ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

จับตา "ชุมทางรถไฟเพชรบูรณ์ " เกิดไม่เกิด?

เริ่มโดย Mr.No, 22:13 น. 21 มี.ค 58

Mr.No

[attach=1]

ตอนนี้ข่าวคราวเรื่องเส้นทางรถไฟรางคู่สายใหม่ที่กำลังจะเกิด คือ เส้นทางรถไฟที่จะต้องมีการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้เส้นทางใดระหว่าง กรุงเทพ – เพชรบูรณ์ หรือ กรุงเทพ – ชัยภูมิ ในราวปลายเดือน เม.ย 2558 นี้


เรื่องทางรถไฟสายใหม่นี้ ..คนเพชรบูรณ์ ภายใต้การนำของคุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดเพชรบูรณ์ ดูเหมือนจะมีเสียงตอบรับจากประชาชนในจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ กันอย่างน่าชื่นชม

เมื่อคิดถึงทางรถไฟสองเส้นนี้ ก็ต้องกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์กันเพื่อจะนำมาต่อยอดในการค้นหาว่า เหตุผลว่า ระหว่างสองจังหวัดนี้ จังหวัดใดเหมาะสมและควรจะเข้าวินในการคว้าตำแหน่งสถานีรถไฟใจกลางประเทศไทยแห่งใหม่

แต่เมื่อกางแผนที่ประเทศไทยออกดู ..ก็จะพบว่าเมืองที่อยู่กลางประเทศไทย คงหนีไม่พ้น เพชรบูรณ์

ถัดไปทางตะวันออกก็เป็น ชัยภูมิ เลื่อนมาทางซ้ายก็กลายเป็นกำแพงเพชร  ดังนั้น ด้วยภูมิสัณฐานแห่งประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางประเทศไทยเป๊ะ! อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเลือกจังหวัดนี้เป็นเมืองสำหรับการเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทย

เหตุผลเมื่อครั้งที่ จอมพล ป. ต้องการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาเพชรบูรณ์เพราะเหตุของปัญหาสงครามโลกครั้งทีส่องที่กรุงเทพฯ ถูกทำลายแทบจะเสียหายไปทั่วเมือง และปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าสงครามจะจบลงเมื่อใด และใครจะเป็นผู้ชนะสงครามทำให้แนวคิดการย้ายเมืองหลวงไปยังชัยภูมิที่เหมาะกว่า คือ เพชรบูรณ์ เพราะเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยขุนเขา และทางเข้าออกเมืองมีเพียงทางเดียว จึงยากแก่การเข้าถึงและง่ายในการต่อกรกับศัตรู

พร้อม ๆ ไปกับการเตรียมย้ายเมืองหลวง ..จอม พล.ป ท่านได้เตรียมที่จะทำเส้นทางรถไฟไปเพชรบูรณ์โดยการสำรวจเส้นทางเริ่มจาก แก่งคอย ผ่านวิเชียรบุรี และต่อเข้าไปยังเพชรบูรณ์  และยังเตรียมแผนการขยายทางรถไฟในแนวขวางออกไปยังชัยภูมิ และไปสุดท้ายที่ชายแดนอีสานตะวันออกคือ มุกดาหาร

แต่สุดท้ายคนเพชรบูรณ์ที่กำลังจะกลายเป็นคนเมืองหลวงแห่งใหม่ก็มีอันต้องยุติลง เพราะเมื่อการเตรียมนำกฎหมายบริหารราชการเมืองเพชรบูรณ์เพื่อยกเป็นเมืองหลวงเข้าสภาฯ กลับต้องพ่ายต่อเสียงในสภาด้วยเหตุผลว่า เมืองเพชรบูรณ์นั้น ทุรกันดารเกินไป!

ประกอบกับห้วงเวลาที่บ้านเมืองระส่ำระส่ายเศรษฐกิจง่อนแง่น..ทางรถไฟสายนี้จึงกลายเป็น (เกือบจะเป็น) ทางรถไฟในตำนานมากว่า 70 ปี!


และเวลาที่ผ่านมากว่า 70ปี ได้เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งขึ้นในประเทศไทย ความเจริญก้าวหน้าของโลกและหลายประเทศรวมทั้งไทย ทำให้ เพชรบูรณ์กลายเป็นเมืองที่คนไทยหลายคนรู้จักในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีสาน ที่ประกอบไปด้วยหลายอำเภอหลายเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในหน้าหนาว

แม้นวันนี้และหลายคนในวันนั้นอาจไม่ได้เห็นพ้องกับ จอมพล.ป เรื่องการย้ายเมืองหลวง..แต่ผมเชื่อว่าวันนี้และคนวันนั้นเห็นตรงกันว่า เพชรบูรณ์คือจังหวัดที่เหมาะสำหรับการเป็นฮับของเส้นทางรถไฟ  ที่จะต้องเรียกว่าเป็นสถานีรถไฟชุมทางเพชรบูรณ์

เช่นเดียวกับการมาถึงของรถไฟสายใต้ที่เชื่อมมาจนถึงอำเภอหาดใหญ่ เมื่อในอดีตที่ยังเป็นอำเภอเหนือ ซึ่งก่อนที่จะเป็นสถานีชุมทางหาดใหญ่  เรามีสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภาที่มีเส้นทางแยกเชื่อมไปเมืองสงขลา

และด้วยความมุ่งมั่นของคนสร้างเมืองในเวลานั้นสามสี่ท่านโดยเฉพาะ ขุนนิพัทธ์ (เจีย กี ซี) ที่มีโอกาสได้รับการประมูลทำเส้นทางรถไฟจากทุ่งสง มาหาดใหญ่ ทำให้สามารถรับรู้ได้ว่า วันหนึ่ง สถานีรถไฟอู่ตะเภาจะต้องย้ายมาที่หาดใหญ่

เป็นธรรมดาที่คนทราบเรื่องไว้ล่วงหน้าจะต้องเตรียมการบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมืองทำผังเมืองผังถนนเตรียมไว้ และก็เป็นจริงอย่างที่คาด เมื่อทางการประกาศย้ายสถานีรถไฟมาเป็นที่หาดใหญ่ ความเจริญจึงบังเกิดเพราะ "เส้นทางรถไฟ"

ผมเล่าเรื่องนี้เพราะคิดว่า คนเพชรบูรณ์อาจแวะมาอ่าน และจะได้ทราบว่า เมืองที่มีรถไฟผ่านและยิ่งเป็นเมืองที่จะสามารถเป็นชุมทางหรือฮับเพื่อการเชื่อมต่อไปเมืองอื่น ๆได้นั้น มันจะนำความเจริญมาสู่ชุมชนและเมืองแบบยั่งยื่นได้อย่างไร

เพราะเมื่อไล่เรียงเส้นทางแล้ว จากกรุงเทพขึ้นไปแก่งคอย ผ่านวิเชียรบุรี และเข้าสู่เพชรบูรณ์ด้วยระยะทาง 300 กิโลเมตรเศษไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อแต่สามารถเป็นจริงได้อย่างสบาย ๆ

และความเหมาะสมในการเป็น "ชุมทาง" แหงใหม่ด้วยการสร้างทางรถไฟขยายจาก เพชรบูรณ์ ไปชนขอนแก่นแล้วทะลุไปถึงมุกดาหารเพื่อเตรียมการเป็นเส้นทางรถไฟขนถ่ายสินค้าในยุคที่เมืองเชื่อมเมือง ประเทศเชื่อมประเทศ และหลายประเทศเชื่อมต่อภูมิภาค กำลังมาถึงในอีกไม่ไกลนัก

ฝั่งซ้ายขยายทางรถไฟออกไปเชื่อมกับกำแพงเพชรและไล่ไปถึงจ.ตาก เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากทางพม่าที่จะผ่านมาทาง อ.แม่สอด  ได้ในอนาคต

และในอนาคตหากต้องการต่อขยายขึ้นไปทางเหนือเพื่อไปบรรจบกับ จ.เลย และเชื่อกับประเทศลาว ก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อผัน

นักผังเมืองหลายท่านล้วนเห็นตรงกันว่า เส้นทางรถไฟของไทยที่มีอยู่นั้น ยังน้อยเกินไปและโลกในอนาคตระบบรางจะต้องเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่รัฐจะต้องเร่งลงทุน

ในขณะที่คนเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่กำลังตื่นเต้นที่จะทำให้ความผิดหวังในอดีตกลายเป็นความสดชื่นสมหวัง  ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับกับคนสงขลาหาดใหญ่ที่เฝ้ารอ เส้นทางรถไฟเดิมที่เคยมีกลับมาเพื่อช่วยลดปัญหาความแออัดด้านการจราจรและเป็นประตูที่จะทำให้การเชื่อมต่อของเมืองหาดใหญ่กับสงขลาเข้าเป็น "มหานคร" ใหญนั้น จะทำได้เร็วขึ้นเพียงใด

"ที่นี่..สถานีรถไฟชุมทางเพชรบูรณ์.... ท่านผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับขบวนรถด่วนพิเศษเพชรบูรณ์ปลายทางสถานีกรุงเทพฯ ....."   เสียงประกาศสดใสเสียงดังนี้จะมีหวังหรือไม่อยู่ที่คนเพชรบูรณ์ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขัน


ส่วน "ที่นี่สถานีรถไฟสงขลา....."  ยังคงกลายเป็นเสียงในอดีตที่น่าเศร้าอีกนาน เพราะแรงขับเคลื่อนของคนสองเมือง ยังไม่มีพลังเพียงพอ....ทั้งที่มันสิทธิและกรรมสิทธิ์ของคนสองเมืองแท้ ๆ


..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.