ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นิทานเซ็นเรื่องที่ 1

เริ่มโดย คนเมืองหาด, 09:19 น. 24 ธ.ค 58

คนเมืองหาด

 นิทานเซ็น (ศาสนาพุทธนิกายเซ็น)

ซูตงพอ เป็นอำมาตย์ใหญ่ และเป็นนักประพันธ์ชื่อดัง เขียนหนังสือไว้มากมายทั้งทางโลกและทางธรรม มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว

       ซูตงพอ เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เซนชื่อดังรูปหนึ่ง  วันหนึ่งคิดจะแสดงว่าตนปฏิบัติถึงขั้นล้ำลึกแล้ว  จึงเขียนเป็นโศลกว่า

ค้อมหัวคำนับฟ้าเหนือฟ้า  แสงเจิดจ้าสาดส่องเหล่าเวไนย  ลมแปดทิศโหมมาไม่หวั่นไหว นั่งนิ่งในดอกบัวสีม่วงทอง
(ลมแปดทิศ เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึง โลกธรรมทั้งแปด คือ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ  ทุกข์  นินทา)

      เขียนเสร็จแล้วให้คนรับใช้นำไปให้พระอาจารย์ พระอาจารย์อ่านแล้วก็เขียนใส่ด้านหลังโศลกว่า " ผายลม " ( เป็นศัพท์สแลงแปลว่า เพ้อเจ้อ ไร้สาระ)

      เมื่อ ซูตงพอ อ่านแล้ว ให้บันดาลโทสะยิ่งนัก นั่งเรือข้ามฟากไปหาพระอาจารย์ทันที พระอาจารย์รู้อยู่แล้วว่า ซูตงพอ ต้องมา จึงสั่งลูกศิษย์ไว้แล้วว่า วันนี้ไม่รับแขก ซูตงพอ ยิ่งเดือดดาลเพิ่มขึ้นไปอีก  ถือวิสาสะเดินไปที่ห้องพักพระอาจารย์  ขณะที่กำลังจะยกมือขึ้นเคาะประตู เห็นกระดาษแผ่นหนึ่งติดไว้ที่หน้าประตูว่า

ลมแปดทิศโหมมาไม่หวั่นไหว
แต่ลมตดเดียวซัดท่านมาถึงนี่

      ซูตงพอ เลยรู้สึกตัว และอดขบขันตัวเองไม่ได้ หลังจากนั้นจึงมีคำพังเพยมาจนถึงทุกวันนี้ว่า " จงเอาเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง ซูตงพอ "  เอาเยี่ยงที่ฝักใฝ่ธรรมะ แตกฉานอภิธรรม  แต่อย่าเอาอย่างที่  การปฏิบัติยังไปไม่ถึงไหน

คนเมืองหาด

https://www.youtube.com/watch?v=YL4fgiOJvIY

นิทานเซนเป็นนิทานแนวปรัชญา เป็นนิทานที่ให้แง่คิดคติสอนใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งทุกท่านที่­ได้ชมแอนิเมชั่นนิทานเซนและอ่านจะได้ข้อคิดดีๆกลับไปปฏิบัติตาม

คนเมืองหาด

นิทานเซน : พระเซนกับขอทาน 方丈与乞丐

มีขอทานพิการเหลือแขนเพียงข้างเดียวผู้หนึ่ง เดินทางเข้าไปยังวัดเซนที่พระเซนนามฟังจั้งพำนักอยู่ เพื่อขอรับทาน ทว่าเมื่อเอ่ยปาก พระฟังจั้งกลับชี้มือไปยังกองอิฐและบอกกับขอทานแขนเดียวว่า "ท่านช่วยย้ายอิฐกองนั้นไปยังหลังวัดก่อนเถอะ"

ขอทานแขนเดียวได้ยินครั้งแรกก็ไม่พอใจ กล่าวว่า "ข้าเหลือแขนเพียงข้างเดียวจะย้ายอิฐได้อย่างไร ข้ามาขอทาน หากท่านไม่อยากให้ทานก็ไม่เป็นไร ไฉนต้องล้อเลียนผู้อื่นถึงเพียงนี้"

พระเซนไม่เอ่ยโต้ตอบ เพียงแต่เดินไปยกก้อนอิฐโดยใช้แขนเพียงข้างเดียว จากนั้นค่อยกล่าวเรียบๆ ว่า"งานประเภทนี้ แม้มีแขนข้างเดียวก็สามารถทำได้"

เมื่อเห็นดังนั้น ขอทานจึงได้แต่ทำตาม โดยค่อยๆ ย้ายก้อนอิฐไปยังหลังวัด ทีละก้อน ทีละก้อน ใช้เวลาพักใหญ่จึงย้ายก้อนหินได้หมดกอง จากนั้นพระเซนจึงมอบเงินค่าตอบแทนให้กับขอทานจำนวนหนึ่ง ขอทานเห็นดังนั้นก็ดีใจมากพลางกล่าวคำ "ขอบคุณท่าน ขอบคุณท่าน" ไม่หยุด

พระฟังจั้งจึงตอบว่า "ไม่ต้องขอบคุณเรา เพราะเงินนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงของท่านเอง"

ขอทานจึงเอ่ยด้วยความสำนึกว่า "ข้าจะจดจำวันนี้เอาไว้" จากนั้นจึงก้มตัวค้อมคำนับด้วยความตื้นตันก่อนเดินทางจากไป

ผ่านไปหลายวัน มีขอทานอีกผู้หนึ่งเดินทางมาขอทานที่วัดนี้ พระฟังจั้งพาขอทานผู้นี้เดินมาที่หลังวัดจากนั้นชี้ไปยังกองอิฐและกล่าวว่า "ท่านช่วยย้ายอิฐกองนั้นไปยังหน้าวัดก่อนเถอะ" ทว่าขอทานผู้มีแขนขาครบผู้นี้กลับไม่สนใจคำกล่าวของพระเซน ได้แต่หันกายจากไปโดยพลัน

บรรดาสานุศิษย์ในวัดเห็นดังนั้นจึงเอ่ยถามพระฟังจั้งว่า "คราวก่อนท่านอาจารย์ให้ขอทานย้ายอิฐมายังหลังวัด ไฉนวันนี้กลับประสงค์ให้ขอทานอีกผู้หนึ่งย้ายอิฐกลับไปหน้าวัด ที่แท้แล้วท่านอาจารย์อยากให้นำก้อนอิฐไปไว้ที่ใดกันแน่?"

พระเซนฟังจั้งตอบศิษย์เพียงสั้นๆ ว่า "อิฐวางไว้หน้าวัดหรือหลังวัดล้วนไม่ต่างกัน ทว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายต่างหากที่สำคัญสำหรับขอทานเหล่านั้น"


วันเวลาผ่านไปหลายปี วันหนึ่งปรากฏคนผู้หนึ่งท่าทางภูมิฐานเดินทางมาที่วัด คนผู้นี้มีแขนเพียงข้างเดียว ที่แท้แล้วคือขอทานแขนเดียวเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่เขาพบพระฟังจั้งในครั้งนั้น เขาจึงค่อยได้รู้ถึงคุณค่าในตัวเอง จากนั้นจึงหาทางประกอบสัมมาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย จนในที่สุดได้พบกับความสุข สำเร็จในชีวิต...ส่วนขอทานอีกผู้หนึ่งนั้น ยังคงเป็นขอทานอยู่เรื่อยมา

ปัญญาเซน : เชื่อมั่นในตนเอง รู้คุณค่าในตนเอง และพึ่งพาตนเอง คือคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการเป็นมนุษย์
ที่มา: ธรรมะ.นะครับ.com

นิทานเซน มีหลายเรื่องแต่ละเรื่องล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ เข้าถึงธรรมะ ได้โดยง่าย และ ฉับพลัน ไม่ต้องไปเสียเงิน ซื้อ บุญ เพื่อให้เกิดความลุ่มหลงในบุญ หาอ่านได้ทั่วไป ตามร้านหนังสือ และ หาได้ใน www.google.co.th เพียงพิมพ์คำว่า นิทานเซน

คนเมืองหาด

 เรื่อง เกี่ยวกับเซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ตามชื่อ ของหนังสือ เล่มหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า "เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก" คือ หนังสือ ที่เอามา เล่านิทาน ให้ฟัง นี้เอง ควรจะทราบ ถึงคำว่า เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ด้วยจะง่าย ในการเข้าใจ เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก หมายความว่า ธรรมะ ชั้นที่เป็นเนื้อ เป็นกระดูก ยังไม่ถึง เยื่อในกระดูก ธรรมะชั้นลึกจริงๆ จัดเป็น ชั้นเยื่อในกระดูก นี่เราจะเล่ากัน แต่เรื่อง ชั้นเนื้อ และชั้นกระดูก หมายความว่า ในนั้นมันมี ชั้นเยื่อในกระดูก อีกทีหนึ่ง ถ้าเข้าไม่ถึง มันก็ติดอยู่ แค่เนื้อแค่กระดูก เหมือนที่ เราไม่เข้าถึง หัวใจ ของ พระพุทธศาสนา แล้วก็คุยโวอยู่ ซึ่งมันเป็น ชั้นเนื้อ ชั้นกระดูก ทั้งนั้น ไม่ใช่ ชั้นเยื่อในกระดูกเลย และเมื่อจะพูดกัน ถึงเรื่องนี้ เขาเล่า นิทาน ประวัติ ตอนหนึ่ง ของ ท่านโพธิธรรม คือ อาจารย์ ชาวอินเดีย ที่ไป ประเทศจีน ที่ไป ประดิษฐาน พระพุทธศาสนา นิกายธยานะ ลงไปใน ประเทศจีน ซึ่งต่อมา เรียกว่า นิกายเซ็น ญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็น หรือภาษาจีน เรียกว่า เสี่ยง

เมื่อท่านโพธิธรรม อยู่ในประเทศจีน นานถึง ๙ ปี ท่านก็อยากจะ กลับอินเดีย ทีนี้ไหนๆ จะกลับทั้งที อยากจะลอง สอบดูว่า บรรดาศิษย์ ต่างๆ ที่สอนไว้ที่นี่ ใครจะรู้อะไร กี่มากน้อย ก็เลยเรียก มาประชุม ถามทำนอง เป็นการสอบไล่ว่า ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร ข้อสอบ มีเพียงสั้นๆว่า "ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร?"

ศิษย์ชั้นหัวหน้าศิษย์ ที่เรียกว่า ศิษย์ชั้นมีปัญญา เฉียบแหลม ชื่อ ดูโฟกุ ก็พูดขึ้นว่า "ที่อยู่ เหนือ การยอมรับ และ อยู่เหนือ การปฏิเสธ นั้นแหละ คือ ธรรมะ ที่แท้จริง" คำตอบอย่างนี้ ก็ถูกมากแล้ว ถ้า ผู้ใดฟัง ไม่เข้าใจเรื่องนี้ พึงจัดตัวเองว่า เป็นผู้ที่ ยังไม่รู้ธรรมะได้เลย ไม่รู้ธรรมะ อะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้จัก สิ่งที่เหนือ การยอมรับ และการปฏิเสธ

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า "เอ้า! ถูก! แกได้ หนัง ของฉันไป" นี้ หมายถึง หนังที่หุ้มชั้นนอก ไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่กระดูก คือ ชั้นหนังแท้ๆ เสร็จแล้ว คนนี้ นั่งลง

นางชีคนที่ชื่อ โซจิ ก็ยืนขึ้น แล้วบอกว่า "สิ่งที่เห็นครั้งเดียว แล้วเป็น เห็นหมด เห็นตลอดกาล นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง"

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า " เอ้า! ถูก! แกได้ เนื้อ ของฉันไป" คือมัน ถูกกว่า คนทีแรก จึงได้เนื้อไป แล้วเขาก็นั่งลง

คนที่สาม ยืนขึ้น ตอบว่า "ที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแหละ คือ ธรรมะ" เขาใช้คำว่า ไม่มีอะไรเลย เท่านั้น แต่เรา ขยายความ ออกไป ก็ได้ว่า ไม่มีอะไร ที่ถือ เป็นตัวตน เลย นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง

อาจารย์ ก็บอกว่า "ถูก! แกได้ กระดูก ของฉันไป" คือ ลึกถึง ชั้นกระดูก

ศิษย์อีกคนหนึ่ง เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ชื่อ เอก้า ยืนขึ้น หุบปากนิ่ง แล้วยัง เม้มลึก เข้าไป ซึ่งแสดงว่า นิ่งอย่างที่สุด เป็นการแสดงแก่อาจารย์ว่า นี่แหละ คือ ธรรมะ การที่ต้อง หุบปาก อย่างนี้แหละ คือธรรมะ อาจารย์ ก็ว่า "เออ! แกได้ เยื่อในกระดูก ของฉันไป"

นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร บรรดา ครูอาจารย์ ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่มี สติปัญญา ได้ศึกษา เล่าเรียน มามาก จงลองคิดดู คำตอบที่ว่า อยู่เหนือ การยอมรับ และปฏิเสธนั้น ยังถูกน้อยกว่า คนอื่น ส่วนผู้ที่ตอบว่า ลงเห็นทีเดียวแล้ว เห็นหมด และ เห็นตลอดกาล ด้วย นี่ยังถูกกว่า แล้วที่ว่า ไม่มีอะไรเลยนั้น ยิ่งถูกไปกว่าอีก แล้วที่ถึงกับว่า มันพูดอะไรออกมาไม่ได้ มันแสดงออกมาเป็น คำพูด ไม่ได้ จนถึงหุบปากนิ่งนี้ ยิ่งถูกกว่าไปอีก นี่แหละ พวกเรามี สติปัญญา ละเอียด สุขุม แยบคาย มีความสำรวม ระมัดระวัง สงบอกสงบใจมาก จนถึงกับว่า ไม่หวั่นไหว และเข้าใจ เรื่องไม่หวั่นไหว หรือไม่มีอะไรนี้ได้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดู ถึงจะยังทำเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจว่า แนวของมัน เป็นอย่างนั้น คนที่รู้ อะไรจริงๆ แล้ว จะไม่พูดอะไรเลย เพราะรู้ซึ้ง ถึงขนาดที่อยู่ เหนือวิสัย ของการบรรยาย ด้วยคำพูด อย่างที่ เล่าจื้อ ว่า "คนรู้ไม่พูด คนที่พูด นั้นไม่ใช่ คนรู้" นี่ก็หมายถึง ตัวธรรมะจริงๆ นั้น มันพูดไม่ได้ ถึงแม้ ที่อาตมา กำลังพูด อยู่นี่ ก็เหมือนกัน ยังไม่ใช่ธรรมะจริง เพราะมันยังเป็น ธรรมะที่พูดได้ เอามาพูดได้ ลองทบทวนดูว่า ท่านเคยเข้าใจ ซึมซาบ ในความจริง หรือ ในทฤษฎีอะไร อย่างลึกซึ้ง จนท่านรู้สึกว่า ท่านไม่อาจ บรรยาย ความรู้สึก อันนั้น ออกมา ให้ผู้อื่นฟัง ได้จริงๆ บ้างไหม? ถ้าเคย ก็แปลว่า ท่านจะเข้าใจถึง สิ่งที่พูด เป็นคำพูด ไม่ได้

ธรรมะจริง มันพูดไม่ได้ ต้องแสดงด้วย อาการ หุบปาก แต่ขอให้ถือว่า เรากำลังพูดกัน ถึงเรื่องวิธี หรือ หนทาง ที่จะเข้าถึงธรรมะจริง ก็แล้วกัน แต่ว่า เมื่อเข้าถึงธรรมะจริง แล้ว มันเป็นเรื่อง ที่จะต้อง หุบปาก แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ จะต้องถึงเข้า ข้างหน้า เป็นแน่นอน ไม่มี ครูบาอาจารย์ คนไหน จะมีอายุเท่านี้ อยู่เรื่อยไป คงจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ เห็นโลก ในด้านลึก เห็นชีวิต ด้านลึก โดยสิ้นเชิง เป็นแน่ ฉะนั้นจึงควร เตรียมตัว ที่จะเข้าถึง แนวของ ธรรมะ เสียแต่ป่านนี้ จะไม่ขาดทุน และก็ไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องเศร้า หรือ เป็นเรื่องน่าเบื่อ จนเกินไป

ในที่สุด เราจะต้องมานึกกัน ถึงเรื่อง เปลือก และ เนื้อ บ้าง นิทาน ทั้งหลายนั้น มันเหมือนเปลือก ส่วน spirit ของนิทานนั้น เหมือนกับเนื้อใน แต่ว่า เปลือกกับเนื้อ จะต้องไปด้วยกัน ครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย อย่าได้เกลียด เปลือก และ อย่า ได้ยึดมั่น ถือมั่น เอาแต่เนื้อ มันจะเน่าไปหมด ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเนื้อไม่มีเปลือก มันจะเน่า จะต้องเป็นเนื้อที่เน่า เนื้อที่มีเปลือก เท่านั้น ที่จะไม่เน่า เหมือนอย่างผลไม้ ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อมันจะอยู่ได้อย่างไร จะเป็นมังคุด ทุเรียนอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีเปลือก ของมัน เนื้อของมันจะอยู่ได้อย่างไร จะสำเร็จประโยชน์ ในการบริโภคของเราได้อย่างไร ทั้งที่เราต้องการบริโภคเนื้อ เปลือกของมัน ก็ต้องมี หรือว่า การที่ผลไม้มันจะออกมาจากต้น มีดอกแล้ว จะเป็นลูก มันยังต้อง เอาเปลือกออกก่อน เพื่อให้เนื้อ อาศัยอยู่ในเปลือก แล้วเจริญขึ้น ถ้าไม่มีเปลือก ส่งเนื้อ ออกมาก่อน มันก็เป็นต้นไม้ ที่โง่อย่างยิ่ง คือ มันจะเป็นผลไม้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะเยื่อนั้น จะต้องเป็นอันตราย ไปด้วย แสงแดด ด้วยลม ด้วยอะไรต่างๆ หรือ มดแมลง อะไรก็ตาม ฉะนั้น มันต้องมีเปลือก ที่แน่นหนา เกิดขึ้นก่อน เนื้อเจริญขึ้น ในนั้น ก็เป็นผลไม้ ที่เติบโต แก่ สุก บริโภคได้ นั่นคือ คุณค่าของเปลือก มองดูอีกแง่หนึ่ง มันก็ยิ่งกว่าเนื้อ มันมีค่า มากกว่า เนื้อก็ได้ เพราะ มันทำให้ เนื้อ เกิดขึ้นได้ สำเร็จประโยชน์ แต่เราก็ ไม่มีใคร กินเปลือก เพราะ ต้องการจะ กินเนื้อ ฉะนั้น เราจะต้องจัด เปลือก และ เนื้อให้ กลมกลืน กันไป

นิทานอิสป หรือ นิทานอะไรก็ตาม ตัวนิทาน มันเหมือนกันกับ เปลือก ที่จะรักษา เนื้อใน ไว้ ให้คงอยู่ มาจนถึงบัดนี้ได้ ถ้าไม่ใส่ไว้ ในนิทานแล้ว ความคิดอันลึกล้ำ ของอิสป อาจจะไม่มาถึงเรา มันสูญเสีย ก่อนนานแล้ว และ จะไม่มีใคร สามารถ รับช่วงความคิด นั้นมาถึงเรา เพราะว่า เขาไม่มี การขีด การเขียน ในสมัยนั้น หรือว่า เอาตัวอย่างกัน เดี๋ยวนี้ว่า ชนชาติเอสกิโม ทางแลปแลนด์ ทางขั้วโลกเหนือนั้น ก็ยังมีวัฒนธรรม หรืออะไรของเขา เล่าต่อกันมา เป็นพันๆปี ยังพูด ยังเล่า ยังสอนกันอยู่ ชนพวกนี้ ไม่มีหนังสือเลย เดี๋ยวนี้ก็ยัง ไม่มีหนังสือ พวกเอสกิโม อยู่ใน "อิกลู" หรือ กระท่อม ที่ทำขึ้นด้วย แท่งน้ำแข็ง แต่พอถึง เย็นค่ำลง ก็จุดตะเกียง เข้าใน กระท่อม แล้วคนที่แก่ ชั้นปู่ ก็นั่งลง เล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ยิน มาจาก บิดา จากปู่ จากทวด เด็กเล็กๆ ก็มา นั่งล้อม และ ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ จำด้วย ทำอย่างนี้ไป เรื่อยทุกวันๆ จนเด็กเหล่านี้ โตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดา เป็นปู่ ก็ยังเล่าต่อไปอีก ฉะนั้น จึงสืบสิ่งต่างๆ ไปได้เป็นพันๆ ปี แล้วก็อยู่ใน "เปลือก" คือนิทานทั้งนั้น เขาจะต้อง เล่าเป็นนิทาน อย่างนั้น ชื่อนั้น ที่นั่น อย่างนั้นๆ ทั้งนั้น นั่นแหละ คือ อานิสงฆ์ ของเปลือก.

นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา  ที่มา http://www.buddhadasa.com/zen/zen10.html