ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พัทลุง กำหนดจัดมหกรรมมโนราภาคใต้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:35 น. 19 พ.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

จังหวัดพัทลุง กำหนดจัดมหกรรมมโนราภาคใต้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 61 คณะ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา

[attach=1]
ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดงาน มหกรรมมโนราภาคใต้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา
ทั้งนี้ด้วยจังหวัดพัทลุง ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงและเทศบาลเมืองพัทลุง ได้กำหนดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2558 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง และถนนทางเสด็จ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา และเพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการสืบสาน สืบทอดศิลปะการแสดงมโนราของภาคใต้ รวมทั้งให้เห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงมโนรา อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่นภาคใต้ที่ควรแก่การรักษาให้คงอยู่สืบไป


สำหรับในงานมหกรรมดังกล่าวนี้จะมีคณะมโนราที่มีชื่อเสียงทั่วภาคใต้เข้าร่วมแสดงในงานดังกล่าว จำนวน 61 คณะ โดยจะจัดแสดงคืนละ 20 คณะ ยกเว้นคืนวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นคืนเปิดงาน จะมีคณะมโนราเอกชัย ไพศาล (เอกชัย ศรีวิชัย) เข้าร่วมแสดงด้วยรวมเป็น 21 คณะ นอกจากนั้นยังมีการเสวนาทางวิชาการเรื่องมโนราโรงครู ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 เวลา 14.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมกาบบัว ศาลากลางจังหวัดพัทลุง การจัดนิทรรศการมโนรา เล่าเรื่องประวัติศาสตร์มโนราในจังหวัดภาคใต้ การพัฒนาการจนถึงปัจจุบัน การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญามโนรา ได้แก่ การทำเทริด การร้อยลูกปัด ฯลฯ ซึ่งในขณะนี้ทางจังหวัดฯได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกๆด้านแล้ว

สำหรับประวัติความเป็นมาของ โนรา หรือ มโนราห์....มโนราห์... เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีการแสดง ละเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส ด้วยลีลาที่อ่อนช้อย และท่วงท่าที่เข้มแข็งของนักแสดง ผนวกกับจังหวะดนตรีที่เร่งร้าว ทำให้ศิลปะแขนงนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมมาอย่างยาวนาน

สิ่งที่ทำให้การแสดงมโนราห์ ยังคงเป็นที่นิยมอย่างเหนียวแน่นของชาวภาคใต้ นอกจากลีลาท่ารำ บทกลอน และเสียงดนตรีที่ปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ที่ได้ชมได้ฟังแล้ว เรื่องของมโนราห์ ยังเป็นวิถีปฏิบัติของศิลปินรุ่นต่อรุ่น ที่จะต้องสืบเชื้อสายการแสดงไว้ให้ไม่ขาดสูญ ที่เรียกว่าเชื้อสายโนรา

ประวัติการกำเนิดมโนราห์ เป็นตำนานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันเป็นมุขปาฐะ โดยผู้มีเชื้อสายโนรา ที่อาจแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดว่าตรงกับยุคสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคศรีวิชัยตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงที่อารยธรรมอินเดียแผ่ขยายเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เนื่องจากท่ารำมโนราห์ มีความละม้ายคล้ายคลึงการการฟ้อนรำของอินเดีย และเครื่องดนตรีหลัก ๆ 5 ชิ้นที่เรียกว่า เบญจสังคีต ซึ่งประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง และปี่ใน เหมือนกับของอินเดีย

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักอักษร ว่ามโนราห์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวพื้นถิ่นพัทลุงต่างเชื่อว่า มโนราห์ มีต้นกำเนิดจากเมืองพัทลุง และมีความผูกพันกับชาวพัทลุงอย่างใกล้ชิด มีร่องรอย และสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดพัทลุงปรากฏในตำนานการกำเนิดมโนราห์

ขุนอุปถัมภ์นรากร หรือโนราพุ่ม เทวา อดีตบรมครูโนราผู้ล่วงลับ แห่งอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเคยแสดงรำมโนราถวายหน้าพระที่นั่งมาแล้วหลายครั้ง ได้เคยเล่าเรื่องราวการกำเนิดมโนราห์ ให้กับลูกศิษย์ลูกหาได้ฟัง เมื่อครั้งยังมีชีวิตว่า
พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมือง ๆ หนึ่ง มีพระชายาชื่อ นางศรีมาลา มีธิดาองค์หนึ่งชื่อ นวลทองสำลี ครั้นมีอยู่คืนหนึ่งเมื่อนางนวลทองสำลี เข้าบรรทม ได้สุบินนิมิต(ฝัน)ว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู มีท่ารำทั้งหมด 12 ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และ แตรฺะ เช้าวันต่อมานางจึงให้ข้าราชบริพาร ทำเครื่องดนตรีขึ้นแล้วฝึกรำตามที่เห็นในนิมิต จนเกิดความชำนาญ และได้มีการเล่นรำกันในราชสำนักจนเป็นที่ครึกครื้น

อยู่มาวันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสระหน้าปราสาท จึงสั่งให้นางกำนันเก็บมาถวาย ครั้นเมื่อได้เสวยเกสรบัวแล้ว นางก็ทรงครรภ์ แต่ก็ยังคงเล่นรำอยู่ตามปกติ จนเวลาผ่านไปหลายเดือน พระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นบิดา ได้สังเกตเห็นว่านางทรงครรภ์ จึงเกิดพิโรธและเรียกมาซักไซ้ไล่เลียงเอาความจริง นางนวลทองสำลีก็บอกว่าเป็นเพราะการเสวยเกสรบัวเข้าไป พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงเชื่อ และทรงเห็นว่านางทำให้อัปยศ ครั้นจะประหารเสียก็ไม่อยากฆ่าลูก จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพพร้อมด้วยสนมนางกำนัล 30 คน แพลอยคว้างอยู่กลางทะเลหลายวัน ในที่สุดก็ลอยไปติดที่เกาะกะชัง นางนวลทองสำลี และเหล่าสนมได้อาศัยเกาะนั้นเป็นที่พำนักอาศัย และ ต่อมาได้ประสูติโอรส ตั้งชื่อให้ว่าชายน้อย นางได้เลี้ยงดูชายน้อยด้วยความทะนุถนอม พร้อมได้สอนวิชาการรำมโนราห์ให้จนชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ

ต่อมาเมื่อชายน้อยมีชันษาได้ 10 ปี ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำมโนราห์ตามที่ต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่นานจึงมีข่าวแพร่ไปถึงเมืองของพระอัยกา และด้วยความสามารถด้านการรำมโนราห์ที่เก่งกาจ จนเป็นที่กล่าวขวัญของชาวเมือง ข่าวดังกล่าวจึงล่วงรู้ถึงพระยาสายฟ้าฟาด ทำให้พระองค์ระลึกถึงพระธิดาที่เคยรำมโนราห์อยู่ในพระราชวังเป็นที่ครึกครื้น คิดอยากชมมโนราห์อีกครั้ง แต่ไม่อยากให้นำเข้ามารำในพระราชวัง เพราะตนเองเคยลงโทษ จับธิดาลอยแพมาแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดจึงทรงปลอมพระองค์ไปดูมโนราห์ที่แสดงอยู่นอกพระราชวัง เมื่อเห็นชายน้อยมีหน้าตาละม้ายธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่า เป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะชังกลับราชวัง

ครั้นทหารรับคำสั่งแล้วได้เดินทาง ไปแจ้งแก่นวลทองสำลีเพื่อรับตัวกลับ แต่นางปฏิเสธ เพราะยังโกรธที่ถูกจับลอยแพพร้อมลูกในครรภ์ เมื่อทหารกลับมากราบทูลพระยาสายฟ้าฟาด พระองค์จึงกำชับให้ทหารจับตัวขึ้นเรือกลับมาซึ่งก็นำตัวมาได้ และระหว่างนี้เองเมื่อเรือเดินทางกลับมาถึงปากน้ำจะเข้าเมืองได้ปรากฏมีจระเข้ใหญ่ลอยขวางเรือไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ซึ่งเป็นที่มาของโนราแทงเข้ ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งของการรำมโนราห์โรงครูในกาลต่อ ๆ มา

หลังพานางเข้าเมืองมาแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดได้ทรงจัดให้มีพิธีรับขวัญขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และก็ให้มีการรำมโนราในงานด้วย พระยาสายฟ้าฟาดทอดพระเนตรเห็นนัดดาตนรำมโนราห์ได้อย่างประทับใจ จึงพระราชทานเครื่องทรงของตนให้เป็นเครื่องแต่งตัวของโนรา และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ชายน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา พร้อมยกหัวเมือง ๆ หนึ่งให้ปกครอง ซึ่งเมืองดังกล่าวชาวพัทลุงเชื่อว่าอยู่ที่วัดท่าแคในปัจจุบัน เหล่าศิลปินเชื้อสายมโนราห์ชาวพัทลุงยังเชื่อว่า อัฐิของขุนศรีศรัทธา ได้ถูกฝังไว้ใต้ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ภายในวัดท่าแคนี้เอง

เรื่องของมโนราห์ หรือ โนรา มีความผู้พันกับชาวพัทลุงอย่างแน่นแฟ้น โนรา ไม่เพียงเป็นศิลปะการแสดงสร้างความบันเทิงใจแก่ผู้คนเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยลัทธิความเชื่อ และวัฒนธรรมทางสังคมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลให้คนพัทลุงยึดเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต และมีการแสดงออกอย่างเด่นชัดในความกตัญญู ความกล้าหาญ และการยึดมั่นในศีลธรรม
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน