ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วิธีเลือกซื้อรองเท้าสุขภาพ เมื่อ “รองเท้า” จะไม่ใช่คำว่า “แฟชั่น” อีกต่อไป

เริ่มโดย Achana Jrs, 15:02 น. 30 มิ.ย 63

Achana Jrs

เมื่อรูปแบบการเดินทางของคนเมืองต้องพึ่งพาการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้นด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งในแง่ของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรองรับจำนวนประชากรที่ขยับขยายเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อหางานทำ "การเดินเท้า" จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเดินทางสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัว การดูแล "สุขภาพเท้า" จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้แต่น้อง ๆ ในวัยเรียนที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนในวันเปิดเทอม เราจะมีวิธีการเลือกรองเท้าอย่างไรให้เหมาะกับสุขภาพเท้าของตัวเอง สินมั่นคงมีข้อมูลดี ๆ มาบอกต่อค่ะ

มาทำความรู้จักกับ "รองเท้าเพื่อสุขภาพ"

"รองเท้าเพื่อสุขภาพ" เริ่มเข้ามาสร้างกระแสให้กับผู้คนที่ยอมละทิ้งความสวยงามและหันมาดูแลสุขภาพเท้าของตัวเองอย่างจริงจัง เพราะเป็นรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถใส่ได้ทั้งวันโดยไม่เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณเท้าหรือข้อต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบได้โดยตรงไปถึงเข่าและหลัง และยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเท้าอันไม่พึงประสงค์ซึ่งเกิดจากการอับชื้นและการสะสมของแบคทีเรียภายในรองเท้าด้วย

วิธีเลือก "รองเท้าเพื่อสุขภาพ"

1.   ความนิ่มและความหนาเหมาะกับน้ำหนักตัวผู้สวมใส่
รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี จะต้องไม่นิ่มจนเท้ายุบแบนและไม่แข็งกระด้างจนเกินไป สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี แม้จะใช้งานเป็นเวลานานก็ยังสามารถคืนตัวกลับมาคงสภาพเดิมได้ เวลาเดินจะต้องไม่มีจุดที่แข็งทำให้เสียดสีจนเกิดแผลที่เท้า ความหนาของพื้นรองเท้าควรมีความพอดี สามารถรองรับแรงกระแทกที่สะท้อนมาตามแนวสันหลังขณะที่เดินบนพื้นที่แข็งได้

2.   หัวรองเท้ามีหน้ากว้างและมีความยืดหยุ่นสูง
หัวรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี จะต้องมีความยืดหยุ่นสูงและมีหน้ากว้าง เพื่อให้ปลายนิ้วเท้าเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ หากหัวรองเท้าแน่นและอึดอัดเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อนิ้วเท้าและเอ็นร้อยหวายต้องทำงานมากกว่าปกติ เมื่อเดินนาน ๆ จะทำให้ปวดเท้าและอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้

3.   รองรับอุ้งเท้าได้เหมาะสม
ส่วนที่รองรับอุ้งเท้าของรองเท้าเพื่อสุขภาพที่อยู่บริเวณกลางฝ่าเท้าควรมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง เพื่อช่วยกระจายแรงกดของร่างกายไปทั่วฝ่าเท้า ไม่ทำให้น้ำหนักมารวมอยู่ที่บริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามากเกินไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครองช้ำได้ นอกจากนี้ยังช่วยพยุงอุ้งเท้าไม่ให้เท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งหากนานไปจะทำให้แนวกระดูกสันหลังเบี้ยวจนทำให้รู้สึกปวดหลังส่วนบั้นเอว

4.   มีชิ้นส่วนรองรับส้นเท้า (Heel counter)
ชิ้นส่วนที่รองรับส้นเท้า หรือ Heel Counter เป็นชื่อเรียกชิ้นส่วนที่อยู่รอบบริเวณส้นเท้าด้านหลัง ช่วยให้ทรงตัวได้มั่นคง ล็อกส้นเท้าให้อยู่กับที่ และรองรับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวรอบทิศทาง โดยชิ้นส่วนที่รองรับส้นเท้าของรองเท้าเพื่อสุขภาพต้องสามารถรองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการเดิน เพื่อป้องกันการเกิดอาการรองช้ำบริเวณส้นเท้า และควรช่วยกำหนดทิศทางการลงน้ำหนักเวลาเดิน ป้องกันไม่ให้เท้าลื่นหลุดจากรองเท้าและทำให้เกิดความสมดุลขณะเดิน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าพลิก

5.   ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพสูง
การเลือกซื้อรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงโดยเฉพาะส่วนที่ต้องสัมผัสกับเท้าโดยตรง เช่น วัสดุที่ทำซับในหรือวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มรองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรใช้วัสดุที่ทนทาน ไม่ขาดง่าย มีน้ำหนักเบา ไม่ก่อให้เกิดการอับชื้น แต่ก็ต้องไม่แข็งกระด้าง เมื่อใช้แล้วไม่เกิดการเสียดสีจนผิวหนังเป็นแผล

"รองเท้าสุขภาพ" ที่เหมาะกับลักษณะเท้าของแต่ละคน

ด้วยลักษณะเท้าของแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การมองหารองเท้าสุขภาพจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของเท้าให้มากที่สุด

1.   รองเท้าสุขภาพ สำหรับคนเท้าแบน
คนที่มีลักษณะฝ่าเท้าแบนจะมีทั้งแบบแบนถาวรและแบนชั่วคราว คนที่มีฝ่าเท้าแบนจะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดบริเวณกลางฝ่าเท้าตลอดเวลาที่เดิน เพราะเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยึด หากเป็นคนฝ่าเท้าแบนชั่วคราวหรือฝ่าเท้าที่มีลักษณะแบนเมื่อเหยียบพื้น  ควรเลือกสวมรองเท้าสุขภาพที่ใช้พื้นรองฝ่าเท้านิ่มเพื่อให้เส้นเอ็นช่วยพยุงอุ้งเท้าและเป็นรองเท้าที่มีการหุ้มด้านข้างและหลังเท้า เพื่อพยุงไม่ให้ส้นเท้าบิดหรือทำให้เท้าล้มเข้าด้านใน แต่หากมีฝ่าเท้าที่แบนถาวร ควรเลือกรองเท้า สุขภาพที่ด้านข้างกว้างด้วย     

2.   รองเท้าสุขภาพ สำหรับคนอุ้งเท้าสูง
ผู้ที่มีปัญหาอุ้งเท้าสูงมักจะปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า ทำให้การรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป รองเท้าสุขภาพที่เลือกสวมควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้าส่วนกลาง คือมีลักษะยกนูนช่วงกลางฝ่าเท้าและเสริมอุ้งเท้า เพื่อเป็นการช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าหรือส้นเท้ามาที่อุ้งเท้า ทั้งนี้อุ้งเท้าที่ยกสูงขึ้นของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทำให้บางครั้งคนที่มีอุ้งเท้าสูงแต่ไม่มากเลือกซื้อรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าสูงเกินไปทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยแทนที่จะช่วยบรรเทา ข้อแนะนำคือควรเลือกรองเท้าสุขภาพที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับคนอุ้งเท้าสูงปกติ แต่ถ้าสูงมากจนผิดรูปจำเป็นต้องหารองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าส่วนกลางมาสวมใส่เท่านั้น

3.   รองเท้าสุขภาพ สำหรับคนปวดส้นเท้าบ่อย
ส่วนใหญ่เกิดจากจุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบและมักจะรู้สึกปวดมากหลังตื่นนอนในการเดินก้าวแรก เพราะพังผืดจะถูกยืดทันทีทันใด การเลือกรองเท้าสุขภาพที่เหมาะกับผู้ที่ปวดส้นเท้าบ่อย ควรมีพื้นนิ่ม และมีส้นเล็กน้อยเพื่อให้เกิดการถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า

การเลือก "รองเท้าสุขภาพ" จากร้านขายรองเท้าสำเร็จรูปอาจทำให้ได้รองเท้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของเท้าได้มากเท่ากับการซื้อรองเท้าที่ตัดตามขนาดเท้าและรูปเท้าของตัวเอง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมาด้วย การออกกำลังกายบริหารข้อเท้าและการดูแลสุขภาพเท้าจึงมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมไม่แพ้การกายบริหารร่างกายในส่วนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ.. https://www.smk.co.th/prehealth.aspx