ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ติดตามความคืบหน้าโครงการสร้างทางแยกต่างระดับแยกคูหา รัตภูมิ

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:44 น. 19 ก.ค 63

ฅนสองเล

กรมทางหลวง เชิญร่วมเวทีรับฟังความเห็นสร้างทางแยกต่างระดับแยกคูหา รัตภูมิ 6 ส.ค.63

กรมทางหลวง ขอเชิญร่วมเวทีปฐมนิเทศโครงการ ก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกคูหา จุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 กับ 406 วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2563 (เปลี่ยนนจากเดิม 23 กรกฎาคม 2563 ) ณ หอประชุมอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เวลา 08.30-12.00 น.

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ ทราบว่าจะเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแยกฝั่งทางหลวงหมายเลข 4 (หาดใหญ่-พัทลุง) เหมือนแยกควนลังที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไปเป็ยแยกล่าสุด เพื่อให้การจราจรบนทางหลวงสายหลักเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะติดตามรายงานกันต่อไป

ฅนสองเล

โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่แยกคูหา ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 406 (สายปากจ่า - ตำมะลัง) จังหวัดสงขลา โดยกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม งบประมาณปี 2564 วงเงิน 950 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2564 ใช้เวลาสร้าง 900 วัน กำหนดการแล้วเสร็จต้นปี 2567

แนวคิดการออกแบบโครงการใช้พื้นที่เขตทางหลวง โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินสองข้างทางมากที่สุด เพื่อให้มีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณทางแยกน้อยที่สุด จะไม่เวนคืนที่ดินเพิ่มเติม รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจรในแต่ละทิศทาง และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก แก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง ออกแบบระบบระบายน้ำอย่างเป็นระบบ
โดยกำหนดรูปแบบการก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานบนทางหลวงหมายเลข 4 ข้ามทางหลวงหมายเลข 406 พร้อมสี่แยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพาน ตัวสะพานมีความยาวรวม 750 เมตร ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ กว้างช่องละ 3.5 เมตร ความสูงช่องลอดใต้สะพาน (Clearance) 5.5 เมตร พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง

บริเวณทางแยกออกแบบก่อสร้างทางเท้ากว้าง 4 เมตร ทั้งสองฝั่ง มีท่อเหลี่ยมใต้ทางเท้าสำหรับระบายน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ปูผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็กบน ทล. 406 ช่วงบริเวณทางแยกระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร จะปรับปรุงขยายเป็น 4 ช่อง พร้อมทางเท้าจากเดิมมีขนาด 2 ช่อง เพื่อช่วยบรรเทาจราจรในทิศทางไปอำเภอควนเนียง ขณะเดียวกันได้ออกแบบปรับปรุง ทล. 4 บางช่วงระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ให้ใช้พื้นที่เต็มเขตทางหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้คล่องตัวมากขึ้น สำหรับวงเวียนระดับพื้นใต้สะพานมีลักษณะเป็นรูปวงรี 2 ช่อง กว้างช่องละ 5 เมตร ไม่มีการควบคุมสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้ผู้ขับขี่บนทางหลวง 406 เดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณทางแยก เนื่องจากลักษณะทางกายภาพจะช่วยให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วก่อนเข้าสู่วงเวียน

โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก 4 แยกคูหา มีปริมาณจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะทางหลวงหมายเลข 4 เป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักของภาคใต้ รถบรรทุกหนักผ่านทางแยกจำนวนมาก ปัจจุบันควบคุมการจราจรด้วยสัญญาณไฟทำให้เกิดปัญหารถติดสะสม การปรับปรุงเป็นทางแยกต่างระดับจะทำให้ปริมาณรถลื่นไหลและเดินทางคล่องตัวมากขึ้น รองรับปริมาณจราจรผ่านทางแยกเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 คันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 50,000 คันต่อวัน ช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าในพื้นที่ภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเดินทางของประชาชนในภาพรวมจะสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น