ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาเกาหลีศึกษาให้แก่อาจารย์ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับ ม.ปลาย

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:24 น. 07 มิ.ย 61

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาเกาหลีศึกษาให้แก่อาจารย์ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับ ม.ปลาย ชูประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษารองรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

[attach=1]

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับ มูลนิธิเกาหลี เชิญเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2561  ณ โรงแรมแมนดาริน เมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ  ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมเปิดประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษารองรับแรงงานสายอาชีพตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

                รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2561  ณ โรงแรมแมนดาริน เมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา  โดยมี ฯพณฯ โน กวัง-อิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย  กล่าวต้อนรับ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปราศรัย   

          สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้บริหาร เรื่อง การอภิปรายสถานการณ์ปัจจุบันและหาแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา  และการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มครู โรงเรียนมัธยมและสถาบันอาชีวศึกษา เรื่อง แนวทางในการพัฒนาการเรียนการ สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา  โดยมีหัวข้อการบรรยายทางวิชาการที่น่าสนใจ เช่น  ลักษณะเฉพาะและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกาหลี , ความสัมพันธ์ทางการทูตของสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย , ภาษาเกาหลีกับการพัฒนา ฝีมือแรงงาน , อนาคตการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและนโยบายการเรียนการสอน ภาษาต่างประเทศในสถาบันอาชีวศึกษา , ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีสาหรับแรงงานไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , การเรียนการสอนภาษาเกาหลีในสถาบันอาชีวศึกษา , อนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลี  เป็นต้น

                รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา รัฐบาลเกาหลี ส่งผลให้โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทยจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี ปัจจุบันมีโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลี จำนวน 80 แห่งทั่วประเทศ และมีจำนวนนักเรียนประมาณ 25,000 คน และปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศได้มีการสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังในการดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในรูปแบบต่างๆ ทั้งการพัฒนาปรับปรุงตำราเรียนและการอบรมครูผู้สอน 

          ผลจากการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา เมื่อปี 2560  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอมาตรการเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ การจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมด้วยการจัดพื้นที่ภาษาเกาหลี  การสนับสนุนของผู้ปกครองในการศึกษาภาษาเกาหลี  เพิ่มสัดส่วนครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทยให้มากขึ้น  ขยายช่องทางระบบทุนการศึกษา  ส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมสอบวัดระดับภาษาเกาหลี พัฒนาคู่มือการเรียนการสอน  สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขยายการฝึกอบรมภาษาเกาหลีระยะสั้นในสาธารณรัฐเกาหลี  และนับเป็นก้าวแรกที่เห็นความสำคัญการจัดระบบการศึกษาเกาหลีศึกษาเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล  ทำให้รัฐบาลเกาหลีจัดส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลีจำนวน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ในการนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในวิทยาลัยอาชีวศึกษา ได้แก่ จัดทำนโยบายการศึกษาภาษาเกาหลี  จัดเตรียมหลักสูตรการศึกษา  สนับสนุนและจัดทำแนวทางฝึกอบรมครูผู้สอน  แผนกิจกรรมการศึกษา  จัดทำตำราเรียนภาษาเกาหลี  และจัดทำรูปแบบและวิธีการประเมินผลภาษาเกาหลี  สำหรับผลการสัมมนาในครั้งนี้ คาดคาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาต่อไป


[attach=2]
รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน