัญเพื่อสกัดกั้น หลายประการใน ทิฏฐิทั้ง 62 ประเภทของมนุษย์ที่พระองค์ทรงรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี

สรุปว่าการจะให้มีภิกษุณีในเมืองไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องยากในการจัดให้มีได้เพื่อให้ตรงตามพุทธานุญาต แต่สิ่งที่ต้องทำและยากกว่าคือการควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งในระยะ สองปีของการเตรียมก่อนเป็นภิกษุณี และที่สำคัญ ครุธรรม 8 ประการต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยปราศจากการตีความเบี่ยงเบนเอาเองแบบที่ปรากฎ

นี่น่าจะเป็นโจทย์ยากสำหรับมหาเถรสมาคม เพราะลำพังแค่คุมภิกษุเพี้ยน ๆ และเหล่าอลัชชีที่สร้างรอยด่างให้พระศาสนา ยังไม่ค่อยจะคืบหน้าไปไหน  แถมเกิดจะมีภิกษุณีให้เข้ามาเป็นการบ้านตรวจตราอีก แบบนี้ เจ้าประคุณท่านทั้งหลายคงลำบากทั้งกายและใจน่าดู

แต่ทางออกก็ไม่ได้ยาก..แค่ กลับไปเป็น "ขุนนางพระ" ในแบบสำนวนไทยเดิม ๆ ที่ไม่ยึดติดกับ..ตำแหน่งแห่งยศ เอาพระธรรมวินัยและสวมหัวใจความเป็นบุตรแห่งพุทธองค์ไว้ร้อยเปอร์เซนต์  เชื่อเถอะว่า ทางออกอย่างสวยงามและการทำให้พระศาสนาธำรงอย่างไม่เสื่อมคลายไปอย่างน้อยก็อีกหลายพันปีทีเดียว

..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

คนชอบถาม

ต้องขอขอบคุณ Mr.No มากครับที่ให้ข้อมูล เหตุผลที่เป็นประโยชน์
ทำให้เว็บบอร์ดแห่งนี้ เป็นสังคมปัญญา ที่ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่แตกต่างได้ แต่รับฟังซึ่งกันและกัน
ไม่หลงติดยึดอยู่แต่ฐานความคิดเก่าๆซ้ำซากของตนเอง

Mr.No

อ้างจาก: คนชอบถาม เมื่อ 10:24 น.  14 ธ.ค 57
ต้องขอขอบคุณ Mr.No มากครับที่ให้ข้อมูล เหตุผลที่เป็นประโยชน์
ทำให้เว็บบอร์ดแห่งนี้ เป็นสังคมปัญญา ที่ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่แตกต่างได้ แต่รับฟังซึ่งกันและกัน
ไม่หลงติดยึดอยู่แต่ฐานความคิดเก่าๆซ้ำซากของตนเอง

ขอบคุณเช่นกันครับที่สนใจในเรื่องนี้
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

Mr.No

  คำตอบที่ยากกว่า..สำหรับการปฎิบัติตนเพื่อให้เข้าใจในพระสัทธรรมที่ถูกต้อง  ลองใช้ปัญญาพิจารณาดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากสองสามคลิปนี้ คงก็พอจะเห็นภาพครับ



ภิกษุณีที่ไปบวชในศรีลังกา แต่เมื่อกลับมาก็เลือกที่จะ แก้กรรม..ปลุกเสก..ทำพิธีกรรมเสริมพลัง????

เพี้ยน ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาซับซ้อนต่อไปหรือไม่?


https://www.youtube.com/watch?v=DOgqYHYdd2k
พระสุระ สุรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดธรรมโสฬส ภิกขุที่ยังไม่สายเกินไปกับการค้นพบทางสว่างอันเป็นแนวทางพุทธแท้


..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

เบลอมัวเลือน

เมื่อวานเป็นใคร ก็ไม่รู้

วันนี้โกนหัว สวดมนต์ ได้ ก็มีคนกราบไหว้ มีคนให้ข้าวกิน มีเงินถวาย


เหตุเพราะ หากเปรียบ นักบวช เป็นอาชีพหนึ่ง นักบวชที่ดี จะไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนได้ (กลับกัน นักบวชที่เลว จะร่ำรวย) การที่ไมาสามารถหาเงินได้เอง แต่ท่านนักบวชเหล่านั้น มุ่งจะช่วยทำให่คนธรรมดาพ้นทุกข์ อย่ากระนั้นเลย เราคนธรรมดา ที่หาเงินกันได้อยู่ในวิถี โลกๆ ก็ช่วยกันเกื้อหนุน นักบวช พระสงฆ์ เหล่านั้นเถิด ท่านจะได้ไม่ต้องกังวลในการหาปัจจัยสี่ จะได้มีเวลาทั้งวันทั้งชีวิต มุ่งไปศึกษาธรรม ศึกษา ภาษาบาลี (ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ เราชาวพุทธ "เชื่อว่า" ท่านเหล่านี้ มุ่งจะศึกษาพระธรรม และจะเป็นผู้นำ คอยกำกับให้เรา อยู่ใน "ลู่ทาง" ของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ดังนั้นการให้ของเรา ได้ให้กับ บุคคลที่เรา "เชื่อว่า" จะเป็นผู้มี "คุณ" ต่อเรา เราให้แล้ว เราจึงต้องกราบไหว้ ไม่เหมือนกับให้ บุคคลที่เท่าเทียมกัน หรือ บุคคลที่เชื่อว่าต่ำกว่า เช่น ให้กับ ขอทาน เพราะ ไม่คาดว่าคนเหล่านั้นจะมีคุณกับเราได้ แต่เราให้กับขอทานด้วยความเมตตาสงสาร

เป็นเหมือนที่เรา เคารพนับถือ "ครู" เพราะ "ครู" เป็นคนที่ศึกษาบางเรื่องมาดีกว่าเรา เราต้องเคารพ "เชื่อฟัง" และ "ยกระดับ" ให้ "ครู" อยู่เหนือกว่าเรา สิ่งนี้ทำให้เรา "ยอม" คุณครู ในการอบรม แนะนำสั่งสอน และ"เรา" ก็พร้อมจะ "เชื่อฟัง"

ถ้าเราไม่เคารพนับถือคุณครู เราก็จะไม่ยอม "น้อมรับ" สิ่งดีๆที่คุณครูถ่ายทอด เปรียบเหมือน น้ำย่อมไหลจากที่สูงกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่า หากเราคิดว่า เราอยู่เหนือคุณครู เราจะไม่มีทางได้รับน้ำนั้น

ทีนี้คุณครู จะเหมือน พระ พระจะเหมือนคุณครู หรือ เปล่า

คนที่โกนหัวแล้ว ทันที ที่ทำ "พิธี" บวชเสร็จ แม้เป็นลูก พ่อแม่ก็ต้องกราบไหว้

พีธีกรรม ที่สวด ว่าด้วยภาษาบาลี อันคนธรรมดาได้แต่ท่องจำแบบ คาราโอเกะ รู้อย่างเดียวว่า "ขลัง" (เพราะฟังไม่ออก) บางคนก็สวดกล่าว ขอพรพิศดาร ทั้งที่ตนไม่ได้ต้องอยู่ในหลัก ในธรรม ที่ถูก ทั้งที่ สวดกล่าวไปก้หารู้ความหมายไม่ ว่าบทสวดนั้น กล่าวสอนอะไร


พุทธศาสนาของเรา ยังวางสิ่งต่างๆ ไว้เป้น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ให้เกิดความสลับซับซ้อน สำหรับคนที่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจ และปฏิบัติตาม มุ่งแต่จะใช้ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนั้น อยู่กับ "ความศักดิ์สิทธิ์" บางคนยิ่งเก่ง ที่เอาความศักดิ์สิทธิ์ นั้น แปลเป็น เงินทอง นำเงินทองมาสู่ตนและบริวารได้ เกิดเป็นองค์กร ลัทธิ ที่มั่นคงแข็งแกร่ง  คงอยู่กับสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ เพราะสิ่งที่พวกเขา และรวมถึงพวกเรา เรียกว่า ไม่มี "บุญ"

จะเป็น ชายหรือ หญิง ไม่ได้สำคัญ เท่ากับ หลังจากที่ท่านบวชแล้ว ท่านมุ่งจะทำตัวเป็น "คุณครู"  แบบไหน   จะัชี้นำเราให้เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า แบบไหน แบบที่ควรเป็น หรือ ยังให้อยู่กับความงมงาย หลงผิด ยึดติดกับสิ่งที่ต้องมโน ต้องจินตนาการ และบอกไปเองว่ามันศักดิ์สิทธิ์ ต้องกราบไหว้ แต่เราไหว้อะไร เพราะอะไร และเพื่ออะไร ก็ต้องสอนให้เรารู้ด้วย

Mr.No

อ้างจาก: เบลอมัวเลือน เมื่อ 03:44 น.  15 ธ.ค 57
เมื่อวานเป็นใคร ก็ไม่รู้

วันนี้โกนหัว สวดมนต์ ได้ ก็มีคนกราบไหว้ มีคนให้ข้าวกิน มีเงินถวาย


เหตุเพราะ หากเปรียบ นักบวช เป็นอาชีพหนึ่ง นักบวชที่ดี จะไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนได้ (กลับกัน นักบวชที่เลว จะร่ำรวย) การที่ไมาสามารถหาเงินได้เอง แต่ท่านนักบวชเหล่านั้น มุ่งจะช่วยทำให่คนธรรมดาพ้นทุกข์ อย่ากระนั้นเลย เราคนธรรมดา ที่หาเงินกันได้อยู่ในวิถี โลกๆ ก็ช่วยกันเกื้อหนุน นักบวช พระสงฆ์ เหล่านั้นเถิด ท่านจะได้ไม่ต้องกังวลในการหาปัจจัยสี่ จะได้มีเวลาทั้งวันทั้งชีวิต มุ่งไปศึกษาธรรม ศึกษา ภาษาบาลี (ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ เราชาวพุทธ "เชื่อว่า" ท่านเหล่านี้ มุ่งจะศึกษาพระธรรม และจะเป็นผู้นำ คอยกำกับให้เรา อยู่ใน "ลู่ทาง" ของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ดังนั้นการให้ของเรา ได้ให้กับ บุคคลที่เรา "เชื่อว่า" จะเป็นผู้มี "คุณ" ต่อเรา เราให้แล้ว เราจึงต้องกราบไหว้ ไม่เหมือนกับให้ บุคคลที่เท่าเทียมกัน หรือ บุคคลที่เชื่อว่าต่ำกว่า เช่น ให้กับ ขอทาน เพราะ ไม่คาดว่าคนเหล่านั้นจะมีคุณกับเราได้ แต่เราให้กับขอทานด้วยความเมตตาสงสาร

เป็นเหมือนที่เรา เคารพนับถือ "ครู" เพราะ "ครู" เป็นคนที่ศึกษาบางเรื่องมาดีกว่าเรา เราต้องเคารพ "เชื่อฟัง" และ "ยกระดับ" ให้ "ครู" อยู่เหนือกว่าเรา สิ่งนี้ทำให้เรา "ยอม" คุณครู ในการอบรม แนะนำสั่งสอน และ"เรา" ก็พร้อมจะ "เชื่อฟัง"

ถ้าเราไม่เคารพนับถือคุณครู เราก็จะไม่ยอม "น้อมรับ" สิ่งดีๆที่คุณครูถ่ายทอด เปรียบเหมือน น้ำย่อมไหลจากที่สูงกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่า หากเราคิดว่า เราอยู่เหนือคุณครู เราจะไม่มีทางได้รับน้ำนั้น

ทีนี้คุณครู จะเหมือน พระ พระจะเหมือนคุณครู หรือ เปล่า

คนที่โกนหัวแล้ว ทันที ที่ทำ "พิธี" บวชเสร็จ แม้เป็นลูก พ่อแม่ก็ต้องกราบไหว้

พีธีกรรม ที่สวด ว่าด้วยภาษาบาลี อันคนธรรมดาได้แต่ท่องจำแบบ คาราโอเกะ รู้อย่างเดียวว่า "ขลัง" (เพราะฟังไม่ออก) บางคนก็สวดกล่าว ขอพรพิศดาร ทั้งที่ตนไม่ได้ต้องอยู่ในหลัก ในธรรม ที่ถูก ทั้งที่ สวดกล่าวไปก้หารู้ความหมายไม่ ว่าบทสวดนั้น กล่าวสอนอะไร


พุทธศาสนาของเรา ยังวางสิ่งต่างๆ ไว้เป้น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ให้เกิดความสลับซับซ้อน สำหรับคนที่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจ และปฏิบัติตาม มุ่งแต่จะใช้ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนั้น อยู่กับ "ความศักดิ์สิทธิ์" บางคนยิ่งเก่ง ที่เอาความศักดิ์สิทธิ์ นั้น แปลเป็น เงินทอง นำเงินทองมาสู่ตนและบริวารได้ เกิดเป็นองค์กร ลัทธิ ที่มั่นคงแข็งแกร่ง  คงอยู่กับสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ เพราะสิ่งที่พวกเขา และรวมถึงพวกเรา เรียกว่า ไม่มี "บุญ"

จะเป็น ชายหรือ หญิง ไม่ได้สำคัญ เท่ากับ หลังจากที่ท่านบวชแล้ว ท่านมุ่งจะทำตัวเป็น "คุณครู"  แบบไหน   จะัชี้นำเราให้เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า แบบไหน แบบที่ควรเป็น หรือ ยังให้อยู่กับความงมงาย หลงผิด ยึดติดกับสิ่งที่ต้องมโน ต้องจินตนาการ และบอกไปเองว่ามันศักดิ์สิทธิ์ ต้องกราบไหว้ แต่เราไหว้อะไร เพราะอะไร และเพื่ออะไร ก็ต้องสอนให้เรารู้ด้วย

ส.ยกน้ิวให้  เห็นด้วยครับ..
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

คนเมืองสง

อ้างจาก: เบลอมัวเลือน เมื่อ 03:44 น.  15 ธ.ค 57
เมื่อวานเป็นใคร ก็ไม่รู้
วันนี้โกนหัว สวดมนต์ ได้ ก็มีคนกราบไหว้ มีคนให้ข้าวกิน มีเงินถวาย
1.อคติกับสมณะ คุณควรสำรวจตัวเองก่อน
[/quote]
เหตุเพราะ หากเปรียบ นักบวช เป็นอาชีพหนึ่ง นักบวชที่ดี จะไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนได้ (กลับกัน นักบวชที่เลว จะร่ำรวย)
[/quote]
2.นักบวชไม่ใช่อาชีพ การมีลาภสักการะไม่ถือเป็นความเลว คุณมองโลกแง่ร้าย
[/quote]
การที่ไม่สามารถหาเงินได้เอง แต่ท่านนักบวชเหล่านั้น มุ่งจะช่วยทำให่คนธรรมดาพ้นทุกข์ อย่ากระนั้นเลย เราคนธรรมดา ที่หาเงินกันได้อยู่ในวิถี โลกๆ ก็ช่วยกันเกื้อหนุน นักบวช พระสงฆ์ เหล่านั้นเถิด ท่านจะได้ไม่ต้องกังวลในการหาปัจจัยสี่ จะได้มีเวลาทั้งวันทั้งชีวิต มุ่งไปศึกษาธรรม ศึกษา ภาษาบาลี (ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ)
[/quote]
3.เข้าใจผิดเรื่องการทำบุญ การทำบุญเป็นเรื่องของคุณ คุณไม่ศรัทธาก็อย่าไปทำ
[/quote]
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ เราชาวพุทธ "เชื่อว่า" ท่านเหล่านี้ มุ่งจะศึกษาพระธรรม และจะเป็นผู้นำ คอยกำกับให้เรา อยู่ใน "ลู่ทาง" ของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
[/quote]
4.เข้าใจผิดเรื่องหน้าที่พระในนิกายเถรวาท พระในนิกายเราไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำ ไม่มีหน้าที่คอยกำกับใคร ท่านหาหนทางหลุดพ้นของท่าน คุณอยากหลุดพ้นก็ศึกษาตามแถวทางของท่านก็สามารถทำได้ หากไม่ศรัทธาก็ไปที่อื่น อย่าบ่น
ทุกคนรู้ดีเรื่องดีชั่ว สอนตัวเองได้ไม่ต้องรอให้ใครสอน เพราะดี-ชั่วเป็นเรื่องปฐม
[/quote]
ดังนั้นการให้ของเรา ได้ให้กับ บุคคลที่เรา "เชื่อว่า" จะเป็นผู้มี "คุณ" ต่อเรา เราให้แล้ว เราจึงต้องกราบไหว้ ไม่เหมือนกับให้ บุคคลที่เท่าเทียมกัน หรือ บุคคลที่เชื่อว่าต่ำกว่า เช่น ให้กับ ขอทาน เพราะ ไม่คาดว่าคนเหล่านั้นจะมีคุณกับเราได้ แต่เราให้กับขอทานด้วยความเมตตาสงสาร
[/quote]
5.เข้าใจผิดเรื่องการทำบุญในพุทธศาสนาที่สอนให้รู้จักสละทรัพย์ วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นพื้นฐานของการสละกิเลสในตน เพื่อคุณจะได้หลุดพ้น
[/quote]
เป็นเหมือนที่เรา เคารพนับถือ "ครู" เพราะ "ครู" เป็นคนที่ศึกษาบางเรื่องมาดีกว่าเรา เราต้องเคารพ "เชื่อฟัง" และ "ยกระดับ" ให้ "ครู" อยู่เหนือกว่าเรา สิ่งนี้ทำให้เรา "ยอม" คุณครู ในการอบรม แนะนำสั่งสอน และ"เรา" ก็พร้อมจะ "เชื่อฟัง"
6.เปรียบไม่ถูกต้อง และผิดกลักกาลามสูตร
[/quote]
ถ้าเราไม่เคารพนับถือคุณครู เราก็จะไม่ยอม "น้อมรับ" สิ่งดีๆที่คุณครูถ่ายทอด เปรียบเหมือน น้ำย่อมไหลจากที่สูงกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่า หากเราคิดว่า เราอยู่เหนือคุณครู เราจะไม่มีทางได้รับน้ำนั้น
[/quote]
7.หลงผิดว่าอยู่เหนือครู เปรียบเทียบเรื่องน้ำไหลไม่เคยได้ยิน ไม่มีใครทำ
[/quote]
ทีนี้คุณครู จะเหมือน พระ พระจะเหมือนคุณครู หรือ เปล่า
[/quote]
8.ไม่เหมือน เทียบกันไม่ได้
[/quote]
คนที่โกนหัวแล้ว ทันที ที่ทำ "พิธี" บวชเสร็จ แม้เป็นลูก พ่อแม่ก็ต้องกราบไหว้
[/quote]
9.เข้าใจเรื่องสมมติสงฆ์หรือไม่
[/quote]
พีธีกรรม ที่สวด ว่าด้วยภาษาบาลี อันคนธรรมดาได้แต่ท่องจำแบบ คาราโอเกะ รู้อย่างเดียวว่า "ขลัง" (เพราะฟังไม่ออก)
[/quote]
10.คุณฟังไม่ออกมันเรื่องของคุณ คนอื่นเขาฟังออก อย่าคิดว่าคนอื่นเหมือนคุณหรือพวกคุณ
[/quote]
บางคนก็สวดกล่าว ขอพรพิศดาร ทั้งที่ตนไม่ได้ต้องอยู่ในหลัก ในธรรม ที่ถูก ทั้งที่ สวดกล่าวไปก้หารู้ความหมายไม่ ว่าบทสวดนั้น กล่าวสอนอะไร
[/quote]
11.กล่าวหาลอยๆ ไม่มีเหตุ
[/quote]
พุทธศาสนาของเรา ยังวางสิ่งต่างๆ ไว้เป้น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ให้เกิดความสลับซับซ้อน สำหรับคนที่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจ และปฏิบัติตาม มุ่งแต่จะใช้ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนั้น อยู่กับ "ความศักดิ์สิทธิ์" บางคนยิ่งเก่ง ที่เอาความศักดิ์สิทธิ์ นั้น แปลเป็น เงินทอง นำเงินทองมาสู่ตนและบริวารได้ เกิดเป็นองค์กร ลัทธิ ที่มั่นคงแข็งแกร่ง  คงอยู่กับสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ เพราะสิ่งที่พวกเขา และรวมถึงพวกเรา เรียกว่า ไม่มี "บุญ"
[/quote]
12.คุณรู้ว่าสิ่งไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ
[/quote]
จะเป็น ชายหรือ หญิง ไม่ได้สำคัญ เท่ากับ หลังจากที่ท่านบวชแล้ว ท่านมุ่งจะทำตัวเป็น "คุณครู"  แบบไหน
[/quote]
13.พระสงฆ์นิกายไทย (หินยานหรือเถรวาท) ไม่มีสตรีมาหลายร้อยปีแล้ว ไม่มีความรู้ก็อย่าฉีกพระคัมภีร์
[/quote]
   จะัชี้นำเราให้เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า แบบไหน แบบที่ควรเป็น หรือ ยังให้อยู่กับความงมงาย หลงผิด ยึดติดกับสิ่งที่ต้องมโน ต้องจินตนาการ และบอกไปเองว่ามันศักดิ์สิทธิ์ ต้องกราบไหว้ แต่เราไหว้อะไร เพราะอะไร และเพื่ออะไร ก็ต้องสอนให้เรารู้ด้วย
[/quote]
14.คุณก็จงหาคนชี้นำไปเรื่อยๆ
[/quote]

ฟ้าเปลี่ยนสี

 ส.หัว งานนี้น่าจะไม่ใช่ เรื่องสั้น คงต้องเป็น เรื่องยาว เป็นแน่แท้ทีเดียว

คงต้องเกิดการพูดคุยกันหลายฝ่ายครับ

เพราะ รู้สึกจะทำเป็นระบบ มีแบบแผน ถึงขั้น แตกหัก ทีเดียว

คำถามชวนคิด ทำไมต้องมาเกิดในยุค คสช เป็น รัฐบาล ครับ

ดีครับ จะได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ทางโลกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาจะมีมุมมองอย่างไร น่าสนใจมากครับ  ส.หัว

ข่าวล่ามาเร็วครับ

เครือข่ายสตรี ยื่นหนังสือ กมธ. ร้องขอสิทธิ บวชภิกษุณี

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 15 ธ.ค. 2557 21:05

[attach=1]

เครือข่ายสตรี ยื่นหนังสือเรียกร้อง ขอสิทธิบวชภิกษุณีในไทย ด้าน กมธ.ยกร่างฯ เห็นพ้อง ไม่ควรปิดกั้นทำความดีไว้ที่ผู้ชายเท่านั้น

วันที่ 15 ธ.ค. น.ส.กาญจนา สุทธิกุล และ น.ส.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ตัวแทนเครือข่ายคนไทยส่งเสริมพุทธบริษัทสี่ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้า และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือกับ นายเนาวรัตน์​ พงษ์ไพบูลย์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ทบทวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของหญิงไทยในการบวชเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนา หลังมติมหาเถรสมาคม ห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 4 ทั้งที่ไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และเป็นรัฐภาคี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่ปี 2539 จึงขอให้ กมธ.ปฏิรูปค่านิยมฯ และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้ความเสมอภาค และยกเลิกมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักพื้นฐานของพุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

นายเนาวรัตน์ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่ที่ประชุม กมธ. เพื่อมีมติต่อไปและส่งเรื่องไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวว่า มติของมหาเถรฯ ขัดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพุทธบัญญัติ ที่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี ซึ่งในต่างประเทศให้บวชได้แล้ว อาทิ ศรีลังกา เช่นเดียวกับ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะขัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่ควรปิดกั้นจำกัดคนเข้าสู่ความดีไว้ที่ผู้ชายเท่านั้น


ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

คนชอบถาม

เห็นด้วยกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า

หากมหาเถรสมาคมเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามฝ่ายเถรวาทอย่างเคร่งครัด ก็อยากให้มหาเถรสมาคมให้พระภิกษุที่มีเงินหรือทรัพย์สินส่วนตน ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินออกมา เพราะพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าเงินเป็นอสรพิษของภิกษุ

....... อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/1w8TiJa