ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เปิดไทม์ไลน์ ปลาหมอสีคางดำ ระบาด ก่อนกรมประมงห้าม นำเข้า ส่งออก เพาะเลี้ยง

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 15:29 น. 28 เม.ย 61

ทีมงานบ้านเรา

ที่มา สำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/isranews/65488-fisheries65488.html

เปิดไทม์ไลน์ 'ปลาหมอสีคางดำ' สัตว์รุกรานต่างถิ่นระบาด ก่อนกรมประมงห้าม นำเข้า ส่งออก  เพาะเลี้ยง ทำผิดระวังโทษหนักปรับ 1 ล้านบาท
[attach=1]
จากกรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ ซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555 (อ่านประกอบ:'ปลาหมอสีคางดำ'ระบาด! กสม.แนะกรมประมงเร่งแก้ไขหลังพบไฟเขียวบ.ยักษ์ใหญ่นำเข้า)

ปลาหมอสีคางดำ ถือว่า เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นครอบครัวเดียวกับปลาหมอสีและปลาหมอเทศ จัดเป็นปลาที่กินอาหารเก่ง โดยสามารถกินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืช และลูกกุ้ง ลูกปลาที่มีขนาดเล็กๆ รวมทั้งมีความสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อัตราการรอดตายสูง ดังนั้นเมื่อมีการแพร่ระบาด จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นรวมถึงบ่อเลี้ยงของเกษตรกร

การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขไปถึงไหนแล้วบ้าง สำนักข่าวอิศรา  (www.isranews.org) ไล่เรียงมาให้เห็นไทม์ไลน์คร่าวๆ ดังนี้

- ปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข

- ปี 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC

- ปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก

fisheries2804cover

กระทั่งปัจจุบัน เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นอย่างมาก กระทั่งมีการร้องไปที่  กสม. ก่อนจะมีมติออกมาล่าสุดว่า การแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าว มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชนอันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

ในส่วนของกรมประมง

- เดือนกรกฎาคม 2560 เริ่มเห็นปัญหา โดยนายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ให้สัมภาษณ์รายการสถานีประชาชน ในประเด็นชาวบ้านจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และราชบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

- เดือนสิงหาคม 2560 กรมประมงได้จัดวาระการประชุมเร่งด่วน เพื่อกำหนดนโยบายในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ

แนวทางระยะสั้นที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน

1. กรมประมงเตรียมจัดโครงการกำจัดปลาหมอสีคางดำ เพื่อลดปริมาณในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง โดยภายใต้โครงการนี้จะมีการรับซื้อปลาชนิดนี้ในช่วงระยะเวลาจำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไขและคำนวณราคารับซื้อให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนจับมาขึ้นมาขาย ทั้งนี้ กรมประมงได้ขอความร่วมมือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันนำอวนไปลากจับปลาหมอสีคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

2. กรมประมงได้เตรียมปล่อยปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำเพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำ ส่วนเหตุผลที่กรมประมงไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำทันทีเนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลากินเนื้อ แต่การเลี้ยงปลากะพงขาวในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะให้อาหารเม็ดส่งผลให้พฤติกรรมในการล่าเหยื่อที่เคลื่อนไหวลดน้อยลงไป ดังนั้น กรมประมงจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของปลากะพงขาวก่อนที่จะนำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำ

3. กรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเพื่อบริโภค เนื่องปลาชนิดนี้สามารถจับนำมาขึ้นมาแปรรูปรับประทานได้

แนวทางระยะยาวที่จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับแนวทางระยะสั้น

1. กรมประมงได้เตรียมร่างกฎหมายลำดับรองโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ซึ่งกรมประมงจะมีอำนาจอย่างชัดเจนในการควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยจะขึ้นบัญชีปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นๆ หากจะนำเข้ามาในประเทศก็จะต้องพิจารณารายชนิดไป

ทั้งนี้กรมประมงไม่ได้กำหนดห้ามนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด การที่จะนำเข้าจะต้องให้คำตอบได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ และมีวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ สำหรับบทลงโทษถ้ามีการประกาศกฎหมายบังคับใช้หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรมประมงมอบหมายให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นและรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยที่นิยมปล่อยปลาทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ ให้หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ

สำหรับการหาผู้ปล่อยให้ปลาชนิดนี้ให้หลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเกษตรกรนั้น กรมประมงออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากคาดว่า ปลาอาจหลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะมาประมาณ 4 – 5 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะพบแพร่กระจายอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (ปี2560)

- เดือนสิงหาคม 2560 ดร.ชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานในการประชุมเพื่อเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงในการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และลดความเสียหายจากการหลุดรอดของปลาหมอสีคางดำเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรและทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงคราม 

- เดือนมีนาคม 2561  กรมประมง อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่  9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561   

สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่

1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852

2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)

3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)

ส่วนบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นว่า การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Species) ในประเทศไทย นอกจากปลาหมอสีคางดำ แล้วยังมี ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น รวมถึงปลาพีคอกแบส  ซึ่งการหลุดรอดของสัตว์น้ำต่างถิ่นกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำในธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากการระบาดดังกล่าว

เอเลี่ยนสปีชีย์ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่กรมประมงกำลังแก้ไขปัญหา หวังหยุดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวที่สอง:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง