ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

จุฬา...ขยับ แล้ว มอ.หาดใหญ่?

เริ่มโดย Mr.No, 06:00 น. 20 มิ.ย 59

Dr.Lion

นอกจากเรื่องอิทธิปาฏิหารย์แล้ว วงการศาสนาและผู้คนที่เข้ามาสัมผัสกับศาสนา มักจะโน้มเอียงไปทางด้านความรู้สึกหรือในเรื่องที่เป็นด้านอารมณ์มาก คือชื่นชมหรือไปติดอยู่กับความรู้สึกที่ดีๆ อย่างลึกซึ้งดื่มด่ำหรือรุนแรง โดยเฉพาะ

๑. ศรัทธา เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง เลื่อมใส เชื่อมั่น มีกำลังใจ ขนลุกขนพอง ตื่นเต้น อัศจรรย์ เห็นตาม คล้อยตาม จนถึงยึดมั่นว่าจะต้องให้เป็นอย่างนั้น

๒. สุขซึ้ง มีความรู้สึกอิ่มใจ เอิบอาบซาบซ่าน ดื่มด่ำ รู้สึกว่าเข้าถึงอะไรบางอย่าง และเป็นสุขอย่างลึกซึ้ง

ความรู้สึก ๒ อย่างนี้ เป็นคุณค่าทางจิตใจ ที่ดีงาม เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างสูง เป็นจุดเด่นของความรู้สึกทางศาสนา แต่ก็มีด้านลบที่เป็นโทษด้วย และบ่อยทีเดียวที่โทษร้ายแรงอย่างคาดคิดไม่ถึง

ศรัทธาที่แรงกล้า อาจหลงงมงาย และกลายเป็นความยึดมั่นรุนแรง จนถึงกับเขม้นหมายว่าจะต้องให้เป็นอย่างที่ตนเชื่อ อาจถึงกับไปบังคับข่มคนอื่นให้เชื่อตาม หรือเชื่อจนไม่คิดพิจารณา เขาจะบอกให้ทำอะไร ก็ทำได้ทุกอย่าง จะไปรบราฆ่าฟันทำสงครามอย่างไรก็ได้ ดังที่ได้เกิดสงครามศาสนาที่โหดเหี้ยมร้ายแรงกันเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก

ความรู้สึกสุขอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำเอิบอาบทั่วสรรพางค์ อาจส่งผลไปเสริมศรัทธาให้มั่นยิ่งขึ้น บางทีก็ทำให้หลงผิด เข้าใจว่าตนได้บรรลุผลวิเศษที่เป็นจุดหมายอย่างนั้นๆ เช่น เป็นนิพพานหรือแล้วแต่อาจารย์หรือผู้สอนจะบอก อาจทำให้หลงเพลิดเพลินอยากปลีกตัวไม่ยุ่งกับใคร หรือปล่อยทิ้งกิจการงาน หรือลืมปัญหา ใช้เป็นที่หลบทุกข์ และตกอยู่ในความประมาท

(คัดลอกจากหนังสือ กรณีธรรมกาย โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป. อ. ปยุตฺโต หน้า ๑๘๐-๑๘๑)

Doraemon101

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ อย่าได้ไปตอบเขาว่าสอนเรื่องอะไรให้มันมากมาย อุตริวิตถารจนกระทั่งออกไปนอกเรื่องนอกรอย หรือว่าเป็นเรื่องถูกต้องในร่องในรอยแต่มันก็นิดเกินไปนิดหน่อยเกินไป แล้วไปขยายความให้เปลืองไปในเรื่องที่ไม่จำเป็น

เกี่ยวกับข้อนี้ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่จะได้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง แล้วก็พระองค์ได้ทรงตรัสกำชับไว้ในเหตุการณ์อันนั้นว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จไปในป่าไม้แห่งหนึ่งเป็นป่าดง พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่งแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือนี้กับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงนั้นมันมากน้อยกว่ากันเท่าไร ใครๆก็เห็นได้ว่าใบไม้ในมือกำเดียวนี้มันน้อยกว่าใบไม้ทั้งป่าทั้งดงเท่าไร ก็ทูลตอบพระพุทธเจ้าไปว่ามันมากน้อยกว่ากันอย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้

พระองค์จึงตรัสว่า  แม้ธรรมะที่ตถาคตตรัสรู้และนำมาสอนก็เป็นเช่นนั้น คือส่วนที่ตรัสรู้นั้นมีปริมาณเท่าใบไม้ทั้งป่าทั้งดงแต่ที่นำมาสอนนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว เพราะว่าจะสอนแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์โดยตรงเท่านั้น เรื่องอื่นซึ่งแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ไม่จำเป็นจะต้องสอน เรื่องที่จะนำมาสอนจึงกลายเป็นเรื่องเพียงกำมือเดียว

ถ้าพูดอย่างสำนวนโวหารหน่อยก็เรียกว่ากำมือเดียวไม่มากมายอะไรในเมื่อไปเทียบกับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงแล้ว มันก็พอจะเข้าใจกันได้ทุกคนว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงกำมือเดียวโดยปริมาณ

แต่ทีนี้เมื่อนึกถึงคุณสมบัติของสิ่งที่ทรงนำมาสอนนั้นมันเป็นเรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ จงพิจารณาดูเถิดว่ามันจะมีเรื่องอะไรที่จะประเสริฐสูงสุดไปกว่าเรื่องความดับทุกข์ เพราะเหตุฉะนั้นแหละคำสอนกำมือเดียวนั้นจึงเป็นเหมือนกับเพชรเหมือนกับพลอยกำมือหนึ่ง ไม่ใช่ใบไม้กำมือหนึ่งเสียแล้ว

ควรจะสนใจในของกำมือเดียวนั้นกันให้มากและอย่าได้ปล่อยหรือเผลอให้ไปสนใจเรื่องนอกไปกว่านั้น

ถ้าจะยกตัวอย่างที่เป็นจริงก็จะยกตัวอย่างว่าเรื่องทำบุญเอาวิมานเอาสวรรค์นั้นมันเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ถ้าสมมุติว่าคนๆหนึ่ง ทำบุญและอยากไปสวรรค์เพราะว่าที่นั่นสมบูรณ์ไปด้วยกามคุณ อย่างนี้แล้วก็แปลว่าเขาเห็นว่าเรื่องกามคุณเป็นเรื่องสูงสุด

และเมื่อเรื่องกามคุณเป็นเรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นเหมือนกับเหยื่อที่หุ้มเบ็ด แล้วมันจะเป็นเรื่องดับทุกข์ไปอย่างไรได้ คนที่ทะเยอทะยานในทางกามคุณเห็นว่ากามคุณในมนุษยโลกนี้ยังต่ำไป ปรารถนากามคุณในสวรรค์ซึ่งเป็นของประณีตและสูงสุด อย่างนี้ก็เรียกว่าเขาทำไปด้วยความโลภเมื่อทำไปด้วยความโลภแล้วก็จะเป็นเรื่องดับทุกข์ไปไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น

และแม้ว่าเขาจะได้ไปเกิดในสวรรค์ได้เสวยสวรรค์สมบัติวิมานนานาประการดังที่กล่าวนั้นจริง แล้วก็ลองคิดดูเถิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คือความมัวเมาหลงใหลยิ่งไปกว่าที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์ เมื่อมาถึงนี่แล้วคิดดูว่ามันเป็นเรื่องดีขึ้นหรือเลวลง

ถ้าตอบอย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องถือว่ามันเลวลงเพราะว่าจิตใจมันต่ำลง ถ้าตอบอย่างปุถุชนคนพาลนั้นแหละจึงจะว่ารวยกันใหญ่เป็นการได้ที่ร่ำรวยกันใหญ่อย่างนี้เป็นต้น จะเรียกว่าการเจตนาทำบุญกุศลเพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์ บริโภคกามคุณนั้นเป็นเรื่องดับทุกข์หรือไม่

ใครๆ ก็จะเห็นได้ว่าอย่างดีก็เป็นเรื่องมีความทุกข์เท่าเดิม พลาดนิดเดียวก็เป็นเรื่องมีความทุกข์มากขึ้นกว่าเก่า เพราะว่ามีความหลงใหลมัวเมามากขึ้นไปกว่าเก่า อันเรื่องสวรรค์เรื่องวิมานอะไรทำนองนี้ระวังให้ดี ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายไปกว่าเก่า คือ ไม่เป็นความดับทุกข์ ไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน

พุทธทาสภิกขุ

แสดงธรรมล้ออายุ ปี พ.ศ. 2524
#จดหมายเหตุพุทธทาส 1415240528041

ลียง

ในวงการพระศาสนาเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราไม่ช่วยกันปรับปรุงแก้ไข สิ่งถูกต้องให้คงอยู่ ทำลายสิ่งผิดให้หายไป พุทธบริษัทก็เป็นแต่เพียงชื่อ ไม่ได้เป็นโดยน้ำใจ ไม่ได้เป็นโดยการปฏิบัติตามสัจจธรรม อันเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระศาสนาก็จะเสื่อมหายไป จะเหลืออยู่แต่เพียงโบสถ์ เหลืออยู่แต่พระพุทธรูป สำหรับคนไปไหว้ สั่นติ้ว ขอหวย ขอเบอร์ หรือไปขออะไรๆ ต่างๆ มันก็ไม่มีค่าอะไร ในทางดับทุกข์ ไม่มีค่าอะไรในทางที่จะขูดเกลากิเลเลส ให้หมดไปจากจิตใจของเราเป็นเด็กอมมือ นับถือศาสนาแบบเด็กอมมือไป อันนี้คือความเสื่อมมาโดยลำดับ ในวงการพระศาสนา

ความเสื่อมอย่างนี้เกิดขื้นเพราะอะไร ก็เพราะว่า เราเป็นคนใจกว้างมากเกินไป จนไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร เราปล่อยกันเกินไป ไม่ประท้วงพุทธบริษัท ที่กระทำกิจนอกลู่นอกทาง ไม่เฉพาะแต่ญาติโยมชาวบ้าน แม้พระสงฆ์ในทางพระศาสนา ก็ไม่ได้กวดขันเคร่งครัด ให้ปฏิบัติถูกตรง ตามหลักธรรมคำสอนชองพระพุทธเจ้า

ในเมืองไทยเราเวลานี้ มีพระประเภทนอกรีดนอกรอย ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ในรูปต่างๆ ซึ่งอยากจะพูดให้เข้าใจว่า นั่นมันไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หลักคำสอนใน ทางพระพุทธศาสนา การทำตนเป็นคนขลัง เป็นคนศักดิ์สิทธิ์เป็นหลวงพ่อ เป็นเกจิอาจารย์ที่โด่งดังกันอยู่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นพวกนอกรีดนอกรอย ไม่ได้เข้าแนวทางคำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ได้เอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสอนคน ให้รู้ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ว่าเอาไสยศาสตร์บ้าง เอาเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ไปสอนประชาชน ทำให้คนเกิดการหลงผิดในพระพุทธศาสนา

ปัญญานันทภิกขุ

อาหลง

"คนอิ่ม"

คนอยู่เพื่อกิน

เรื่องเล่าเคล้าปัญญา  "ไม่กิน...ก็อิ่มได้ !"
เรื่อง : ธรรมชีวิน    รูป : อ.ศักดา วิมลจันทร์


คนกินเพื่ออยู่

"คนอิ่ม"

อารามบอย

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีทางอยู่สองทาง คือทางหนึ่งไปสู่ลาภสักการะ ทางหนึ่งไปสู่ความดับกิเลส เราไม่สรรเสริญเส้นทางที่จะให้ไปสู่ลาภสักการะ เราไม่พอกพูนเส้นทางนั้น แต่เราสรรเสริญเส้นทางที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพื่อความขูดเกลา เพื่อพระนิพพานมากกว่า" อันนี้เป็นเครื่องชี้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า ขลังๆ หรือว่าศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มีเดช

เราได้ยินคำว่าปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์มันมีอยู่ ๓ เรื่องด้วยกัน ในคัมภีร์ได้เอ่ยชื่อไว้ เอ่ยไว้ก็เพื่อจะบอกให้พระรู้ว่า ปาฏิหาริย์นั้นมีอะไรบ้าง มีอิทธิปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง

อิทธิปาฏิหาริย์ ก็คือการแสดงฤทธิ์เดชได้ต่างๆ เช่นว่าเหาะเหินเดินอากาศ ดำดินอะไรก็ตามเรื่องเถอะ เรียกว่าสำเร็จด้วยฤทธิ์ เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ อย่างหนึ่ง,

อาเทสนาปาฏิหาริย์ หมายความว่า ทายใจคนได้ ทายความคิดของคนได้ ใครมานั่งลงคิดอะไร บอกว่า คุณกำลังคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ นี่ทายใจได้ อย่างนี้เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ว่าวิเศษวิโสอะไร มันเป็นวิชากลางบ้าน ที่มีอยู่ในประเทศอินเดียสมัยนั้น พระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้กระทำ ห้ามไม่ให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ห้ามไม่ให้ใช้วิธีอาเทสนาปฏิหาริย์ คือการดักใจคน เพราะว่าการกระทำอย่างนั้น มันไปเหมือนกับวิชาเล่นกลหรือปาหี่ที่เขาเล่นกันอยู่ทั่วๆ ไป

นักบวชในพระพุทธศาสนาไม่ใช่นักบวชประเภทปาหี่ ประเภทแสดงกลให้คนดู อะไรต่างๆ เช่นเสกข้าวทิพย์บ้าง เสกอะไรให้เป็นปลา เสกเกสรบัวให้เป็นปลา เสกให้เป็นปลาช่อน เสกแล้วเอาไปขาย ได้เงิน

อุบาสกคนนั้นก็เล่าให้ฟังเหมือนกัน เมื่อวานนี้ บอกว่าที่วัดหน้าพระลานนี่ เคยมีพระองค์หนึ่งมาปักกลดในศาลา คือว่าเพียงแต่ปักกลดนอน ก็คือกางมุ้งนอนนั่นเอง แต่คนก็หลงไหลแล้ว หลงว่าพระองค์นี้อยู่ในกลด ความจริงกลด มันก็คือมุ้งนั่นเอง ไม่ใช่ของวิเศษวิโสอะไร ไปไหนที่แบกกลดนั่นก็เพื่อจะเอาไปกางนอน กางมุ้ง กลดก็คือมุ้ง อยู่ในกลดแล้ว ยุงมันไม่กิน ไม่ใช่ว่าเพิ่มความวิเศษอะไร

ทีนี้ก็อยู่ในกลดแล้วก็มีปาฏิหาริย์ว่า เสกดอกบัวให้เป็นปลาได้ อุบาสกคนนี้เวลานั้นแกเป็นพระ สึกแล้วก็เลยเห็นว่าพระองค์นี้มาหลอกชาวบ้าน แกก็พยายามที่จะจับ ว่าจะทำอย่างไร คือให้คนไปซี้อปลาหมอบ้าง ปลาช่อนบ้าง ตัวเล็กๆ ทั้งนั้น ตัวใหญ่มันก็ลำบากหน่อย เล่นกลยาก ตัวมันใหญ่ลำบากเอามาใส่ไว้ในภาชนะ ซ่อนไว้ในกลดของตัวนั่นเอง แล้วเวลาจะเสกก็ต้องปิดกลดลงเสีย ให้นั่งห่างๆ นั่งใกล้กลมันก็แตกน่ะซิ แล้วก็เวลาเสกเอาดอกบัว เอาเกสรใส่ลงไปในบาตร แล้วก็นั่งเสกๆๆ ไป พอเสกไปนานๆ ก็ยกพระพุทธรูปมาองค์หนึ่ง พระพุทธรูปนี่ข้างล่างกลวง ก็เจาะรูไว้ เอาถุงปลาไปใส่ไว้ในรูนั้น แล้วเวลายกมาก็เปิดปากถุง เอาวางปากบาตร แล้วก็เสกคลำพระพุทธรูปเรื่อยๆ ไป ปลามันก็ได้น้ำ มันได้ไอน้ำ ก็รู้ว่าอ้ายนี่มีน้ำอยู่ในนี้ มันก็ออกจากถุงลงไปว่ายปร๋ออยู่ในน้ำ พอปลาลงไปว่ายสักพัก แล้วก็ยกบาตรมาวาง ในนั้นมีปลา กลีบบัวหายไป คือเก็บกลีบบัวไว้เสีย แล้วก็เอาปลาออกมา ญาติโยมก็ซื้อปลาตัวละพัน ถ้าเป็นปลาช่อนตัวละสามพัน ไม่ใช่เล็กน้อย ก็ได้เงินไปหลายเหมือนกัน

อุบาสกนั้นก็เข้าไปคัดค้าน คัดค้านมากเข้า เกือบไปเหมือนกัน อุบาสกที่คัดค้านนั้น คือเกือบถูกรุม ถูกรุมตีนรุมมือ เข้าให้กันเลยทีเดียว เพราะว่าคนโง่มันมากกว่าคนฉลาด เราไปคัดค้านคนโง่มันก็หาว่าไม่เชื่อ อ้ายนี่มันพวกนอกศาสนา คนในศาสนากลับหาว่าเป็นคนนอกศาสนา พวกนอกศาสนากลับยกตนเองว่าเป็นคนในศาสนา

ปัญญานันทภิกขุ

ป.เทือง

"คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้
ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนเท่าไรๆ ก็ไม่พอ
เมื่อป้อนเท่าไรๆ ก็ไม่พอแล้ว ก็หาเท่าไรๆ ก็ไม่พอ
ความไม่พอนี้ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาป้อนให้อิ่มได้
ฉะนั้น ถ้าจะต่อต้านความเดือดร้อน
ไม่ใช่ว่าจะต้องประหยัดมัธยัสถ์ แต่จะต้องป้องกันความฟุ้งเฟ้อ
และป้องกันวิธีการที่มักจะใช้เพื่อที่จะมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ คือความทุจริต
ฉะนั้น การที่จะรณรงค์ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัด
ก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ตัวเราต้องทำเองต้องฝึกให้รู้จักความพอดีพอเหมาะ
ถ้าไม่พอดีไม่พอเหมาะ มันจะเกิดทุจริตในใจได้"

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสเสด็จฯ กลับจากแปรพระราชฐานจากจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗

ที่มา หนังสือ ๑๐๐ คำสอนพ่อ

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้า...ขอน้อมกราบแทบพระบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญและเจริญพระชนมสุขสิริสวัสดิ์ พร้อมทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ลึเหลือง ยอน

แม้พวกเราทั้งหลาย ผู้ต้องการมิให้กิเลส หรือความทุกข์ครอบงำ พึงสำเนียกไว้ ดังนี้..
ภิกษุ ทั้งหลาย  ภิกษุที่ดี :
(๑) พึงทำตนให้อยู่เหนือลาภ ที่เกิดขึ้น
(๒) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมลาภ ที่เกิดขึ้น
(๓) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ยศ ที่เกิดขึ้น
(๔) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมยศ ที่เกิดขึ้น
(๕) พึงทำตนให้อยู่เหนือ สักการะ ที่เกิดขึ้น
(๖) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความเสื่อมสักการะ ที่เกิดขึ้น
(๗) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความปรารถนาที่เลวทราม ที่เกิดขึ้น
(๘) พึงทำตนให้อยู่เหนือ ความได้เพื่อนไม่ดี ที่เกิดขึ้น
    ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์อะไร จึงต้องทำเช่นนั้น ? เพราะว่า เมื่อภิกษุไม่ทำเช่นนั้น อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลายล้างและ ทำความเร่าร้อน จะพึงเกิดขึ้นแก่เธอ.
    แต่เมื่อภิกษุทำตนให้อยู่เหนือลาภ (เป็นต้น) ที่เกิดขึ้นหรือมีมาแล้ว อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำลายล้างและทำความเร่าร้อนย่อมไม่เกิดแก่เธอได้   
    ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์เหล่านี้แล ภิกษุจึงต้องทำเช่นนั้น.
    ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า "เราทั้งหลาย จักทำตนให้อยู่เหนือลาภ เหนือความเสื่อมลาภ เหนือยศ เหนือความเสื่อมยศ เหนือสักการะ เหนือความเสื่อมสักการะ เหนือความปรารถนาที่เลวทราม เหนือความมีเพื่อนไม่ดี ที่เกิดขึ้นแล้วๆ" ดังนี้.
   ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
   คำว่า "อยู่เหนือ" ในที่นี้ หมายถึงการไม่ยอมให้สิ่งนั้น ๆ ครอบงำจิต จนกิเลสหรือความทุกข์เกิดขึ้น
( อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๖๓/๙๗.)  ส.สู้ๆ

จอห์น ลียอน

พุทธบริษัทไทยที่เคยรุ่งเรืองผ่องใสนั้น  พากันตกเป็นทาสของวัฒนธรรมตะวันตก  จนไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง;   คือไม่กล้าเป็นตัวเอง  ตามปัญหาที่มีอยู่จริง.

ปัญหาที่มีอยู่จริง  ก็คือปัญหาที่เกี่ยวกับ ธรรมชาติ  กฎธรรมชาติ  หน้าที่ตามธรรมชาติ  ผลตามธรรมชาติ  นี้เรียกว่าปัญหามีอยู่จริง  แก่มนุษย์จริง  แล้วเราไม่กล้าเอาของจริงเหล่านี้เป็นหลัก  กล่าวคือไม่กล้าถือ "ธรรม" เป็นหลัก  กลับหันไปนิยมวัตถุนิยมอย่างตะวันตก  จึงเรียกว่าไม่เป็นตัวของตัวตามที่ปัญหาที่แท้จริง  ตามที่ธรรมชาติมันมีอยู่  แสดงอยู่  บังคับอยู่  โดยกฎธรรมชาติอันลึกซึ้งในทางจิตใจ.   

อย่างนี้แหละ  ที่กล่าวได้ว่าเป็นการขาดสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" ถึงที่สุดแล้ว.   อะไร ๆ ก็ไปเอาดีในทางได้เป็นใหญ่  ถ้าได้ละก็เป็นดี  ได้วัตถุตามที่ต้องการ  แล้วก็เป็นดี  นอกนั้นไม่มีดี;   

เลยได้ชื่อว่าถือศาสนา "ได้เป็นดี"  ถือธรรมะว่า "ได้แล้วก็เป็นดี"   

"ได้" นี้  ก็คือได้วัตถุ  ได้เรื่องที่เป็นวัตถุ  มีผลเป็นทางวัตถุ  ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม".   

อันนี้คือความเร้นลับที่ต้องมองให้เห็น  ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพวกเราโดยตรงและคนทุกคนในโลกด้วย.

พุทธทาสภิกขุ
#จดหมายเหตุพุทธทาส
ที่มา : ตุลาการิกธรรม เรื่อง ลักษณะหรือคุณค่าอันเร้นลับ  ของธรรม

เก่ง ณัฐพงษ์

จงทำกับเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย
โดยคิดว่า

    เขาเป็นเพื่อน เกิด แก่เจ็บ ตาย ของเรา
    เขาเป็นเพื่อน เวียนว่ายอยู่ในวัฎฎสงสารด้วยกันกะเรา
    เขาก็ตกอยู่ใต้ อำนาจกิเลส เหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอไปบ้าง เขาก็มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่น้อยไปกว่าเรา
    เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราว เหมือนเรา
    เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เหมือนเรา ไม่รู้จักนิพพานเหมือนเรา
    เขาโง่ในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยโง่
    เขาก็ตามใจ ตัวเองในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยกระทำ
    เขาก็อยากดี เหมือนเรา ที่อยาก ดี-เด่น-ดัง
    เขาก็มักจะกอบโกย และ เอาเปรียบ เมื่อมีโอกาสเหมือนเรา
    เขามีสิทธิที่จะบ้า ดี-เมาดี-หลงดี-จมดี เหมือนเรา
    เขาเป็น คนธรรมดา ที่ยึดมั่น ถือมั่น อะไรต่างๆ เหมือนเรา
    เขาไม่มี หน้าที่ ที่จะเป็นทุกข์ หรือตายแทนเรา
    เขาเป็น เพื่อน ร่วมชาติ ร่วมศาสนา กะเรา
    เขาก็ ทำอะไร ด้วย ความคิดชั่วแล่น และ ผลุนผลัน เหมือนเรา
    เขามี หน้าที่ รับผิดชอบ ต่อครอบครัวของเขา มิใช่ของเรา
เขามีสิทธิ ที่จะมีรสนิยม ตามพอใจของเขา
    เขามีสิทธิ ที่จะเลือก (แม้ศาสนา) ตามพอใจของเขา
    เขามีสิทธิ ที่จะใช้ สมบัติ สาธารณะ เท่ากันกับเรา
    เขามีสิทธิ ที่จะเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้า เท่ากับเรา
    เขามีสิทธิ ที่จะขอความช่วย เหลือ เห็นอกเห็นใจ จากเรา
    เขามีสิทธิ ที่จะได้รับอภัยจากเรา ตามควรแก่กรณี
    เขามีสิทธิ ที่จะเป็นสังคมนิยม หรือ เสรีนิยม ตามใจเขา
    เขามีสิทธิ ที่จะเห็นแก่ตัว ก่อนเห็นแก่ผู้อื่น
    เขามีสิทธิ แห่งมนุษย์ชน เท่ากัน กับเรา สำหรับจะอยู่ในใลก
    ถ้าเราคิดกันอย่างนี้ จะไม่มีการ ขัดแย้งใดๆเกิดขึ้น... ส.หลก

Chaleemon

มองไปทั้งโลกสมัยนี้  สิ่งที่เรียกว่า "วัตถุนิยม–วัตถุนิยม" นี้  มันยิ่งเป็นที่ตั้งแห่งกามุปาทานยิ่งกว่าสิ่งใด  จนทุกคนเป็นโรคกามุปาทาน  หรือโรคฮิสทีเรียทางวิญญาณเต็มไปทั้งโลก. มันเหมือนกับมีคนบ้าชนิดหนึ่ง  เต็มไปทั้งโลก  มันจึงแก้ไขปัญหานี้ไม่ไหว 

คือ ปัญหาที่ว่าศีลธรรมเสื่อมลงหรือว่าเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่ไม่ใช่ศีลธรรมแล้วก็ยังเรียกว่า "ศีลธรรม".   

ทั้งโลกจึงเต็มไปด้วยความยุ่งยาก  ความทุกข์ทรมานมากขึ้น  แม้ว่าเจริญด้วยวัตถุหรือเจริญทางวัตถุ.   

ยิ่งเจริญทางวัตถุเท่าไร  มันก็ยิ่งเพิ่มกำลังให้แก่กามุปาทานเท่านั้น.   

กามุปาทานมันก็ครองโลก โลกมันจึงเป็นไปในสภาพอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ในโลกกำลังมึนเมาด้วยสิ่งเหล่านี้  การศึกษาก้าวหน้า  ค้นคว้าประดิษฐ์อะไรต่าง ๆ ล้วนแต่ช่วยเพิ่มกามุปาทานในโลกนี้ทั้งนั้น  ฉะนั้นท่านต้องทำใจให้พร้อม  ที่จะรู้ต้นตอของวิกฤตการณ์ของโลก.   

โลกเวลานี้เขาไม่ใช่รบกันเพราะเหตุอื่น เราอาจจะเข้าใจว่าคนในโลกเขารบกันเพราะการเมือง  เพราะการเศรษฐกิจ  เพราะอะไรเหล่านั้น  นั่นมันไม่ถูก  เพราะมันยังมีต้นตออันลึกซึ้ง  ว่าทำไมจึงต้องรบกันเพราะเศรษฐกิจ  หรือเพราะการเมือง

คนรบกันเพราะว่าต้องการจะได้ประโยชน์;   และประโยชน์นั้นคืออะไร ?   โดยที่แท้ก็คือสิ่งที่เป็นที่ตั้งของกิเลสหรือกามุปาทานทั้งนั้น;   แล้วก็เอาสิ่งนี้มาบังหน้าว่าเพื่อการเมือง  เพื่อความยุติธรรม  เพื่อการเศรษฐกิจ  เพื่ออะไรก็สุดแท้  เพื่อลัทธิหรืออะไร  ที่เขาพูดให้มันเพราะ ๆ แต่ที่แท้นั้น  มนุษย์ตกเป็นทาสของกามุปาทาน  ทั้งนายทุน  ทั้งชนกรรมาชีพ  มันจึงได้รบกันอย่างไม่มีวันจะสิ้นสุด

พุทธทาสภิกขุ
#จดหมายเหตุพุทธทาส
ที่มา : ตุลาการิกธรรมเรื่อง "เรา" ที่ประกอบ หรือไม่ประกอบด้วยธรรม...

Lee Yong

...Stop Populism... ส.หลก

LeeYonMon

คำว่าอุปาทานในภาษาบาลี มันหมายความอย่างหนึ่ง ในภาษาไทยมันหมายความอีกอย่างหนึ่งต่างหาก...

ความหมายที่แท้จริงในภาษาบาลีนั้น คำว่า "อุปาทาน" นี้ เป็นมูลเหตุโดยเฉพาะของสิ่งที่เป็นความทุกข์ทั้งหมด และโดยเฉพาะก็เป็นมูลเหตุของความรู้สึกว่า "เรา" ว่า "ของเรา". ในการที่มีความสำคัญมั่นหมายว่า "เรา" หรือ "ของเรา" นั่นแหละ คืออุปาทาน. แต่แล้วมันมีขอบเขตกว้างจนถึงกับต้องแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน :

อันที่หนึ่ง เรียกว่า อุปาทานในกาม คือของรักของใคร่,
อันที่สอง เรียกว่า อุปาทานในความคิดความเห็นของตัว,
อันที่สาม เรียกว่า อุปาทานในสิ่งที่ประพฤติผิด ๆ มาจนชิน,
อันที่สี่ เรียกว่า อุปาทานในคำพูดว่า "เรา" ในลัทธิว่า "เรา"

อุปาทานในความหมายที่หนึ่ง คำว่า "กาม" หมายถึงความรู้สึกในทางเพศ ที่ยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรืออะไรก็ตาม ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ทางเพศฉะนั้นเราจึงมีอุปทานในสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความรักใคร่ทางใหม่ ด้วยอุปาทานที่มีนามว่า "กามุปาทาน"

ในบุคคลทุกคนมีกามุปาทาน ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย สำหรับจะยึดมั่นในสิ่งที่ตัวรักตัวใคร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของความรู้สึกทางเพศ อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้, มันมีอำนาจ มีขอบเขต มีอะไรอย่างไร ก็ลองไปพิจารณาดูเองแล้วก็ยึดมั่นโดยความเป็นของเรา หรือว่า "เรา" เป็นผู้บริโภค เป็นผู้เสวย เป็นเจ้าของ แล้วมันก็เป็นของเรา. ยึดมั่นในกามด้วยความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่า "กามุปาทาน".

อุปาทานในความหมายที่สอง คือยึดมั่นในความคิดเห็น. ความคิดเห็นของผู้ใด ผู้นั้นจะมีความยึดมั่นจนถึงขนาดที่เรียกว่าลืมตัว จนไม่ยอมฟังผู้อื่นหรือฟังผู้อื่นไม่เข้าใจนี้อย่างหนึ่ง และโดยมากความยึดมั่นนั้นผิด แต่ที่แน่นอนที่สุด เป็นเรื่องระดับสูง ๆ คือเรื่องทางจิตใจ ทางศาสนา ความเห็นของเขาผิดทั้งนั้น.

คนธรรมดาสามัญจะมีความเห็นผิดในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้นเขาจึงมีความเห็นกลับตรงกันข้าม เป็นเที่ยงแท้ถาวร เป็นสุข เป็นของเรา อย่างนี้เป็นต้น; และความเห็นอย่างอื่น ๆ เช่นว่า อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างนี้เห็นผิดกลับกันเสียหมด คือเห็นสุขเป็นทุกข์ เห็นดีเป็นชั่ว เห็นกงจักรเป็นดอกบัว. นี่แหละเป็นตัวอย่าง แล้วก็ยึดมั่นอย่างยิ่ง

ความยึดมั่นอย่างนี้เรียกว่า "ทิฏฐุปาทาน" ยึดมั่นด้วยทิฏฐิในสิ่งที่เป็นที่ตั้งของทิฏฐิ แล้วแต่ว่าอะไรมันจะเป็นที่ตั้งของทิฏฐินั้น ๆ แล้วก็ยึดทิฏฐิคือความเห็นนั่นแหละ อย่างไม่ลืมหูลืมตา แล้วก็ผิดทั้งนั้น.

ในเรื่องนี้ แม้จะเป็นความเห็นที่ถูก ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จำเป็นอะไร ที่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นให้เป็นทิฏฐิของกู ยอมใครไม่ได้ คนอื่นผิดหมด มีถูกอยู่คนเดียวอะไรทำนองนี้ นี้เรียกว่า อุปาทานยึดมั่นในทิฏฐิความคิดเห็น.

อุปาทานในความหมายที่สาม ยึดมั่นในสิ่งที่เคยประพฤติผิด ๆ มาจนชิน โดยไม่รู้. ทีแรกเคยทำมาอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น โดยไปมีเหตุผล; หรือทำสิ่งที่ถูก–ที่ดี แต่ด้วยความเข้าใจผิด แล้วไม่ยึดมั่น; อย่างนี้ก็เรียกว่า อุปาทานเหมือนกัน. เช่นเราตื่นขึ้นต้องล้างหน้า นี้มันถูกที่สุด เพราะใบหน้ามันควรล้าง แต่แล้วไปยึดมั่นว่ามันจะทำให้มีเสน่ห์ มีราศี มีอะไรในทำนองไสยศาสตร์ การล้างหน้าอย่างนั้นมันก็กลายเป็นไสยศาสตร์ไป.

นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น เรื่องจริงยังมีมากมาย หลายสิบเรื่อง ที่ท่านทั้งหลาย หรือคนธรรมดาสามัญกำลังมี. เคยกลัวอะไร ก็กลัวอยู่อย่างนั้น เช่นกลัวจิ้งจกตุ๊กแก ลูกหนูก็ยังกลัวอยู่อย่างนั้นแหละ; มันเป็นเรื่องที่ละไม่ได้ เพราะมีความยึดมั่นในสิ่งที่ได้เชื่อได้ถือได้ประพฤติได้ปฏิบัติ มาอย่างงมงายจนชิน.

อย่างมีพระพุทธรูปก็มีอย่างเป็นเครื่องราง ไม่ใช่มีอย่างเป็นอนุสรณ์ของพระพุทธเจ้า หรืออะไรทำนองนั้น ฉะนั้น จึงมีอะไรที่กระทำกันอย่างงมงายทั่ว ๆ ไป ในลัทธิศาสนานั่นเอง. คำว่างมงาย ก็คือที่ยังถูกยึดมั่นถือมั่นไว้ในฐานะเป็นของถูกต้องนี้ก็เรียกว่าอุปาทานในวัตรปฏิบัติ, มีความยึดมั่นถือมั่นในวัตรปฏิบัติ คือสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติเป็นประจำนั้น ถึงแม้กระทำถูก กระทำดี ก็มีความงมงาย จนกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะไป และส่วนมากก็ไปยึดมั่นถือมั่นในความงมงาย ด้วยความงมงาย เพื่อความงมงาย. สิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา แต่ก็มีอยู่ในวงพวกพุทธบริษัททั่ว ๆ ไป. เรื่องศาลพระภูมิ เรื่องอะไรต่าง ๆ ก็อยู่ในพวกนี้เพราะความขลาดกลัว เพราะความหวัง เพราะอะไรหลาย ๆ อย่าง ทำให้รักษาความงมงายไว้ ในฐานะเป็นความยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้เขาเรียกว่า "สีลัพพตุปาทาน" ซึ่งอาจแปลกหูสำหรับท่านทั้งหลายก็ได้.

อุปาทานในความหมายที่สี่ อันสุดท้าย คือยึดมั่นด้วยสำคัญว่า "ตัวกู" มีชื่อว่า "อัตตวาทะ". ความรู้สึกอะไรที่เป็นเหตุให้พูดออกมาว่า "ตัวฉัน" หรือ "ของฉัน" อันนั้นเรียกว่า "อัตตวาทะ" เป็นชื่อของความเข้าใจผิดอยู่ข้างใน ยึดมั่นในตัวตนว่า "เรา" ว่า "ของเรา" ด้วยอัตตวาทะนี้เอง. อุปาทานชนิดนี้ ยิ่งมีกันมาก คือพูดได้ว่ามีกันทุกคน แล้วแต่ว่าจะขนาดหนัก หรือขนาดเบา.

เรามองดูอีกทีหนึ่งก็คือในฐานะที่มันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสัตว์ที่มีชีวิต มันก็มีแน่นอน มันเป็นความรู้สึกที่เป็นไปเองตามสัญชาตญาณได้ด้วย อันนี้เรียกว่า "อัตตวาทุปาทาน" คืออัตตวาท   อุปาทาน = อัตตวาทุปาทาน.

ทั้ง ๔ อุปาทานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เรียกว่า "อุปาทาน" เฉย ๆ แล้วท่านทั้งหลายก็ลองเปรียบเทียบดูเองว่าคำว่า "อุปาทาน" ในภาษาศาสนานั้น มันต่างกันอย่างไร กับในภาษาไทยตามธรรมดา

พุทธทาสภิกขุ

#จดหมายเหตุพุทธทาส
ที่มา : ตุลาการิกธรรม เรื่อง "เรา" ที่ประกอบ หรือไม่ประกอบด้วยธรรม

Dr.John Leeyon

เด็ก ๆ ของเรา  กำลังทำอะไรอย่างที่จะเป็นแมลงเม่าบินเข้าไฟ  ท่านทั้งหลายจะต้องมองข้อนี้  ว่าเด็ก ๆ ของเราในโลกเวลานี้  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยนี้  เขากำลังทำอะไรในลักษณะที่จะเป็นแมลงเม่าบินเข้าไฟ  ชีวิตไม่มีความหมายดังนั้นมันจึงทำอะไรได้ทุกอย่าง

เด็ก ๆ กำลังเป็นปัญหาหนักเพราะสิ่งที่เรียกว่ากามุปาทาน เพราะสิ่งที่เรียกว่า "อุปาทาน" นี้  ได้สร้างตัวเราขึ้นมา  ในลักษณะที่ไม่ประกอบไปด้วยธรรม  ไม่มีธรรม  ไม่ประกอบอยู่ในธรรม แล้วเป็นไปหนักเข้า ๆ ในทางที่จะไม่เป็นธรรม  ไม่มีธรรมยิ่งขึ้น  จนไม่มีศีลธรรม  จนคิดแก้ไขศีลธรรมให้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ศีลธรรม  หรือทำสิ่งที่ไม่ใช่ศีลธรรมนั่นแหละ  มาเป็นศีลธรรม  ระวังให้ดี !

ผลของวัตถุนิยมที่ทำเด็กให้เป็นแมลงเม่าบินเข้าไฟ  คือไม่รู้ค่าของชีวิต  ไม่รู้ความมุ่งหมายว่า  เกิดมาทำไม  ปัญหาว่าเกิดมาทำไม ? นี้  เขาไม่สนใจเลย  จึงปล่อยไปตามอารมณ์  ตามอารมณ์ชั่วขณะ  มีลักษณะเหมือนแมลงเม่าบินเข้าไฟ  โลกจึงอยู่ในสภาพอย่างนี้ จะเอาเด็ก ๆ อย่างนี้  มาเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี  มาเป็นทหารที่ดี  มาเป็นพลเรือนที่ดี  มันไม่ได้  ไม่มีหวัง

ที่เราพูดถึงนี้  ไม่ใช่เรานินทาใคร  หรือไปดูหมิ่นดูถูกใคร  เป็นแต่ติงเป็นส่วนรวมที่เป็นธรรม  และเราก็ปรับทุกข์  โดยเห็นแก่ธรรม  หรือต้องการความเป็นธรรม  เรามาศึกษาเล่าเรียนถึงต้นตอของความทุกข์ยาก  หรือวิกฤตการณ์ของโลกเดี๋ยวนี้  ไม่ใช่มานั่งกล่าวทับถม  หรือกล่าวโทษใคร   มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของท่านทั้งหลาย  โดยเฉพาะที่เป็นตุลาการ ท่านจะต้องไปเผชิญกับเด็กรุ่นนี้  ยุวชนรุ่นนี้  จำเลยที่เป็นเยาวชนรุ่นที่กำลังผลิตออกมานี้

นี่เป็นตัวอย่างที่ไปคำนวณดูเอาเองว่า  กามุปาทานนั้น  คืออะไร มันมีความหมายแก่โลกอย่างไรและทั้งหมดนี้  ก็มีอยู่ในเราทุกคน  ตามมากตามน้อย  ดีอยู่ว่าเราควบคุมได้  ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการจะควบคุมกันเลย นี้มันสำคัญอยู่ที่ว่าเรื่องธรรมะชนิดนี้  ไม่มาอยู่ในขอบเขตที่จะศึกษา  ไม่เอามาสอนกัน  ไม่เอามาพูดจากัน  มันก็ยิ่งไม่รู้กันใหญ่

พุทธทาสภิกขุ
#จดหมายเหตุพุทธทาส #การศึกษาหมาหางด้วน #ศีลธรรมกลับมาเถิด

ที่มา : ตุลาการิกธรรมเรื่อง "เรา" ที่ประกอบ หรือไม่ประกอบด้วยธรรม

Lee Yon Mon


Leang Yong

คนไทยหายใจเข้าออกเป็นบุญ นึกถึงการทำบุญอยู่เสมอ ขาดบุญไม่ได้ แต่มักไม่เข้าใจความหมายของ "บุญ" อย่างเช่นเวลาพูดว่า "ทำบุญทำทาน" เรามักเข้าใจว่า ทำบุญ คือ ถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ ส่วนทำทาน คือ ให้ข้าวของแก่คนยากคนจน และยังเข้าใจจำกัดแต่เพียงว่าต้องทำกับพระสงฆ์เท่านั้นจึงจะเป็นบุญ

บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์

คำว่า ทาน แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง

ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของ (ทานมัย) ซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

#ทำบุญอย่างมีความหมาย

บุญ มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า "ปุญญะ" แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ บุญเป็นเครื่องจำกัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่า กิเลส ดังนั้นการทำบุญ(ทานมัย) จึงเป็นการช่วยลดละเลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ตระหนี่ถี่เหนียว หวงแหน ยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ให้ออกไปจากใจ ทำให้ใจเป็นอิสระ พร้อมจะก้าวต่อไปในคุณความดีอย่างอื่น หรือเปิดช่องให้นำเอาคุณสมบัติอันดีงามอื่นๆ มาใส่เพิ่มเติมแก่ชีวิต เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น...

หลวงพ่อพุทธทาสพูดถึงวิธีทำบุญ ๓ แบบ ว่า เปรียบเหมือนกับคน ๓ คน เอาน้ำ ๓ ประเภทมาอาบชำระล้างตัว คือ

๑) บุคคลทำบุญเหมือนเอาน้ำโคลนมาอาบ คือ คนที่ทำบุญด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนสัตว์ ฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ และเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาจัดงานบุญเลี้ยงกัน รวมทั้งมีเลี้ยงสุรายาเมาด้วย จนบางครั้งเกิดการทะเลาะวิวาททำร้ายกัน เหล่านี้เป็นการทำบุญด้วยการทำบาป เหมือนกับเอาน้ำโคลนมาชำระตัว จะสะอาดได้อย่างไร

๒) บุคคลทำบุญเหมือนเอาน้ำเจือด้วยแป้งหอมมาอาบ คือ คนที่ทำบุญด้วยอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในบุญเป็นอย่างมาก เมาสวรรค์ เมาวิมาน เป็นการทำบุญด้วยกิเลสหรือความยึดติดอย่างรุนแรง ทำแล้วหวังผลเช่นนั้นเช่นนี้ เหมือนเอาน้ำที่เป็นเครื่องหอมมาอาบชำระกาย จะสะอาดได้อย่างไร

๓) บุคคลทำบุญเหมือนเอาน้ำสะอาดมาอาบคือ คนที่ทำบุญด้วยใจสงบร่มเย็น ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น ว่าเป็นตัวเราของเรา (อาจจะมีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นเหตุจริงจังให้จิตฟุ้งซ่าน สั่นไหว หรือยึดติดเป็นอุปาทาน) เหมือนคนเอาน้ำสะอาดมาอาบ ย่อมสะอาดกว่าบุคคล ๒ ประเภทแรก

เราทำบุญแล้วเป็นแบบไหน หรือ จะเป็นแบบไหน ต้องเลือกพิจารณาดูให้ดี ๆ

ที่มา หนังสือฉลาดทำบุญ... ส.สู้ๆ

Mon redlabel

[วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย]

ถ้าใคร ๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า    ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์,  ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม  วิหาร  เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม,   
จะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร.   
ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า  ด้วยว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น.   ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฎิเสธว่า    ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้    ไม่สมควร. 
เขากล่าวว่า   ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกร,   ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดี   และไม่ดีอย่างเดียวดังนี้แล้ว  มอบไว้ในมือพวกช่างไม้  หรือพวกกรรมกรเหล่านั้นจึงหลีกไป, จะรับก็ควร,   
ถ้าแม้น    เขากล่าวว่า   ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง,       หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง,       ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว,    แม้อย่างนี้ก็ควร.
ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์  คณะ   หรือบุคคล   กล่าวว่า   ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงิน   และทองนี้แก่เจดีย์,  ถวายแก่วิหาร,  ถวายเพื่อนวกรรมดังนี้   จะปฏิเสธไม่สมควร. พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า  ชนพวกนี้กล่าวคำนี้.   
แต่เมื่อเขากล่าวว่า  ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด   พึงปฏิเสธว่า   การที่พวกเรารับไว้ไม่สมควร.
แต่ถ้าคนบางคนนำเอาเงิน    และทองมามากกล่าวว่า     ข้าพเจ้าขอถวายเงินและทองนี้แก่สงฆ์,     ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย  ๔  เถิด,    ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น    เป็นอาบัติทั้งเพราะรับ   ทั้งเพราะบริโภค. 
ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น    ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า  สิ่งนี้ไม่ควร.   และอุบาสกกล่าวว่า   ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง   ดังนี้แล้วไป,   ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไร  ๆ ว่า    เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์,    เพราะภิกษุใดโจทเธอ,   ภิกษุนั่นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว.  แต่เธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ.     ก็ถ้าว่า     เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่าไม่ควร  เขากล่าวว่า   จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก   หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม  หรือในมือของผม,  ท่านทั้งหลาย    จงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น   ดังนี้,   สมควรอยู่.
อนึ่ง    เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย     พึงน้อมไปเพื่อปัจจัยที่ต้องการ.     เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร    พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น.
ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น,   สงฆ์ลำบากด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้นพึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไป      แม้เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น.     
แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวาย      เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย   ก็นัยนี้.
อนึ่ง   อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ    พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น   เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์. 
ก็ถ้าว่า    เมื่อพวกภิกษุละทิ้งเสนาสนะไป   เสนาสนะจะเสียหาย,   ในกาลเช่นนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย        แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้วบริโภค(ปัจจัย)  ได้.เพราะฉะนั้น  เพื่อรักษาเสนาสนะไว้    ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่าพึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป.  และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น,แม้อกัปปิยวัตถุอื่นมีนาและสวนเป็นต้น   อันภิกษุไม่ควรรับ. http://www.tripitaka91.com/91book/book03/851_900.htm#863... ส.หลก


Redmond Go


Leang Redarmy