ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ศิลปะการสร้างคนเก่งฉบับเจ้าสัวธนินท์

เริ่มโดย supergreat, 16:53 น. 03 ก.ค 63

supergreat

เคล็ดลับการสร้างคนเก่งฉบับเจ้าสัวธนินท์





หลายข่าว หลากบทความ ที่ได้อ่านจากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มักจะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันแยบยล และการมองเห็นโอกาสที่คนอื่นมักมองไม่เห็นอยู่เสมอ เรียกว่าในทุกข่าวหรือทุกบทความจะได้เรียนรู้ ได้รับมุมมองแง่คิด ที่ต้องคิดตามหรือนำไปต่อยอดได้เสมอ

สิ่งที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าสัวมักพูดถึงผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่สามอย่างให้เกียรติเสมอ ไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นการดูถูก ประชดประชัน เสียดสี หรือขุ่นเคือง แม้แต่กับคนที่ให้ร้าย โจมตี แต่เจ้าสัวมักพูดเสมอว่า ต้องเรียนรู้จากทุกคน ต้องเปิดใจ หากผิดก็ต้องยอมรับผิดและแก้ไข ที่สำคัญเจ้าสัวซีพีให้ความสำคัญกับ "คน" เป็นอย่างมาก โดยบอกว่ามีทุกวันนี้ได้เพราะ "คน" จึงให้ความสำคัญกับการรักษาคนและการสร้างคน ที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีให้อยู่รอบตัว

วันนี้จึงขอรวบรวมแนวคิดในการสร้างและรักษาคนเก่งตามแบบฉบับเจ้าสัวซีพี ซึ่งเป็นประโยชน์ นำไปต่อยอดหรือปรับใช้ในชีวิตได้ เพราะเป็นแนวคิดที่ไม่มีวันตกยุค


การชวนคนเก่งให้มาทำงานด้วย ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
-   คนเก่งจริง ๆ ไม่ได้ต้องการเงินเป็นอันดับแรก
-   ใครพูดเรื่องค่าตอบแทนก่อน ไม่ใช่คนเก่งที่แท้จริง


คนเก่งๆ ที่มีศักยภาพต้องการสามอย่าง

1. อำนาจ ในการบริหารงานและอิสระในการตัดสินใจ เพราะคนเก่งต้องการโชว์ฝีมือ ถ้ากล้าจ้างเขามาแล้ว ก็ต้องเชื่อใจเขา ให้เขาได้ทำงานใหญ่ ๆ
2. เกียรติ ต้องให้ตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้เขารู้สึกมีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม ภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กร
3. เงิน เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คนเก่งก็ต้องกิน ต้องใช้ มีครอบครัว แต่สำหรับคนเก่ง ๆ จริง ๆ สิ่งนี้จะไม่เคยอยู่อันดับแรก





ต้องให้โอกาสคน

-   การให้ตำแหน่ง หน้าที่ รายได้ ไม่สำคัญเท่าการให้โอกาส
-   เก่งยังไงก็แสดงออกมาให้เป็นพระเอกไม่ได้ ถ้าไม่เคยได้รับบทบาทนั้น ดังนั้นต้องให้โอกาสเขา สร้างเวทีให้เขาได้แสดงออก
-   เรื่องความผิดพลาด ให้มองว่า คนที่ไม่เคยผิดพลาดเลย เพราะไม่เคยทำงานอะไรเลย ยิ่งเจอปัญหา ยิ่งเจออุปสรรค ยิ่งฝึกฝนให้คนเก่งกาจมากขึ้น


ผู้บริหารทุกคนจะต้องสร้างตัวแทน

-   คนที่สามารถใช้คนเก่งได้อย่างมีทักษะ คือคนที่เก่งยิ่งกว่า
-   ถ้าคุณสามารถสร้างคนเก่งได้ คุณคือคนที่เก่งที่สุด
-   ต้องมองคนอื่นว่าเก่งกว่าเสมอ และต้องไม่มองใครว่าเก่งสู้ตัวเองไม่ได้
-   ต้องคิดถึงพนักงาน คิดว่าทำอย่างไรให้คนเก่ง ๆ อยู่ต่อ ถ้าจะให้เขาอยู่ต่อก็ต้องให้งานเขาต้องให้เขาเห็นอนาคต
-   รู้จักเปิดโอกาสและให้โอกาสผู้น้อยได้แสดงความสามารถ ส่งเสริมสนับสนุนให้เขามีตำแหน่งสูง ๆ ขึ้นไปอีก และต้องพยายามรักษาเขาให้อยู่กับบริษัทให้นานที่สุด อีกทั้งยังต้องสร้างคนที่มีความสามารถให้เกิดเพิ่มขึ้น


คุณสมบัติของคนเก่งของซีพี

-   ถ้าไม่มีคนเก่ง ผู้นำจะเก่งได้อย่างไร
-   ต้องรู้จริง ทำจริง มีความรับผิดชอบสูง ขยันทุ่มเทและพยายาม ใจกว้าง ให้ก่อน เสียสละยอมเสียเปรียบ คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นก่อน รู้จักให้อภัย รู้จักตอบแทนบุญคุณ ถ้าคนที่ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณ เก่งอย่างไรเราหมดตัวแน่ ยิ่งเก่งเรายิ่งหมดตัว
-   รู้จักแบ่งเวลา ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
-   เคารพผู้บังคับบัญชา และให้เกียรติผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าคนไหนเก่งแล้วไม่เคารพผู้บังคับบัญชาที่ใหญ่ หรือมองข้ามผู้ใต้บังคับบัญชา คนอย่างนี้ไม่เก่งจริง เก่งแต่ไม่ใหญ่ เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาไม่พอใจ ผู้บังคับบัญชาก็ไม่พอใจแล้วจะใหญ่ได้อย่างไร ถึงจะเก่งก็ไม่มีประโยชน์
-   รู้จักประสานสัมพันธ์ รู้จักใช้คนเก่งและรักษาคนเก่ง ถ้าใช้คนเก่งไม่เป็นแล้วทำเอง 16 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง ก็ไม่ไหว
-   ต้องรู้จักศึกษาจุดเด่นของคน และรู้จักจุดด้อยของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้บังคับบัญชาไม่ต้องไปศึกษาจุดด้อยของเขา แล้วเราจะเกรงใจเขา จะนับถือเขา ถ้าเรานับถือเขา เขาก็รักเรา แต่ถ้าเราไปดูถูกเขา แล้วเขาจะรักเราได้อย่างไร ศึกษาและรู้จักเขา พื่อจะกระจายงานไม่ผิดพลาด
-   การสร้างคน การใช้คน การรักษาคน ยากกว่าการสร้างเงิน
-   เป็นผู้นำอย่าอิจฉาลูกน้อง ถ้าอิจฉาเขา ถือว่าใจคอคับแคบ เขามีเกียรติ เรายิ่งต้องมีเกียรติกว่า คนจะไม่ดูถูกเรา
-   ก่อนที่จะมอบอำนาจให้กับพนักงาน ต้องทำความตกลงกับเขาก่อน ต้องให้เขาเลือกทีมงานของเขาเอง ถ้าบริษัทมีปัญหา แล้วต้องการให้เขาเข้าไปแก้ไข เราต้องเคลียร์ก่อน ต้องตกลงกันให้เข้าใจก่อนแล้วก็ถามเขาเลยว่าต้องการคนไหนอยู่ ถ้าเขาจะเอาออกทั้งหมดผมก็รับมาทั้งหมด ถ้าเขาต้องการคนไหนก็ต้องให้อำนาจ 100% ไม่ใช่ว่าส่งเขาไปแก้ปัญหาแล้ว เราส่งคนที่เขาสั่งการไม่ได้ อย่างนี้งานก็ไม่เดิน เพราะไม่เข้าใจ ไม่เป็นคู่ขากัน แล้วงานจะสำเร็จได้อย่างไร แล้วต้องพยายามตรวจสอบผลงาน
-   ผู้นำของเครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องไปดูงาน ไปศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ก้าวทัน ไม่ให้ล้าสมัย เงินที่ใช้กับเรื่องนี้สำคัญมากยิ่งกว่าการลงทุน ถ้าคนของเรามีความรู้ไม่ทันสมัย แล้วจะไปค้าขายได้อย่างไร เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
-   ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งต้องใช้คนหนุ่มสาว เราถึงจะได้ความรู้ใหม่ ๆ จากคนหนุ่มสาว
-   ต้องเรียนรู้ทุกเวลา ยิ่งถ้าต้องนำพาบริษัท การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด





อิ่มเอมกันไปกับวิธีการบริหารคนสไตล์เจ้าสัวซีพี ซึ่งแต่ละแนวคิดล้วนเป็นประโยชน์อย่างที่สุด สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ก็คือ วิธีคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องออกมาจากข้างใน เกิดจากความอ่อนน้อมถ่อมตนส่วนหนึ่ง และประสบการณ์อีกส่วนหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีความจริงใจ และมีใจที่กว้างใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาได้จากการปรับเปลี่ยนมุมมองของเราเอง 


--------------------
เครดิต: cp e-news, มติชนสุดสัปดาห์, SoftbankThai, สถาบันพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs