ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

เริ่มโดย Telwada, 16:37 น. 09 พ.ค 60

Telwada

จว.เชียงราย (๕๗๐๐๐)                                                  ที่     ๘    /    ๒๕๖๐
         วันที่        ๖        พฤษภาคม       ๒๕๖๐
เรื่อง            การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
เรียน           ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรี,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
          น้ำ เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ มนุษย์ และพื้นดิน ในอดีตเมื่อครั้งยังไม่มีเขื่อน ยังไม่มีการปลูกข้าวสองครั้ง สามครั้ง ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งเล็กและใหญ่อย่างมากมาย  ผู้คนยังมีไม่มากนัก การใช้น้ำเป็นไปอย่างสะดวกอุดมสมบูรณ์
ในเรือกนาไร่สวน ตามชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบน มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบระเบียบ มีหัวหน้าที่ได้รับเลือกในการดูแลบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เรียกว่า "แก่เหมือง" มีหัวหน้าที่ได้รับเลือกเพื่อดูแลจัดการ "ฝาย" หรือเขื่อนกั้นน้ำขนาดเล็กเพื่อผันน้ำ,กักน้ำ ให้ไหลเข้าสู่ "น้ำเหมือง" หรือคลองส่งน้ำ ซึ่งสมัยนั้น การชลประทานยังไม่ค่อยเจริญ "น้ำเหมือง หรือ คลองส่งน้ำ" ขุดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกันของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ในแต่ละหมู่บ้านในแต่ละตำบล ซึ่งผู้ดูแลฝายหรือเขื่อนในขณะนั้นเรียกว่า "แก่ฝาย" (คำว่าแก่ หมายถึง "หัวหน้า" หรือจะเรียกว่า "ผู้ใหญ่" ก็ได้เช่นกัน
การจัดสรรแบ่งปันน้ำในยุคนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเพราะทำนาเพียงปีละครั้ง ใครจะเอาน้ำเข้านาก่อนเข้านาหลัง "แก่เหมือง" "แก่ฝาย"
จะเป็นผู้ดูแลจัดการ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งหรือแย่งน้ำกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามอย่างหนึ่ง และหากปีไหน พญานาคให้น้ำ หนึ่งตัว ปีนั้นฝนจะมีมาก น้ำท่วมมาก ถ้าพญานาคให้น้ำสองตัว น้ำจะท่วมปานกลาง ถ้าพญานาคให้น้ำสามตัว น้ำจะท่วมไม่มากนัก
         เมื่อการชลประทานของไทยเจริญขึ้น มีการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อส่งน้ำเข้าสู่เขตเพาะปลูก ระบบ "แก่เหมือง" "แก่ฝาย" ก็ยังมีอยู่เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบ เป็นจัดเวร แบ่งปันน้ำ เช่น "ถ้าชลประทานปล่อยน้ำมา ก็จะแบ่งเวลากันปิดเปิดประตูน้ำเพื่อผันน้ำเข้าสู่เรือกนาไร่สวน เป็นทอดๆไป ชาวไร่ชาวนาจะรู้ว่าไร่นาเรือกสวนของใครจะผันน้ำเข้ากี่วัน เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงน้ำกัน บางปีฝนแล้ง(นาคให้น้ำเจ็ดตัวขึ้นไป) น้ำชลประทานมีน้อย พวกเขาก็จะแก้ปัญหาโดยการขุดเจาะบ่อน้ำบ้าง น้ำบาดาลบ้าง โดยว่าจ้างบ้าง หน่วยงานของรัฐมาช่วยเหลือขุดเจาะให้บ้าง  เรือกนาไร่สวนของใครใกล้อ่างเก็บน้ำ ก็สูบเอาจากอ่างเก็บน้ำ อย่างนี้เป็นต้น
         การจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ อยู่บนดิน ทั้งในห้วยหนองคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ปกติ ก็มีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะน้ำย่อมเกี่ยวข้องกับการเกษตร กรมชลประทาน จึงเป็นผู้ดูแล จัดสรรแบ่งปันน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูกาลปลูกพืช กรมชลประทานยังมีหน้าที่ ดูแลจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค บริโภค หรือปรับสมดุลสภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
         ส่วนน้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาล ก็มี กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสังกัด กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบดูแล (หรืออาจมีความรับผิดชอบในแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น)
         หน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ หน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ต่างกัน แต่ต้องทำงานประสานร่วมกัน
เพื่อ พัฒนา บำรุงรักษา สร้าง อนุรักษ์ ฟื้นฟู แหล่งน้ำ ให้คงสภาพสามารถใช้งานได้ดี มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น คงสภาพอยู่ได้ในทุกฤดูกาล เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ตามสภาพภูมิประเทศของท้องถิ่นนั้นๆ
         กฎหมายต่างๆ มาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พัฒนา บำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู แหล่งน้ำ  การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำก็มีอยู่แล้ว ในสองกระทรวง หากจะตั้งเป็นกระทรวงทรัพยากรน้ำขึ้นมาใหม่ การทำงานก็จะหละหลวม ไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยตรง ต้องประสานกันไปประสานกันมาทำให้เกิดความล่าช้า อีกประการหนึ่ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน ก็ดีอยู่แล้ว ปัญหามันอยู่ที่ สภาพลมฟ้าอากาศ สภาพสภาวะจิตใจของมนุษย์ สภาพการเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงสภาพการบริโภคด้านต่างๆ เปลี่ยนไป  การทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก หากหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่เข้าควบคุม ดูแล จัดสรร แบ่งปัน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และประชาชนมีส่วนร่วม หรือให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ย่อมจะไม่มีการแย่งน้ำทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดขึ้น
         งานจัดการแบ่งปัน บริหารทรัพยากรน้ำนั้น หน่วยงานที่มีอยู่ อาจมีกำลังพลไม่เพียงพอต่อการทำงาน อาจมีกำลังพลไม่เพียงพอหรือจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ไม่ถูกต้อง ในการที่จะต้องออกไปสอดส่องดูแล วิเคราะห์ จัดการ จัดสรร แบ่งปัน แบ่งเวลา  ดังตัวอย่างของยุคสมัยก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ย่อมขจัดปัญหาขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ยาก สมัยเมื่อครั้งยังไม่มีการสร้างเขื่อน น้ำก็ท่วมอยู่แล้วในบางปี พอเริ่มมีเขื่อนต่างๆเกิดขึ้น สถานการณ์น้ำท่วม ในบางแห่งบางพื้นที่ลดลง แต่ในบางแห่งบางพื้นที่ น้ำกลับท่วมขังมากขึ้น เพราะยุคสมัยนี้ บ้านเมืองเจริญ ทั้งถนน ทั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆไปกีดขวาง ทางเดินหรือทางไหลผ่านของน้ำ  หรือบางครั้ง การบริหารจัดการน้ำของแต่ละเขื่อนเกิดความผิดพลาด อาจปล่อยน้ำน้อยไปมากไป ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน หรือหากใครอวดเก่ง อวดฉลาด ก็ลองไปบริหารจัดการน้ำในเขื่อนดูด้วยตัวเอง ก็จะรู้ดีขึ้น
         ปัญหาเรื่องภัยแล้ง เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แม้จะมีหน่วยงานสร้างฝนเทียม ก็ช่วยเหลือได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังดีที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง แม้จะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งปัญหาภัยแล้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนผิดพลาด ไม่สมดุล ,เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ไม่ยอมเชื่อฟัง ไม่ยอมให้ความร่วมมือ เมื่อมีการประกาศให้งดการปลูกพืชต่างๆ หรือในเรื่องการให้งดการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก หรืองดการปลูกไว้ชั่วคราว นับได้ว่าดำเนินงานมาอย่างถูกทาง เพราะสามารถลดการสูญเสียของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สำหรับเกษตรกรที่เชื่อฟัง และให้ความร่วมมือ
         การพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดหา บำรุงรักษา ทรัพยากรน้ำ เป็นความร่วมมือ ทำงานประสานกัน ระหว่าง "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กับ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม" ขึ้นอยู่กับสถานที่สภาพสิ่งแวดล้อม และลักษณะภูมิประเทศ ว่ากระทรวงไหนควรรับผิดชอบดำเนินการ กระทรวงไหน รับช่วงดำเนินการต่อจากนั้น หากแบ่งงานกันแม้อาจเหลื่อมล้ำไปบ้าง ก็คงสามารถทำให้การ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
         ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณา เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีศักยภาพ และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   การที่จะสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ไม่สมควร แต่ถ้าจะออกกฎหมายเพื่อให้มีประสิทธิภาพมั่นคง ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก็ย่อมทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน อยู่ภายใต้กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ออกกฎหมายบังคับประชาชนให้แบ่งทรัพย์สินส่วนตัวไปให้ผู้อื่น ส่งเสริมให้ประชาชนละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ประเทศไหนเขาทำกัน(ถาม)   แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะออก กฎหมายที่เป็นกลาง ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ เป็นไปตามหลักศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมประเพณี  กฎหมาย มีไว้ เพื่อสร้างความสงบสุขสันติ สร้างความสามัคคีปรองดองให้กับประชาชน   ในที่นี้จะไม่ยกตัวอย่างกฎหมาย เพราะเคยให้ตัวอย่าง เป็นร่างพระราชบัญญัติ "พัฒนาจริยธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพวิชาชีพสื่อสารมวลชน" ไปแล้ว และคำว่า "พัฒนา" กับ "ส่งเสริม" มีความหมายต่างกัน
         จึงเรียนมาเพื่อทราบและกรุณาพิจารณา
                     ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
                     จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์