ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

หมดเขตชำระเงินประมูลคลื่น 900MHz ไร้เงา JAS เตรียมประมูลใหม่ 4 เดือนข้างหน้า

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:07 น. 22 มี.ค 59

ทีมงานประชาสัมพันธ์

หลังจากยืดเยื้อกันมานานถึง 90 วันหลังการประมูล วันนี้นับเป็นเส้นตายของการชำระเงินงวดแรกพร้อมยื่นหนังสือค้ำประกันสำหรับ ผู้ชนะ ซึ่ง True ได้ชำระไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เหลือเพียง JAS ที่หลายๆฝ่ายต่างลุ้นกันว่าจะสามารถหาเงินและคนค้ำมาจ่ายได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อผ่านเวลา 16.30 น. ที่กำหนด ก็ยังไร้เงาจึงถือว่า JAS สละสิทธิ์ในทันที และทำให้ กสทช. เตรียมนำคลื่นออกมาประมูลอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า พร้อมหามาตรการลงโทษ JAS ที่สร้างความวุ่นวายในครั้งนี้

แนวทางการลงโทษที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์กันว่า JAS จะโดนจาก กสทช.

•   ไม่มีสิทธิเข้าประมูลใบอนุญาตเดิมได้อีก
•   ถูกยึดเช็คเงินสดที่ JAS ใช้เป็นหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาท
•   สัญญาเช่าใช้ และอุปกรณ์ต่างๆที่ทำเอาไว้หลังการประมูล จะต้องเสียไปฟรีๆหลายร้อยล้านบาท
•   รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการประมูลคลื่นครั้งต่อไป

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงกันว่า JAS อาจจะถูกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการอื่นที่ดำเนินกิจการอยู่ ทั้ง 3BB และ MONO ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้ เพราะไม่มีระบุเอาไว้ในเงื่อนไขการประมูล ซึ่งหาก กสทช. ตัดสินใจเอาผิดจริง คงต้องดูกันต่อไปว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะอาจถูก JAS ฟ้องกลับได้

เตรียมจัดประมูลอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า หากไม่มีต้องเว้นว่าง 1 ปี

หลังจากที่ใบอนุญาตว่างลง กสทช. ได้วางแนวทางที่จะนำเอาคลื่น 900MHz ออกมาประมูลอีกรอบใน 4 เดือนข้างหน้านี้ โดยจะใช้ราคาเริ่มต้นเท่ากับที่ JAS ชนะในราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่ง Truemove สามารถเข้าร่วมประมูลเพิ่มอีกใบได้ด้วยเพื่อเพิ่มการแข่งขันในการประมูล

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งบอร์ด กทค. เตรียมจะประชุมกันในวันพุธนี้ (23 มีนาคม) และจะประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง

งานนี้นับเป็นช่วงเวลาที่น่าปวดหัวสำหรับทุกฝ่าย เพราะหลายๆอย่างก็เปลี่ยนไปมากหลังจากการประมูล และคงต้องรอให้ทุกอย่างชัดเจนอีกครั้งหลังการประกาศในวันพุธที่ 23 มีนาคมนี้ และต้องมาร่วมลุ้นกันว่า

•   AIS จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เอาคลื่น 900MHz กลับมาเพื่อแก้ปัญหาลูกค้าที่จะมีปัญหาใช้งานไม่ได้อีกหลายล้านราย
•   AIS จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไปเพราะระยะเวลา 4 เดือนที่เหลืออยู่น่าจะย้ายคนได้หมด และคลื่นที่มีก็เพียงพอแล้ว
•   Dtac จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เอาคลื่นมาเสริม เพราะคลื่นที่ตนมีกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในอีก 3 ปีข้างหน้า
•   Dtac จะไม่ปล่อยใบอนุญาตนี้ไปหากราคาจบที่ 75,654 ล้านบาท โดยทั้ง AIS และ True ไม่เพิ่มราคาเข้าไปอีก
•   Dtac จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไปเพราะราคาแพงไป ไม่อยากเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปอีก
•   True จะเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง เพราะบอกว่าราคานี้ถูก และตัดกำลังของคู่แข่งไม่ให้ได้คลื่นไปเพิ่ม
•   True จะปล่อยใบอนุญาตนี้ไป เพราะตนมีคลื่นเพียงพอแล้ว ต้นทุนที่มีอยู่ก็แบกรับแทบไม่ไหวแล้ว

ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน คนที่น่าจะต้องรับผิดชอบมากกว่าชาวบ้านก็น่าจะต้องเป็น JAS ที่ป่วนการประมูลนี้เสียเหลือเกิน...

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ณ เวลา 16.30 น. ซึ่งถือว่าเป็นเวลาสิ้นสุดการรอให้บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มาชำระเงินประมูลงวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) แล้ว แต่ปรากฏว่า แจสไม่ได้ติดต่อ และไม่ได้เข้ามาชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ กสทช.ต้องยึดตามมติที่ประชุม กทค.เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2559 ซึ่งประกอบด้วย 4 ข้อ คือ 1.ริบเงินหลักประกันการประมูล จำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเช็คเงินสดที่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ทันที นอกจากนี้ ยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติม และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
       
       2.หากมีการประมูลใหม่ราคาเริ่มต้นต้องเป็นราคาที่แจสชนะประมูล คือ 75,654 ล้านบาท เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทที่ชนะการประมูลและมาชำระแล้ว คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 3.การประมูลครั้งใหม่ไม่มีการตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลทีได้ชำระเงินค่า ประมูลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากราย และ 4.หากมีการประมูลครั้งใหม่สามารถทำได้ภายใน 4 เดือน แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องเก็บคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และราคาเริ่มต้นก็ยังคงต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะการประมูล
       
       อย่างไรก็ตาม กทค.จะมีการประชุมเพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เพื่อสรุปเป็นมติที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง และรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ว่านายกฯ จะมีข้อเสนอแนะ หรือแสดงความคิดเห็นอย่างไร
       
       กสทช.ย้ำว่า ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่ทำทำตามกรอบของกฎหมายที่ดำเนินการได้ เป็นธรรมดาที่เมื่อมีกฎหมาย ก็ย่อมมีคนทำผิดได้ ดังนั้น กสทช.ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลก็ต้องนำผู้ทำผิดมาลงโทษ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ขณะที่ผู้ให้บริการเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาลทั้งต่อลูกค้า และผู้ถือหุ้น
       
       "เราไม่สามารถบอกได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่มีการ จ่ายเงินหรือไม่ แต่ในประเทศเช็กมีเหตุการณ์ให้หยุดการประมูลกลางคัน เมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่าราคาประมูลสูงเกินไป หรือไม่ก็เจ๊งระหว่างการประกอบกิจการ"
       
       ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การวิเคราะห์ค่าเสียหายต้องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย วิเคราะห์อีกทีว่าจะคิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ และต้องดำเนินการต่อแจสอย่างไรบ้าง โดยสำนักงานจะเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมโดยจะเชิญผู้แทนจากกระทรวงการ คลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด มาร่วมกันวิเคราะห์ค่าเสียหายต่างๆ ก่อนจะนำข้อคิดเห็นเสนอให้ที่ประชุม กทค.ด้วย
       
       นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบอย่างมากเป็นประวัติการณ์ของวงการ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบที่สุ ดเพื่อความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
       
       "ในความเห็นของดีแทค หากมีการจัดการประมูลอีกครั้งควรจะต้องนำคลื่น 900MHz ช่วงที่ 1 มาประมูลใหม่ตามเงื่อนไขเดิมของ กสทช. ซึ่งยังมีผลใช้บังคับ รวมทั้งกำหนดราคาประมูลเริ่มต้น 16,080 ล้านบาท (ในกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลน้อยกว่า 3 ราย) เท่าเดิม ซึ่งจะเป็นราคาที่นำไปสู่การสะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง"
       
       นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า น่าเสียดายที่แจสไม่ได้นำเงินมาชำระค่าประมูลคลื่น ทำให้ไม่เกิดผู้เล่นรายใหม่ในวงการโทรคมนาคมประเทศไทย แต่มองในแง่ดี การมีปัญหาในช่วงนี้ดีกว่าการมีปัญหาในอนาคตซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคหาก เริ่มให้บริการแล้ว
       
       "กสทช. ควรนำคลื่นของแจสมาประมูลใหม่โดยตั้งราคาเท่ากับราคาสุดท้ายก่อนที่ผู้ ประกอบการที่เหลือรายแรกออกจากการประมูล ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นราคาที่ทุกรายรับกันได้ ไม่ควรนำไปประมูลในราคาที่แจสประมูลได้ เพราะเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่เอา และไม่ควรเก็บคลื่นไว้เฉยๆ เพราะเป็นการปล่อยให้ทรัพยากรสูญเปล่า ควรนำมาจัดประมูลโดยเร็วที่สุด เพราะสังคมมีความต้องการใช้"
       
       ขณะที่เอไอเอส ระบุว่า ยังต้องขอพิจารณาเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะสรุปว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่
       
       "ส่วนกรณีการดูแลลูกค้า 2G ที่ได้ขยายระยะเวลาเยียวยาออกไปนั้น บริษัทฯกำลังเร่งดำเนินการทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ ขณะนี้ยังไม่ขอเปิดเผยตัวเลขลูกค้าที่ดูแลไปแล้ว" วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ กล่าว "บริษัทคงต้องรอดูว่า จากนี้ต่อไป กสทช.จะมีแนวทางในการดูแลจัดการเกี่ยวกับคลื่น 900 ที่ว่างอยู่อย่างไร"

ที่มาของข่าว blognone - marketeer
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000029433
http://droidsans.com/jas-noshow-4g-reauction


ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พิมพ์คำว่า กิมหยง ลงในคำตอบ:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง