ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

“5 ปีรัฐประหาร”

เริ่มโดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, 14:34 น. 30 ก.ย 54

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

"5 ปีรัฐประหาร"
         
                   เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่าที่เห็นก็รู้สึกคึกคักดี มีการจัดงานรำลึกกันหลายแห่ง แต่ในบรรดางานรำลึกที่จัดขึ้นนั้น เข้าใจว่าคงไม่มีใครไปจัดงานเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ทำรัฐประหารเป็นแน่เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าเป็น 5 ปีที่ประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปมากในลักษณะที่เป็นการถอยหลังและตกต่ำ เพราะฉะนั้น การจัดงานรำลึกถึงการรัฐประหารจึงเป็นการรำลึกถึงสิ่งดี ๆ ที่ประเทศไทยเราต้องสูญเสียไปเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มากกว่า
                   5 ปีผ่านไป มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ที่แปลกก็คือ เป็นเวลานานมาแล้วที่เราไม่ค่อยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ผู้ร่วมรัฐประหารหรือเหตุที่ต้องทำการรัฐประหารเท่าไรนัก มีหลายเรื่องที่พอจำได้ แต่ก็เงียบหายไปในเวลาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนามบินสุวรรณภูมิที่ในตอนแรกหลังรัฐประหารก็มีผู้คนพากันออกมาให้ข่าวว่าใช้ไม่ได้ รันเวย์ร้าว แต่ต่อมาพอมีการย้ายสายการบินบางส่วนกลับไปใช้บริการที่สนามบินดอนเมืองเรื่องก็เงียบหายไป เช่นเดียวกับเรื่องร้านค้าปลอดภาษีที่ตอนแรกก็ว่าสร้างผิดแบบไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ร้ายแรงถึงขนาดต้องเลิกสัญญาแต่ไม่นานเรื่องก็เงียบหายไปเช่นเดียวกัน ฯลฯ เรื่อยมาจนกระทั่งการปฏิเสธทุกอย่างที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร สร้างขึ้นมา ขนาดสินค้า otop ยังเปลี่ยนชื่อกันเลย บรรดาข้อกล่าวหา ข้ออ้างต่าง ๆ ที่ยกขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเกือบทั้งหมดเงียบหายไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับบรรดาตัวละครทั้งหลาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงขึ้น เรื่อย ๆ ประชาชนแบ่งออกเป็นกลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวจนกลายเป็นปัญหาของประเทศ องค์กรต่าง ๆ พยายามหาข้ออ้างเพื่อเข้ามา "จัดระบบ" ประเทศให้เป็นไปใน "แบบที่ตัวเองต้องการ" โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ แนวคิด ทฤษฎี ที่มีอยู่และที่ได้ร่ำเรียนกันมา จะเห็นได้จากบรรดาคำพิพากษา คำวินิจฉัย คำตัดสินและความเห็นในบางเรื่องของบางองค์กรที่ดูยังไงก็รู้ว่า "เลือกปฏิบัติ" หรือ "สองมาตรฐาน"  ส่วนคนที่อยู่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร รวมไปถึงคนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร ต่างก็ได้ดิบได้ดีกันเป็นแถวโดยไม่มี "ฐานอำนาจ" มาจากไหนเลย นอกจากมาจาก "การช่วงชิงอำนาจ" ไปจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้เองที่แม้ 5 ปีจะผ่านไป แต่เราก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ในปัญหาเดิม ปัญหาที่คณะรัฐประหารและผู้สมคบได้ร่วมกันสร้างเอาไว้ น่าแปลกใจที่วันนี้ยังคงเห็นคนเหล่านี้เดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกับเรา แถมยังเดินอยู่ได้อย่าง "ไม่รู้สึกอะไรเลย"
                            บทบรรณาธิการนี้ ผมไม่ได้เขียนเพื่อ "เอาใจ" ใครทั้งสิ้น เพราะทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบการรัฐประหาร ผมก็เขียนถึงการรัฐประหารทุกครั้ง เขียนตั้งแต่ยังไม่ใครเขียนด้วยซ้ำไป เพื่อให้ความรู้สึกเกี่ยวกับการรัฐประหารของผมยังคงอยู่ต่อเนื่อง ผมจึงขอนำเอา "บางส่วน" ของข้อเขียนเนื่องในวันครบรอบปีแต่ละปีของการรัฐประหารมานำเสนอไว้ด้วยกันครับ โดยเริ่มตั้งแต่ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 144 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 2 - 15 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์หลังการรัฐประหาร ผมได้นำเอา "โบว์ดำ" มากลัดติดไว้ในตอนต้นของบทบรรณาธิการครั้งนั้น แล้วก็ได้เขียนแสดงความอาลัยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่เพิ่งถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไป หมาด ๆ ว่า "เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ได้ถึงแก่กาลอวสานลงอย่าง "เฉียบพลัน" โดยไม่ทันตั้งตัว แม้ในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะได้บัญญัติถึงกลไกในการป้องกันการปฏิวัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผู้ใดอ้างบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ การจบสิ้นของรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวจึงเป็นการจบสิ้นที่ถ้าเทียบกับคนก็คงตายเพราะหัวใจวายหรือตายด้วยอุบัติเหตุนั่นเองครับ ในฐานะนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศและได้ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน มีส่วนร่วมในทางการเมืองและเสนอแนวคิดในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ผมก็เลยต้องใช้เวทีนี้เป็นที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอาไว้ด้วยครับ
                     คงต้องเริ่มจากการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาก่อน จนถึงวันนี้เราคงพอมองเห็นภาพได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อ "ขับไล่" ตัวบุคคลให้ออกจากตำแหน่งและเป็นการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มีฐานกำลังประชาชนสนับสนุนมากที่สุดนับแต่เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังการรัฐประหาร แทนที่ฐานกำลังประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเดิมจะลุกขึ้นมามีปฏิกิริยาโดยนำบทบัญญัติในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ การก็กลับไปในทางตรงข้ามเหตุการณ์ต่าง ๆ กลับดำเนินไปอย่างราบเรียบและสงบ แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งนี้เลยก็ว่าได้ครับ เหตุผลก็คงเป็นอย่างที่เราทราบกันดีนะครับว่า อย่างน้อยการทำรัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้เราพบทางออกให้กับปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
                     แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" ก็ตาม แต่ภายหลังความสับสนและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมานาน ทุกฝ่ายพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศแต่ก็ไม่มีผู้ใดพบทางออก ในที่สุดทางออกก็ถูกค้นพบโดยการทำรัฐประหารที่ทำให้ระบอบทักษิณและปัญหาทั้งหลายจบลง (และยังมีท่าว่าจะถูกถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้นด้วย) ผมคงต้องขอกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ผมเห็นด้วยในผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้เพราะทำให้ปัญหาทั้งหลายจบลง แต่ผมไม่เห็นด้วยในเหตุก็คือการทำรัฐประหาร เพราะเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย การทำรัฐประหารเป็นการใช้ "กำลัง" เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการกระทำที่ "ตรงข้าม" กับการดำเนินการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยครับ ผมเห็นด้วยที่จะให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปตามระบบมากกว่าที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาอันส่งผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลงครับ!! ผมต้องขอแสดงความเห็นส่วนตัว "คัดค้าน" การทำรัฐประหารไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
                     ภายหลังการทำรัฐประหารจนกระทั่งถึงวันเขียนบทบรรณาธิการนี้ จะเห็นได้ว่ายังคงมีทหารอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีรถติดอาวุธจอดอยู่ในหลาย ๆ จุดที่สำคัญไม่เว้นแม้แต่ย่านนักเรียนอย่างสยามสแควร์ ท่ามกลางความชื่นชมของประชาชนที่ไปถ่ายรูปกับทั้งทหารและรถของทหารอย่างสนุกสนานนั้น เราคงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งแล้วก็ยังมีความ "กังวล" อยู่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแม้ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีผู้สูญเสียอำนาจจะ "ยอมรับ" กับการรัฐประหารครั้งนี้ซึ่งทำให้เรื่องจบลงอย่างสันติแต่เราก็ยังเห็นทหารติดอาวุธอยู่เต็มเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ยังมีการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยังมีการห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเคลื่อนไหว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจเท่าไรนักในสายตาประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตัวผมเองด้วยครับ
                     ผลต่อมาของการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป จริงอยู่ที่แม้ประชาชนในประเทศจะไม่คัดค้าน แต่เสียงที่มาจากภายนอกประเทศก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับฟังด้วยเช่นกันเพราะ เราไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวครับ ก็คงต้องย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่าการรัฐประหารนั้นแม้ผู้คนส่วนหนึ่งคิดว่า เป็น "ยารักษาโรค" ได้ แต่ก็ไม่ควรถือเป็นแบบอย่างและไม่ควรใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของประเทศในวันข้างหน้าได้เพราะไม่ใช่วิถีทางที่ "ถูกต้อง" ครับ ประชาชนเองก็ต้องเร่งสร้าง "ความเข้าใจที่ถูกต้อง" ในระบอบประชาธิปไตย "ที่ถูกต้อง" ให้กับตนเองด้วยเช่นกัน คงต้องแยกแยะให้ออกว่าพึงพอใจกับ "การรัฐประหาร" หรือ "ผลของการทำรัฐประหารนี้ทำให้ปัญหาใหญ่ของประเทศจบลง" ครับ!!"
                   ต่อมาเมื่อครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 169 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 17 - 30 กันยายน 2550 ผมได้เขียนบทบรรณาธิการเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหารโดยมีข้อความบางส่วนดังนี้คือ "วันที่ 19 กันยายน เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร "ครั้งล่าสุด" ของประเทศไทยครับ ก็เป็นโอกาสดีที่สังคมจะต้องหันมา "ประเมิน" ผลของการรัฐประหารดังกล่าวว่าเป็นอย่างไรบ้าง คงจะใช้คำว่าประสบผลสำเร็จไม่ได้เพราะก็อย่างที่ทราบกันอยู่นะครับว่า การรัฐประหารในสายตาของทั่วโลกเป็นสิ่งที่ "รับไม่ได้" เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าการทำรัฐประหารประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้างเหมือนอย่างที่บรรดา "ท่านทั้งหลาย" ออกมาพูดก็คงจะทำให้สถานะของประเทศเราดู "ด้อยพัฒนา" ไปหน่อยในสายตาประชาคมโลกและก็คงเป็นที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลกที่จะ "ดูถูก" เราเอาได้ว่าไม่รู้จักระบอบประชาธิปไตยจนถึงขนาดต้องมาให้ความสำคัญกับ "ผลสำเร็จ" ของการรัฐประหารครับ!!!
                     หากจะถามว่า 1 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้อะไรบ้างก็คงมีคำตอบจำนวนมากและหลากหลายสุดแล้วแต่ว่าจะถามใครครับ ผมคิดว่าคำถามดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและอนาคตของชาติในวัน ข้างหน้าเพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นใหม่ๆ ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งต่างออกมาแสดงความยินดีกับการรัฐประหารอย่างออกนอกหน้า สื่อมวลชนทั้งหลายต่างพากันให้ข่าวถึงความสำคัญของการรัฐประหารว่าส่งผลทำ ให้ "วิกฤต" ของประเทศจบสิ้นลงโดยไม่ได้คาดเดาถึงสิ่งที่จะตามมาในระยะเวลาต่อไป เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์วิจัยถึงผลของการรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ "ไม่รู้จัก" การแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยครับ หากผลการวิเคราะห์วิจัยออกมาว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศมากกว่ารัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้รู้กันไปเลยว่าระบอบการปกครองที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศคือระบอบอะไรครับ
                     ในส่วนของผมนั้น ผมก็แอบประเมินผลที่เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เอาไว้เหมือนกัน โดยผมมีประเด็นที่จะยกขึ้นมาพูดคุย ณ ที่นี้รวม 4 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งผมคิดว่าทั้ง 4 ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ ประเด็นแรก ก็คือเหตุที่อ้างกันว่าการรัฐประหารก็เพื่อให้เกิดการแก้วิกฤตของประเทศในขณะนั้น ในประเด็นนี้ก็คงต้องยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานนะครับว่าจริง ! เพราะภายหลังการรัฐประหาร อดีตท่านผู้นำของเราก็พ้นจากตำแหน่งทันที ทำให้เสียงเรียกร้องที่มีมาก่อนหน้านี้ให้ท่านผู้นำลาออกจบลงครับ แต่ถ้าจะถามต่อไปว่าแล้ววิกฤตของประเทศจบลงจริงหรือไม่ คำตอบก็คงเป็นที่ทราบกันนะครับว่า จนถึงทุกวันนี้วิกฤตของประเทศได้ขยายลุกลามออกไปมากจากวิกฤตด้านการเมืองที่มีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกหลายประเด็นไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจาก "ความไม่ใช่มืออาชีพ" และ "อคติ" ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สร้างความลำบากให้กับประชาชนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่อ้างว่าการรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤตของประเทศนั้น หากจะว่าจริงก็จริงอยู่ไม่กี่วันเพราะหลังจากนั้นการรัฐประหารก็ทำให้เกิดวิกฤตต่างๆ ตามมาอีกมากมายครับ ประเด็นต่อมาคือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ดีอยู่แล้ว ถึงจะไม่ดีที่สุดถึงจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ด้วยความที่ไม่เข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองประเทศที่ดีพอหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้คณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วก็ "สั่ง" ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา พยายามสร้างกลไกและกระบวนการต่างๆขึ้นอย่างมากมายเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมและดูดียิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ตนฉีกทิ้งไป วันนี้สังคมก็ได้พิสูจน์ไปแล้วว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จะได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ แต่ทันทีที่จบการออกเสียงประชามติ ทุกฝ่ายก็ออกมาเสนอความเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลายๆ ประเด็น และนอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังมีสิ่งที่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างมากอีกประเด็นหนึ่งคือ หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับ ผมยังไม่เห็นมีใครออกมายอมรับว่าเป็น "เจ้าของ" หรือ "ผู้ร่าง" รัฐธรรมนูญตัวจริงเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่พอมีผลใช้บังคับใหม่ๆ ก็มีบรรดามิสเตอร์รัฐธรรมนูญออกมาให้ความเห็น ออกมาอธิบายกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญกันหลายคนสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนในหลายๆ ประเด็นครับ ก็ดูแปลกๆ นะครับที่ไม่มีใครออกมา "อ้างความเป็นเจ้าของ" รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือว่ามี "อะไร" กันอยู่ เพราะเห็นตอนก่อนที่จะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีความพยายามกันเหลือเกินที่จะเข้าไปเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแถมยังมีผู้คอยให้ข่าวอยู่ตลอดเวลาด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ครับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความแตกแยกในสังคมอย่างมาก มีการแบ่งฝ่าย แบ่งค่าย แบ่งพวกกันอย่างชัดแจ้ง และในที่สุดก็ทำให้สังคมแยกออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่เป็นพวกคณะรัฐประหารกับฝ่ายที่เป็นพวกอำนาจเก่า ถ้าหมุนเวลากลับไปได้ ผมอยากจะเสนอว่าไม่ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 เลยนะครับ ไหนจะเสียของดีๆ ไป ไหนจะเสียเงินเสียทองไปตั้งเยอะ กลับได้ของที่มีตำหนิมาใช้ครับ ส่วนประเด็นที่สามที่ผมอยากจะกล่าวต่อไปก็คือเรื่องเงินครับ ผมไม่ทราบว่าพอมีใครให้คำตอบผมได้ไหมว่านับแต่วันทำรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมี "ค่าใช้จ่าย" เท่าไหร่ เอาเฉพาะค่าใช้จ่าย "ที่ถูกต้อง" ตามกฎหมายก็ได้ครับ ลองนึกดูนะครับว่านับแต่วันรัฐประหารเรามีการตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น คมช. สนช. สสร. คตส. ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ได้รับเงินกันคนละเท่าไรก็ไม่ทราบ มีค่าใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่ทราบ นอกจากองค์กรแล้วก็ยังมีบรรดากระบวนการต่างๆ ที่ใช้เงินกันอย่างมโหฬาร เช่น การออกเสียงประชามติ การย้ายสนามบินภายในประเทศมาไว้ที่ดอนเมือง เป็นต้น มีใครพอจะบอกหรือรวบรวมตัวเลขมาแสดงได้ไหมครับว่า ต้นทุนของการรัฐประหารนั้นมีอยู่เท่าไหร่ ส่วนถ้าจะให้ดีมากขึ้นขอแถมเรื่องงบประมาณด้านการทหารให้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง เพราะมีเสียง "เล่าลือ" มากเหลือเกินครับว่ามีการใช้จ่ายเงินกันอย่างมาก มีการตั้งงบประมาณในหลายๆ หน่วยงานเพื่องานที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พูดถึงรัฐวิสาหกิจก็ต้องขอแถมอีกเรื่องหนึ่งคือ อยากให้มีการประเมินกันให้แน่นอนว่าการแต่งตั้งทหารเข้าไปเป็นกรรมการรัฐ วิสาหกิจภายหลังการรัฐประหารนั้น ในที่สุดแล้ว 1 ปีผ่านไปเกิดผลดีหรือผลเสียกับรัฐวิสาหกิจ ผมเห็นเป็นข่าวแทบจะทุกวันเลยครับว่ามีปัญหาในหลายๆ ที่ !!! ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในบทบรรณาธิการนี้ก็คือประเด็นการเมืองครับ สิ่งที่คณะรัฐประหารทำไม่ได้ก็คือทำให้นักการเมืองเป็นนักการเมืองของประชาชนครับ นี่คือความล้มเหลวของทั้งระบบการเมืองและการรัฐประหารที่ไม่สามารถ "ให้" นักการเมืองที่ดีกับประชาชนได้ บรรยากาศของการเมืองในวันนี้ดูๆ แล้วน่า "สังเวช" ครับ นักการเมือง "หน้าเดิมๆ" พากันวิ่งไล่จับกันเพื่อรวมกลุ่มกันเพื่อจะหาทางเข้ามาเป็นรัฐบาล การรวมกลุ่มของนักการเมืองก็ไม่ได้มีจุดอะไรที่ "ยึดโยง" กับประชาชนเลยครับ พรรคฝ่ายค้านเดิมสมัยรัฐบาลที่แล้วก็พยายามเกาะกันไว้เพื่อที่จะหาทางเป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า พรรครัฐบาลเดิมก็มีสองขั้ว ขั้วที่ยังอยากอยู่อย่างเดิมก็หาหัวหน้าคนใหม่ ส่วนขั้วที่ "อยาก" จะไปรวมกับกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมก็พยายามแยกตัวออกมากันหลายกลุ่มตั้งชื่อให้สวยๆที่ดูแล้วน่าจะเป็น "ทางเลือกใหม่" ที่ดู "เป็นกลาง" แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ต้องคอยดูกันต่อไปแล้วกันนะครับว่าจะเป็นอาการของการ "ชนะไหนเล่นด้วย" ไหมครับ บทสรุปคงเป็นว่าเข้าได้กับทุกฝ่ายเพราะพรรคเรา "เป็นกลาง" ครับ !! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองของเราที่ผมผิดหวังอย่างมาก เพราะที่นักการเมืองควรพูดควรเสนอในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ "เกี่ยวข้องกับประชาชน" มากกว่า "เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง" ของตนเองนะครับ ผมยังไม่เห็นนโยบายทางการเมืองสวยๆ จากพรรคการเมืองใดเลยครับ มัวแต่ยุ่งกับการเน้นตัวบุคคลที่มาเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มของตน ให้ข่าวกันจนน่าเวทนาว่าท่านเสียสละเพื่อชาติ ท่านทำเพื่อบ้านเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นคนอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง คาดเดาได้ไม่ยากครับว่าเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาสู่วงการเมืองอีกรอบคนเหล่านี้ จะเข้ามาทำอะไร ที่น่าเวทนาไปกว่านี้ก็คือ มีการปล่อยข่าวอยู่ตลอดเวลาว่า "ทหารใหญ่" จะเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มซึ่งทำให้พรรคหรือกลุ่มนั้น "มีราคา" มากขึ้นไปอีก แปลกไหมครับที่ในวันนี้เกิดเหตุการณ์ "ย้อนยุค" แบบนี้ขึ้นได้ ไม่ต้องแปลกใจครับ ลองตรวจสอบ "ประวัติศาสตร์การเมือง" ดูก็จะพบว่าตัวละครเกือบทั้งหมดคงเดิมเว้นแต่ตัวละครที่เป็น "ทหารใหญ่" เท่านั้นที่เปลี่ยนครับ ผมมองว่าตราบใดก็ตามที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองยังไม่มีนโยบายการเมืองที่ชัดเจนและโดดเด่นที่สามารถตอบคำถามทุกคำถามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ไปถึงไหนหรอกครับ ที่ถูกที่ควรเป็นในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น พรรคการเมืองทั้งหมดต่างก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ที่ควรทำก็คือสร้างนโยบายทางการเมืองใหม่ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศทุกปัญหาได้ ผมไม่ได้คาดฝันว่าจะเห็นพรรคการเมืองของเรามีนโยบายทางการเมืองเหมือนกับในต่างประเทศที่แต่ละพรรคก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่านโยบายของตนเป็นแบบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อนุรักษ์นิยม ขวาจัด สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรอกครับ เพียงแต่อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจนบ้าง ไม่ใช่ว่านักการเมืองทุกคนสามารถย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดก็ได้ พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถรวมกันเข้าเป็นรัฐบาลได้ ซึ่งหมายความว่าทุกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองทุกคนมี "จุดยืน" ร่วมกันมีนโยบายเดียวกัน หรือไม่ก็อาจคิดอีกแบบหนึ่งได้ว่าไม่มีจุดยืนอะไรเลยนอกจากการ "หาโอกาส" เข้าไปอยู่ในอำนาจครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองวันนี้จึงเป็น "สิ่งเดิมๆ" ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ความอยู่รอดทางการเมืองของพรรคการเมืองและของนักการเมืองย่อมมาก่อนประชาชน ครับ !!"
                   ต่อมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 194 สำหรับวันที่ 1 - 14 กันยายน 2551 ผมได้เขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่อง 1 ปีรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 มีใจความส่วนหนึ่งคือ "1 ปีที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่เราก็ได้พบเห็นอะไรมากมายพอสมควรจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความแตกแยกทางความคิด" เพราะหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ บรรยากาศทางการเมืองที่ผ่านมาก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ไม่เอื้อประโยชน์ให้มีการพัฒนาความรู้และความคิดที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง คงมีแต่การนำเสนอ "ข้อดี" และ "ข้อเสีย" ของบทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญที่ต้องการนำมาใช้จาก "ความรู้สึก" หรือ "สิ่งที่เกิดขึ้น" ที่แต่ละฝ่ายต่างก็พยายาม "สร้าง" ขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดหรือความประสงค์ของตน 1 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ "การกระทำ" ของแต่ละฝ่ายโดยมิได้คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยครับ นอกจากนี้แล้ว เมื่อ "การกระทำ" บางอย่างของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไปส่งผลใน "ด้านลบ" และในด้านที่ "ตรงกันข้าม" กับรัฐธรรมนูญ ก็เลยเถิดไปจนถึงความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังผลง่ายๆ คือเพื่อให้ "การกระทำ" ที่ได้ทำไปแล้วและเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญครับ
                     คงจำกันได้ว่าเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับเสียด้วยซ้ำ วลี "รับไปก่อน แก้ทีหลัง" ของ ส.ส.ร. บางคนยังอยู่ในความทรงจำของนักวิชาการเช่นผมและคนทั่วไปอีกจำนวนมากจนกระทั่งถึงวันนี้ แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ก็ไม่มีใครพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนที่เคยพูดว่าให้ "รับไปก่อน แก้ทีหลัง" ก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในองค์กรต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น รัฐบาลเองเมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ยืนยันว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุด เมื่อมีภัย "เกิดขึ้น" กับตัวเอง รัฐบาลจึงมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิได้ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่ควร จนกระทั่งนำมาซึ่งการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากกลุ่มผู้คัดค้านทั้งที่อยู่ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาที่เรียกได้ว่ามีพลังที่เข้มแข็งมาก มากจนกระทั่งผมคาดเดาได้ว่าคงจะยากที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ได้ครับ
                     บทบรรณาธิการครั้งนี้ขออุทิศให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่เจอวิบากกรรมมาตั้งแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับครับ คงต้องเริ่มต้นจากในขณะยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาพสังคมและการเมืองแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ก่อนมีการออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารล้มรัฐบาลคุณทักษิณฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารซึ่งรวมเอานักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าไปด้วยก็เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเองก็อยู่ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ด้วยเหตุผล 2 ประการหลักคือ ที่มาขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติบางมาตราที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น มาตรา 309 เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการออกเสียงประชามติโดยมีผู้มาออกเสียงเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงมีผลใช้บังคับมาจนทุกวันนี้
                     จากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาครบ 1 ปี สังคมไทยเราได้รับรู้ถึง "ข้อเสีย" ของรัฐธรรมนูญมากกว่า "ข้อดี" โดย "ข้อเสีย" ของรัฐธรรมนูญนั้น ผมเข้าใจว่าผมเจอเข้ากับตัวเองก่อนคนอื่น คือเมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบเอกสารลับของ คมช. ที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นพรรคการเมืองบางพรรค แม้กรรมการทุกคนเห็นว่า คมช. ผิดจริง แต่กรรมการส่วนหนึ่งก็นำเอามาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ จึงทำให้การกระทำของ คมช. ในครั้งนั้นไม่มีความผิดครับ !! ต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันถึงการตรวจสอบการเลือกตั้งที่เข้มงวดอย่างมาก มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถอย หลังไปสู่ความ "ล้าหลัง" รวมทั้งที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของบ้านเมือง และไม่สะท้อนให้เห็นถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามมาด้วยการมีรัฐบาลที่อ่อนแอไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถูกฟ้องร้องต่อทุกองค์กรจนแทบจะทำงานไม่ได้เลย เมื่อเกิดคดี "ยุบพรรค" อันเป็นผลพวงของมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงลุกขึ้นมาจุดพลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ความสนใจใดๆ เลย ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อตนเอง จึงถูกคัดค้านอย่างมากจากทั้งภายในรัฐสภาเองและจากพลังนอกสภาจนกระทั่งรัฐบาลต้องยอม "ถอย" จากนั้น เสียงของการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มแผ่วลง แต่ต่อมาเมื่อมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญออกฤทธิ์ การตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี จึงมีความพยายามที่จะ "เดินหน้าเต็มตัว" เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง รวมความแล้ว แม้รัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมาเพียง 1 ปี แต่เราก็พอมองเห็น "ปัญหา" ที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติบางส่วนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์กันต่อไปอย่างละเอียดว่า "ปัญหา" เหล่านั้น จริงๆ แล้วเกิดจาก "ข้อบกพร่อง" ของตัวบทบัญญัติหรือเกิดจาก "การกระทำ" ไป "ขัด" กับบทบัญญัติดังกล่าวครับ
                     จริงๆ แล้วถ้าจะว่ากันตามสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลาที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็คงจะเห็นตรงกันว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แถมยังจัดทำขึ้นในบรรยากาศของการรัฐประหารและความไม่ไว้วางใจนักการเมืองและ พรรคการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่ 2 มาตราที่เกิดปัญหาใหญ่ในวันนี้มีที่มาจากแนวคิดดังกล่าว โดยมาตรา 237 นั้นมีขึ้นเพื่อปราบปรามนักการเมืองที่ "แย่" ในขณะที่มาตรา 190 ก็มีขึ้นเพราะความ "ไม่ไว้วางใจ" รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประเทศ หากเป็นดังที่ผมคิดก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้น ประสบผลสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือในมาตราอื่นๆ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้บังคับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมี "ทีเด็ด" อะไรตามมาอีกครับ"
                   ในปีต่อมา บทบรรณาธิการครั้งที่ 221 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 14 - 27 กันยายน 2552 อันเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร ผมก็ได้เขียนบทบรรณาธิการชื่อ "3 ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย" เอาไว้ มีใจความตอนหนึ่งว่า "สภาพบ้านเมืองในวันนี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว เพราะ"วิกฤต" ต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ แถมยังแตกแขนงออกไปอีกหลายสาขา ดังนั้น ในวันนี้ หลังจากที่ 3 ปีผ่านไป จึงน่าจะถือโอกาสประเมิน "ผลสำเร็จ" ของการกระทำรัฐประหารว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำการประเมินได้เนื่องจากพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านที่เป็นผลพวงอันเกิดมาจากการรัฐประหารย่อมสะท้อนให้เห็นถึง "ผลสำเร็จ" ของการทำรัฐประหารได้ไม่ยากนัก
                     ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันนั้นแม้เราจะพบว่ามีความขัดแย้งในสังคม แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มิได้มีความ "รุนแรง" เท่ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น คณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ได้แสดงให้เราเห็นภาพของ "ความปรารถนาดี" ที่มีต่อบ้านเมืองและในทางกลับกันก็ได้ "ฉายภาพ" ของความเลวร้ายที่เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาก็คือการล้มเลิกโครงการหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่ผ่านมา
                     รัฐบาลของคณะรัฐประหารพยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ "ดูดี" และ "บริสุทธิ์ผุดผ่อง" แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศไม่ใช่ "ของง่าย ๆ" ที่ใครจะลุกขึ้นมาทำก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่เรามองเห็น "ความล้มเหลว" ในการบริหารประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งในด้านการออกกฎหมายโดย "สนช." ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารด้วย !!! จากความรู้สึกของผมน่าจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ล้มเหลวก็คือ กระบวนการตรวจสอบรัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นและประสานเสียงกันอย่างน่าชื่นชม มีการฉายให้เห็น "ภาพร้าย" ของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกวันจนทำให้บางครั้งอดนึกไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงได้ "ร้าย" ขนาดนี้ !!! ข่าวต่าง ๆ มีมากมายรายวันจนแทบไม่น่าเชื่อ ยังจำกันได้ไหมว่า 2 - 3 วันหลังการรัฐประหารก็มีข่าวการทุจริตเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการว่า เกิดการทุจริตกันมากทุกรูปแบบ รันเวย์ร้าวและทรุดจนไม่น่าจะใช้การได้ แถมมีบางคนออกมาให้ข่าวว่าคงเปิดใช้สนามบินไม่ได้อีกแล้วและสมควรเก็บไว้เป็น "สุสาน" ของอดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วย!!! ส่วนกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ ก็ดู "น่ากลัว" ทั้งนั้น ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ถูกสังคมประณามว่าทุจริตทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับนักการเมืองในรัฐบาลที่ ผ่านมาจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียวครับ
                     เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐประหารก็สามารถ "เอาใครก็ไม่รู้" มาร่างรัฐธรรมนูญได้ ดู ๆ แล้วไม่น่าเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ได้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตัวอย่างดี ๆ มีให้เห็นทั่วโลกก็ไม่เอามาใช้กลับสร้างแบบของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐ ธรรมนูญที่มีมาตรา 309 พ่วงท้ายมาด้วย คงไม่มีที่ใดในโลกนี้อีกแล้วที่ทำอย่างนี้ได้ครับ ! ด้วยเหตุนี้เอง "ใครก็ไม่รู้" ที่มาร่างรัฐธรรมนูญที่บางคนก็เข้ามาเพราะ "มีตำแหน่ง" บางคนก็เข้ามาเพราะ "มีพรรคพวก" จึงช่วยกันผลิตรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย "ใหญ่" รัฐบาลหรือแม้กระทั่งผู้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญด้วยบางคนต้องออกมาบอกกับประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า "รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง" น่าอายไหมครับกับผลงานที่มีตำหนิ!!
                     เมื่อรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกมาใช้บังคับ เกิดการเลือกตั้งขึ้น เกิดปัญหาจากบทบัญญัติที่หลาย ๆ มาตราในรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ในวันนี้ อาจสรุปได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมาก็ว่าได้ ผมจะขอพูดถึงวิกฤตต่าง ๆ เพียง 3 วิกฤตที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารอย่างคร่าว ๆ ก็แล้วกันนะครับ
                     วิกฤตแรกสำหรับผมก็คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เราจะพบได้ในชีวิตประจำวันว่า เรามีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกันมากรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มี "หลายมาตรฐาน" ด้วยครับ !! ลองสังเกตดูในช่วงชีวิตประจำวันก็ได้ ทางเท้าสำหรับคนเดินกลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซด์และเป็นที่ขายของบนถนน รถเมล์และรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งตามกฎหมายจะต้องวิ่งชิดขอบทางด้านซ้าย ก็ออกมาวิ่งเผ่นผ่านเต็มพื้นที่ถนนไปหมด สองตัวอย่างนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้อยู่ใต้ กฎหมายและผู้รักษากฎหมายต่างก็ละเลยการบังคับใช้กฎหมายกันไปหมด ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อมีการจับพ่อค้าขายของปลอมแถว พัฒน์พงษ์ เราจึงเห็นภาพการขัดขืนการจับกุมและการบุกชิงของกลางที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไม่สะทกสะท้านครับ ! ส่วนเรื่องเก่า ๆ ที่หลายต่อหลายคนพูดถึงก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันต่อไป การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงจนถึงวันนี้เราก็ยังหาตัวคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่พอมีข่าวการตัดต่อเทปเสียงนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่ชั่วโมงเราก็ทราบข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีการตัดต่อกี่จุด เอาเสียงเหล่านั้นมาจากไหน แถมยังรู้ไปไกลกว่านั้นอีกว่าทำและเผยแพร่มาจากที่ใดด้วยครับ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คำว่า "สองมาตรฐาน" เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายครับ
                     รวมความแล้ว สำหรับวิกฤตของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าอยู่คู่กับประเทศไทยมาจะครบ 3 ปีแล้ว และก็ยังมองไม่เห็นว่า ณ จุดใด เราจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรมและยุติธรรม ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ ถึงการปกครองในระบบ "นิติรัฐ" ครับ!!
                     วิกฤตต่อมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหา "อมตะ" ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยกว่า 50 ปีแล้ว และเรียกได้ว่าเป็น "เหตุใหญ่" ที่ใช้อ้างกันสำหรับการรัฐประหารแทบทุกครั้ง นั่นคือเรื่อง "การทุจริตคอร์รัปชัน"ครับ !!! การดำเนินการตรวจสอบของกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐ ประหารและโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้วางมาตรการต่อเนื่องที่เพียงพอในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ เราก็ได้ยินเรื่อง "ปลากระป๋องเน่า" ที่ไม่รู้ว่าวันนี้ตรวจสอบไปถึงไหน ตกลงแล้วมีใครทุจริตหรือไม่ ตามมาด้วยการเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงยิ่งกว่าการซื้อหลายเท่าที่ไม่รู้เช่นกันว่าวันนี้ผลการพิจารณาไปถึงไหน ปิดท้ายด้วยโครงการอภิมหาทุจริตชุมชนพอเพียงที่มีข่าวว่าเกิดการทุจริตจำนวนมากมายหลายโครงการย่อยที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากและประชาชนก็ได้ "ของไม่ดี" ไปใช้ ที่ในวันนี้ก็เช่นเดียวกันที่เรื่องเงียบหายไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่า 3 ตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังนี้เขาเรียกว่า "การทุจริต" หรือไม่ครับ เพราะถ้าใช่ ก็คือการเอาเงินของประเทศชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่น่าจะต้อง "ลากคอ" คนทำผิดมาลงโทษ เช่นเดียวกับการที่เรา "สะใจ" กับการลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ผ่านมาในข้อกล่าวหาเดียวกันนะครับ นอกเหนือจากการทุจริตที่เป็นตัวเงินและทรัพย์สินที่กล่าวไปแล้ว วันนี้เราก็ยังคงพบการทุจริตรูปแบบดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะรัฐประหารกันกี่ครั้งก็ไม่เห็นหมดสิ้นไปเสียที นั่นก็คือการใช้อำนาจเข้าไป "แทรกแซง" ระบบราชการประจำที่บางคนพยายามเรียกว่า "การทุจริตเชิงอำนาจ" ลองดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็แล้วกันครับดูมีปัญหาไปหมดตั้งแต่การแต่งตั้งที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในกระทรวงอีกบางกระทรวง รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยที่เหมือนในหน่วยงานจะ "ไม่พอใจ" แต่ก็ไม่กล้า "ขัดขืน" ด้วยเกรงว่า หากรัฐบาลอยู่ยาวตนเองจะลำบากครับ
                     หากการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงระบบราชการประจำเป็น "เงื่อนไขหลัก" ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ก็ขอให้ลองพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็แล้วกันนะครับว่า เข้าเงื่อนไขที่จะทำการรัฐประหารแล้วหรือยัง?
                     วิกฤตสุดท้าย ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่ควรจะกล่าวถึงไปแล้วตั้งแต่ต้นแต่ก็นำมากล่าวถึงเป็นวิกฤตสุดท้ายด้วยเหตุที่ว่า น่าจะเกิดปัญหาขึ้นเร็ว ๆ นี้ และปัญหาน่าจะรุนแรงเพราะเป็น "วิกฤตสะสม" ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยตรงครับ นั่นก็คือวิกฤตรัฐธรรมนูญครับ
                     คงจำกันได้ว่า "รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง" เป็นคำพูดที่แม้จะมีคนนำมาอ้างถึงมากแต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้สักครั้ง เพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตา "คัดค้าน" การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "สาระที่จะขอแก้ไข" เลย คนเหล่านั้นพยายามทำให้ภาพของรัฐธรรมนูญดูเป็นของ "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" ของความเป็นประชาธิปไตย คนเหล่านั้นจึง "คัดค้าน" การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการเสนอขอแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
                     จริง ๆ แล้ว ผมเองก็เห็นด้วยกับการ "ไม่แก้" รัฐธรรมนูญในช่วงนี้เพราะเมื่อพิจารณาจาก "ข้อเสนอ" ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์แล้วก็ไม่เห็นว่าประชาชนหรือ ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก คงมีเพียงนักเลือกตั้งและนักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากจะแก้กันจริง ๆ แล้ว น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาและหาทางสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองให้ดีกว่านี้ ประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์มากกว่าครับ
                     ดู ๆ ไปแล้ว หากเดาไม่ผิด เราคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกนานทีเดียวครับ ก็ "พลังหลัก" ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็น "พลังหลัก" ที่ค้ำยันรัฐบาลอยู่ ยังไงเสียก็คงต้องฟังกันบ้าง ใช่ไหมครับ!!!
                     มีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารแต่ผมคงจะขอไม่กล่าวถึงแล้วครับ ในวันนี้หากจะประเมินผลการรัฐประหารคงไม่ยากที่จะให้คะแนน การรัฐประหารที่ผ่านมาถือว่า "ล้มเหลว" โดยสิ้นเชิงเพราะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ได้เลย และในทางกลับกันกลับสร้างปัญหาสำคัญขึ้นมาให้กับประเทศอีก นั่นก็คือความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงที่ดู ๆ แล้วน่าจะยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น ความล้มเหลวของการรัฐประหารยังแสดงออกมาโดยผ่านทางนักการเมืองหน้าเก่าที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็สามารถส่ง "ตัวแทน" เข้ามาร่วมอยู่ในรัฐบาล ในองค์กรของรัฐต่าง ๆ แถมบางคนก็ยังมีบทบาทสูงในการ "ชี้นำ" การเมืองของประเทศในวันนี้อย่างชัดเจนอีกด้วยครับ ส่วนการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งที่เป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก็เห็นได้ชัดว่า "ล้มเหลว" เพราะวันนี้ก็ยังมีอยู่และดูท่าทางจะ "แยบยล" กว่าเดิมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการกระทำที่ "สูญเปล่า" ครับ
                     บทสรุปสำหรับ "3 ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย" ก็คือ ในวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราพังพินาศไปมาก สังคมมีความแตกแยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง การเมืองอ่อนแอ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากการรัฐประหารไปมากน้อยเพียงใด ส่วนใครได้นั้นก็คงต้องไปดูกันเอาเองจากตำแหน่งหน้าที่ ฐานะการงาน บทบาทต่าง ๆ ที่บางคนได้มาจากการสนับสนุนการรัฐประหาร จากการเป็น สนช. จากการเป็นเนติบริกร จากการเข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ลองพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับ
                     ในวันนั้น หากไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นและปล่อยให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาการ เมืองกันเอง ในวันนี้เราจะเป็นอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เรา "ลอง" มองดูบ้างครับ
                     ความผิดพลาด "ครั้งใหญ่" ของคณะรัฐประหารก็คือ เมื่อขึ้นมาแล้วไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่าง "เด็ดขาด" ปัญหาต่าง ๆ จึงยังคงอยู่ครบทั้งหมด!!!
                     ขอแสดงความไว้อาลัยให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกฆ่าทิ้งไป เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ครับ
                     ท้ายที่สุด ขอฝากคำถามถึงผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ผู้เข้าไปช่วยเหลือการรัฐประหารและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อมาทั้งหมด รวมไปถึงผู้ที่เอาดอกไม้ไปแสดงความยินดีกับการรัฐประหารว่า คิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ หากมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมคงเห็นต้องตรงกันนะครับว่าเป็น 3 ปีที่ประเทศเราต้องถอยหลังเข้าคลองไปมากครับ !"
                   ท้ายที่สุด ในปีที่ผ่านมา บทบรรณาธิการครั้งที่ 248 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหาร ผมได้นำเอาสิ่งที่ผมเคยเขียนถึงการรัฐประหารที่ผ่านมาในทุกครั้งของวันครบรอบปีของการรัฐประหารมานำเสนอซ้ำเพื่อจะบอกกับทุกคนว่า ในวันที่ครบ 4 ปีรัฐประหารนี้ ผมคงไม่ต้องนำเสนอแนวคิดหรือจุดยืนอะไรต่อสังคมทั้งนั้นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้พูดไปแล้วใน 3 ปีที่ผ่านมายังคงใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่าในปัจจุบัน เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองยิ่งแย่ลงไปอีก สังคมแตกแยกมากขึ้นทุกวัน การใช้อำนาจในทางมิชอบและการทุจริตคอร์รัปชันดูจะมากขึ้นกว่าเดิม คงทำให้หลายๆ คนรวมทั้งนักวิชาการที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหารตาสว่างจนพอมองเห็นว่า การรัฐประหารไม่ได้ช่วยอะไรประเทศไทยได้เลยครับ ฉะนั้น คณะรัฐประหารและผู้ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
         
                   ในวันที่ 19 กันยายน 2554 แม้การรัฐประหารจะผ่านมาแล้วเป็นเวลานานถึง 5 ปีก็ตาม แต่ "มรดก" ที่คณะรัฐประหารทิ้งไว้ให้กับประเทศไทยก็ยังคงอยู่เกือบจะครบถ้วน มรดกเหล่านี้เป็น "มรดกเลือด" ที่ผู้รับทั้งหลายคงไม่มีใครอยากรับ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่ง "ถูกบังคับ" ให้รับจากบรรดาองค์กรและกฎหมายที่เกิดขึ้นจาก "การกระทำ" และ "การกระทำที่เกี่ยวเนื่อง" กับการรัฐประหาร แต่อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นอะไรแปลก ๆ ตามมามากมาย จริง ๆ แล้วก็น่าสงสารคณะรัฐประหารและรัฐบาลชุดหลังรัฐประหารที่แม้จะใช้ความพยายามอย่างมากที่จะ "จัดการ" คน ๆ เดียว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ แม้จะพยายามใช้กลไกทุกอย่างที่มีอยู่ในประเทศมาช่วย"จัดการ" แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แม้จะทำให้นายกรัฐมนตรี 2 คนที่มาตามระบอบประชาธิปไตยหลังรัฐประหารพ้นจากตำแหน่งไปอย่างรวดเร็ว แต่นายกรัฐมนตรีคนต่อมาที่ถูกจับใส่พานมาดำรงตำแหน่งก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนรักและไว้ใจได้  ในสังคมเกิดตัวตายตัวแทนตามมามาก ยิ่งปราบ ยิ่งรังแก ภาคประชาชนส่วนหนึ่งก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น มีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นครับ นี่คือความสูญเปล่าของการรัฐประหารครับ !!!
                   ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อยากถามคณะรัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลังทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีหลังรัฐประหารว่า รู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่ตัวเองทำและพูดในช่วงเวลานั้น บรรดาคำตำหนิ ข้อกล่าวหาว่าร้ายส่วนใหญ่ แม้ 5 ปีผ่านไปก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง  ในวันนี้ เมื่อประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น รวมตัวกันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น พวกคุณยัง "กล้า" ที่จะพูดแบบนั้นอีกหรือไม่ แล้วก็เคย "เสียใจ" กันบ้างหรือเปล่าที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องพบกับสภาวะแบบนี้ครับ
                   เป็นผม คงไม่กล้าออกมาเดินบนถนนเดียวกับประชาชนทั่วไปครับ คงต้องอายมาก ๆ ที่เป็นต้นเหตุของความวิบัติของประเทศ
                   เป็นผม คงหนีไปอยู่ประเทศอื่นแล้ว ไม่บากหน้าทนอยู่ต่อไปให้คนเขาด่าว่ากันเช่นนี้หรอกครับ
                   ที่แย่ไปกว่านั้น  5 ปีหลังรัฐประหาร เราได้รัฐบาลเดิมกลับมาอีก นายกรัฐมนตรีแม้จะไม่ใช่คนเดิม แต่ก็นามสกุลเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีที่ถูกพวกคุณทำการรัฐประหารไป !!
                   นี่คือการ "ตบหน้า" ผู้ที่ทำรัฐประหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามครับ !!!
                   ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง "ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ" ที่เขียนโดย คุณกนก แสงวิทยา นักกฎหมายภาครัฐ บทความที่สองเป็นบทความของ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เขียนเรื่อง "ความผิดปกติในการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่" บทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง "ถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทย อีกครั้งหนึ่ง" ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความครับ
                 
                   พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2554
         
                   ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์

โทร.มือ2

ตั้งใจอ่านจนจบ...  ก็น่ะ  ไม่รู้สิว่า... ทำไมตอนนั้น ตอนที่แรกๆ อ่ะ  ทุกคนต่างเงียบ
ไม่โวย-วาย

จนวันนี้ บทสรุปมันมาจบลงตรงที่ บุคคลทั่วไป ต่างมีหัวข้อในการสนทนาต่อกันว่า  ทักษิณโกง..ยังไง
อะไรบ้างที่ทักษิณโกง  แล้วเรื่องที่กล่าวกันว่าทักษิณโกง .. มันได้รับการตัดสินชี้ขาดจากศาลสักเรื่องมั้ย?
นอกจาก เซ็นต์ชื่อให้เมียซื้อที่..ผิด  แต่เมียที่ซื้อไม่ผิด... งงๆ กันต่อไปไอ้เท่ง ไอ้ทอง  อย่างเราๆ อิอิอิอิ...
และแล้ว  มหากาพย์..แห่งการใส่ร้ายป้ายสีกัน  ก็มามีบทสรุปตรงที่.....


โกงกันทุกพรรค.. ยัด HA กันคนล่ะรูปแบบ   ด-แรก  กันแบบเย้ยฟ้าท้านรก...  ในตรรกะ


..หนูทำได้...

ใครเลือกข้าง

คนที่ออกมาโวยวายว่า  อย่าเลือกข้างคงลืมส่องกระจกดูตัวเอง

เพราะคนพูดนั่นแหละตัวดี เลือกข้างแถมยืนยันข้างตัวถูกต้อง 100 %

ยิ่งคณะปฏิวัติพูดได้อย่างไรว่าทำถูก ในเมื่อการปฏิวัติในกฏหมายรัฐธรรมนุญ

เขียนไว้ชัดๆ ยิ่งกว่าชัดว่าการปฏิวัติเป็นกบฎ ต้องโทษประหารชีวิต

นี่อะไรกัน พอปฏิวัติเสร็จ ฉีกรัฐธรรมนูญที่เป็นกฏหมายสูงสุดทิ้ง แล้วบอกว่าตัวเองไม่ผิด

โอ้ย ยังงี้นี่เองที่แผ่นดินนี้ มีปฏิวัติ แล้วปฏิวัติ แล้วก็ปฏิวัติ เพราะมันไม่มีความผิด นี่ เอง

แล้วใครกันล่ะที่สนับสนุนให้มีการปฏิวัติ ก็นักกฏหมายกลุ่มหนึ่ง นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง

ที่ไม่มีความสามารถที่จะชนะการเลือกตั้ง ก็ได้อาศัยใบบุญการปฏิวัติทุกทีได้เป็น รัฐบาล

ทีมาร้องแรกแหกกระเฌออยู่ตอนนี้ก็คนพวกนี้ นี่แหละที่รู้ๆว่า ถ้าแก้กฏหมายเมื่อไหร่ หมดสิ้น

จะเลือกอีกกี่ครั้ง จนถึงชาติหน้าก็ไม่มีวันชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยในการที่กลุ่ม

นิติราษฏร์ออกมาแถลงให้มีการแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็น

ถ้าถามว่า รังเกียจทหารหรือ ? โอ่ะ โอ้ เปล่า เกลียดทหารได้อย่างไร ? ไม่เคยคิดรังเกียจสักกะนิด จริงๆ

แต่ที่เกลียดและจงใจรังเกียจ ก็ทหารที่ทำการปฏิวัตินั่นหรอก ส่วนทหารที่ไม่ทำการปฏิวัติเป็นทหารดีๆทั้งนั้น

การปฏิวัติคือการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาจริงๆ  ขอร้องเถอะนะ ท่านทหารทั้งหลายทั้งปวง

เลิกคิดทำการปฏิวัติซะที และปกป้อง ป้องกัน ต่อสู้ ขัดขวาง ทำลาย คนที่คิดทำการปฏิวัติทุกรูปแบบอย่างจริงจัง

เชื่อว่า คนที่คิดจะทำการปฏิวัติจะทำไม่ได้แน่นอน แล้วบ้านเมืองเราก็จะสงบสุข เจริญก้าวหน้า ไม่สะดุดอีก

ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ช่วยในบ้านเมืองอยู่ได้อย่างสงบสุข ใครที่คิดไม่ดีอยู่ไม่ได้แน่นอน เชื่อเหอะ

โทร.มือ2

ถ้าเราจะพูดในแง่ ของหลักวิชาการกันล่ะก็...
มันผิดมาตั้งแต่  คนที่ชอบแทนตัวเองกันว่า อาจารย์ นักวิชาการ  สาด-ตา-จาน  นั่นล่ะ...
เพราะพี่ๆ ท่านๆ แต่ล่ะคน  ออกมามั่วได้ทุกวัน  วันนี้พูดแบบนี้ พรุ่งนี้ตีความอีกอย่างนึง...
ศรีธนญชัย ยังอาย..บอกตามตรง
เพราะในสังคม  ยังผูกโยงอยู่กับความคิดอันคับแคบตรงที่ว่า  คนเรียนมาสูงย่อมฉลาดกว่า...
ยิ่งมี ดอ - ร.  นำหน้าล่ะก็  อีโก้พี่ต้องสูง ความคิดพี่ต้องเลิศ..ใครคิดต่าง  คือพวก จั๊ด-ง่าว  5555..
ถามใจตัวเองดูสิว่า..มันจริงมั้ย ! ...  ความเจ็บปวดที่คนธรรมดาได้รับ  จากพวก...ยกตนข่มท่าน


ชนชั้นผู้นำ  ยังมองราษฎร  แค่..คนชั้นชาวนา / กรรมกร / ผู้มีรายได้น้อย / ไร้การศึกษา


คำพูดสุดเลิศหรูในอดีต..
 
....เราไม่อาจทำให้คนรวยเท่าเทียมกันได้หมด  แต่เราสามารถทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกันทุกคน.....




คุณเคยเชื่อมั้ย !!     ส.หลก