ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

2 นักวิชาการ ม.อ. ได้รับการเชิดชูเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ปี 57

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 15:34 น. 22 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

[attach=1]
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ นำคณะบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน และผู้แทนโครงการดีเด่นของชาติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ประจำปี 2557 เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ เมื่อวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา หลังจากนั้น รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดงานประกาศเกียรติคุณแสดงความยินดี ในวันดังกล่าว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน

โครงการคัดเลือกบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ ดำเนินการโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่บุคคล หน่วยงาน และโครงการที่มีผลงานดีเด่น ให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญคือ ต้องเป็นผลงานดีเด่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และต่อเนื่องไปในอนาคต ผลงานเห็นผลแน่นอน เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมทั้งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และจริยธรรมในการครองตน มีแนวทางและอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
ในปี พ.ศ. 2557 มีบุคคลและหน่วยงานได้รับการคัดเลือก จำนวน 10 ราย จาก 5 สาขา โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะบุคคลดีเด่นของชาติ ใน 2 สาขา คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาพัฒนาสังคม และ ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา อังสุภานิช สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

[attach=2]
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) คณะแพทยศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนักระบาดวิทยาที่มีความรอบรู้ในการพัฒนาและความสามารถในด้านการวิจัยทำให้วงการวิชาการของประเทศก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และเกิดประโยชน์โดยตรงกับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ปัญหาโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในภาคใต้ ได้แก่ บาดทะยักเด็กแรกเกิด พยาธิปากขอ ตั้งแต่ปี 2525 โรคปอดบวม อุจจาระร่วง มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา พิษจากการปนเปื้อนจากสารตะกั่วและสารหนู ได้ก่อตั้งหลักสูตรระบาดวิทยานานาชาติตั้งแต่ปี 2535 ฝึกอบรมนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกจาก 17 ประเทศ พัฒนา oper-source package ทางสถิติชื่อ epicalc ซึ่งมีผู้เข้าเรียนทางอินเทอร์เน็ตและนำไปใช้ทั่วโลก

เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้ความยอมรับทางวิชาการของตนระดมความร่วมมือข้ามวัฒนธรรม ติดตามช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง ฟื้นฟูสรรถนะทางจิตใจและการงานให้กลับคืนสู่สังคม ปัจจุบันมีงานเยียวยาต่อเนื่องไปสู่ความสมานฉันท์ และการสร้างสรรค์กำลังคนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ ภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติ

[attach=3]
ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา อังสุภานิช คณะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และได้ทำวิจัยในด้านนี้มาเป็นเวลา 30 ปี ค้นพบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ระดับโลก 15 ชนิด จากทะเลไทย เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่ริเริ่มศึกษาสัตว์พื้นใต้น้ำกลุ่มทาไนดาเซีย (Order Tanaidacea ใน Phylum Arthropoda) อย่างจริงจัง ทั้งทางนิเวศและอนุกรมวิธาน โดยพบสัตว์กลุ่มนี้ 11 ชนิด ใน 15 ชนิดใหม่ และมีประสบการณ์สูงเกี่ยวกับระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ นับเป็นการเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทย และมองเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางวิชาการเชิงลึก และมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ทั้งนี้ ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นระบบนิเวศตะกอนดินใต้น้ำที่ถูกมองข้าม ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ล้ำค่าตัวน้อย ๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการมีอาหารทะเลอันโอชะของมนุษย์ โดยจัดทำเป็นหนังสือสามเรื่องสำหรับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติของทะเลสาปสงขลาและใช้ประกอบการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน