ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

บุหรี่ไฟฟ้า ได้ประโยชน์หรือให้โทษ?

เริ่มโดย Achana Jrs, 16:32 น. 28 พ.ค 63

Achana Jrs

เป็นที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลานานถึงประโยชน์และโทษภัยที่ได้รับจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แม้ในประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าจะถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่ตามแบบปกติ รวมไปถึงยังมีผู้จำหน่ายสินค้าต้องห้ามนี้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดการค้าออนไลน์ แล้วบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายของผู้สูบบ้าง

บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?

เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา  และถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่ถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบแล้วจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ

·      นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
·      โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับทำให้เกิดไอระเหย
·      กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมกับสารโพรไพลีนไกลคอล องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อแปรสภาพกลายเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล
·      สารแต่งกลิ่นและรส เป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย

บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายหรือไม่?

บุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่สารประกอบอื่น ๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน

บางงานวิจัยระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในท้องตลาดมากกว่าร้อยละ 95 มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งแปลว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ติดสารนิโคตินได้ แม้จะมีผู้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อหวังผลเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ แต่ก็พบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่ เพียงร้อยละ 5-9 และมีข้อมูลว่าหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ กลับทำให้โอกาสเลิกบุหรี่ลดลงไปกว่าเดิมถึงร้อยละ 27 เลยทีเดียว

ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า

1.      มีนิโคตินที่มีอานุภาพการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน ผู้เสพสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 3-10 เท่า
2.      สารเสพติดทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะหลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
3.      มีโลหะหนัก เช่น นิเกิล โครเมียมที่มีพิษต่อปอด แคดเมียมที่มีพิษต่อไต สารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์
4.      สารบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของตัวทำละลายของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อโดนความร้อนเป็นไอน้ำเพื่อเสพจะแปรเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้คือ ไดเอทธิลีนไกลคอล และสารกลีเซอรอล
5.      สารแต่งกลิ่นผลไม้หรือกลิ่นหอมมีฤทธิ์ทำลายเยื่อบุหลอดลม มีการปลดปล่อยอนุภาคขนาดเล็กมาก PM 2.5 และอนุภาคนาโนที่แทรกซึมเข้าร่างกายเป็นการสะสมพิษไปก่ออันตรายในอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย

บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายข้อไหนของประเทศไทยบ้าง?

ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีบทบัญญัติควบคุมไว้อย่างเด็ดขาด ดังนี้
1.      ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย
2.      เป็นสินค้าที่ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขายต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.      ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4.      ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ห้ามนำเข้ามาประเทศไทย ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน ซึ่งหากถูกจับกุมดำเนินคดีต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 246 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง อินเดีย และเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีหลายหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขที่ออกมาให้ความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้วในการดำเนินนโยบายสกัดกั้นการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้อย่างไม่คาดคิด

ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..  https://www.smk.co.th