[วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย]
ถ้าใคร ๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์, ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม,
จะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร.
ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น. ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฎิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร.
เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกร, ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดี และไม่ดีอย่างเดียวดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกรเหล่านั้นจึงหลีกไป, จะรับก็ควร,
ถ้าแม้น เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง, หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง, ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว, แม้อย่างนี้ก็ควร.
ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงิน และทองนี้แก่เจดีย์, ถวายแก่วิหาร, ถวายเพื่อนวกรรมดังนี้ จะปฏิเสธไม่สมควร. พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้.
แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ไม่สมควร.
แต่ถ้าคนบางคนนำเอาเงิน และทองมามากกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอถวายเงินและทองนี้แก่สงฆ์, ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด, ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น เป็นอาบัติทั้งเพราะรับ ทั้งเพราะบริโภค.
ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร. และอุบาสกกล่าวว่า ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป, ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไร ๆ ว่า เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์, เพราะภิกษุใดโจทเธอ, ภิกษุนั่นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว. แต่เธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ. ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่าไม่ควร เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม, ท่านทั้งหลาย จงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้, สมควรอยู่.
อนึ่ง เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัยที่ต้องการ. เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น.
ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น, สงฆ์ลำบากด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้นพึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไป แม้เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น.
แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวาย เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็นัยนี้.
อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์.
ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุละทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย, ในกาลเช่นนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้วบริโภค(ปัจจัย) ได้.เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้ ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่าพึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป. และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น,แม้อกัปปิยวัตถุอื่นมีนาและสวนเป็นต้น อันภิกษุไม่ควรรับ.
http://www.tripitaka91.com/91book/book03/851_900.htm#863...
