ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ภัยเงียบจากยุงลาย ร้ายกว่าที่คิด

เริ่มโดย Achana Jrs, 13:48 น. 15 ก.ค 63

Achana Jrs

แม้กระแสความน่ากลัวของการกลับมาระบาดอีกเป็นระลอกที่ 2 ของโรคโควิด-19 จะสร้างความกังวลให้กับผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระยองและกรุงเทพมหานคร แต่อีกภัยเงียบที่หลายคนอาจหลงลืมไปคือ เชื้อไวรัสจากยุงลาย สาเหตุสำคัญของการเกิดโรค "ไข้เลือดออก" ที่แม้จะผ่านมาเพียงครึ่งปี แต่จากสถิติล่าสุดของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วมากถึง 25,708 ราย และเสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 15 ราย https://ddc.moph.go.th/dvb/

ถึงแม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้มีจำนวนเยอะเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว แสดงให้เห็นว่า การแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก มีอัตราที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าโรคโควิด-19 มากนัก มาทำความรู้จักกับอันตรายและภัยเงียบที่เราอาจได้รับจากโรคไข้เลือดออกกันค่ะ

โรค "ไข้เลือดออก" เกิดจากอะไร

โรค "ไข้เลือดออก" มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายบ้านเป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวนเป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป

เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดจนทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป โดยจะมีภูมิคุ้มกันต่อชนิดอื่นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อซ้ำอีก 3 หรือ 4 ครั้ง

อาการของโรค "ไข้เลือดออก"

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงลายประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรคซึ่งอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการรุนแรง และรุนแรงมากจนถึงช็อกและเสียชีวิต โดยโรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

1.   ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2.   มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3.   มีตับโต กดเจ็บ
4.   มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

นอกจากนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกเดงกี ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.   ระยะไข้
•   ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
•   บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน
•   ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง
•   จะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน
•   อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้
•   อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
•   ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
•   ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

2.   ระยะวิกฤติ/ช็อก
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง และเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

3.   ระยะฟื้นตัว
ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

ป้องกันดีแค่ไหน แต่ภัยร้ายจากยุงลาย ก็ทำร้ายเราได้มากกว่าที่คิด
ขอบคุณข้อมูลจาก สินมั่นคงประกันสุขภาพ https://www.smk.co.th/prehealth.aspx