ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

"ผ้าไทยภาคใต้" ประยุกต์ใช้ให้เกิดเสน่ห์

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 10:04 น. 09 ม.ค 58

ทีมงานบ้านเรา

เชื่อกันว่า ภาคใต้ น่าจะมีการทอผ้ามาก่อน การกำเนิดของอาณาจักรศรีวิชัย แต่เริ่มมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึกถึงการทอผ้าในเขตภาคใต้ของไทย เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อราวศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งในขณะนั้น เมืองนครศรีธรรมราชกำลังรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของแหลมมลายู

[attach=1]

ภาคใต้ มีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้ายก ทั้งยกฝ้าย ยกไหม ยกดิ้นเงิน  ดิ้นทอง สำหรับลวดลายยังคงอนุรักษ์ลวดลายดั้งเดิมไว้ เช่น ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว ลายก้านแย่ง และ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์สร้างสรรค์ ลวดลายที่แปลกใหม่และสวยงามขึ้น สำหรับแหล่งทอผ้ายกที่สำคัญในภาคใต้ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี สงขลา และ ตรัง นอกจากผ้าทอพื้นบ้านแล้ว ภาคใต้ยังขึ้นชื่อในเรื่อง ผ้าบาติก หรือ ปาเต๊ะ แม้ว่าปัจจุบันผ้าบาติกจะไม่ใช่ผ้าทอ หากแต่เอาผ้าพื้นมาย้อมทำลายด้วยกรรมวิธีแบบบาติกแล้วก็ตาม แต่ก็นับว่า ยังเป็นผ้ามีชื่อเสียงของภาคใต้อยู่

ผ้าพุมเรียง

ผ้าทอพุมเรียง ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีการทอสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ราวสมัยกรุงธนบุรี หรือ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กำเนิดดั้งเดิมของผ้าทอพุมเรียงนั้น เริ่มขึ้นที่บ้านพุมเรียง ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวไทยมุสลิม และมีบรรพบุรุษดั้งเดิมเป็นชาวจาม ที่อพยพมาจากเขมร ชาวจามได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มชนซึ่งมีฝีมือในการทอผ้าไหมมาก ดังเช่น ในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนชาวจามอยู่บริเวณบ้านครัว ซึ่งก็เคยเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมไทย อันมีชื่อเสียงมาก่อน

ผ้าพุมเรียง เป็นการทอจากไหมและฝ้าย แต่ผ้าซึ่งทอจากไหม ได้รับความนิยมมากกว่า จึงมักเรียกกันว่า ผ้าไหมพุมเรียง จุดเด่นของผ้าไหมพุมเรียง คือ การทอยกดอก ให้มีลวดลายและสีสันอันสวยงาม ในระยะหลัง เนื่องจากฝ้ายมีราคาถูกกว่าไหม ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง มักทอเป็นสีพื้นหรือสลับสี และทอยกดอกตามแบบผ้าไหม ปัจจุบัน ผ้าพุมเรียง ทั้งที่ทอจากฝ้ายและทอด้วยไหมผสมฝ้าย ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย เช่นกัน ผ้าพุมเรียง มีทั้งผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า และ ผ้าสำหรับใช้สอยอื่น ๆ ลวดลายโบราณที่ยังคงปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ลายราชวัตร ลายโคม ลายดอกพิกุล และลายสมุก เป็นต้น

ผ้าเกาะยอ

ในตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งผลิตผ้าทอพื้นบ้านของภาคใต้ ที่มีชื่อเสียง กระทั่งเรียกผ้าที่ทอในแถบนั้น ตามชื่อสถานที่ คือ ผ้าทอเกาะยอ ผ้าเกาะยอ เป็นผ้ายกดอกลายพิเศษ ใช้ตะกอตั้งแต ๓-๘ ตะกอ ใช้เส้นพุ่งธรรมดา ทอต่อกันไปทั้งผืน ลายทอของผ้าเกาะยอ เป็นลวดลายซึ่งเกิดจากการขิด สร้างลายจากการเหยียบตะกอ แยกเส้นยืนขึ้น-ลง เดิมช่างทอแถบนี้ใช้กี่พื้นเมืองทอทั้งผ้าพื้นและผ้ายกดอก แต่ปัจจุบันเพื่อความรวดเร็ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้กี่สมัยใหม่

ผ้าทอเกาะยอ ส่วนมากทอจากฝ้าย และขึ้นลายตามแบบที่นิยมกันมา นับแต่อดีต ลายซึ่งทอกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ลายราชวัตร ลายหางกระรอก และผ้าเก็บดอก เช่น ลายดอกพิกุล ลายคชกริช ลายดอกพยอม ในอดีต ชาวบ้านเกาะยอ ทอผ้าโดยไม่ทราบชื่อลาย แต่ใช้วิธีการเรียกชื่อกันอย่างง่าย ๆ อาศัยจดจำวิธีการทอ ตามที่บรรพบุรุษถ่ายทอดไว้ ต่อมาเมื่อมีการพลิกแพลง ดัดแปลงสร้างลวดลายใหม่ ๆ จึงมีการตั้งชื่อลายตามผู้คิดลาย เช่น ลายโกเถี้ยม และเริ่มเรียกชื่อลาย ตามลักษณะพืชพันธุ์ที่ดูคล้ายคลึงกับลายผ้า อาทิ ลายดอกขึ้ไก่

ผ้าทอนาหมื่นศรี

ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นเมืองในเขตตำบลนาหมื่นศรี อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นอกจากทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ผ้าทอนาหมื่นศรี ยังทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ ตามคตินิยม เช่น เทศกาลสงกรานต์ วันตรุษ วันสารท ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ ประเพณีความเชื่อในชุมชน คือ ผ้าพานช้าง

ผ้าพานช้าง ใช้ในพิธีศพ ทอขึ้นเป็นตัวหนังสือ มีขนาดกว้างประมาหนึ่งศอก ยาวประมาณหนึ่งวา เจ้าภาพจะทอสำหรับใช้พาดเหนือหีบศพ ก่อนเผา ลวดลายที่ทอเป็นตัวหนังสือ เปรียบเสมือนป้ายประวัติของผู้ตาย ตลอดทั้งผืน ผ้าทอจะเป็นคำกลอน หรือ โคลงประวัติของผู้ตาย มีคติสอนใจให้ยึดมั่นในคุณความดี ละจากบาปและความชั่ว เป็นมรณานุสติของชาวบ้านนาหมื่นศรี เมื่อเผาศพแล้ว นิยมตัดแบ่งผ้าพานช้างออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระ เพื่อใช้เป็นผ้าเช็ดปาก เช็ดมือ และปูโต๊ะ

ผ้าบาติก

ผ้าปาเต๊ะ หรือ ผ้าบาติก เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี นักวิชาการจากยุโรปหลายคนเชื่อว่า แหล่งกำเนิดของผ้าบาติก กำเนิดในอินเดียสมัยก่อน แล้วจึงแพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย อีกหลายคนว่า ผ้าบาติก เป็นของดั้งเดิมของชาวชวา นักประวัติศาสตร์ได้สรุปว่า การทำโสร่งปาเต๊ะ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะติดต่อค้าขายกับอินเดีย คนไทยรู้จักผ้าปาเต๊ะในชื่อว่า ผ้าบาติก คนรุ่นเก่าเรียกผ้าปาเต๊ะที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยว่า ผ้ายาวอ หมายถึง ผ้าของชาวชวา

ปัจจุบัน ผ้าปาเต๊ะ หรือ บาติก ได้แพร่หลาย และเป็นที่นิยมอย่างมาก สามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ผ้าเช็ดหน้า, ผ้าพันคอ, ผ้าคลุมผม, เสื้อและอื่น ๆ ทั้งมีเทคนิคในการผลิตหลายแบบ เช่น เทคนิคการเขียนด้วยมือ จัดเป็นผ้าบาติกชั้นสูง จะใช้เขียนเทียนด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า จันติ้ง มีลักษณะคล้ายปากกาลูกลื่น ตรงปลายเป็นกรวย เพื่อให้น้ำเทียนไหลออกมา การเขียนเทียน ต้องเขียนทั่วทั้งผืน ขณะที่น้ำเทียนกำลังร้อน ๆ ไหลติดซึมลงไปในเนื้อผ้า ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้เขียนเทียน ก็คือ พื้นที่ที่จะใช้สีลงตามแบบที่ต้องการ แล้วจึงนำผ้าไปต้ม เพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออก ส่วนอีกแบบคือ ผ้าปาเต๊ะลายพิมพ์ จะใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้, ทองแดง หรือ โลหะ โดยการใช้แม่พิมพ์จุ่มเทียนที่กำลังร้อนพอเหมาะ พิมพ์ลวดลายบนผ้า จากนั้นจึงแต้มสี หรือนำไปย้อมต่อไป ปัจจุบัน แหล่งทำผ้าบาติกที่สำคัญในภาคใต้ อยู่ที่จังหวัดปัตตานี และ นราธิวาส


ที่มา - www.thaitextile.org
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215